ก็ผ่านไปในที่สุด สำหรับการลากถูกฎหมายล้างผิดให้ผ่านสภาฯ ไปได้ ในสัปดาห์ที่แล้ว มีเรื่องมากมายให้ต้องกล่าวถึง
พรรคประชาธิปัตย์ที่ในตอนแรกทำท่าจะออกมานำประชาชนเข้าต่อสู้กับกฎหมายนี้ ตั้งเวทีผ่าความจริงใหญ่โตที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ประกาศกร้าวว่าจะพาประชาชนไปสภาฯ ด้วย ถึงขนาดอดีตหัวหน้าพรรคผู้ “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” อย่างนายชวน หลีกภัย ก็ยังออกมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในเต็นท์กลางถนน คึกคักเข้มแข็ง เดินนำทัพประชาชนไปได้จนถึงแยกราชวิถี เจอด่านเข้าให้ ก็ขึ้นรถประกาศขอบคุณประชาชนที่เดินมาส่ง แล้วขอตัวแยกทางไปประชุมสภาฯ ต่อ เชิญมวลชนกลับบ้านกันไปเองตามทางของท่าน
ราวกับเห็นภาพล่วงหน้า การ์ตูนบัญชา คามิน “แหลเพื่อพี่” ได้วาดภาพเหตุการณ์นี้ไว้เกือบๆ เป๊ะ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ลองไปหาชมกันได้
พรรคประชาธิปัตย์อ้างว่าเข้าสภาฯ ไปต่อสู้ในเกมของระบบสภาฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นระบบที่ยังไงก็แพ้ เพราะนับกันที่มือที่เสียง ซึ่งมันจบไปตั้งนานแล้วเพราะเป็นระบบที่ตัดสินกันครั้งเดียว วันเดียวในรอบสี่ปี คือ วันเลือกตั้งใหญ่ แต่กระนั้น หากต่อสู้ได้ชาญฉลาดพอ การถกแถลงต่อสู้กันในสภาฯ ก็สามารถที่จะลดความชอบธรรมของกลไกพวกมากลากไป ลงได้บ้างเพื่อสร้างการถ่วงดุลจากภาคประชาชนนอกสภาฯ ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องทำเป็นยึกยักจะไม่ให้ถ่ายทอดสดอยู่พักใหญ่ ในที่สุด ถึงยอมปล่อยสัญญาณ
แต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำได้เพียงแค่การตีรวนข้อบังคับนั่นนี่ไปเรื่อย หรือทำได้แค่โชว์ปาหี่ฉีกร่างกฎหมายแล้วโยน โอเวอร์แอคติ้งราวกับละครเวที
ส่วนฝ่ายเพื่อไทยก็งามหน้าไม่แพ้กัน เมื่อจ่าประสิทธิ์เจ้าเก่า ถอดเกือกออกมาดมกลางสภาฯ แล้วหันด้านพื้นรองเท้าไปใส่ฝ่ายประชาธิปัตย์ ท้าทายให้มีการโห่ฮาป่ากันใหญ่โต
เล่นกันราวกับเด็กอนุบาลเถียงกัน ทั้งสองฝ่ายเลยทีเดียว ถ้าหนักกว่านี้คงล้อชื่อพ่อแม่กัน ส่วนต่อยกันในสภาฯ นั้นก้าวล้ำนำไปก่อนแล้ว
น่าอนาถใจว่า นี่คือ “สถาบัน” ที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยไปแล้วสองขาเลย คือ นิติบัญญัติและบริหาร
นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังเจอโชคร้ายอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นจังหวะที่ไม่ดีก็ได้ เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เรื่องการตาย 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม
คำสั่งศาลออกมาอย่างชัดเจนว่า ทั้ง 6 ศพ เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟ BTS
พรรคประชาธิปัตย์แรกที่รู้ข่าว ออกมาให้ข่าวว่า ศาลบอกว่า กระสุนมาจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่ยิง แต่ถ้าไปดูในคำสั่งศาลจะปรากฏว่า ศาลชี้ลงไปค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้ตายแต่ละคน ถูกกระสุนขนาดไหน จากทหารหน่วยไหนเป็นผู้ยิง วิถีกระสุนมาจากไหน และที่สะเทือน คือ สำหรับคดีนี้ ศาลไม่เชื่อว่ามีชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้ตายทั้งหมดไม่มีใครยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืน ไม่มีเขม่าดินปืน ทั้งศาลไม่เชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธปืนได้ในวัดปทุมวนารามจริง รวมทั้งพยานของฝ่ายทหารให้การขัดกันเองคนละทิศละทางจนศาลไม่เชื่อ
อันนี้ ก็ต้องเข้าใจศาลด้วยว่า กระบวนพิจารณาทั้งหลายของศาลนั้นจะยึดตามสำนวนการสอบสวนของตำรวจและอัยการ รวมทั้งการนำพยานเข้าต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ศาลมีหน้าที่นั่งตรงกลางตัดสินเท่านั้น
ถ้าสำนวนการสอบสวนโน้มเอียงไปทางใด จัดพยานมาให้การเป็นอย่างไร ก็ส่งผลต่อการมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นไปตามนั้น
ซึ่งก็ต้องตามไปดูว่า สำนวนการไต่สวนที่เสนอต่อศาล ว่าใครเป็นคนทำ และเสนอไปตอนไหน ใครเป็นคนรับผิดชอบ
ซึ่งคำสั่งศาลนี้ก็ออกมาในจังหวะที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ ในฐานะคนสั่งการ ค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 อยู่แล้ว ว่าไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หากกระทำตามหน้าที่
แต่คนสั่งนั้นอาจจะไม่รอดก็ได้ เพราะกฎหมายคุ้มครองแต่ฝ่ายปฏิบัติการ
อาจจะต้องยอมรับว่า ใน “รูปคดี” ในศาลเกือบทั้งหมด ฝ่ายรัฐบาลที่สั่งการในขณะนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเสียเปรียบ นั่นคือ ในการไต่สวนการตายจากการสลายการชุมนุม คำสั่งส่วนใหญ่ของศาลจะชี้ไปในทางที่ว่า กระสุนมาจากแนวเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกระสุนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือในคดีปล้น หรือเผาห้าง ศาลก็ยกฟ้องไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งต้องไปลุ้นกันต่อในชั้นอุทธรณ์ฎีกา (หรือบางคดีศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามศาลชั้นต้นไปบ้างแล้ว)
คำสั่งและคำพิพากษาของศาลเหล่านี้เองที่อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายประชาธิปัตย์เสียวสันหลัง อภิสิทธิ์และสุเทพอาจจะได้ติดคุกกันจริงๆ ตามคำท้าก็ได้
ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจนักว่า เมื่อถึงเวลาจวนตัว นักการเมือง ก็คือนักการเมือง ก็อยากที่จะเอาตัวรอด ในเมื่อทางรอดนั้น อาจจะสามารถใช้กลไกทางการเมืองได้ ทั้งระบบสภาฯ หรือการเกี้ยะเซียะกันข้างนอก ในวาระที่สอง กฎหมายล้างผิดนี้อาจจะช่วยล้าง “ผิด” กันได้หมดทุกฝ่ายก็ได้ เพราะฝ่ายประชาธิปัตย์เองก็ใช่ว่าจะไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับความวุ่นวายเมื่อเมษา – พฤษภา 53
ในที่สุดแล้วตัวพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะร่วมปาหี่ส่งกฎหมายล้างผิดให้ผ่านๆ สภาฯ ไป โดยตัวเองได้ประโยชน์ แต่ก็ลวดลายลีลาเรียกราคาจากผู้สนับสนุนไปอย่างนั้นๆ
ไม่ว่าจะมีการปาแฟ้ม ฉีกกระดาษ ฟาดเก้าอี้ในสภาฯ ที่อาจจะมีต่อไปในวาระหลังๆ ของการพิจารณากฎหมายนี้ ก็อาจจะเป็นเหมือนเกมมวยปล้ำทางโทรทัศน์
ที่เหมือนจะเข้มแข็งห้ำหั่นกันอย่างไร สุดท้ายทั้งฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ก็อยู่ในบริษัทเดียวกับ รับผลประโยชน์ด้วยกัน แต่แสดงกันไปคนละบทบาทตามที่กำหนดไว้
เพราะล้วนแต่สังกัดบริษัทเดียวกัน คือ “บริษัทการเมืองไทย”
พรรคประชาธิปัตย์ที่ในตอนแรกทำท่าจะออกมานำประชาชนเข้าต่อสู้กับกฎหมายนี้ ตั้งเวทีผ่าความจริงใหญ่โตที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ประกาศกร้าวว่าจะพาประชาชนไปสภาฯ ด้วย ถึงขนาดอดีตหัวหน้าพรรคผู้ “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” อย่างนายชวน หลีกภัย ก็ยังออกมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในเต็นท์กลางถนน คึกคักเข้มแข็ง เดินนำทัพประชาชนไปได้จนถึงแยกราชวิถี เจอด่านเข้าให้ ก็ขึ้นรถประกาศขอบคุณประชาชนที่เดินมาส่ง แล้วขอตัวแยกทางไปประชุมสภาฯ ต่อ เชิญมวลชนกลับบ้านกันไปเองตามทางของท่าน
ราวกับเห็นภาพล่วงหน้า การ์ตูนบัญชา คามิน “แหลเพื่อพี่” ได้วาดภาพเหตุการณ์นี้ไว้เกือบๆ เป๊ะ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ลองไปหาชมกันได้
พรรคประชาธิปัตย์อ้างว่าเข้าสภาฯ ไปต่อสู้ในเกมของระบบสภาฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นระบบที่ยังไงก็แพ้ เพราะนับกันที่มือที่เสียง ซึ่งมันจบไปตั้งนานแล้วเพราะเป็นระบบที่ตัดสินกันครั้งเดียว วันเดียวในรอบสี่ปี คือ วันเลือกตั้งใหญ่ แต่กระนั้น หากต่อสู้ได้ชาญฉลาดพอ การถกแถลงต่อสู้กันในสภาฯ ก็สามารถที่จะลดความชอบธรรมของกลไกพวกมากลากไป ลงได้บ้างเพื่อสร้างการถ่วงดุลจากภาคประชาชนนอกสภาฯ ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องทำเป็นยึกยักจะไม่ให้ถ่ายทอดสดอยู่พักใหญ่ ในที่สุด ถึงยอมปล่อยสัญญาณ
แต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำได้เพียงแค่การตีรวนข้อบังคับนั่นนี่ไปเรื่อย หรือทำได้แค่โชว์ปาหี่ฉีกร่างกฎหมายแล้วโยน โอเวอร์แอคติ้งราวกับละครเวที
ส่วนฝ่ายเพื่อไทยก็งามหน้าไม่แพ้กัน เมื่อจ่าประสิทธิ์เจ้าเก่า ถอดเกือกออกมาดมกลางสภาฯ แล้วหันด้านพื้นรองเท้าไปใส่ฝ่ายประชาธิปัตย์ ท้าทายให้มีการโห่ฮาป่ากันใหญ่โต
เล่นกันราวกับเด็กอนุบาลเถียงกัน ทั้งสองฝ่ายเลยทีเดียว ถ้าหนักกว่านี้คงล้อชื่อพ่อแม่กัน ส่วนต่อยกันในสภาฯ นั้นก้าวล้ำนำไปก่อนแล้ว
น่าอนาถใจว่า นี่คือ “สถาบัน” ที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยไปแล้วสองขาเลย คือ นิติบัญญัติและบริหาร
นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังเจอโชคร้ายอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นจังหวะที่ไม่ดีก็ได้ เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เรื่องการตาย 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม
คำสั่งศาลออกมาอย่างชัดเจนว่า ทั้ง 6 ศพ เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟ BTS
พรรคประชาธิปัตย์แรกที่รู้ข่าว ออกมาให้ข่าวว่า ศาลบอกว่า กระสุนมาจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่ยิง แต่ถ้าไปดูในคำสั่งศาลจะปรากฏว่า ศาลชี้ลงไปค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้ตายแต่ละคน ถูกกระสุนขนาดไหน จากทหารหน่วยไหนเป็นผู้ยิง วิถีกระสุนมาจากไหน และที่สะเทือน คือ สำหรับคดีนี้ ศาลไม่เชื่อว่ามีชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้ตายทั้งหมดไม่มีใครยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืน ไม่มีเขม่าดินปืน ทั้งศาลไม่เชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธปืนได้ในวัดปทุมวนารามจริง รวมทั้งพยานของฝ่ายทหารให้การขัดกันเองคนละทิศละทางจนศาลไม่เชื่อ
อันนี้ ก็ต้องเข้าใจศาลด้วยว่า กระบวนพิจารณาทั้งหลายของศาลนั้นจะยึดตามสำนวนการสอบสวนของตำรวจและอัยการ รวมทั้งการนำพยานเข้าต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ศาลมีหน้าที่นั่งตรงกลางตัดสินเท่านั้น
ถ้าสำนวนการสอบสวนโน้มเอียงไปทางใด จัดพยานมาให้การเป็นอย่างไร ก็ส่งผลต่อการมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นไปตามนั้น
ซึ่งก็ต้องตามไปดูว่า สำนวนการไต่สวนที่เสนอต่อศาล ว่าใครเป็นคนทำ และเสนอไปตอนไหน ใครเป็นคนรับผิดชอบ
ซึ่งคำสั่งศาลนี้ก็ออกมาในจังหวะที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ ในฐานะคนสั่งการ ค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 อยู่แล้ว ว่าไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หากกระทำตามหน้าที่
แต่คนสั่งนั้นอาจจะไม่รอดก็ได้ เพราะกฎหมายคุ้มครองแต่ฝ่ายปฏิบัติการ
อาจจะต้องยอมรับว่า ใน “รูปคดี” ในศาลเกือบทั้งหมด ฝ่ายรัฐบาลที่สั่งการในขณะนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเสียเปรียบ นั่นคือ ในการไต่สวนการตายจากการสลายการชุมนุม คำสั่งส่วนใหญ่ของศาลจะชี้ไปในทางที่ว่า กระสุนมาจากแนวเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกระสุนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือในคดีปล้น หรือเผาห้าง ศาลก็ยกฟ้องไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งต้องไปลุ้นกันต่อในชั้นอุทธรณ์ฎีกา (หรือบางคดีศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามศาลชั้นต้นไปบ้างแล้ว)
คำสั่งและคำพิพากษาของศาลเหล่านี้เองที่อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายประชาธิปัตย์เสียวสันหลัง อภิสิทธิ์และสุเทพอาจจะได้ติดคุกกันจริงๆ ตามคำท้าก็ได้
ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจนักว่า เมื่อถึงเวลาจวนตัว นักการเมือง ก็คือนักการเมือง ก็อยากที่จะเอาตัวรอด ในเมื่อทางรอดนั้น อาจจะสามารถใช้กลไกทางการเมืองได้ ทั้งระบบสภาฯ หรือการเกี้ยะเซียะกันข้างนอก ในวาระที่สอง กฎหมายล้างผิดนี้อาจจะช่วยล้าง “ผิด” กันได้หมดทุกฝ่ายก็ได้ เพราะฝ่ายประชาธิปัตย์เองก็ใช่ว่าจะไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับความวุ่นวายเมื่อเมษา – พฤษภา 53
ในที่สุดแล้วตัวพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะร่วมปาหี่ส่งกฎหมายล้างผิดให้ผ่านๆ สภาฯ ไป โดยตัวเองได้ประโยชน์ แต่ก็ลวดลายลีลาเรียกราคาจากผู้สนับสนุนไปอย่างนั้นๆ
ไม่ว่าจะมีการปาแฟ้ม ฉีกกระดาษ ฟาดเก้าอี้ในสภาฯ ที่อาจจะมีต่อไปในวาระหลังๆ ของการพิจารณากฎหมายนี้ ก็อาจจะเป็นเหมือนเกมมวยปล้ำทางโทรทัศน์
ที่เหมือนจะเข้มแข็งห้ำหั่นกันอย่างไร สุดท้ายทั้งฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ก็อยู่ในบริษัทเดียวกับ รับผลประโยชน์ด้วยกัน แต่แสดงกันไปคนละบทบาทตามที่กำหนดไว้
เพราะล้วนแต่สังกัดบริษัทเดียวกัน คือ “บริษัทการเมืองไทย”