xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่ากรุงเทพที่ตีบตันลงไปเรื่อยๆ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

อยู่ต่างจังหวัดไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพกะเขาหรอกครับแต่ตอนนี้ต่อให้เทวดาเขียวๆเหาะลงมาบอกว่าเอ็งมีสิทธิ์ไปเลือกผมก็ไม่เลือกใคร พงศพัศน่ะไม่เลือกแน่เพราะผมไม่ต้องการผู้ว่าดาราหน้ากล้องโหนรถขยะไปทำงาน คุณชายผมก็จะไม่เลือกเพราะแกจะไม่สามารถนำกรุงเทพไปไหนต่อไปไหนได้ไกลกว่าที่ทำมาก็คือทำไปตามกรอบเดิมๆ ผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ดูเหมือนหวือหวา ไอเดียดีก็มีครับแต่เขาคนนั้นยังให้ความรู้สึกเกิดแรงกระตุ้นสู้เมื่อครั้งอากร ฮุนตระกูลไม่ได้

กล่าวได้ว่าไม่มีผู้สมัครคนใดคิดจะนำกรุงเทพให้พ้นจากกรอบอำนาจหน้าที่การจัดการที่คับแคบตีบตันไร้ประสิทธิภาพลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับสังคมอนาคต ในบรรดาผู้สมัครแทบไม่มีใครขายความคิดเชิงโครงสร้างที่โดดเด่นออกมาเลยก็ว่าได้

แรกสุดผมรู้สึกว่าคนกรุงเทพโชคดีกว่าคนต่างจังหวัดที่นอกจากทรัพยากรแผ่นดินทั้งหลายจะกระจุกกันอยู่ที่นั่นแล้วยังมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมาให้บริการสามารถเลือกตั้งผู้ว่าของตัวเองได้ ในฐานะที่สนใจและผลักดันการกระจายอำนาจมาก่อนแต่เมื่อมาตรวจสอบในรายละเอียดอย่างจริงจัง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเองก็ใช่จะมีอำนาจอะไรมากมายเมื่อเทียบกับภาระและความคาดหวัง

มีผู้สนใจพูดและเขียนถึงอำนาจหน้าที่ผู้ว่ากทม.ไม่มากนัก ที่อยากแนะนำให้คนกรุงเทพได้อ่านก็คือบทความ 'เรื่องที่อยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำ' โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ที่ได้แยกแยะว่าอำนาจหน้าที่ใดเป็นของผู้ว่ากทม.อันไหนเป็นของหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งปรากฏว่างานหลักๆ กลับเป็นเรื่องของหน่วยงานส่วนกลางทั้งนั้น

ผมขอเติมให้ข้อสังเกตต่อว่าภารกิจที่เป็นเรื่องของหน่วยงานส่วนกลางน่ะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสังคมเมือง(ทั้งในปัจจุบันและ)ในอนาคต ไม่ว่าเรื่องตำรวจ การรักษาความสงบปลอดภัย การวิศวกรรมและจัดการจราจรทางบกทางน้ำ ยิ่งระบบรางไม่ต้องพูดถึงเพราะสังคมเมืองยุคใหม่การเดินทางด้วยระบบรางเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด

โลกพ.ศ.นี้เป็นโลกที่ฝรั่งเรียกว่าเข้าสู่ยุค Urbanization ก็คือเป็นยุคที่ประชากรกว่าค่อนโลกอาศัยอยู่ในตัวเมืองและตัวเลขของปคนที่ทยอยทิ้งชนบทเข้าเมืองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆดังนั้นความคิดวิทยาการเทคโนโลยีไอเดียต่างๆ จากนี้ไปก็จะลงไปสู่การจัดการสังคมเมืองเป็นสำคัญ

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นการบูรณาการระบบขนส่งสาธารณะรถเมล์ รถใต้ดิน รถไฟเข้าด้วยกันออกแบบให้โครงข่ายขนส่งไปให้ทั่วถึงระดับปากซอยหน้าบ้านให้ประชาชนถือตั๋วใบเดียวน่ะเป็นเทคโนโลยีของเมืองยุคใหม่ ดังนั้นมหานครใหญ่ๆ หรือเมืองที่ทันสมัยจัดการดีๆ เขาจะมีตั๋วใบเดียวเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ ย้อนมาดูกรุงเทพของเราก็ยังคงเป็นแค่ความคิดจะเริ่มทำ

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น เรื่องแบบนี้แหละครับที่มหานครใหญ่ๆ ยุค Urbanization เขาแข่งกันจัดการซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องความปลอดภัย สาธารณสุข การบริการ การพลังงาน (และประหยัดพลังงาน) เทคโนโลยีสีเขียวและนันทนาการ และแน่นอนที่สุดเมืองใหญ่ที่มีประสิทธิภาพการผังเมืองออกแบบเมืองจะเพิ่มทวีความสำคัญขึ้นมา ฯลฯ

ถามว่ากรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีโครงสร้างที่ดีพอจะเป็นมหานครยุคใหม่ในโลกที่เรียกว่า Urbanization ได้ระดับใด ในเมื่อการตำรวจและการวิศวกรรมจราจรเป็นเรื่องตำรวจ ถนนสายสำคัญเช่นโทลเวย์ ทางด่วน ทางหลวงอยู่ในกำกับของหน่วยงานอื่น กทม.ดูได้แค่ทางเท้ากับกวาดถนน ระบบรางก็ดูแค่ BTS ไม่เกี่ยวกับระบบอื่น การวางแผนการจราจรใดๆ ไม่เกี่ยวกับผู้ว่ากทม.เป็นเรื่องของรัฐบาลกลางขีดเส้นเอารถไฟฟ้าสีโน้นนี้ สายนี้ให้ใครดู สายนั้นให้รฟท.ดู ส่วนกทม.ก็ทำของกทม.ไปตามประสา

หน่วยงานปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อ 20 ปีก่อนก็เหมาะสมแล้วล่ะกับการจัดการขยะ จัดการทางเท้ารบรากับแม่ค้าหาบเร่แล้วก็จัดระเบียบสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง จัดการน้ำท่วมทำท่อระบายทำพนัง แล้วก็การบริการทั่วไปเท่าที่เทศบาลขนาดใหญ่ยักษ์(มากๆ)แห่งหนึ่งจะสามารถทำได้ แต่ถามว่า กรุงเทพมหานครจะยังคงสถานะหน้าตากิจกรรมแบบนี้ต่อไปอยู่อีกหรือ

ในต่างจังหวัดตอนนี้มีขบวนการรณรงค์เรียกร้องจังหวัดจัดการตนเอง นัยก็คือการกระจายอำนาจบวกกับแนวคิดประชาสังคมการมีส่วนร่วมของพลเมือง ทราบหรือไม่ครับว่าหลักการสำคัญที่คนต่างจังหวัดรณรงค์นั้นน่ะไม่ได้อยู่ที่แค่เลือกตั้งผู้ว่าอย่างเดียวเท่านั้นเพราะถ้ามีแค่ให้เลือกผู้ว่ากันเองก็จะได้นักการเมืองหน้าเดิมๆเจ้าพ่อในจังหวัดมาแทนผู้ว่าที่เจ๊แดง เอ๊ย มหาดไทยแต่งตั้ง เขาก็เลยต้องเสนอให้มีโครงสร้างการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาเพิ่มเป็นการถ่วงดุลกันไป

ผมชอบใจบทความของอ.ประภาส ปิ่นตบแต่งในเนชั่นสุดสัปดาห์ล่าสุดที่ชี้ให้เห็นคนว่าคนเมืองหลวงเองไม่ได้สนใจเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดูแลท้องถิ่นของตนทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเองก็เอื้อให้ ยกตัวอย่างเช่น การถอดถอนนักการเมืองหรือผู้ว่าลงจากตำแหน่ง ตามกฎหมายปี 2542 ประชาชนต้องเข้าชื่อกันถึง 1.5 ล้านชื่อเพื่อถอดถอน (ทั้งๆ ที่คะแนนได้รับเลือกโดยเฉลี่ยต่ำกว่าล้าน-อันนี้ผมเสริมต่อ)

หรือสิทธิการมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายหรือข้อบัญญัติที่ระบุให้ประชาชนคนกรุงเทพต้องเสนอชื่อ 2 ล้านชื่อไปให้สภากทม.พิจารณาออกข้อบัญญัติ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ์ประชาชนแค่ 1 หมื่นชื่อเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โครงสร้างการเปิดพื้นที่ เปิดการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนของกรุงเทพแบบที่เป็นอยู่มีระดับต่ำมาก

เอาล่ะ ผมเองก็พอจะได้ยินว่ามีการร่างกฎหมายบริหารราชการกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ กระจายการเลือกและการบริหารสู่เขตมากขึ้น นอกจากนั้นก็เคยเห็นอีกร่างของกทม.เองซึ่งเน้นการบริหารจัดการและเทคนิคกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผมคิดว่ายังไม่พอ

มีสิ่งสองประการสำคัญที่ยังไม่มีและต้องผลักดันให้มีควบคู่กันคือ

หนึ่ง.ความเป็นเอกภาพในอำนาจหน้าที่ภารกิจของกทม. ซึ่งควรจะมีอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่รู้จะเลือกผู้ว่าฯหรือมีกทม.ไปทำไม เพราะกิจกรรมสำคัญในอนาคตรวมไปถึงการออกแบบเมืองรองรับอนาคตไม่ได้อยู่ในมือผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งของคนกทม. หากแต่เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง ส่วนผู้ว่าจะให้เก็บขยะ แก้น้ำท่วม จัดการแม่ค้า แล้วก็จัดการงบประมาณ 6 หมื่นล้านซื้อถังขยะใบละพันห้าไปตามเรื่องตามราวอย่างนั้นหรือ

สอง.การมีส่วนร่วมและเพิ่มดุลการตรวจสอบจากสังคมและประชาชนให้มากขึ้น การมีส่วนร่วมทางกฎหมายก็ดั่งเช่นที่ยกตัวอย่างมาจากประภาส ปิ่นตบแต่ง หากจะมองให้ครอบคลุมยังต้องเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นอินโดนีเซียที่เขามีกระบวนการให้ประชาชนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะขึ้นมาเป็นลำดับชั้นด้วยซ้ำไป

ขณะที่สิ่งที่ควรจะเกิดที่สุดในยุคที่สังคมก้าวหน้าไปมากก็คือการตรวจสอบ ในยุโรปอเมริกามีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาท้องถิ่น บางรัฐถึงกับทีวีถ่ายให้ประชาชนของเขาได้เห็นการทำงานของตัวแทนในท้องถิ่น นี่เป็นแค่กลไกเบื้องต้นของความโปร่งใสเพราะข้อเสนอจังหวัดจัดการตนเองบางแห่งก้าวหน้าถึงขั้นให้ ฝ่ายบริหารต้องทำสำเนาเอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้กับประชาชนดูโดยไม่ต้องร้องขอ หมายความว่า ไปซื้อถังขยะมาใบละกี่บาท ซื้อวงจรปิดตัวละกี่บาทสัญญาเงื่อนไขอย่างไร ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจึงหมายถึงการให้ทั้งร่วมเสนอ เปิดช่องทางรับปัญหา และเปิดให้ร่วมพิจารณาการทำงานซึ่งก็คือการตรวจสอบนั่นเอง ชาวบ้านในบางเขตไม่สนใจเรื่องใหญ่ๆ อย่างอุโมงค์ผันน้ำยักษ์อะไรหรอก เขาอยากรู้แค่ว่ายุงมันชุม เขตได้เบิกอุปกรณ์และยาฉีดพ่นมาเท่าไหร่ พ่นได้พื้นที่เท่าไหร่ ราคากี่บาท

อย่างที่เขียนไว้ในบทความก่อนหน้าว่าผมนั้นเกลียดคำว่า “ไร้รอยต่อ” ที่พรรคการเมืองเอามาหาเสียงเพราะคำๆ นี้สะท้อนถึงการที่มีนักการเมืองและระบบระเบียบสร้างรอยต่อขึ้นมา และเป็นคำที่สะท้อนว่าการปกครองท้องถิ่นไม่เป็นอิสระปราศจากการครอบงำจริง เพราะยิ่งส่วนกลางกั๊กอำนาจและทรัพยากรงบประมาณไว้เท่าไหร่ เจ้ารอยต่อที่ว่าก็มีมากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่คนกทม.ตลอดถึงผู้สมัครที่เชื่อในหลักกระจายอำนาจควรทำคือ ประกาศจะเพิ่มอำนาจการมาส่วนร่วมทางกฎหมายและทางปฏิบัติให้กับประชนชนกทม. ประกาศว่ากทม.ยุคของตนจะเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภทต่อสาธารณะทุกเดือน ประกาศว่าจะมีมอนิเตอร์รายงานว่าเรื่องการพิจารณาหนึ่งๆ อยู่ในขั้นตอนใด ป้องกันการดองเรื่องหาสตังค์ใช้โดยเฉพาะจากฝ่ายโยธาฯ

และหากต้องการให้กทม.เป็นมหานครมีที่สุขภาพดี-มีระบบที่ดีรองรับโลกยุคใหม่แล้วไซร้ทั้งนักการเมืองและคนกทม.ควรจะเลือกให้เด็ดขาดไปเลย ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบรัฐบาลกลางบริหารเต็มตัว หรือ ให้มีผู้ว่าจากการเลือกตั้งจัดการเรื่องต่างๆอย่างเต็มที่ เพราะปัจจุบันมันเป็นระบบกึ่งผีกึ่งคนอำนาจทับซ้อนเกยกันมากมาย ผู้ว่าไม่มีอำนาจจริง แต่ปัญหาของเมืองใหญ่มันรอไม่ได้

มีคนชอบมองว่า การเรียกร้องให้กระจายอำนาจต้องรอให้คนพร้อมก่อน อยากได้คนดีมาก่อน หรืออยากมีการตรวจสอบที่เข้มงวดเอาผิดคนโกงให้ได้ก่อน

สำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่องไก่กับไข่ เรื่องไหนก็ได้ทำมาก่อนสักเรื่องหรือทำพร้อมๆ กันยิ่งดี

ขอโทษคนกทม.หน่อยนะครับที่คนตจว.อย่างผมมองว่าพวกท่านมีสิทธิ์ก็แค่ไปหย่อนบัตรเลือกผู้ว่าของตัวเองในไม่กี่นาทีนั้นแหละ เพราะท่านไม่มีสิทธิ์ไปตรวจสอบถ่วงดุลหรือมีส่วนร่วมในกิจการบ้านของตนเองให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเลย

สมมติผมอยู่ในกรุงเทพ ผมจะตั้งเงื่อนไขกับผู้สมัคร เช่นว่า หากท่านได้รับเลือกจะเปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทุกสัญญารายงานต่อสาธารณะทุกเดือนหรือไม่? ถ้าท่านรับปากเราก็จะเลือกและยังจะสนับสนุนรณรงค์ให้รัฐบาลกลางโอนอำนาจที่จำเป็นมาให้กทม.มากขึ้น นี่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนแต่เป็นเรื่องจำเป็นของลูกหลานคนกทม.เองต่างหาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น