xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ในอียิปต์ ใครสะดุ้งสะเทือน?

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

นับย้อนกลับไปในช่วง ปี 2011 เป็นปีแห่งความวุ่นวาย เกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริง หลังจากกการลุกฮือของประชาชนชาวตูนีเซียแล้ว อียิปต์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดการลุกฮือของประชาชน จนกระทั่งวันที่ 11 ก.พ. 2011 มูบารัคก็ยอมออกจากตำแหน่ง และมีการมอบอำนาจแก่ โมฮาเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้น และเป็นผู้นำกลุ่มสภาทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces หรือ SCAF)

หลังจากนั้น ช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. 2012 อียิปต์เริ่มมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ แต่ช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องการสั่งยุบสภาฯ โดยศาลอียิปต์ประกาศว่ากฎหมายมาตราต่างๆ ที่จะนำใช้ในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2011 ไม่สามารถใช้ได้และเรียกร้องให้ยุบสภาทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาทหารฯ จึงได้กลับมามีอำนาจบริหารอีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศตัวสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 18 มิ.ย. 2012

ล่าสุดการเลือกตั้งในอียิปต์ ในวันที่ 16-17 มิ.ย. โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ชนะการเลือกตั้ง และเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่

นี่เป็นสรุปเหตุการณ์คร่าวๆก่อนจะมีการลุกฮืออีกครั้งเพื่อไล่นายมอร์ซี โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2012 ประชาชนหลายพันหวนกลับมายังจัตุรัสทาห์รีย์ คราวนี้เป็นการประท้วงต้านมอร์ซี หลังจากที่มอร์ซีออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเอง ในช่วงนั้นกลุ่มคณะตุลาการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

รอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง 1 ก.ค. 2013 กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลส่วนหนึ่งได้บุกเข้าไปทำลายอาคารที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร และ ในวันเดียวกันนี้เอง กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเส้นตาย ภายใน 48 ชั่วโมง ว่าจะมีการแทรกแซงหากรัฐบาลยังหาทางจัดการความขัดแย้งไม่ได้ และรัฐมนตรี 4 คนประกาศลาออก

ในวันที่ 2 ก.ค. 2013 รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศลาออก ประธานาธิบดีมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมรับการขีดเส้นตายของกองทัพ ประกาศจะใช้วิธีการแก้ปัญหาของตนเอง

สุดท้ายเมื่อ 3 ก.ค. 2013 ถึงกำหนดเส้นตายที่กองทัพขีดไว้ มอร์ซีถูกสั่งกักตัวไว้ โดยเชื่อว่าอยู่ที่ค่ายทหารของกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ รถถังเคลื่อนไปตามที่ต่างๆ และมีการวางกำลังตามจุดสำคัญ จนกระทั่งผู้นำกองทัพประกาศแถลงการณ์ยกเลิกอำนาจของมอร์ซี และแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อาดลี มานซูร์ ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีชั่วคราว

ในวันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขและประชากรเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ชุมนุมสนับสนุนมอร์ซีเสียชีวิต ทั้งนี้ภาพจากทวิตเตอร์ ของคาริม ฟาฮิม แสดงให้เห็นกลุ่มสนับสนุนศาสนาอิสลามออกมาเผชิญหน้ากับรถถังของทหาร จนกระทั่งฝ่ายทหารยอมล่าถอยออกไป โดยเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าาพวกเขาแค่ต้องการมาคุ้มครองแต่กลับถูกขับไล่ โดยในช่วงที่พวกเขาล่าถอยมีผู้สนับสนุนมอร์ซีตะโกนว่า "มอร์ซีเป็นประธานาธิบดีของพวกเรา"

เหตุการณ์ในอียิปต์ยังคงดำเนินต่อไป ยังมีข่าวปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนนายมอร์ซีและกองทัพ มีคนตายไปแล้วกว่าสามสิบคน และมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไปหมดในกรุงไคโร และเมืองใกล้เคียง

หลายๆคนมองว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเหตุการณ์คงไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะหากมีการทำรัฐประหารในประเทศไทย คนเสื้อแดงก็คงลุกฮือออกมาปกป้องรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ด้วยข้ออ้างรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

แต่เชื่อเถอะครับว่าเหตุการณ์แบบในอียิปต์จะไม่เกิดขึ้นในบ้านเราง่ายๆ เหตุผลง่ายๆเลยที่เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะกลุ่มที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านขับไล่รัฐบาลมีน้อยมาก ในเวลานี้ว่ากันง่ายๆก็คือประชาชนชาวไทยตื่นรู้น้อยมากหากเทียบกับอียิปต์ ประชาชนออกมาเรือนแสนเรือนล้าน ของเราจะมองไปทางไหนไม่เห็นพลัง ถ้าดูจากกลุ่มหน้ากากขาวก็แค่หลักหมื่นเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยประชาชน

ปัจจัยหลักอีกสิ่งหนึ่งคือกองทัพไทย กระบอกปืนของทหารไทยไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ไม่ได้ยืนเคียงข้างประชาชาชน ในอียิปต์กองทัพฟังเสียงของประชาชน ออกมายืนข้างประชาชน และคอยปกป้องประชาชนจากนักการเมืองที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ

แค่สองปัจจัยนี้ประเทศไทยก็แตกต่างกับอียิปต์แล้ว ช่วงหลังๆมานี้มีแต่ทหารแก่วัยเกษียณเท่านั้นแหละครับที่ออกมายืนข้างประชาชน ทหารสูงวัยเหล่านี้ก็ไม่มีอำนาจการตัดสินใจ หรือสั่งการในกองทัพอีกแล้ว

ดูข่าวต่างประเทศก็ย้อนดูประเทศเราเอง เราจะเห็นความแตกต่างในความเหมือนและความเหมือนในความแตกต่าง ของแบบนี้มันอาจจะต้องใช้เวลาเพาะบ่มสถานการณ์ และบางทีมันก็ต้องมาแบบถูกที่ถูกเวลาถูกจังหวะเหมือนกันนะครับ

เวลานี้ ทหารไทย ทำตัวเป็น ท ทหารอดทน แบบทองไม่รู้ร้อน มองไม่ค่อยเห็นทหารที่มี เกียรติยศศักดิ์ศรีรักชาติบ้านเมือง เห็นแต่ทหารรับใช้อำนาจการเมืองอำนาจเงิน มองไม่เห็นทหารกล้าตัวจริงที่รักบ้านเมืองรักประชาชน กล้าออกมาจัดการกับคนชั่วที่ใช้อำนาจโกงกินบ้านเมือง

ครับกรณีอียิปต์ น่าสนใจว่า การปะทะกันอย่างรุนแรง มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ระหว่างประชาชนฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง กับประชาชนฝ่ายคัดค้านต่อต้านอำนาจนิยมที่มีทหารหนุนหลังด้วยการรัฐประหาร เหตุการณ์จะจบลงอย่างไร

ในทางการเมือง โจทย์สำคัญคือ วิวาทะของ”ประชาธิปไตย” กับการ”รัฐประหาร”โดยทหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง เนื้อแท้เป็นประชาธิปไตย จริงหรือ การรัฐประหารของทหารเพื่อยืนข้างประชาชนโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง ชอบธรรมจริงหรือ จะสร้าง ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ได้จริงหรือไม่

ตามข่าวสถานการณ์ในอียิปต์แล้ว หลายฝ่ายคงสะดุ้งสะเทือนคิดถึงการเมืองไทยต่อจากนี้ไป จะออกมาในรูปไหน คงต้องติดตามกันอย่างกระชั้นชิดติดขอบเวที กันทีเดียวครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น