xs
xsm
sm
md
lg

กรณีรถพยาบาลรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เขียนบทความนี้เช้าวันจันทร์ ทราบว่า 3 พิธีกรรายการ Wake Up Thailand ประกาศขอโทษช่างภาพเนชั่นด้วยใจจริง ซึ่งก็ดีแล้วเพราะคำขอโทษคงจะสามารถบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนฝูงญาติพี่น้องคุณเอ๋ที่กำลังนอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในโรงพยาบาลได้พอสมควร

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับสื่ออื่นๆ สิ่งที่ควรจบก็จบแต่สิ่งที่ไม่ควรจบก็น่าจะเอามาพูดว่ากล่าวและผลักดันกันต่อไป

แรกสุดที่ทราบเรื่องนี้ผมแปลกใจ, แปลกใจที่ปัญญาชนอย่าง ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ร่วมกันเออออห่อหมกแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์แบบคล้อยตามกันไปกับข่าวช่างภาพเนชั่นวูบ จนเกิดเรื่องเกิดราวตามมาย้อนกระทบกับตัว 3 พิธีกรจนต้องประกาศขอโทษ

ผู้ที่ควรถูกตำหนิที่สุดคือ ม.ล.ณัฐกรณ์ ในฐานะที่เป็นพิธีกรหลักของรายการและทำหน้าที่คุมประเด็นนำเสนอ วันนั้น ม.ล.ปลื้มเปิดประเด็นด้วยการหยิบหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ขึ้นมาชูอ่านข่าว "รถฉุกเฉิน ส.ส. เมินไม่ยอมช่วยช่างภาพ" โดยการต่อสร้อยคำเพื่อชี้นำประเด็นว่า..

“นี่เลย นักการเมืองแย่ นักการเมืองเป็นปัญหาของชาติ”

สร้อยคำที่ ม.ล.ปลื้มใช้ในการเปิดประเด็นแบบนี้มันแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการนำวงสนทนาวิจารณ์แนวทางเสนอข่าวแบบที่ไทยโพสต์เสนอ เพื่อให้ได้ข้อสรุปทำนองว่าเป็นข่าวดราม่าต้องการด่านักการเมืองแล้ววงสนทนาก็เลยเถิดต่อไป ชูวัสในฐานะสื่อแถมเป็นบรรณาธิการข่าวก็พลาดที่ไม่ตรวจสอบรายละเอียดข่าวเช่นบอกว่ารถพยาบาล รพ.พระมงกุฎที่นำส่งทั้งๆ ที่เป็นรถของศูนย์นเรนทร แล้วก็ช่วยกันลากวงสนทนาไปแก้ตัวให้กับนักการเมืองในสภาตามประเด็นที่ ม.ล.ปลื้มเปิดทางนำไว้ และก็ลามไปกระทบอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของผู้ป่วยดังที่ทราบกันดี

เรื่องของเรื่องจะไม่เกิดเลยหาก ม.ล.ปลื้มไม่สร้างประเด็นใหม่พยายามลากให้ไทยโพสต์ (ที่ตนอาจจะจัดให้อยู่ในกลุ่มสื่ออีกฟากหนึ่งกับแนวทางของ Wake Up Thailand) ว่าต้องการด่านักการเมือง ปลื้มลองกลับไปอ่านดูดีๆ สิทั้งพาดหัวทั้งเนื้อข่าว "รถฉุกเฉิน ส.ส. เมินไม่ยอมช่วยช่างภาพ" ไม่มีใครเขียนว่านักการเมืองมันเลว และมันก็ไม่ใช่ข่าวดราม่าเกินเหตุอะไรเลย ไปๆ มาๆ การที่ปลื้มหาเรื่องเหน็บไทยโพสต์เสียอีกที่ดราม่ามากกว่า ลองย้อนทบทวนตัวเองดูเหอะ

ประเด็นต่อมา ดังที่ผมเกริ่นนำด้วยคำว่า น่าแปลกใจจริงๆ ! นั่นก็เพราะแปลกใจในสายตาและมุมมองของผู้ได้รับการยกเป็นปัญญาชนก้าวหน้าแทนที่จะมองในมุมการปกป้องสิทธิคุ้มครองประโยชน์ให้กับคนตัวเล็กดันไปปกป้องคนตัวใหญ่กว่าเสียฉิบ ด้วยท่าทีและมุมคิดตลอดถึงการไม่ทำการบ้านดูข้อมูลให้ดี มันจึงลามไงครับ การไม่ระมัดระวังวิจารณ์กันเอาสนุกกับกรณีคนเจ็บป่วยต้องผ่าตัดโคม่าอยู่นั้นมันละเอียดอ่อนและสะเทือนอารมณ์ของผู้รับสารได้ง่าย

สิ่งที่ควรจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจากกรณีที่เกิดขึ้นก็คือธรรมเนียมปฏิบัติแบบอำมาตย์ๆ ในรั้วรัฐสภา ผมนั้นเคยฝึกงานที่นั่นเมื่อประมาณปี 2530 มาจนที่ไปเจอล่าสุดเมื่อปี 2555 แบบอย่างธรรมเนียมอาจจะเบาบางผ่อนคลายมาบ้างแต่ที่สุดมันก็ยังเว่อร์อำมาตย์ราชศักดิ์อยู่ดี ยิ่งพวกประกาศตัวเป็นไพร่ยิ่งตัวดี พ่อเจ้าประคุณกร่างซะไม่มี จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไมเจ้าหน้าที่จึงกลัวถูกผู้ทรงเกียรติตำหนิกันนัก

รถพยาบาลและทีมฉุกเฉินของ รพ.พระมงกุฎที่รัฐสภาน่ะเป็นแค่ตัวอย่างของธรรมเนียมอำมาตย์ราชศักดิ์ตามแบบราชการไทยในรัฐสภาครับ เชื่อหรือไม่ว่ายังมีเจ้าหน้าที่ (กินภาษีประชาชน) ยังต้องคลานเข่าให้กับบรรดาผู้ทรงเกียรติ ถ้าใครเคยไปใต้ถุนสภาน่ะจะเห็นว่าไม่ได้มีแค่ห้องพยาบาลรถพยาบาลหรอกนะ ยังมีบริการอีกนานาชนิดตั๋วเครื่องบินทั้ง ทีจี. โลว์คอสต์ มีห้องขายตั๋วรถ บขส. มีไปรษณีย์ ฯลฯ ไปสังเกตดูสิครับเวลาเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องให้บริการกับผู้ทรงเกียรติน่ะต้องนอบน้อมแตกต่างจากพนักงานเซเว่นฯ ให้บริการกับประชาชนทั่วไปยังไง นักข่าวช่างภาพที่ทำงานในสภาเขาเห็นกันจนชินกับบรรยากาศและธรรมเนียมแบบดังกล่าวเขาจึงฟันธงว่ารถพยาบาลไม่ออกเพราะกลัวโดนตำหนิจริงๆ

ท่านผู้ทรงเกียรติมันมีมากคนประเภทอวดกร่างบ้าอำนาจก็เยอะ จำข่าวไอ้บ้าหน้าตาคล้ายผู้ทรงเกียรติไปขีดรถชาวบ้านเค้าได้มั้ยครับ เพียงเพราะไม่พอใจที่ไปจอดแย่งที่บนอาคารจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเท่านั้น

ชาวบ้านสักกี่คนจะเคยเข้าไปสัมผัส ได้เห็นได้รู้ว่าผู้แทนของปวงชนที่ได้รับเลือกน่ะเมื่อเข้าไปสู่สภาแล้วจะกลายร่างเป็นผู้ทรงเกียรติที่ได้รับการบริการอย่างอำมาตย์ชั้นสูง เป็นยอดของการบริการเท่าที่ระบบราชการแบบไทยๆ จะเอื้ออำนวยให้ ห้องอาหาร(และอาหารฟรี)ที่พร้อมตลอดเวลา มุมกาแฟ ห้องพยาบาลสำหรับบางท่านที่อยากแว้บพักสักครู่ มุมนวดผ่อนคลาย พร้อมสาธารณูปโภคครบครัน แม้จะรู้ว่านี่เป็นการผิดจรรยาบรรณทางวิชาชีพแต่ผมก็แอบเห็นใจที่พยาบาลเกิดอาการรีๆ รอๆ ไม่กล้าตัดสินใจนำรถออกเพราะเวลาผู้ทรงเกียรติไม่พอใจขึ้นมามันลำบากไปหมดลามไปถึงหัวหน้าไปถึงองค์กร (แหะๆ ประจำที่รัฐสภาน่ะสบายดีด้วยงานไม่ลำบาก พนักงาน บขส. ธนาคาร การบินไทยเขาชอบที่นั่นกันทั้งนั้นไม่มีใครอยากถูกย้ายไปทำที่อื่นหรอก)

ที่รัฐสภามีวงจรปิดตรวจสอบเพื่อยืนยันได้อยู่แล้วครับว่ากระบวนการตัดสินใจนำคนไข้ไปโรงพยาบาลล่าช้าขนาดไหน จับเวลาได้เลยว่านับจากคนเจ็บที่ล้มลงมีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งชุดสองมาสอบถามละล้าละลังกันกว่าจะเรียกรถจากภายนอกอีกคันมารับไปเสียเวลาไปเท่าไหร่ สมมติว่าผู้ทรงเกียรติคนใดเกิดล้มแบบนี้บ้างไม่ต้องห่วงหรอกไม่มีการสัมภาษณ์รอบแรกรอบสองรีบแจ้นไปโรงพยาบาลทันที เผลอๆ มีรถตำรวจนำอีกต่างหาก

นี่แหละครับที่ควรจะเป็นประเด็นให้พิธีกรและสื่อที่แสดงตนว่าเป็นปัญญาชนคนก้าวหน้าหยิบเอามาพูด วิเคราะห์วิจารณ์นำเสนอถึงมาตรฐานการบริการระหว่างผู้ทรงเกียรติกับคนทั่วไป หรือถ้าเกรงใจนักการเมืองที่รู้จัก(ไปดูบอลด้วยกัน) แทนที่จะเหน็บก็เสนอทางบวกสุภาพๆ ก็ได้เช่น ต่อไปสภาควรมีคำสั่งให้ชัดเจนออกมาว่าให้สาธารณูปโภค-สาธารณูปการในเขตสภาน่ะมีไว้เพื่อบริการคนทุกระดับทุกชั้น

ตัวอย่างเยอะแยะอย่างตั๋วรถ บขส.น่ะ ส.ส.ส่วนใหญ่เขาก็ไม่นั่งกันจะมีก็บรรดาผู้ติดตามหรือข้าราชการที่ต้องเดินทางนี่แหละได้ไปใช้ประโยชน์ หากเป็นสภาต่างประเทศที่เขาเปิดใกล้ชิดกับประชาชนก็ควรจะให้ประชาชนทั่วไปมาซื้อตั๋วโดยสารได้ง่ายขึ้น เช่นย้ายมาอยู่ด้านหน้าติดกับธนาคารกรุงไทยสาขาย่อยรัฐสภาเสียเลยเป็นไง รวมไปถึงบูทตั๋วเครื่องบินทั้งหลายไปด้วย ฯลฯ เป็นต้น และหวังว่าย้ายสภาไปที่ใหม่คงจะมีบริการเหล่านี้เผื่อแผ่ให้กับชาวบ้านละแวกใกล้เคียงด้วยจะเป็นการดีที่สุด

ผมเห็นใจชูวัสนะในประเด็นที่มีเพื่อนฝูงของคุณเอ๋โกรธเคืองเพราะเข้าใจผิดว่าชูวัสไปว่าให้คุณเอ๋ว่าป่วยดราม่า ทั้งๆ ที่ประเด็นหลักที่ ม.ล.ปลื้มเปิดมาแล้วชูวัสตามซ้ำต่อนั้นก็คือ “สื่อดราม่าหาเรื่องด่านักการเมือง” แต่อย่างไรก็ตามงานนี้พิธีกรรายการ Wake Up Thailand ก็เกินไปเหมือนกันที่หยิบพาดหัวไทยโพสต์มาดราม่าขยายความเข้าหาตัวเองเพื่อจะได้วิจารณ์ซ้ำ เป็นดราม่าที่ไม่ได้หยิบเรื่องราวมาพูดเพื่อประโยชน์ใดๆ ของสังคมเลย ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ ตามมาอีก เช่นประโยคที่ว่าเพราะที่รัฐสภาก็มีหมอพยาบาลอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว.. และเพราะความเจ็บป่วยของคนไม่ใช่เรื่องจะยกมาเป็นเครื่องมือของการต่อสู้เอาชนะคะคานของอุดมการณ์ทางการเมือง

กรณีรถพยาบาลที่รัฐสภาควรจะเป็นการจุดประกายครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมกรอบคิดแนวปฏิบัติของการให้บริการทั้งหลายอันมาจากเงินภาษีของประชาชน โดยฝ่ายที่เคยได้รับบริการประหนึ่งอำมาตย์ใหญ่ต้องแสดงท่าทีชัดเจนว่าบริการดังกล่าวไม่ใช่เครื่องประกอบบารมีของผู้ทรงเกียรติ ฝ่ายที่ให้บริการก็ไม่ควรจะหงอจะกลัวกับการถูกตำหนิโดยนักการเมืองยุคนี้เป็นยุคที่เสียงของประชาชนดังขึ้นมาก หากท่านทำถูกต้องย่อมมีประชาชนอยู่เคียงข้างเป็นเพื่อน และที่สำคัญเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำสองไม่ว่าคนป่วยคนนั้นจะเป็นแม่ค้าข้าวแกงโรงอาหารรัฐสภาก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น