xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ขอข้อมูลข่าวสาร : กรณีคณะขุนค้อนไปอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ความคืบหน้ากรณีที่ตัวผมได้ใช้สิทธิ์ตามพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ขอดูรายละเอียดการเดินทางของคณะนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรพาสื่อมวลชนนักข่าวกีฬาตลอดถึงพนักงานบริษัทของนายจักรพันธ์ ยมจินดาไปอังกฤษ ซึ่งได้ยื่นขอไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จำนวน 3 ประเด็นประกอบด้วย

ก.) รายละเอียดโครงการหรือแผนงานตลอดถึงที่มาของงบประมาณของการเดินทางไปประเทศอังกฤษของคณะประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 22-29 กันยายน 2555

ข.) รายละเอียดการเดินทาง กำหนดการ ค่าใช้จ่าย และรายชื่อคณะผู้ร่วมเดินทางตามโครงการตามข้อแรก และ

ค.) รายงานหรือสรุปผลที่ได้รับจากการเดินทางครั้งนั้น

รอคอยจนกระทั่งสิ้นปีล่วงเข้าปีใหม่เป็นเวลากว่า 3 เดือนเห็นว่าเป็นเวลานานพอที่ยืนยันว่าทางสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ดำเนินการตามขอจึงได้ยื่นร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามขั้นตอนที่กฎหมายพรบ.ข้อมูลข่าวสารฯกำหนด รอคอยผลการพิจารณาจนกระทั่งกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาผมจึงได้จดหมายแจ้งผลการร้องเรียนว่าให้ติดต่อไปรับข้อมูลข่าวสารที่ขอไว้ ณ กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ตอนนั้นคิดว่าเอาล่ะมาช้ายังดีกว่าไม่มา ! อย่างน้อยก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้ว่าต่อไปประชาชนสามารถเข้าไปขอดูข้อมูลการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของบรรดาผู้มีเกียรติในสภาได้ง่ายขึ้นแต่ที่ไหนได้ครับ..เมื่อติดต่อขอรับข้อมูลตามหนังสือที่แจ้งมากลับมีเพียงเอกสาร 12 แผ่นไม่ครบประเด็นตามที่ยื่นขอไป

เอกสาร 12 แผ่นที่ได้มาชื่อว่า “รายงานการศึกษาดูงานของคณะนักวิชาการและสื่อมวลชน” นำโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 20-28 กันยายน 2555 ณ สหราชอาณาจักร”

ดูเนื้อหาในเอกสารก็แค่รายงานโดยสรุปซึ่งก็เป็นแค่ 1 ใน 3 รายการที่ยื่นขอไป ยังขาดรายละเอียดที่ขอไปอีก 2 ประเด็นคือ ก.) รายละเอียดโครงการหรือแผนงานตลอดถึงที่มาของงบประมาณของการเดินทางและ ข.) รายละเอียดการเดินทาง กำหนดการ ค่าใช้จ่าย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการดูงานกันแบบไหน ?

ผมตัดสินใจจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯอีกรอบตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินการเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังให้มาไม่ครบ

เพราะข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งมีฐานะเป็นประมุขสถาบันนิติบัญญัติหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยให้สัมภาษณ์ไว้เองว่าพร้อมเปิดเผยรายละเอียดการเดินทาง ไม่มีปัญหาการเดินทางไปเป็นเรื่องเปิดเผย ฮา-ฮา ในเมื่อเปิดเผยไม่มีอะไรทำไมประชาชนขอดูจึงให้มาไม่ครบตามขอไปล่ะครับ

คำพูดของคนระดับประธานรัฐสภาจะต้องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีจะมาพล่อยๆเป็นนักการเมืองสันดานหยาบปากอย่างใจอย่าง--หน้าไหว้หลังหลอกสับปลับตอแหลได้ยังไง ถ้านายสมศักดิ์สั่งการไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลจริงก็ไม่สมควรนั่งในตำแหน่งที่มีศักดิ์ศรีตำแหน่งนี้ต่อไป แต่หากนายสมศักดิ์ไม่รู้บรรดาลิ่วล้อบริวารก็ควรทราบไว้ว่าการปกปิดข้อมูลแบบไม่เข้าท่าครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เรื่องจบแบบง่ายๆ แต่จะทำให้ชื่อเสียงเกียรติภูมิของเจ้านายห่างไกลจากนักประชาธิปไตยออกไปเรื่อยๆ

ไม่รู้ว่าฝรั่งคนไหนที่คิดสร้างคำนี้ขึ้นมาสุดยอดมาก ... Information is the oxygen of democracy.

ข้อมูลข่าวสารเป็นลมหายใจของประชาธิปไตย !

การรับรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารคือหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน สังคมประชาธิปไตยใดละเมิดสิทธิ-เสรีภาพพื้นฐานของประชาชนที่ว่าด้วย The Right to know และ Freedom of information อย่าได้เรียกสังคมนั้นว่าสังคมประชาธิปไตยเลย

การอุทธรณ์ครั้งนี้ไม่ได้แค่อยากจะรู้ให้ได้ประมาณว่าถ้าไม่รู้จะเป็นจะตายขึ้นมาดอกนะครับ..แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารในประเทศไทยมันเป็นจริงหรือเป็นแค่กฎหมายเขียนไว้เล่นๆ เป็นการยื่นเพื่อจะสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาว่า ประชาชนคนเดินดินเจ้าของภาษีสามารถจะขอรู้รายละเอียดการใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่เป็น “รายละเอียดจริงๆ” ไม่ใช่บรรยายสรุปแค่ปัดเรื่องให้พ้นๆตัว

เอาให้ชัดว่าต่อจากนี้ไปประชาชนคนเดินดินที่ควักกระเป๋าจ่ายภาษีกันทุกปีจะสามารถรับรู้การใช้จ่ายเงินไปดูงานต่างประเทศของผู้แทนของตนได้หรือไม่ ? และต้องละเอียดว่าสามารถรู้ว่าคณะเดินทางได้ไปที่ไหนบ้าง พักแรมที่ไหน ใช้เงินจากงบประมาณหมวดไหน อยู่ในแผนงานหรือเป็นกิจกรรมฉุกละหุกเพิ่งคิดทำของผู้ใช้อำนาจรัฐ

เอาให้มันชัดเป็นบรรทัดฐานกันไปเสียที !

กฎหมายข้อมูลข่าวสารนั้นถือว่าประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิที่รับรู้การดำเนินการใดๆ ของผู้ใช้อำนาจรัฐตามหลักการที่ว่าเปิดเผยเป็นหลัก-ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่ถือว่าสังคมแบบเปิดต้องมีความสว่างไสวใครทำอะไรต้องให้คนในสังคมเห็นได้ตรวจสอบได้

ถ้าบ้านสว่างโจรขโมยมันย่องมาลักของไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ! ไม่ต้องอะไรมากหรอกครับ แค่ 12 หน้าเบื้องต้นที่เปิดเผยออกมามันก็น่าเกลียดแล้ว หากได้รายละเอียดมาเพิ่มอีกจินตนาการดูซิว่าจะยิ่งอัปลักษณ์สักเพียงไหน

เอาแค่รายงานสรุป 12 หน้าแบบไม่มีรายละเอียดมากเป็นน้ำจิ้มไปก่อน

ประเด็นที่ 1- เอกสารเขียนว่า โครงการอบรมสัมมนาของรัฐสภา นักวิชาการและสื่อมวลชน แต่มีสื่อรวมแล้ว 11 คนจากคนที่ยกกันไป 25 ชีวิต แถมกระจุกอยู่กับพวกเดียวกันบริษัทแมกซิม่าของจักรพันธ์ ยมจินดาไป 2 คน, สยามกีฬา 2 คนแต่ดันเขียนหลักการเหตุผลว่าสัมมนาให้ความรู้ผู้สื่อข่าวนำเรื่องราวของรัฐสภาไปเผยแพร่ มีสื่อสายแดงศักดา เอียว(เซีย ไทยรัฐ) มีวอยซ์ทีวีของโอ๊ค พานทองแท้ มีประชาไท ฯลฯ ก็ชัดเจนแล้วว่า การเขียนชื่อโครงการอบรมสัมมนาอ้างหลักการเหตุผลสวยหรูมันก็แค่เรื่องบังหน้าพากันไปเที่ยวใช้เงินภาษีไป 5.8 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2- ระยะเวลาเดินทาง 20-28 กันยายนไปดูแค่ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด บีบีซี SOAS รัฐสภา และสถานเอกอัครราชทูต ใช้เงินไปเฉลี่ยคนละ 2.6 แสนบาท ซึ่งความเป็นจริงสังคมก็ได้ทราบข้อมูลการเดินทางเบื้องต้นจากเฟซบุ้คของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่หน้าบางกว่าใครหน่อยไม่กล้าสมอ้างรับไปในนามคอลัมนิสต์คม ชัด ลึกแต่ไปในนามนักวิชาการแทน พิชญ์เขียนในเฟซบุ้คชัดเจนว่าไปรัฐสภาก็แค่เฉี่ยวๆ เข้าไปก็แค่ฐานะนักท่องเที่ยวซื้อตั๋วไปเยือนไม่ได้เข้าไปเยือนอย่างเป็นทางการ บีบีซีนี่ใครก็รู้ว่าใครไปอังกฤษสามารถตีตั๋วเข้าชมบีบีซีลอนดอนได้ รถบัสจอดเต็มและที่ตรงนั้นก็เหมือนกับซากเทคโนโลยีไปแล้วเพราะบีบีซียุคใหม่เขาย้ายไปแมนเชสเตอร์ นายสมศักดิ์อ้างว่าจะทำโทรทัศน์รัฐสภาแบบดิจิตอลเลยนำสื่อไปดู มันก็แค่เป็นข้ออ้างให้คนไม่รู้ฟังเท่านั้น ส่วนอ๊อกซฟอร์ด นี่ก็เหมือนกันการขับรถผ่านจอดถ่ายรูปกับการไปเยี่ยมเยือนเพื่อศึกษามันคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่ 3 – ถ้ารายงานสรุปการเดินทางไปต่างประเทศ หรือรายงานสรุปโครงการใช้เงินงบประมาณขนาด 5.8 ล้านบาทเขียนและทำ มีผลสรุปออกมาเป็นเอกสารได้แค่นี้คือมีแค่12 แผ่นรวมปกและสารบัญ อ้างหลักการเหตุผล มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย รายชื่อผู้เข้าร่วม แต่ดันเขียนงบประมาณแบบยอดรวม 5.8 ล้าน การเขียนโครงการแบบนี้ต่อให้เป็นโครงการของนักศึกษาทำกิจกรรมกันเขายังไม่ให้ผ่านเลย แต่นี่มันงบประมาณของชาติ 5.8 ล้านบาทครับ หน่วยงานระดับสภาผู้แทนราษฎรเขียนรายงานโครงการกันแบบนี้หรือ ? ถ้าใช้รูปแบบดังกล่าวเป็นมาตรฐานในการรายงานการเดินทางไปต่างประเทศของคณะสัมมนา คณะดูงาน คณะกรรมาธิการศึกษาใดๆ เขียนแค่ 10-12 หน้า บอกกว้างๆ ใส่ยอดรวม แล้วก็เขียนเหมือนตัดแบบ Wikipedia มาว่าไปที่ไหนบ้าง แค่นั้นไม่ได้บอกผลสัมฤทธิ์ ไม่บอกผลประเมิน การบรรลุเป้าหมายวัตถุประสงค์ หรือผลที่จะมาเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองยังไงต่อไป ผมว่าเอาเงินก้อนดังกล่าวให้โรงเรียนขนาดเล็กเขาซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เสื้อผ้าเครื่องเขียนดีกว่าครับ เห็นว่าขาดงบอยู่ไม่ใช่เหรอ

จะรอผลการอุทธรณ์ครับ ขอยืนยันว่าถ้าให้ดูที่มาของงบประมาณไม่ได้ ให้ดูรายละเอียดการเข้าพัก การเดินทางแต่ละวันไม่ได้ก็ต้องถึงศาลปกครองเท่านั้น บอกแล้วไงว่านี่เป็นบรรทัดฐานที่แสดงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผู้เอาเงินภาษีของเราไปใช้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของสังคมประชาธิปไตยหากว่าสถาบันนิติบัญญัติกลับฉ้อฉลละเมิดสิทธิ-เสรีภาพดังกล่าวเสียเองก็อย่าเป็นเลยครับประชาธิปไตย

ป.ล. มีอีกเรื่องที่อยากเรียนถึงท่านประธานสภาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เพื่อโปรดทราบผ่านทางคอลัมน์นี้ ผมได้ยื่นหนังสือขอข้อมูลข่าวสารอีกฉบับเมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอข้อมูลการใช้สิทธิ์เดินทางของสมาชิกสภาฯ 4 ปีงบประมาณย้อนหลัง ผมทราบดีว่าสมาชิกสภาฯ ได้สิทธิ์เดินทางฟรีทั้งทางรถไฟ บขส.และเครื่องบิน แต่ที่สนใจจริงๆ คือเครื่องบินอยากรู้ว่าท่านผู้ทรงเกียรติใช้สิทธิ์เดินทางกันมากน้อยขนาดไหนในแต่ละปี ไปไหนกันบ้างคนอยู่เหนือชอบบินไปใต้ หรือบินกันในวันประชุมหรือเปล่า ? ตอนนี้หนังสือคงจะส่งผ่านตามขั้นตอนไปแล้วครับเพราะเจ้าหน้าที่รับได้โทรศัพท์มาแจ้งผมแล้วว่า หากจะขอดูของส.ว.ต้องแยกยื่นไปยังประธานสภาส.ว.โดยตรงผมก็รับทราบว่ายื่นขอดูเฉพาะของส.ส.ไปก่อนก็ได้ ทางส.ว.จะยื่นภายหลังอีกรอบ

หวังว่ารอบนี้คงไม่ล่าช้าขนาด 3-4 เดือนอีกนะครับ เพราะยังไงผมก็จะร้องเรียน-ยื่นอุทธรณ์ต่อไม่ทิ้งเด็ดขาด และยิ่งล้าช้าความเสียหายต่อภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยของสภาก็จะเสียหายไปเท่านั้น – เมื่อทราบแต่เนิ่นแล้วได้โปรดสั่งการให้เปิดเถิดครับเพราะเรื่องแบบนี้รัฐสภาในประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าเขาเปิดกันหมดแล้ว ไหนว่าเป็นรัฐสภาจากการเลือกตั้งมีฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากไงล่ะครับ.

(คลิกดู/รายงานการศึกษาดูงานของคณะนักวิชาการและสื่อมวลชนนำโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 20-28 กันยายน 2555 ณ สหราชอาณาจักร)
กำลังโหลดความคิดเห็น