xs
xsm
sm
md
lg

Hong Kong on Foot : ตามรอยมรดก Ping Shan # ๑

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้วอ่าน
Hong Kong on Foot : พิชิต Dragon Back
Hong Kong on Foot : ตะลุยเกาะ Lamma

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ : เช้าวันที่ ๓ ของการพำนักอยู่ในเกาะฮ่องกงของผม ซึ่งแผนการท่องเที่ยวของผมในวันนี้คือการเดินทางไปสำรวจเส้นทางเดินมรดกวัฒนธรรมผิงซาน “Ping Shan Heritage Trail” ครับ

ว่าแต่สิ่งที่ผมกำลังจะไป มันคืออะไรล่ะ?

ตามที่ผมลองค้นดู พบว่า “ผิงซาน (Ping Shan)” นี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากของเกาะฮ่องกง และเป็นพื้นที่ที่ “ตระกูลเติ้ง” หนึ่งใน ๕ ตระกูลที่สำคัญของฮ่องกง ซึ่งมีความเป็นมามายาวนาน และรุ่งโรจน์ในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดในเขตนิวเทอร์ริเตอรีส์ด้วย เติ้ง ฮั่นฝู่ (Tang Hon-fat) รุ่นที่ ๘๖ ของตระกูลเติ้ง ได้อพยพมาจากมณฑลเจียงซี ในจีนแผ่นดินใหญ่ไปที่มณฑลกว่างตง ในช่วงต้นของราชวงศ์ซ่งเหนือ ราวๆ ปี พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๖๗๐ ซึ่งเขาได้ถูกยกให้เป็นรุ่นแรกของตระกูลเติ้งในกว่างตง ในช่วงกลางของราชวงศ์ซ่งเหนือ เติ้ง ฝูลี่ (Tang Fu-hip) ผู้เป็นเหลน หลังจากสอบได้ตำแหน่งจิ้นซื่อ (JinShi) ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงในการสอบของราชการ ถ้าปัจจุบันก็น่าจะเทียบกับดุษฎีบัณฑิตได้ ก็ได้ขยายอาณาเขตของตระกูล ใน Shum Tin หรือ Kam Tin ในปัจจุบัน และในรุ่นที่ ๗ ของตระกูล ก็ได้ย้ายมายัง ผิงซาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เติ้ง หย่วนเฉิง (Tang Yuen-ching) ก็ถือเป็นต้นตระกูลเติ้ง ในพื้นที่ผิงซาน

ตระกูลเติ้ง มาอยู่ที่นี่ก็ได้สร้างอาคารตามหลักประเพณีจีนหลายๆ อย่าง ทั้งห้องโถงบรรพบุรุษ วัด ห้องเรียน และเจดีย์เพื่อการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการศึกษาด้วย ซึ่งก็ยังคงรักษาบางประเพณีที่เก่าแก่มาจนถึงทุกๆ วันนี้ อย่างเช่นการตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล ซึ่งไม่ใช่แค่สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมพื้นบ้านของตระกูลเติ้ง แต่ทั้งหมดสะท้อนถึงประเพณีและเอกลักษณ์ลักษณะเฉพาะของชาวฮ่องกงในพื้นที่

“เส้นทางเดินมรดกผิงซาน” อยู่ในตำบล Yuen Long เขตนิวเทอร์ริเตอรีส์ มีระยะทางร่วม ๑.๖ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ เจดีย์ Tsui Sing Lau ไปสิ้นสุดที่ Ping Shan Tang Clan Gallery cum Heritage Trail Visitors Centre จะว่าไปก็ดูจะไม่ไกลมาก ถ้าจะเดินกัน

ผมออกเดินทางประมาณ ๗ โมงเช้าได้ครับ พร้อมกับอีก ๑ น้องที่บินตามมาสมทบเมื่อคืนที่ผ่านมา เราเดินจากที่พักไปยังสถานีรถไฟใต้ดินจิมซาจุ่ยตะวันออก (Tsim Tsa Tsui East) ที่สถานีนี้น่าสนใจอยู่อย่างคือระหว่างทางเชื่อมจากสถานีจิมซาจุ่ยธรรมดา ไปยังฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่คนละสายการเดินรถ (คล้ายๆ กะบีทีเอสต่อเอ็มอาร์ทีบ้านเรา) ช่วงที่เดินค่อนข้างไกล ก็มีบันไดเลื่อนเลื่อนขนมนุษย์ย่นเวลาการเดินทางเป็นระยะด้วย

ผมนั่งจากที่นั่นไปลงที่สถานีรถไฟ “Tin Shui Wai” ระหว่างทางมีเรื่องน่าตื่นเต้น (สำหรับผมนะ เพราะไม่เห็นไอ้น้องที่มาด้วยกันมันจะตื่นเต้นเลย) คือตอนที่มามันเป็นใต้ดิน แต่อยู่ดีดีมันก็โผล่ขึ้นมาบนดินสักพักก็เป็นลอยฟ้า ได้เห็นทิวทัศน์เมืองและภูเขารอบๆ ด้วย ใช้เวลาราว ๔๐ นาที ก็ถึงเดินออกมาตามทางออกอี ที่ระบุไว้ในไกด์บุ๊กที่ทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเมื่อพอลงจากสถานีก็ได้โผล่มายังสถานีรถไฟอีกสายนึงซึ่งอยู่ข้างใต้ครับ เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็กวิ่งเป็นเส้นวงกลมรอบๆ เมือง เห็นว่าไอ้รถไฟสายนี้ไปยังสวนแสดงพันธุ์ไม้และสัตว์ Hong Kong Wetland Park ด้วย แต่ผมไม่ได้ไปนะครับ เวลาไม่พอ
เจดีย์ Tsui Sing Lau
เดินมาแป๊ปเดียวก็เจอกับสิ่งแรกครับ นั่นคือ “เจดีย์ Tsui Sing Lau” ที่แปลเอาน่าจะได้ความว่า เป็นเจดีย์ชุมนุมดวงดาว ถือเป็นเจดีย์โบราณแห่งเดียวในฮ่องกงที่เหลืออยู่ ถูกสร้างโดย Tang Yin-tung ในยุคที่ ๗ ของตระกูล ก็ราวๆ ๖๐๐ ปีที่แล้ว เจดีย์ถูกสร้างตามแบบศาสนาพุทธ เพื่อปรับปรุงฮวงจุ้ยของตระกูลเติ้ง แต่เดิมตั้งหัน หน้าไปทางปากแม่น้ำดีป เบย์ (Deep Bay) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการก่อสร้างเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย จากทางเหนือ และอุทกภัย รวมไปถึงทำให้สมาชิกในตระกูลมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการสอบเข้าเป็นข้าราชการแห่งจักรพรรดิ์ ซึ่งแซ่เติ้ง นี้ก็ได้ผลิตนักวิชาการและข้าราชการจำนวนมากในราชวงศ์ของจีน

เจดีย์ Tsui Sing Lau เป็นเจดีย์รูปหกเหลี่ยม ๓ ชั้น ก่อด้วยอิฐสีเขียว มีความสูงราว ๑๓ เมตร เป็นที่ตั้งของ Fui Shing. ดาวแห่งชัยชนะ โดยเชื่อว่าจะเป็นเทพที่ควบคุมการสอบให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ชั้นบนสุดได้ชื่อว่า เหนือทางช้างเผือก ชั้นที่ ๒ คือชุมนุมดวงดาว ส่วนชั้นล่าง ส่องแสงรุ่งโรจน์ตรงไปยังดาวไถและกักขังเอาไว้
To Tei Kung
พอออกจากเจดีย์ก็เดินมาเรื่อยๆ ตามเส้นทางเห็นบ้านเรือนที่คล้ายๆ กับบ้านเรา แล้วก็ไปเจอสิ่งนี้ครับ “แท่นบูชาเทพเจ้า To Tei Kung” ที่เขาว่าเป็นเทพเจ้าของโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาว She Kung หรือ Pak Kung และ Fuk Tak Kung เขาระบุว่า แท่นบูชานี้จะสามารถพบเห็นเป็นปกติในจารีตประเพณีของชุมชนชาวจีน ซึ่งชาว She Kung เชื่อว่าจะสามารถปกปักษ์รักษาชุมชนได้ โดยก่อสร้างด้วยอิฐธรรมดา และมีหินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งเทพเจ้าวางอยู่

ตามเส้นทางเดินกันไม่ยากเลยครับ แต่ละจุดอยู่ไม่ไกลกันมาก อย่างที่เป็นแท่นบูชาเดินมานิดเดียวก็เจอกำแพงสีสวยๆ ซึ่งตรงนี้คือ “Sheung Cheung Wai” ถูกสร้างขึ้นราว ๒๐๐ ปีที่แล้ว โดยลูกหลานคนแซ่เติ้ง ที่แยกออกมาจาก Hang Tau Tsuen ใน ผิงซาน ซึ่งเป็กำแพงที่เปิดล้อมหมู่บ้านเอาไว้ พร้อมกับเรือนเล็กข้างประตูอันนั้นสำหรับคนเฝ้าอาศัย และยังมีศาลเจ้าอยู่แกนกลางของหมู่บ้าน ซึ่งแม้ว่าส่วนหนึ่งของกำแพงจะถูกรื้อไปแล้ว แต่เรือนขนาดเล็ก,ศาลเจ้า และบ้านเก่าบางหลังภายในก็ยังคงสะท้อนถึงถิ่นที่ตั้งดั่งเดิม รวมไปถึงแผนผังและลักษณะของประเพณีชาวชุมชนด้วย
Sheung Cheung Wai
ตรงจุดนี้ผมเดินไปทั่วเลย เข้าได้หรือไม่ได้ ผมไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นมันเช้ามาก คนยังไม่พลุกพล่าน ผมก็เดินไปเรื่อยเลยล่ะ เดินเข้าไปในศาลเจ้า ดูบ้านบางหลังที่เริ่มผุผัง ซึ่งเป็นบ้าน ๒ ชั้น เรื่องสถาปัตยกรรมนี่ผมไม่แม่นเท่าไหร่ ไม่ขอพูด แต่ตัวสีของอิฐที่เรียงกันนี่มันซับซ้อนจนน่าถ่ายรูปเล่นเลยล่ะ และช่วงนี้เป็นปีใหม่ของเขา แต่ละบ้านก็จะติดป้ายสีแดงเหมือนที่บรรยายไปเมื่อวานนี้ ตามขอบขื่อประตูศาลเจ้าก็จะมีจิตรกรรมฝาผนังให้ได้ชมอยู่บ้าง เป็นภาพมังกร นกยูง หรือศัตราวุธ

เดินออกมาจาก Sheung Cheung Wai ก็จะเข้าสู่วัด Yeung Hau แต่ระหว่างนั้นผมเจอกับอะไรบางอย่างครับ เหมือนจะเป็นท่อระบายน้ำ แต่ เฮ้ย ทำไมมาอยู่กลางเมืองเลย แถมมีอิฐก่อล้อมอยู่ด้านนอกอีก จนมาดูไกด์บุ๊กอ้าวอันนี้มัน “บ่อน้ำของหมู่บ้าน” นี่หว่า ซึ่งขุดมาเพื่อให้ผู้อาศัยได้ใช้ดื่มกันมากกว่า ๒๐๐ ปีที่แล้ว
Yeung Hau Temple
พอผ่านบ่อน้ำก็จะมีทางแยก เข้าไปสู่ “Yeung Hau Temple” (ผมว่ามันไม่น่าจะใช่วัด น่าจะเป็นแค่ศาลเจ้ามากกว่า) เป็น ๑ ใน ๖ ศาลเจ้า ในเขต Yuen Long ที่บูชาเทพเจ้า Hau Wong (หรือจักรพรรดิ์ ฮัว) ซึ่งก็ไม่สามารถระบุวันที่แน่นอนของการก่อสร้างได้ แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ในประวัติศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว โดยจากจารึกบนกระดานภายในวัดระบุแค่ได้บูรณะในปี ๒๕๐๖ และปี ๒๕๓๔ ก่อนที่จะมีการบูรณะอีกครั้งในปี ๒๕๔๕

ซึ่งประวัติของ “เทพเจ้า Hau Wong” มีองค์ประกอบของเรื่องราวหลากหลายที่แตกต่างกัน แต่ชาวเมืองใน ผิงซาน เชื่อว่า เขาคือขุนนาง Yang Liangjie นายพลแห่งราชวงศ์ซ่ง ที่ได้ปกป้องชีวิตของจักรพรรดิ์ 2 องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ถูกบูชาเพื่อหมายถึงความจงรักภักดีและความกล้าหาญ โดยศาลเจ้าสร้างแบบเรียบง่าย มี 3 ห้อง เป็นที่ตั้งของเทพเจ้า Hau Wong ,To Tei และเจ้าแม่ Kam Fa พระมารดาผู้อุปถัมภ์นักบุญ

บริเวณศาลเจ้ามีร่องรอยของการจุดธูปบูชารวมทั้งจุดประทัดแถวๆ นั้น แบบหมาดๆ เปลือกประทัดสีแดงเกลื่อนกราดอยู่บ้าง ก็ค่อนข้างรู้สึกได้อารมณ์ว่า ราวกับเรายังอยู่ในยุคสมัยนั้น แม้พอหันหลังกลับมาสู่ทางเดินปกติ เราจะได้เห็นบ้านเรือนสมัยใหม่ก็ตาม

………….. การเดินทางสำรวจเส้นทางเดินมรดกวัฒนธรรมผิงซาน ยังไม่จบ โปรดติดตามต่อสัปดาห์หน้านะครับ ^ ^
กำลังโหลดความคิดเห็น