xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนอียิปต์กับการทบทวนประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

และแล้ว อียิปต์ก็เป็นกรณีล่าสุดในโลก ที่มีการทำรัฐประหารในทศวรรษนี้

ในยุคที่กระแสประชาธิปไตยเหมือนจะเบ่งบานเต็มที่ ได้รับการยอมรับ และอาจจะเกือบๆ กลายเป็นความชอบธรรมหนึ่งเดียวของระบอบการปกครองทั้งหลายในโลกไปแล้วกระมัง

จากเหตุการณ์อาหรับสปริง หรือการลุกฮือกันขึ้นต่อต้านเผด็จการของประเทศอาหรับ ทั้งในเอเชียและแอฟริกาเหนือในช่วงเวลา 3 ปีนี้ ทำให้หลายคนมองว่า ต่อไปนี้ระบอบการปกครอง “เทาๆ” ของผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียวจะต้องหายไป กลายเป็นประชาธิปไตยกันทั้งโลก

แต่แล้วประเทศแรกๆ ที่เป็นเหมือนตัวนำร่องของการปฏิวัติ ก็กลับสะดุดลงไป จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

หลังจากการโค่นล้มนายพลมูบารัค อดีตประธานาธิบดีเผด็จการได้เมื่อกุมภาพันธ์ 2554 ก็นำไปสู่กระบวนการถ่ายโอนอำนาจและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในที่สุด โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปีที่แล้ว

คู่แข่งของมอร์ซี คือ อาเหม็ด ชาฟิก ที่ถูกมองว่าเป็นคนของฝ่ายมูบารัค เพราะเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ โดยมูบารัค และได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มคริสเตียนนิกายคอปต์ซึ่งต่อต้านผู้สมัครจากพรรคของกลุ่มมุสลิม

ความที่นายมอร์ซีมีกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหนุนหลัง ผู้คนซึ่งกลัวว่าอียิปต์จะกลายเป็นประเทศรัฐศาสนาอิสลามก็เริ่มวิตก และมอร์ซีเองก็เริ่มมีการปกครองแบบเผด็จการ และเริ่มพยายามจะนำเอาหลักศาสนาเข้ามาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งเกิดเรื่องประเภท “สองหลักการ” เช่น การที่มอร์ซีเคยยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมุขแห่งสาธารณรัฐ แต่พอถึงตอนตัวเองเข้าบ้าง ก็มีการดำเนินคดีกับสื่อด้วยความผิดฐานหมิ่นตัวมอร์ซี และหมิ่นศาสนา

มีการประท้วงทวงความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงประเทศหลังการปฏิวัติ แต่การประท้วงนั้นก็เกิดความรุนแรง มีการละเมิดต่อสตรีผู้ประท้วง มีการปะทะกันของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และของฝ่ายประชาชนผู้ถือหางสนับสนุนคนละขั้วการเมือง และมีการลอบสังหารผู้นำการต่อต้านรัฐบาล

ในที่สุดก็เกิดการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์ลุกลามบานปลาย เป็นความแตกแยกอย่างรุนแรง จนกระทั่งฝ่ายกองทัพของอียิปต์ได้ประกาศเส้นตาย 48 ชั่วโมง ให้รัฐบาลจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและไร้ประสิทธิภาพในการจัดการนี้

แต่ประธานาธิบดีมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมรับการขีดเส้นตายของกองทัพ และยืนยันว่าตนเองจะปกครองประเทศต่อไป ในฐานะของประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ

นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 3 กรกฎาคม ฝ่ายกองทัพประกาศแถลงปลดมอร์ซี และแต่งตั้งอาดลี มานซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ

และจนถึงวันนี้ เกิดเหตุการณ์ปะทะนองเลือดกันอย่างควบคุมไม่ได้ ของฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี และฝ่ายทหารของรัฐบาลใหม่ หรือประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลใหม่ ความวุ่นวายยังดำรงกันต่อไป

ครับ ภาพในอียิปต์หลายส่วนหลายตอนนั้นคล้ายหรือเทียบได้กับสถานการณ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “ทวิหลักการ” เช่น พยายามให้ลิ่วล้อยกเลิกกฎหมายดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ตัวเองก็สั่งให้ตำรวจดำเนินคดีกับนักเขียนการ์ตูนเพราะอ่านข้อความแล้วเกิดร้อนตัวไปเอง

การละเมิดสิทธิในการชุมนุม โดยวิธีปากว่าตาขยิบ ปล่อยให้มวลชนผู้สนับสนุนมาช่วยจัดการ เพื่อฝ่ายรัฐจะได้ลอยตัวจากความรับผิดชอบ

ในที่สุด ประชาชนก็จะออกมาต่อต้าน และอยู่ในสภาพที่ควบคุมกันไม่ได้เช่นนี้

บทเรียนจากอียิปต์เป็นบทเรียนให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง และการเลือกตั้งก็สามารถเลือกเอา “เผด็จการ” เข้ามาก็ได้

แถมเป็นเผด็จการที่ห้ามเถียงด้วย หากนั่งท่องคาถากันว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นที่มาอันชอบธรรมสูงสุดที่ใครจะละเมิดไม่ได้ หรือผู้ใดก็ตามได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง ผู้นั้นคือผู้มาปกครองประชาธิปไตยได้ โดยไม่ต้องเลือกวิธีการ

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งนั้น หลายกรณีก็ไม่ใช่ “เสียงข้างมากที่สุดของสังคม” เช่นกรณีของเมอร์ซีที่ชนะไปราวๆ 51% เท่านั้นเอง หรือการเลือกตั้งของไทย ที่พรรคเพื่อไทยก็ชนะไป 16 ล้าน ต่อ 11 ล้านเสียง

แน่นอนว่า ในการปกครองประเทศหรือคนจำนวนมหาศาลนั้น จะต้องถือเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเสียงข้างมากนั้นจะ “ดี” หรือจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง หรือถูกเพียงเพราะว่าเป็นเสียงข้างมาก

เสียงข้างน้อยก็ต้องมีสิทธิตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำอะไรแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงกติกา อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการก่อภาระต่อประเทศชาติไปนานหลายสิบปี เช่นการกู้เงินมหาศาล เสียงข้างมากฉิวเฉียดเพียงเท่านั้น ก็ไม่น่าจะอ้างความชอบธรรมได้

ส่วนการรัฐประหารนั้น ก็ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะการรัฐประหารนั้นจะไปก่อให้เกิดสภาพความวุ่นวายในระหว่างที่มีสุญญากาศทางกฎหมายหรือการใช้อำนาจ และคณะรัฐประหารนั้นก็ถือ “ปืน” เอาไว้ ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรที่ว่าพวกเขาจะไม่ถูก “ผีสิง” ไปเป็นเผด็จการ ซึ่งเกิดขึ้นง่ายกว่าเผด็จการเลือกตั้ง

จริงๆ ทางออกที่ดีกว่า ในกรณีของอียิปต์ และของไทย หรือของที่ไหนๆ ก็ตามนั้น เมื่อรัฐบาลหมดความชอบธรรมจากการต่อต้านหรือขับไล่ของประชาชนเสียแล้ว รัฐบาลก็ควรหาทาง “ลง” มาได้ อย่างกรณีของมอร์ซี ซึ่งปรากฏว่า จำนวนผู้ออกมาบนถนนเพื่อประท้วงขับไล่ในวันหลังๆ ก่อนการรัฐประหาร มีมากกว่าจำนวนคนที่เลือกเขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเสียอีก

ถ้าเขาตัดสินใจลงจากตำแหน่งเมื่อได้รับคำขาดจากฝ่ายทหาร ว่าอาจจะเข้ามาแทรกแซง ฝ่ายทหารก็หมดอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงเช่นกัน รัฐประหารก็จะไม่เกิด การนองเลือดหรือสิ่งใดๆ ที่เกิดตามมานั้นก็คงจะยุติลงไป

สถานการณ์ในอียิปต์ จึงเป็นเครื่องสะท้อนที่ดีของปัญหาซ้ำซากประชาธิปไตยแบบอ้างความชอบธรรมเพียงเพราะชนะการเลือกตั้งกับผลร้ายของการเข้าแทรกแซงด้วยวิธีทางรัฐประหาร ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลงโดยง่าย

เป็นบทเรียนให้ผู้นำที่เจอสถานการณ์ที่ขาดความชอบธรรมแล้ว เนื่องจากประชาชนออกมาต่อต้านกันทุกหย่อมหญ้า

ว่าจะตัดสินใจรักษาระบบไว้ด้วยการยอมรับและวางมือออกไปเอง

หรือจะดื้อแพ่งจนเกิดการแทรกแซงที่ทำลายระบบและทุกอย่างลงไปจนหมดสิ้น!
กำลังโหลดความคิดเห็น