xs
xsm
sm
md
lg

พลังงาน(โกหก)ทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สำหรับประเทศเราการที่รัฐมนตรีพลังงานหรือกระทั่งนายกรัฐมนตรีจะออกมาพูดเรื่องประหยัดพลังงานตลอดถึงวางเป้าหมายส่งเสริมพลังงานทางเลือก ให้เชื่อไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นแค่คำพูดพื้นๆสวยๆ ไม่แตกต่างกับที่นางงามต้องพูดว่ารักเด็กยังไงยังงั้น

เมื่อปี 2550 สมัยรัฐบาลขิงแก่ รมว.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประกาศว่ากำลังส่งเสริมพลังงานทางเลือกประเทศไทยจะเริ่มนำเข้าน้ำมันลดลงเรื่อยๆ นับจาก 2548-2549 ก็เริ่มลดลงมาแล้ว และจะมีแผนอนุรักษ์พลังงาน เชื่อว่าภายใน 4 ปี ค่าเฉลี่ยการนำเข้าน้ำมันของประเทศไทยจะต่ำกว่า 35% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก

5 ปีผ่านไป ผลปรากฏว่าการนำเข้าน้ำมันในปี 2555 สูงสุดเป็นประวัติการทุบสถิติปี 2554 ที่เคยทำไว้ ไม่เห็นจะนำเข้าลดลงตรงไหนแถมยังไม่มีวี่แววว่าพลังงานทางเลือกของไทยจะโตมาทดแทนพลังงานฟอสซิล-ไฮโดรคาร์บอนได้

เอาล่ะครับพยายามจะเข้าใจว่ากระทรวงพลังงานน่ะเป็นกระทรวงที่กลุ่มการเมืองสายลิปตพัลลภผูกขาดและมีอิทธิพลมายาวนานหลังจากรัฐบาลขิงแก่มีแต่นักการเมืองสายนี้แหละที่เข้าไปนั่งกำกับการพลังงานแบบแนบชิดกับปตท.ไม่ใส่ใจพลังงานทางเลือกจริงจัง จนกระทั่งเพิ่งมาเปลี่ยนในยุคยิ่งลักษณ์ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันตรงไหน

เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศว่าไทยมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกซึ่งมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ร้อยละ 25 ในปี 2564 โดยจะสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้จากก๊าซชีวภาพ-พลังงานลม-และพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล

ฟังดูดีนะ ถ้าเป็นไปตามนั้นจริงก็ดีน่ะสิ ปัญหาก็คือไม่น่าเชื่อขอรับ!!!

ปมปัญหาของการพลังงานทางเลือกของไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่รัฐไม่หนุนจริงและที่สำคัญถูกสกัดขัดขวางจากขาใหญ่พลังงานเจ้าที่มีกำไรเป็นแสนล้านนั่นล่ะตัวดี

ยกตัวอย่าง-การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหน่วยผลิตขนาดย่อยกระจายไปตามแหล่งที่มีศักยภาพภาคอีสานมีลม ภาคใต้มีคลื่นทะเล ที่ตรงไหนมีความร้อนใต้พิภพหรือ พื้นที่ไหนปลูกพืชผักทำไร่มีชีวมวลก็ผลิตกันจากพื้นฐานทรัพยากรใกล้ตัวตรงนั้นเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับอนาคตของประเทศไทย

ประเทศของเรายังมีศักยภาพด้านพลังงานแฝงอยู่มากมาย หากแต่ติดอยู่กับนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานในอดีตต่างหากที่มุ่งไปฝากอนาคตไว้กับวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก

เชื่อไหมครับว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตเอกชนรายย่อยขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า VSPP (Very Small Power Producer) ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก อาทิ แสงแดด ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ จำนวนมากแต่ไม่สามารถป้อนเข้าสู่ระบบของประเทศหรือเชื่อมกับระบบรับซื้อของ กฟผ.ได้ จะด้วยอะไรก็ตามแต่ มาดูตัวเลขกัน -- VSPP กลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมีมากกว่า 500 ราย ขณะที่ VSPP กลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลก็มีมากกว่า 300 ราย แต่เข้าระบบได้จริงแค่กลุ่มละประมาณ 10% เท่านั้น ที่เหลือก็ใช้กันเองในไร่ในสวนในโรงงานก็ว่ากันไป

หากรัฐบาลจริงใจกับพลังงานทางเลือกควรจะพิจารณาปัญหา “รอยต่อ” อันเกิดจากระเบียบและนโยบายดังกล่าวแล้วสัดส่วนพลังงานทางเลือกก็จะเพิ่มขึ้นมาในทันที ที่มันยังไม่โตไม่ได้มาจากคนไทยทำไม่ได้แต่เนื่องจากทำแล้วรัฐไม่หนุนต่างหาก

ไม่เพียงเท่านั้นปัจจัยประการสำคัญที่มีผลต่อพลังงานทางเลือกก็คือบรรษัทและทุน โดยเฉพาะ ปตท.และอุตสาหกรรมรถยนต์

ถ้าจำได้มีครั้งนึงที่มีการประลองกำลังถกเถียงกันระหว่างขาใหญ่พลังงาน ฝ่าย ปตท.นั้นอยากให้มีการสนับสนุนใช้ก๊าซ NGV ให้รถยนต์เปลี่ยนสเปกมารับ NGV เพื่อตนจะได้ฐานลูกค้าและคุ้มค่าขยายปั๊ม แต่อีกฝ่ายหนึ่งอยากให้รัฐหนุนเอธานอลเพราะมาจากผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ

เอาแค่ยุทธศาสตร์ NGV หรือว่า เอธานอลก็ถกเถียงกันยาวเพราะมันไปพัวพันอย่างแยกไม่ออกกับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์

ที่สุดแล้วมันก็พิสูจน์ชัดใน พ.ศ.นี้ว่า ยุทธศาสตร์พลังงานด้านนี้ของเราเดินตามแนวที่ปตท.ต้องการคือให้รัฐเดินตามยุทธศาสตร์ NGV บริษัทรถยนต์ก็หันมาปรับเป็น NGV ตาม ขณะที่สัดส่วนการเติบโตของเอธานอล E20-85 ก็เริ่มลดลงเหี่ยวปลายไปตามลำดับ

อุตสาหกรรมเอธานอลถูกมือที่มองไม่เห็นบอนไซไว้ หากรัฐมีนโยบายหนุนพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจริงก็ต้องดูแลต้นทุนวัตถุดิบในที่นี้เช่นมันสำปะหลังหรืออ้อยให้มีราคาไม่ผันแปรมากนักหากผันแปรควรจะอุดหนุนตรงจุดนี้เพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นผลักดันให้เอธานอลยืนบนขาตัวเองให้ได้ ไม่เพียงเท่านั้นกฎหมายกำหนดว่าเอธานอลที่ผลิตได้ในประเทศต้องส่งมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไปทำอย่างอื่นไม่ได้ต้องขายให้ผู้ค้าน้ำมันสถานเดียว อุตสาหกรรมนี้จึงไม่โตเพราะกฎหมายบังคับซื้อเป็นคอขวดกำหนดอยู่

ทางหนึ่งรัฐก็ส่งเสริม NGV ห้ามไม่ให้ชาวบ้านใช้ LPG อีกทางหนึ่งก็แอบแหย่ขาสกัดเอธานอลไว้เช่นกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินให้ชนกับแก๊สโซฮอลอย่างนี้เป็นต้น

ผลผลิตเอธานอลจึงไม่เต็มกำลังการผลิต และเป็นแบบนี้มาโดยตลอดทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานของการพึ่งพาตัวเองด้านการพลังงานของประเทศเกษตรกรรมที่มีวัตถุดิบทางการเกษตรมากมาย

เวลานี้กระทรวงพลังงานก็พยายามจะสร้างภาพลักษณ์ว่ากำลังบุกเบิกการผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นพลังงานลม ไปวิจัยพลังงานคลื่น หรือจากชีวภาพซึ่งก็ดีแต่ที่ควรจะดียิ่งกว่าก็คือทำไมไม่หาทางทำลายอุปสรรคที่เป็นคอขวดของพลังงานจากพืชเกษตรเพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็งได้เสียทีล่ะ

หรือว่าคำตอบอยู่ที่แก๊สโซฮอลเป็นคู่แข่งของ NGV แบบเดียวกับ LPG ที่ไปแย่งลูกค้าเขารัฐบาลจึงประกาศห้ามใช้ LPG ติดรถนั่นยังไง

ฟังรัฐมนตรีเพ้ง ประกาศกร้าวว่าประเทศไทยจะใช้พลังงานทดแทน 25% ในอีก 9 ปีข้างหน้าจะเชื่อถือได้แค่ไหนกันนะนี่เพราะการพลังงานของประเทศเราแปรสภาพกลายเป็นการทำมาหากินอย่างอิ่มหมีพีมันของนักการเมืองและขุนนางพลังงานมานานพอสมควร เรื่องพลังงานทดแทนดูยังไงๆ โรงไฟฟ้ากังหันลม โรงไฟฟ้าพลังคลื่นทะเล หรือจากชีวมวลไปเที่ยววิจัยสาหร่ายอะไรนั่นมันเป็นแค่ครีมแต่งหน้าเค้กไว้คอยหลอกชาวบ้านเท่านั้น

ปมที่ต้องพิจารณาให้ดีๆ ของคำประกาศจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 25% แทนที่พลังงานจากฟอสซิลก็คือ ได้มีการเตรียมการสอดไส้เอาพลังงานนิวเคลียร์มาไว้ในคำกล่าวอ้างพัฒนาพลังงานทางเลือกด้วยใช่หรือไม่

อ้าว ! ก็บอกแล้วไงว่าจะลดพลังงานจากฟอสซิลลง ก็พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้มาจากฟอสซิลมิใช่เรอะ- นักการเมืองเขาเตรียมคำตอบไว้เรียบร้อยแล้ว !
DEMCO ลุยโปรเจกต์ “โรจนะ เอ็นเนอร์ยี่” 2.2 พันล.
DEMCO ลุยโปรเจกต์ “โรจนะ เอ็นเนอร์ยี่” 2.2 พันล.
เด็มโก้ เซ็นสัญญาบิ๊กโปรเจกต์ “โรจนะ เอ็นเนอร์ยี่” รับเหมางาน ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ก่อสร้าง ติดตั้งโซลาร์ ฟาร์ม จำนวน 3 โครงการ มูลค่า 2,220 ล้านบาท หลังชะลอโครงการจากน้ำท่วม คาดดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินต้นปีหน้า จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาทันทีตั้งแต่ไตรมาส 1/2556 คิดเป็นการบันทึกรายได้ปีนี้ร้อยละ 90 หรือกว่า 2,000 ล้านบาท และปี 2557 รับส่วนที่เหลือทั้งหมด “พงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์” ระบุ จากความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า DEMCO ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถือเป็นจุดแข็งที่จะผลักดันบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง การเซ็นสัญญางาน “โรจนะ เอ็นเนอร์ยี่” ส่งผลให้บริษัทมีงานในมือ (Backlog) หลังปิดงบปี 2555 แตะ 5,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น