xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไม่สะอาด ปัญหาอยู่ที่ถังหรือคน?

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

เช้าวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนเมษา ขณะที่ผมนั่งรถโดยสารสาธารณะจากนอกเมืองเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร นั่งมองวิวรายทางไปเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงเขตตลิ่งชัน
แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย? นั่น? ถังขยะ "ถังขยะแบบใหม่" นี่นา แถมที่สำคัญ มันประจำการอยู่แทบทุกหน้าปากซอยเลย อะไรกันนี่ ท่านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ แกเริ่มประเดิมงานใหม่ด้วยการจัดหนักถังขยะหลังถูกโจมตีช่วงหาเสียงว่าไม่ค่อยมีแล้วหรือนั่น อันนี้เป็นเรื่องที่ผมประหลาดใจ ปนรู้สึกดีใจไม่น้อย ที่ในที่สุด เมืองบางกอกก็มีถังขยะเยอะแยะให้เหล่าประชากรอันมากมายสามารถทิ้งกันได้ง่ายดายขึ้น แถมลวดลายก็ดูน่าใช้ดี มันช่างเป็นเรื่องที่น่าประทับใจนัก

พลันเวลาผ่านไปสักพักก็เริ่มมีเสียงโจมตีขึ้นมาจากบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับต้นสังกัดของท่านผู้ว่าฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล่าวหาเรื่องราคาที่แพงจนเกินไป จนถึงหาที่เปิดทิ้งขยะไม่ได้ ซึ่งต่อมาก็มีการออกมาแก้ข่าวกันไป

จากปากคำของ นายบรรจง สุขดี ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่ได้ออกมาระบุข้อมูลในส่วนของถังขยะรุ่นใหม่ว่าได้จัดซื้อมา ๓๕,๐๐๐ ใบ ตกใบละ ๒,๐๐๐ กว่าบาท ใช้งบประมาณราว ๗๐ ล้านบาทเพื่อเปลี่ยนถังขยะในเมือง โดยจะนำไปวางไว้เฉพาะถนนสายหลักและสายรอง สำหรับทิ้งขยะขนาดเล็กเท่านั้น ส่วนถังขยะขนาดใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้มีการซื้อมาเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น ถังขยะสีเขียวสำหรับใส่เศษอาหารและขยะเปียก ถังสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล และถังสีส้มสำหรับขยะอันตราย ใช้สำหรับเป็นจุดพักขยะจากครัวเรือน

แล้วทำไมต้องเปลี่ยนมาใช้แทนถุงขยะแบบที่ใช้แขวนกับราวเหล็กที่ใช้กันมาตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด ๙ จุดทั่วกทม.เมื่อสิ้นปี ๒๕๔๙ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ก็ชี้แจงว่า ในอดีต กทม.ได้เก็บถังขยะขนาดเล็กซึ่งตั้งวางในที่สาธารณะออก เพื่อคุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย และไม่ให้เป็นจุดล่อแหลมของผู้ไม่หวังดี จากนั้นได้เปลี่ยนเป็นถุงพลาสติกใส แต่ไม่มีความแข็งแรง อีกทั้งไม่มีฝาปิดทำให้น้ำขังภายในถุงขยะ และส่งกลิ่นเหม็น รวมถึงมีแมลงรบกวน

ทำให้กทม.จำเป็นต้องทบทวนมาตรการในการรักษาความสะอาด ควบคู่ไปกับการรักษาความปลอดภัยของเมือง และการเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงได้ออกแบบถังขยะให้มีความเหมาะสมในทุกด้าน ทั้งนี้ กทม.ได้กำชับให้สำนักงานเขตจัดชุดเร่งด่วนจัดเก็บขยะในถังสะดวกทิ้ง เพื่อไม่ให้มีขยะสะสม จนเป็นจุดล่อแหลม พร้อมทั้งกำชับคนงานกวาดหมั่นตรวจสอบการตั้งวางถังให้เป็นระเบียบ มีสภาพดี และสะอาด ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมในถังขยะ และขอความร่วมมือประชาชน โปรดทิ้งขยะในช่องทิ้ง ซึ่งมีบานเปิด - ปิด ไม่เปิดฝาทิ้งถังไว้ หรือทำลายฝาถังขยะ
ภาพเปรียบเทียบระหว่างอดีตถังขยะแบบสอดถุง กับถังขยะรุ่นปัจจุบัน
ทีนี้ผมก็สงสัยครับ ว่า "ถังขยะรุ่นใหม่ ใช้งานง่ายจริงหรือ?"

ความแตกต่างระหว่างถังขยะรุ่นเก่า พวกถังเขียว กับ แบบใหม่นี้ มีตรงจุดไหนบ้าง นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ถังแบบใหม่ดูดีกว่าแล้ว แต่ในส่วนอื่นๆ กลับรู้สึกว่า ไม่ได้ต่างอะไรกับถังขยะแบบเก่าเลย ที่เป็นปัญหาจริงๆ ของคนทิ้งในถังแบบใหม่ที่ผมพบเจอคือ หารูช่องทิ้งขยะไม่เจอเนี่ยล่ะครับ ถังเขียวมีช่องทิ้งด้านเดียว สังเกตุเห็นง่ายและชัดเจนกว่า ส่วนถังใสมีรูทิ้ง ๒ ด้าน แต่ต้องสังเกตุเอาว่า มันอยู่ด้านไหนวะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ก็จะวางไว้ไม่ค่อยเหมือนกัน จะหาว่าผมโง่ก็ได้ แต่บางทีก็ต้องเดินวนรอบถังเพื่อหารูทิ้งขยะเลย

และข้อเสียอีกอย่าง อันนี้สำคัญมาก คือ ถังรุ่นใหม่ มันเปิดทางช่องยากจริงๆ ครับ ต้องใช้แรงดันพอสมควรที่จะดันฝาให้มันทะลุไปสู่อีกด้านได้ มองในแง่ดีผู้ผลิตเขาคงอยากให้ผู้ใช้ได้ออกกำลังกายกระมัง หรืออาจจะหวังให้ปิดสนิทเพื่อป้องกันเชื้อโรคก็เป็นได้ แต่สุดท้ายผู้ใช้ก็ต้องเปิดฝามันออกเพื่อทิ้งขยะ แล้วเชื้อโรคจากถังก็ติดมืออยู่ดี

ผมเสนอวิธีแก้ที่ง่ายที่สุด ก็คือให้เจ้าหน้าที่กทม.เจาะปากช่องทิ้งให้มันโล่งไปด้านใดด้านหนึ่งเลย ส่วนตัวถังก็ใส่ถุงพลาสติกใสเข้าไปภายในอีกชั้น เพื่อเก็บง่ายขึ้น และทำให้ตัวถังดูสกปรกน้อยลงด้วย

เอาเข้าจริงๆ ผมกับชอบถังขยะเวอร์ชั่นแขวนถุงมากกว่า เพราะมันเหมาะกับลักษณะนิสัยคนไทยที่มักชอบอะไรที่มันง่ายๆ ข้อดีของถุงขยะ คือ ทิ้งง่ายแค่หย่อนก็จบแล้ว ถมเสมหะก็ง่าย แถมยังเก็บทำความสะอาดง่ายอีก เมื่อเทียบกับถังขยะ ที่เมื่อเทขยะลงในรถขยะจนหมดแล้ว แต่ตัวถังก็ยังคงสกปรก เชื้อโรคติดเต็มไปหมดเลย แต่ปัญหาของถุงขยะก็ตามที่คุณผอ.แกบอกนั่นล่ะครับ ทีนี้ในมุมกลับ ทำไมเขาไม่คิดปรับปรุงให้มันป้องกันฝนได้ด้วยล่ะ เช่น หาฝาพลาสติกหรือเหล็ก ลอยขึ้นมาจากตัวปากปล่องราวๆ ๑๐ ซม.ให้สามารถสอดมือเข้าไปได้ ยึดกับตัวเสาฐานแล้วให้มันสามารถหมุนเลื่อนซ้ายหรือขวา หรือให้มันเปิดได้ ผมว่าก็โอเคป้องกันฝนได้ แถมหัวเสาอาจทำเป็นที่เขี่ยบุหรี่ไม่ให้สิงห์อมควันทิ้งก้นบุหรี่เรี่ยราดได้อีกด้วย

อย่างว่า มีถังขยะเยอะก็ดีกว่าไม่มี อย่างน้อยก็น่าจะทำให้มีที่ทิ้งขยะมากขึ้น

แต่ .... มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิครับ
สภาพถังขยะที่ถูกแยกสภาพเป็น ๒ ส่วน
หน้าห้างสรรพสินค้าอันเก่าแก่ที่ชื่อว่า พาต้า ปิ่นเกล้า ตรงนี้เป็นจุดที่มีประชากรพลุกพล่านมาก เพราะบริเวณด้านหน้าของห้างเป็นที่ต่อรถโดยสารประจำทางจากนอกเมืองสู่ในเมืองหลายสาย แน่นอนตรงนี้ย่อมมีถังขยะอยู่เป็นจำนวนพอสมควรสำหรับให้คนทิ้ง ... แต่ผมกลับพบว่า บางคนไม่ได้ใช้มัน แต่เลือกที่จะทิ้งตามซอก หรือบริเวณจุดที่วางต้นไม้ หรือเสาไฟแทน ซึ่งมันห่างจากถังขยะแค่ไม่เกิน ๔ ก้าวเองนะ

อันที่เจอบ่อยมากๆ นอกจากก้นบุหรี่แล้ว ก็มีตั๋วรถเมล์ แก้วน้ำ ถุงใส่อาหาร พวกนี้จะเจอบ่อยจริงๆ ทั้งตามป้ายรถเมล์ ใต้ต้นไม้ ปากท่อระบายน้ำ ในแม่น้ำ ลำคลอง รวมไปถึงซอกหลืบเบาะที่นั่งในรถประจำทาง ซึ่งรถเมล์บางคันก็มีถังขยะน้อยๆ ตั้งอยู่ตรงประตูทางลงอยู่ อันนี้สร้างความเซ็งให้กับบรรดาพนักงานกระเป๋ารถเมล์ รวมไปถึงผู้โดยสารคนอื่นด้วย

มันเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อถังขยะก็มีแล้วนิ?

เป็นเรื่องที่ผมตั้งคำถามกับตัวเอง และเหล่ากัลยาณมิตรของผมว่า มันเกิดอะไรขึ้น บ้างก็บอกว่า เป็นที่การศึกษา บ้างก็บอกว่ากฏหมายไม่แรง คำถามคือ มันจริงหรือไม่? กับสิ่งที่เขาตั้งคำถาม ถ้าจะบอกว่าการศึกษาในเรื่องของการทิ้งขยะตั้งแต่ผมร่ำเรียนมา สมัยเป็นเด็กน้อยครูก็สอนมาตลอดว่า ต้องทิ้งขยะให้ลงถังนะ อย่าทิ้งบนพื้นเพราะมันจะทำให้สกปรก ฉะนั้นตรงนี้ไม่น่าจะใช่ แต่สำหรับผมแล้วมีความเชื่อว่า ครอบครัว เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ สำหรับการปลูกฝังเรื่องนี้ครับ

เวลาไปเที่ยวงานวัด ผมเคยเห็นบางครอบครัวพยายามให้ลูกเก็บขยะที่ตัวเองทานเสร็จแล้วและเดินหาถังขยะให้พบ หรือให้รอทิ้งเฉพาะที่ถังขยะเมื่อพบ แต่ในทางกลับกันผมก็เคยเจอหลายครอบครัว ที่เมื่อทานเสร็จลูกก็วางถุงขยะไว้ตามเสา หรือบนทางเดินเท้าเลย โดยที่พ่อแม่ของเขาไม่ได้ตักเตือน เนื่องจากตัวเองก็ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ตรงนี้เป็นปัญหาที่ผมเองก็จนปัญญาในการแก้ไขจริงๆ ครับ จะเดินไปบอกว่าพี่ครับ ถังขยะอยู่ตรงโน้น บางคนที่รับฟังก็ดีไป แต่บางคนที่หันกลับมาด่าว่า "เสือก" ก็มีถม ผู้หวังดีหลายคนก็คงไม่ค่อยอยากแบบรับความเสี่ยงอะไรแบบนี้สักเท่าไหร่

ตัวช่วยที่สำคัญก็คือกฏหมายครับ ในบ้านเรามีก็คือ "พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.๒๕๓๕" ซึ่งให้อำนาจในการจับปรับผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้อยู่แล้ว มีโทษตั้งแต่ ๒๐๐ - ๒,๐๐๐ บาท และหากทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลองก็มีโทษสูงสุดถึง ๑๐,๐๐๐ บาท เลยทีเดียว ดูแล้วก็ถือว่าเข้มงวด แต่ในทางปฏิบัติมันผกผัน เมื่อไม่มีใครมาจับปรับกันจริงๆ จังๆ ถ้าจำได้สมัยก่อนๆ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจมานั่งโต๊ะอยู่ในซุ้มตามป้ายรถเมล์ใหญ่ๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คอยซุ่มดูชาวบ้านที่แอบทิ้งขยะไม่เป็นที่ ซึ่งก็ได้ผลดี แต่ก็ฮิตเป็นพักๆ และเมื่อปลายปี ๕๕ เห็นว่า กทม.เองก็รื้อฟื้นให้มีการรณรงค์ รวมทั้งส่งหน่วยเทศกิจออกจับปรับหากพบด้วย

ดูเหมือนจะเฮี๊ยบแต่ก็เหมือนเดิม

ถ้าเป็นแบบนี้วิธีแก้ไขอาจจะต้องพลิกกลับจากเดิมที่เน้นบ้าน โรงเรียน และสังคม กลายเป็นใช้ กฏหมาย สู่สังคม ย้อนไปยังบ้าน แทน ผมพูดแล้วอาจจะดู งงๆ อธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโหมทำสื่อโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุท้องถิ่น สังคมออนไลน์ และการกระจายเสียง เตือนให้ชาวบ้านรู้ว่า อย่างทิ้งขยะไม่เป็นที่ จะจับปรับกันจริงแล้วนะ ต้องทำให้เกิดความกลัวบนพื้นฐานเหตุและผล ไม่ใช่บอกแต่ว่า จะจับปรับ แต่ไม่อธิบายว่า ทำไมถึงต้องจับ ตรงนี้ต้องมีการชี้แจงให้สังคมได้รับทราบควบคู่กับการบังคับใช้กฏหมาย เปรียบเสมือนการเรียนรู้ร่วมกัน ว่า ทำไมเราถึงเราถึงต้องทิ้งขยะให้ลงถังนะ อาจจะงัดมุก "ตาวิเศษรีเทิร์น" มาใช้ก็ดูน่ารักดี

ต่อจากนั้นก็เริ่ม "บังคับใช้กฏหมายให้เข้มงวด แต่ต้องปราศจากการกลั่นแกล้ง" ผมพูดดักทางเอาไว้เนื่องจาก การจับกุมแบบไม่มีหลักฐานเป็นภาพหรือเสียง มันอาจจะย้อนไปสู่ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมได้ ฉะนั้นตัวเทศกิจเองอาจจะต้องมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น เช่น กล้องถ่ายวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือ ถ่ายเพื่อเป็นหลักฐานการจับกุม ซึ่งตรงนี้จะอธิบายต่อสังคมแบบซึ่งหน้าได้ (กรณีที่มีคนโวยสร้างกระแส ผมเชื่อว่ามีแน่นอน) ขณะที่การลงโทษก็ควรมีเหตุและผลในตัวของมัน และไม่จำเป็นต้องเป็นปรับเป็นเงินเสมอไป อาจจะให้อบรม อธิบายสาเหตุของการไม่ทิ้งขยะ และบำเพ็ญประโยชน์ซึ่งหน้า เก็บขยะ ๕๐ ชิ้น (เหมือนสมัยถูกครูลงโทษตอนเป็นเด็กแล้วทำผิดกฏโรงเรียนเลย)

รวมทั้งขอความร่วมมือกับโรงเรียนทุกระดับการศึกษาให้ช่วยกันรักษาความสะอาดอย่างจริงจัง เมื่อเด็กได้รับกระบวนการเรียนรู้ก็จะเริ่มเป็นนิสัยและปฏิเสธในสิ่งที่เชื่อว่าไม่ถูกต้องต่อครอบครัวของตัวเองได้

ที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติเป็นภารกิจ ไม่ใช่แค่ "พอเลิกฮิตก็เลิกกัน" อันนี้ถือว่าสำคัญที่สุดในกระบวนการ

เขียนมาทั้งหมดนี้ กับอีแค่เรื่องขยะ ที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลย ถ้าทุกคนยังคิดมักง่าย ไม่คำนึงส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก แล้วอย่างนี้นับประสาอะไรที่เราจะไปพูดถึงเรื่องชาติ บ้านเมืองกันล่ะ จริงไหมครับท่านผู้อ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น