คุณเคยคิดกันไหมครับว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงมีรัฐธรรมนูญที่อยู่ยั้งยืนยง จนน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกสิ่งที่ 8 และทำไมประชาชนชาวอเมริกาถึงภูมิใจในประชาธิปไตยของพวกเขามากมายขนาดนั้น หลายๆคำถามจะถูกเฉลย ในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่อง Lincoln
ก่อนจะไปเรื่องอื่นต้องบอกก่อนว่า อย่าสับสนกับภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ชื่อคล้ายกันอย่าง Abraham Lincoln: Vampire Hunter นะครับ
หนังเรื่องลินคอล์น ที่ผมกำลังจะพูดถึงเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง “ออสการ์” สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม คือ แดเนียล เดย์ ลูอิส ผู้แสดงเป็นประธานาธิบดีลินคอล์น นับเป็นออสการ์ตัวที่ 3 ของเขาจากการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 85 ประจำปี 2556 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และ เข้าฉายในเมืองไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หนังเรื่องนี้ เป็น ผลงานฝีมือพ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูด ผู้กำกับคนดัง “สตีเวน สปีลเบิร์ก” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในปีนี้มากที่สุด 12 รางวัลด้วยกัน นำแสดงโดย แดเนียล เดย์ ลูอิส แซลลี่ ฟิลด์ เดวิด สตราเทรน โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ เจมส์ สปาเดอร์ ฮาล ฮอลบรูค และทอมมี ลี โจนส์ สร้างบทภาพยนตร์โดย โทนี คุชเนอร์
Lincoln เป็นเรื่องราวชีวประวัติ แนวคิดและผลงานของ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1861-1865) มุ่งไปที่การยุติสงครามและล้มเลิกความเป็นทาส ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง อับราฮัม ลินคอล์น กับผู้ทรงอำนาจ สุดท้ายเขาถูกลอบสังหาร
Lincoln จับเอาเรื่องราวช่วงเวลาไม่กี่เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนถูกลอบสังหาร ในช่วงที่ประเทศกำลังแตกแยก เกิดสงครามกลางเมือง และท่านพยายามต่อสู้อย่างที่สุดที่จะผ่านบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ให้มีการเลิกทาสครับ
เพิ่มเติมเล็กน้อย เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีลินคอล์น ... อับราฮัม ลินคอล์นถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1865 เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกลอบสังหารในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และทำให้เขากลายเป็นผู้เสียสละเพื่อความสามัคคีของคนในชาติในความคิดของคนรุ่นหลัง
อับราฮัม ลินคอล์น เป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่รูปใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่ง ชาติ เมานต์รัชมอร์ (Mount Rushmore) ใบหน้าของเขาปรากฏอยู่บนธนบัตรราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญราคา 1 เซนต์ ชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ และเรือบรรทุกเครื่องบิน อีกด้วย
ทราบเรื่องย่อ ดารานำ และทราบผู้กำกับไปแล้ว ถ้าคุณเป็นคอหนัง คงต้องรีบหามาดูกันแน่ๆ แถมแผ่นดีวีดีหนังเรื่องนี้เพิ่งวางขายตามร้านขายเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมอยากแนะนำให้ซื้อแผ่นหนังแท้มาดู นอกจากเรื่องคุณภาพของภาพและเสียงแล้วซับไตเติลภาษาไทยยังแปลออกมาค่อนข้างดี แถมยังมีเบื้องหลังของหนังมาให้ด้วย ยิ่งทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้มากยิ่งขึ้น
ดารานำชายระดับแดเนียล เดย์-ลูอิส ที่คว้าออสการ์ได้จากบท ประธานธิบดีลินคอล์น หากน้องๆ หรือดาราท่านไหนสนใจเรียนรู้การแสดงแบบขั้นเทพก็ควรจะดู เพราะเขาเล่นดีจริงๆ
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะดูก็น่าจะเป็นนักกฎหมาย หรือใครที่เรียนด้านกฎหมาย หนังเรื่องนี้พูดเรื่องความเท่าเทียมกันด้านกฎหมายเยอะมากหลายฉาก และมีแง่คิดมากๆในการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
หนังเปิดเรื่องด้วยสงครามระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ เพื่อเริ่มเล่าเรื่องความขัดแย้งภายในทำให้เกิดสงครามขึ้น และทำให้เราทราบว่าทำไมประธานธิบดีลินคอล์นจึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหยุดสงคราม
ในหนังยังเล่าถึงการตัดสินใจแต่ละครั้งของประธานาธิบดีนั้น ภรรยาของท่านก็จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ อีกทั้งเป็นคนคอยหนุนให้เขาทำอะไรต่างๆให้สำเร็จ จะเห็นได้ชัดเลยว่าการมีหลังบ้านที่ดีมันส่งผลให้มหาบุรุษผู้นี้ยืนหยัดและผ่านพ้นวิกฤติต่างๆไปได้ แม้จะต้องเจอเรื่องเลวร้ายเพียงใด
การลั่นวาจาทีว่า รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดูเหมือนการมัดมือตัวเอง แต่ในทางกลับกันประโยคนี้ก็กลายเป็นวลีเด็ดที่ทุกคนจำได้ แถมจำได้ดีมากว่าสองร้อยปี และเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น เพราะรัฐบาลควรทำเพี่อประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะเป็นคนแบบไหน ผิวขาวหรือว่าผิวดำ
ลินคอล์นเคยพูดว่า “ผมเป็นคนเดินช้า แต่ผมไม่เคยเดินถอยหลัง ...” ซึ่งเขาก็ทำแบบนั้นจริงๆ เขาใช้เวลาหลายปีในการยุติสงคราม ขนาดกว่าที่เขาจะหาเสียงสนับสนุนในการแก้กฎหมายเลิกทาสได้ เขาก็เหนื่อยยากแทบแย่ จนในหนังมีฉากหนึ่งที่ลินคอล์นโดนทักว่าท่านดูแก่ลงไปเยอะเลยนะหลังจากที่เราเจอกันเมื่อปีก่อน แต่ก็นั่นแหละครับ สุดท้ายปลายทางเขาก็ทำให้ประเทศนี้เดินหน้าไปได้
กฎหมายเลิกทาส มันอาจจะไม่ได้ทำให้คนอเมริกันเกิดความเท่าเทียมได้โดยทันที แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความเท่าเทียมกันในเวลาต่อมา
จากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้เข้าใจว่าทำไมคนอเมริกาจึงหวงแหนในเสรีภาพของพวกเขามากขนาดนี้ คำตอบของเรื่องนี้ก็คงเพราะกว่าที่พวกเขาจะได้มา มันยากมากขนาดไหน มันเสียเลือดเสียเนื้อมาเยอะมากจนเป็นราคาของประชาธิปไตยในอเมริกา ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน ประชาธิปไตยของอเมริกาก็เช่นกัน
หนังเรื่องนี้สำหรับคนที่อยากดู ผมว่าหาเวลาอ่านประวัติศาสตร์อเมริกามาสักเล็กน้อย จะเข้าใจและดูได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องนี้เน้นบทสนทนาเยอะมาก ชนิดต้องตั้งใจดูกันเลยทีเดียว บางคนดูหนังประเภทนี้อาจจะเบื่อได้ หากไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ
หนังเรื่องนี้ปิดม่านลงด้วยการจากไปของมหาบุรุษนามว่าลินคอล์น ที่ชนชาวอเมริกาคงไม่มีวันลืมชายสูงผอมรายนี้ได้ลงอย่างแน่นอน
ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ต้องลองมองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในหนังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการล็อบบี้กันทางการเมือง การทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยัดเงินกันยังมีเลย การเมืองแบบอเมริกันไม่ได้ปลอดพ้นความสกปรก นักการเมืองยังมองว่าบางครั้งวิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายมันไม่ได้แปลว่าวิธีแบบสะอาดๆจะทำได้สำเร็จ แม้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นจะดียอดเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม
การล็อบบี้ทางการเมืองมันมีทุกที่ ทุกประเทศชาติ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเอง แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำมันทำเพื่อประชาชนจริงๆหรือไม่ ถ้าแบบในหนังลินคอล์นคงตอบว่า ใช่ แต่ถ้าเป็นการล็อบบี้กันของนักการเมืองไทยเลวๆ ที่คิดแต่ประโยชน์ของตัวเอง พ่นน้ำลายอ้าปากอ้างประชาชน คำตอบของผมคงตอบได้อย่างเดียวคือ ไม่
หนังเรื่องนี้เน้นบทสนทนา เนื้อหาการเมือง ต้องดูอย่างมีสมาธิ จากการนั่งดูไปสองรอบแล้ว ผมอยากยกนิ้วโป้งให้กับทุกๆคนที่มีส่วนในหนังเรื่องนี้ เพราะพวกเขาทุ่มเทกันมากจริง และต้องขอบคุณ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมาได้เทพจริงๆครับ มันทำให้คนดูต้องขบคิดเรื่องประชาธิปไตย อิสรภาพ เสรีภาพของมนุษย์ ดูหนังไปพร้อมๆกับนั่งเรียนประวัติศาสตร์การเมือง กฎหมาย และรัฐศาสตร์ ผมเชื่อว่าถ้าใครได้ดูก็คงได้แง่คิดมากมาย
ก่อนเราจากกันวันนี้ มีคำคมจาก อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งประโยค ซึ่งผมมองว่าเข้ากับพันธมิตรเราสุดๆ ในยามนี้ นั่นคือ “เมื่อแน่ใจว่ายืนอยู่ในที่ๆถูกต้อง ยืนให้มั่น” ถ้าคุณเชื่ออย่างที่ผมเชื่อ เราคงได้ยืนเคียงข้างกันไปอีกนานเลยละครับ