xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสเปค ‘ผู้ว่ากทม.’ ในดวงใจคนกรุง เอเบคโพล!แจงพื้นที่ไหนใครมีโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประสานเสียงภาคธุรกิจ-วิศวกรรม มองผู้สมัครฯ 2 พรรคใหญ่จาก “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” จะเป็นคู่ชิง ส่วนผู้สมัครฯ อิสระไม่โดดเด่นพอที่จะเกิดในการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ เน้นอยากได้ “คนเก่ง-มีอำนาจจริง” ไร้หลังบ้านคอยสั่ง จะเป็นผู้นำที่ต้องการ ส่วนเอแบคโพลล์เผยคะแนนสูสี การแข่งขันเดือด ซึ่งแม้คะแนนนิยมพรรค ปชป.จะนำ แต่คะแนนเสียงถ้านับตัวบุคคล คนของเพื่อไทยมีมากกว่า ชี้นโยบายโดนใจ คนรายได้น้อยต้องจับเรื่องปัญหาปากท้อง ขณะที่คนรายได้สูงขึ้นต้องการให้แก้ปัญหาจราจร

เปิดฉากเรียบร้อยสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2556 นี้ โดยคู่ชิงเด่นคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 16 ใช้กิมมิก “เลือกเบอร์ 16 เพื่อเป็นผู้ว่าฯกทม.ต่อในสมัยที่ 17” ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.สายตรงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จับสลากได้เบอร์ “9” ที่พ้องเสียงกับความก้าวหน้า มีกิมมิกของเลขที่จับได้ว่า “มาร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ ของเรา 9 หน้า 9 ไกล มาร่วมจับมือกันไว้ แล้ว 9 ไปด้วยกัน” และใช้สโลแกนหาเสียงว่า “สร้างอนาคตคนกรุงเทพฯ ร่วมกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ”

แม้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศเหมือนเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในยุค “เลือกข้าง” ก็ยังเป็นยุคที่ทั้งสองพรรคนอกจากจะต้องรักษาฐานเสียงของตัวเองไว้เป็นที่มั่นแล้ว ยังจะต้องใช้ทุกกลยุทธ์การหาเสียงเพื่อดึงคะแนนเสียงกลุ่มพลังเงียบ และฐานเสียงของพรรคตรงกันข้ามให้เป็นของตัวเองมากที่สุด

หากคน กทม.ได้ผู้ว่าฯ เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ การคานอำนาจระหว่างพรรคการเมืองก็ยังคงมีอยู่ระดับหนึ่ง แต่หากคน กทม.เลือกผู้ว่าฯ เป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็จะบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระดับประเทศ และเมืองหลวงที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์

ส่วนประชาธิปัตย์อาจจะเข้าสู่ยุค “มืด” อย่างที่สุด เพราะพ่ายทั้ง 2 เวทีใหญ่ การจะกู้คะแนนเสียงคืนทั้งสองเวทีย่อมเป็นเรื่องยาก

นอกจากนี้อย่าลืมว่า กทม.ยังเป็นหน่วยงานการบริหารงานราชการแผ่นดินระดับท้องถิ่นที่มีงบประมาณระดับหลายพันล้าน ที่แม้ว่าจะมีงบรายจ่ายประจำประมาณ 60 กว่าล้านบาท แต่งบกลางที่ กทม.ได้รับในแต่ละปีนั้นมีจำนวนไม่น้อย โดยในปี 2555 มีงบกลาง 7,646 ล้านบาท ปี 2556 มีงบกลาง 6,650 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีโครงการพิเศษที่สามารถทำงบขอรัฐบาลได้ด้วย

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายคือพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จึงเป็นศึกที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ แต่สเปกผู้ว่าฯ กทม.แบบไหนที่คน กทม.โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ ตัวแทนวิชาชีพด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำโพลล์ต้องการและมองเห็นว่าผู้สมัครคนนี้แหละมีโอกาสที่สุด

“วิสัยทัศน์ดี-ทีมงานเก่ง-เชื่อมหน่วยงาน-ฟังเสียงปชช.”

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ผู้ว่าฯ กทม.ควรมีวิสัยทัศน์ดี เป็นคนมีฝีมือ มีทีมงานที่ตั้งใจ มุ่งมั่นในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง และสามารถประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันต้องมีการร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรที่เป็นปัญหาอยู่, ปัญหาขยะ เป็นต้น รวมถึงผู้ว่าฯ กทม.ควรรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม พร้อมนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการบริหารต่อไป

“นักลงทุนต่างประเทศจะมองนโยบายของภาครัฐในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน และส่วนหนึ่งจะมองที่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น ดังนั้นหากเมืองหลวงมีความน่าอยู่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดี”

ส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เชื่อว่าผู้สมัครที่มีพรรคการเมืองสังกัดจะได้เปรียบในแง่ของการสนับสนุนของพรรค แต่ในส่วนของผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองจะมีภาพที่ประชาชนบางส่วนต้องการเลือกคนที่ดูกลางๆ ไม่สังกัดฝ่ายการเมืองใด ซึ่งที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางสังคมสูง จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในการหาเสียง

อย่างไรก็ตาม กทม.ถือเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ การค้า และภาคสังคมที่สำคัญ ผู้ว่าฯ กทม.จึงควรปรับให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยให้ความสำคัญกับทุกๆ เขตทั่วกทม. อย่างทั่วถึง หากมองภาพการจัดการของประเทศที่มีความเจริญแล้วพบว่า เมืองหลวง หรือท้องถิ่นต่างๆ มีความสะอาด เป็นระเบียบ และน่าอยู่ อยากให้ กทม.กลายเป็นแบบอย่างเมืองที่เป็นต้นแบบต่อไป

ส่วนปัญหาที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ควรให้ความสำคัญ และเร่งแก้ไขนั้นก็คือ เรื่องของการจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ความเป็นระเบียบ ความสะอาดของเมือง ที่ส่งผลต่อสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเมือง

หอฯชี้เลือก “ผู้นำเก่ง” ไม่อิงพรรค

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นต่อการเลือกผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะเป็นคนไหนก็ได้ จะสังกัดพรรคการเมือง หรือไม่สังกัดก็ได้ ไม่ใช่ประเด็น ขอแค่เป็นคนเก่ง ตั้งใจ และทำให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ก็พอแล้ว

ซึ่งมองว่าหากได้ผู้ว่าฯ กทม.เก่งก็จะสามารถขับเคลื่อนเมือง และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติด, น้ำท่วม, การประสานงานต่างๆ ก็ไม่เป็นเรื่องยาก ซึ่งควรให้ความสำคัญในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ผู้ว่ากทม.ต้องมีอำนาจจริง

ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้าไทย มองว่า ผู้ว่าฯ กทม.มีอิทธิพลในการบริหารทิศทางของเมือง และขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากธุรกิจ หน่วยงานหลักๆ ล้วนอยู่ที่ กทม. ทั้งสิ้น ดังนั้นคุณสมบัติหลักๆ ที่ผู้ว่าฯ กทม.ควรมีก็คือ ต้องเป็นคนฉลาด รู้เท่าทันโลก และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องเป็นคนที่ทำงานด้วยความสุจริต ไม่คอร์รัปชัน ส่วนประเด็นรองที่ยังไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนไหนสนใจมากนักคือ การจัดระเบียบเมือง

“ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ที่ประชาชนในพื้นที่ กทม.เลือกเข้ามาด้วยตนเอง ถือเป็นความต้องการของตนเอง จึงมาจากพรรคการเมืองไหนก็ได้ หรือไม่สังกัดก็ได้ เรียกว่ามีความสัมพันธ์โดยตรง จึงมีอำนาจในการบริหารงาน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาได้”

แต่การจัดระเบียบของสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ส่วนสำคัญมาจากการย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง โดยไม่มีการแนะนำ หรือให้ความรู้คนเหล่านั้น ทำให้ความแตกต่างของวัฒนธรรม และความเป็นอยู่สร้างปัญหา อาทิ คนต่างจังหวัดที่ทำอาชีพเกษตรกร ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ย้ายมาอยู่ในเมือง ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ และก่อให้เกิดปัญหาในสังคมต่อมา เช่น ปัญหาการขับรถ, การขายสินค้าในที่สาธารณะ ไม่เป็นระเบียบ ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ควรมองจุดนี้ และให้ความสำคัญในการจัดระเบียบ ให้ความรู้ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหา กทม.ได้อย่างแท้จริง

อีกทั้งยังควรจัดระเบียบเมือง โดยการรวมกลุ่มภาค SMEs ให้ย้ายไปสู่พื้นที่เดียวกัน บริเวณรอบๆ กทม. แต่ต้องมีระบบการสื่อสาร และระบบขนส่งที่ดี เพื่อสร้างความสะดวก ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะเปลี่ยนใจกลาง กทม.เป็นสมองของประเทศอย่างแท้จริง โดยเน้นด้านบริการ เทคโนโลยีการสื่อสาร สาธารณูปโภค เป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ มีโรงพยาบาล และสถานศึกษาที่ครบวงจร

“ผู้ว่าฯ กทม. ควรมองแบบอย่างการจัดระเบียบเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงจากต่างประเทศ แล้วนำมาเป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบในการบริหาร เช่น สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ โดยต้องกล้าที่จะวางแผนระยะยาว” รองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าว

ผู้ว่าฯ-รัฐบาลต่างพรรค โปรเจกต์ไม่เกิด

ด้าน นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.ในความคิดเห็นของตนในเวลานี้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการคือ

อันดับแรกจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจเปิดกว้าง (open mind) เนื่องจากคนใน กทม.เวลานี้มีความขัดแย้งในสังคมสูง ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด ต้องรู้จักเปิดกว้างในการรับความคิดเห็นทุกฝ่าย ทุกด้าน แล้วใช้ดุลพินิจส่วนตัวในการแก้ปัญหา รวมทั้งจะต้องรู้จักฟังคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะข้าราชการ เพราะข้าราชการนั้นเป็นคนที่ทำงานในสายงานมาหลายปี ได้ดูงานต่างประเทศหลายครั้ง ก็มีองค์ความรู้ที่นักการเมืองควรต้องรับฟังสิ่งที่ข้าราชการเหล่านี้นำเสนอด้วย

อันดับสอง เป็นเรื่องของหลักความรับผิดชอบที่ถูกต้อง กล่าวคือหากมีผลประโยชน์ใดๆ เกิดขึ้น ควรให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับส่วนรวมก่อนเป็นอันดับแรก ค่อยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับพรรคการเมือง ต่อมาจึงเป็นระดับพวก และในระดับตัวเองต้องเป็นส่วนสุดท้าย ไม่ใช่ตัวเองเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นคนแรก เรียกว่านักการเมืองต้อง “รับชอบ” เป็นคนสุดท้าย

ส่วนการรับผิดนั้น ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องเป็นคน “รับผิด” เป็นคนแรก ไม่ใช่มีอะไรโทษคนอื่น โทษส่วนรวมก่อน การเมืองแบบเก่าต้องเปลี่ยน

อันดับสาม นโยบายจะต้องเป็นวิสัยทัศน์ที่สามารถปฏิบัติได้ ไม่เพ้อฝัน เพราะคน กทม.เขามองออกว่าอะไรทำได้จริง อะไรทำไม่ได้ เพราะผู้ว่าฯ กทม.แต่ละคนจะมีวาระการทำงานแค่ 4 ปี ก็อยากให้วางนโยบายที่สามารถทำได้ใน 4 ปี เช่น นโยบายที่บอกว่าจะเคลียร์คนบุกรุกที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มองว่าเป็นปัญหาที่เกิดหมักหมมมาอย่างยาวนาน และไม่สามารถทำได้ในสมัยเดียว การขายนโยบายก็ควรบอกว่าจะลดจำนวนผู้รุกล้ำ อย่างนี้จะมองว่าสามารถเข้ามาทำงานได้จริงมากกว่า

“คนพูดมากไม่เป็นไร แต่พูดมากก็ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ด้วย”

อันดับสี่ ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ ทั้งงาน เงิน และคน เพราะ กทม.จะเป็นศูนย์รวมทั้งด้านงบประมาณและคนจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี จึงเห็นว่าคนที่ควรจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้ และประสบการณ์ เพราะถ้ามีความรู้อย่างเดียว ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงก็ไม่มีประโยชน์

อันดับห้า ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปว่า กทม.เป็นศูนย์รวมของงบประมาณ และคนจำนวนมาก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นได้มาก ถ้าผู้นำขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ก็จะเป็นตัวแทนได้ไม่ดี

อันดับสุดท้าย “อย่าให้ช้างเดินถอยหลัง” หมายความว่า ผู้ว่าฯ กทม.ควรจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยคนหลังบ้าน เพราะจะไม่สามารถทำงานได้ดี

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้น่าจะเป็นคนที่สังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากระบบพรรคการเมืองจะมีเรื่องของฐานคะแนนเสียง และมีคนที่ทำงานในพื้นที่ อย่าง ส.ก. ส.ข.อยู่แล้ว ในเวลาทำงานก็จะทำได้คล่องตัวมากกว่า ต่างจากผู้สมัครฯ อิสระ แม้ว่าจะเป็นคนเก่ง แต่ไม่มีฐานเสียงสนับสนุน และไม่มีคณะทำงานระดับพื้นที่ ก็อาจจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ลำบาก

“อย่างคุณสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากพรรคประชากรไทยมาลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วได้ แต่คุณสมัครก็มีฐานสนับสนุนทางการเมืองอยู่ดี เพราะเป็นนักการเมืองมายาวนาน”

ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ควรจะเป็นพรรคเดียวกันกับรัฐบาลหรือไม่นั้น มองว่าในระดับการทำงานแล้ว การที่ได้พรรคเดียวกันมา จะทำให้มีการสานต่อโครงการใหญ่ๆ เกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ดีกว่า
“ตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า การที่ผู้ว่าฯ กทม.และรัฐบาลเป็นคนละพรรคนั้นมีปัญหาความขัดแย้งอย่างมาก เราไม่อยากบอกว่าใครถูกใครผิด แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันเห็นได้ชัด และไม่ดีกับส่วนรวมนัก”

นอกจากนี้ยังพบว่าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของ กทม.หลายรายการ โดยเฉพาะโครงการในขนาดการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทนั้น จะต้องมีการทำงบเพื่อขอไปทางรัฐบาล แต่ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่งบประมาณที่ขอไปจะไม่ได้รับอนุมัติ

“มีหลายโครงการมากที่ไม่ได้รับอนุมัติซึ่งน่าเสียดาย เพราะพรรคหนึ่งก็กลัวว่าการให้งบประมาณพรรคไหนไป ก็จะเพิ่มคะแนนเสียงให้อีกพรรค ซึ่งปัญหาแบบนี้เราจะเห็นทุกสมัยที่มีผู้ว่าฯ กทม.คนละพรรคกับรัฐบาล”

แม้ว่าการที่ผู้ว่าฯกทม.จะเป็นพรรคเดียวกับรัฐบาลจะเป็นจุดแข็งในการทำงาน แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะหากเป็นคนที่มาจากพรรคเดียวกัน สุดท้ายระบบที่จะเสียไปคือระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คน กทม.จะต้องเลือกคนมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.จากคนดี มีธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่คิดว่าผู้ว่าฯ กทม.จะต้องเข้ามาทำอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. เรื่องของความสะอาด โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ และการจัดการคลองต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากคนที่รุกล้ำที่แม่น้ำหรือคลองต่างๆ นั้น จะต้องหามาตรการมาลดจำนวนผู้รุกล้ำให้ได้ และมีแผนรองรับที่ดีพอ

อีกส่วนคือปัญหาความเป็นระเบียบ โดยเฉพาะปัญหาหาบเร่แผงลอยตามทางเท้านั้น มองว่าผู้ว่าฯ กทม.จะต้องจัดระเบียบตรงนี้ใหม่ เพราะประชาชนไม่สามารถสัญจรในทางเท้าได้ จึงต้องไปเดินที่ท้องถนนซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ผู้ว่า กทม.คนต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไร ควรจะฟังนักวิชาการ หรือใช้หลักวิชาการในการรองรับนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นหลักความคิดด้านวิศวกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นที่ผ่านมามีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ของคนมีอำนาจ เพื่อสร้างราคาให้ที่ดิน แต่ไม่มีหลักวิชาการรองรับ ทำให้ถนนที่ตัดเข้าไปนั้น มีลักษณะหักศอก โค้งไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรอย่างมาก

“เรื่องแบบนี้ได้ยินแล้วก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก” นายสุวัฒน์ กล่าว

คนจนให้แก้ปัญหาปากท้อง-คนรวยให้แก้ปัญหาจราจร

อย่างไรก็ดี ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ตามข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมาตลอด พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเน้นหนักไปที่ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระนั้นจะมีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากยังไม่มีใครที่โดดเด่นในโจทย์ที่คน กทม.ต้องการให้แก้ ซึ่งมองว่าเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญ 2 อันดับแรก คือ เรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ และเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต การจราจร และยาเสพติด

“สมัยก่อนที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นเพราะในช่วงนั้น คน กทม.มีความต้องการให้แก้ปัญหาด้านมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ตัว ดร.พิจิตตเองนั้น เป็นคนที่มีจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นคนมีความรู้ความสามารถ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งขณะนั้นคนค่อนข้างเบื่อการเมืองในระบบพรรคอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามดร.พิจิตต ซึ่งเป็นลูกชายของ ดร.พิชัย ก็ยังมีฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาช่วยหนุนอยู่ดี ซึ่งเป็นความได้เปรียบ”

โดยคุณสมบัติเหล่านี้ไม่เจอในกลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จึงมองว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ยังเป็นศึกของแค่ 2 พรรคใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย

โดยจากการดูข้อมูลขณะนี้พบว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นการเลือกตั้งที่สู้กันอย่างหนัก และดุเดือด เพราะคะแนนเสียงที่สำรวจมานั้น ทั้งคู่มีคะแนนเสียงที่สูสีกันอย่างมาก จนไม่สามารถบอกได้เลยว่าใครมีคะแนนนำใคร แต่มีลักษณะพิเศษที่ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ฝ่าย คือ

ฐานเสียงที่เป็นคนรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แออัด ถือเป็นฐานเสียงใหญ่ใน กทม. คือมีประมาณ 60% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย

ฐานเสียงในกลุ่มคนบ้านจัดสรร มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งมีประมาณ 40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมาก แต่ละคนมี 1 เสียงอยู่ในมือเท่ากัน ซึ่งแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบจากคะแนนนิยมพรรค แต่โอกาสของพรรคเพื่อไทยในจำนวนฐานเสียงที่มากกว่าก็ยังมีโอกาส!

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือเป็นกลุ่ม “คอการเมือง” กลุ่มนี้จะแยกออกมาจากฐานเสียงทั้งสองกลุ่มอยู่ประมาณ 20% ที่จะเลือกพรรคการเมืองที่ตนชอบ หรือเลือกพรรคการเมืองตรงข้ามกับพรรคที่ไม่ชอบ โดยไม่สนใจว่าตัวบุคคลที่ลงมาสมัครผู้ว่าฯ กทม.เป็นใคร แต่กลุ่มนี้ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มฐานเสียงหลักที่ทั้งสองพรรคจะต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงฐานคะแนนเสียงให้ได้

โดยกลุ่มฐานเสียงที่อยู่ในพื้นที่แออัดนั้น สนใจผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมาแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนฐานเสียงในกลุ่มบ้านจัดสรร สนใจอยากให้แก้ปัญหาจราจรเป็นสำคัญ

“คนกรุงเทพฯ อยากให้แก้ปัญหายาเสพติด อยากให้แก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตด้วย ซึ่งทั้งคุณพงศพัศ และคุณเสรีพิศุทธ์ จะได้เปรียบ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็ยังคิดว่าปัญหาเรื่องแบบนี้แก้ไขได้ยากกว่า เช่น จะลดผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนให้น้อยลงก็คงยาก ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยในชีวิตยังเป็นเรื่องรองมาจากปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง และการจราจรเป็นหลัก”

ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายจึงต้องรักษาฐานคะแนนเสียงของตนเองไว้ให้ได้ และเจาะฐานเสียงฝ่ายตรงข้าม โดยถ้าเป็นกลุ่มรายได้ดี หรือบ้านจัดสรร ต้องสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสาร และสงครามภาพลักษณ์ของตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ในชุมชนแออัดก็ต้องยอมรับว่า หัวคะแนนเสียงยังเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นจึงต้องสู้กันที่หัวคะแนนในพื้นที่ รวมทั้งฐานเสียง ส.ก. ส ข.ในพื้นที่

นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่รอบนอกที่เป็นเขตฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยนั้น ปัจจุบันยังเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าปัญหาน้ำท่วมเกิดจากการบริหารจัดการในส่วนของ กทม.ที่มีการกักน้ำมากกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น