xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมสื่อ : เทคโนโลยี พฤติกรรม และ จริยธรรมของสื่อมวลชน (2-จบ)

เผยแพร่:   โดย: โกศล อนุสิม

ในตอนที่แล้ว ได้ยกเอาจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ที่ตราขึ้นเพื่อให้สมาชิกยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ โดยพร้อมเพรียงและเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลักแห่งจริยธรรมหรือจรรยาบรรณดังกล่าว มักถูกละเมิดโดยสื่ออยู่เสมอ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการกระทำของสื่อ ข้ออ้างที่สื่อหยิบหยกขึ้นมาโต้แย้งก็คือ เรื่องเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสาร หากมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางกฎหมายหรือทางสังคมต่อสื่อ ถือก็มักโต้ตอบกลับว่าเป็นการคุกคามสื่อ

แต่ในมุมมองของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของสื่อ ก็มองได้ว่า ตนถูกสื่อคุกคามสิทธิและเสรีภาพเช่นกัน ดังนั้น จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อว่า สื่อได้ใช้ข้ออ้างในเรื่องเสรีภาพการเสนอข่าวสารโดยเกินขอบเขตจนละเมิดผู้อื่นหรือไม่ เพราะในจริยธรรมหรือจรรยาบรรณนั้น แม้จะรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ก็ต้องไม่ละเมิดผู้อื่น

การละเมิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของสื่อ หรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่เสมอๆ เช่น

1. การเสนอภาพลามกอนาจาร สื่อปัจจุบันได้เสนอภาพและเรื่องราวที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดข้อนี้มากที่สุด ตัวอย่างก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์ตีพิมพ์ภาพการแต่งตัวที่ไม่เหมาะสมของนักแสดงทั้งหลาย ทั้งภาพปกติที่นุ่งน้อยห่มน้อยพร้อมเรื่องราวการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ และภาพที่เข้าข่ายลามกอนาจารโดยตรงที่เรียกกันว่า “ภาพหลุด” นั้นเหมาะสมหรือไม่ ด้านสื่อโทรทัศน์ก็จัดทำรายการที่มีเรื่องราวทางเพศที่ไม่เหมาะสม ดังที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่ง ที่ผู้ร่วมรายการได้พูดถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างสนุกปาก โดยมีผู้ดำเนินรายการคอยผสมโรงอย่างสนุกสนาน กรณีเช่นนี้จะเข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณข้อนี้หรือไม่ หากใช่ จะมีการจัดการอย่างไรกับสื่อที่ละเมิด หากไม่ใช่ ก็ต้องให้ความหมายของคำว่า “ลามกอนาจาร” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2 จริยธรรมในเรื่อง การไม่ใช้หน้าที่ไปในทางรับอามิสสินจ้าง เพื่อให้กระทำหรือไม่กระทำการเผยแพร่ข่าวสารอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของผู้ให้อามิส ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณว่าด้วยการรักษาประโยชน์แห่งสาธารณะด้วยนั้น ปัจจุบันสื่อเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหารายได้เพื่อสร้างกำไร และรายได้หลักก็มาจากการโฆษณาสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจต่างๆ หากองค์กรนั้นทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สร้างความเสียหายแก่สาธารณะ สื่อจะกล้าเปิดโปงหรือไม่ เมื่อการเปิดโปงนั้นอาจสร้างความไม่พอใจแก่องค์กรธุรกิจดังกล่าว จนนำมาซึ่งการถอนโฆษณาในสื่อ ทำให้สื่อขาดรายได้ไป

ในกรณีดังกล่าว สื่อมักถูกกล่าวหาหรือตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ ว่าละเว้นการทำหน้าที่ของสื่อ หรือทำไปอย่างไม่เต็มใจ เพราะต้องรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอาไว้ ยิ่งปัจจุบันสื่อเองก็เป็นองค์กรธุรกิจหน่วยหนึ่ง แสวงหารายได้จากการทำธุรกิจโดยมีสินค้าคือข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น หากข้อมูลข่าวสารมีผลกระทบต่อคู่สัญญาทางธุรกิจ ที่สนับสนุนการโฆษณาในสื่อ โอกาสที่สื่อจะละเลยหน้าที่ย่อมมีมากขึ้น นำไปสู่การเสียประโยชน์ของสาธรณชน อันเป็นการละเมิดจรรยาบรรณอย่างชัดเจน เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ส่วนมากแล้ว เรื่องก็มักจะจางหายไปโดยไม่มีการสืบสาวราวเรื่องใดๆ

3 การเคารพผู้อื่น ในข้อนี้ สื่อมักจะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ชอบเสนอข่าวในลักษณะล่วงละเมิดผู้อื่น โดยเฉพาะในสื่อบันเทิง ที่เน้นการเสนอข่าวในลักษณะหวือหวา ตื่นเต้น เร้าใจ ซึ่งข่าวที่ปรากฏนั้นมักมีผลด้านลบแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าว เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น สื่ออื่นและองค์กรวิชาชีพทางสื่อมักไม่ให้ความสนใจ ผู้ได้รับความเสียหายต้องฟ้องร้องคดีความเพื่อขอความยุติธรรมจากศาล ผลปรากฏว่าสื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มากกว่าชนะ หรือมีการประนีประนอมยอมความในศาลโดยสื่อยอมรับผิด สื่ออื่นๆที่นอกเหนือจากสื่อบันเทิงก็มีคดีความฟ้องร้องในลักษณะเช่นนี้เสมอ ที่มากที่สุดก็คือคดีหมิ่นประมาท มีทั้งสื่อเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ

การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังที่กล่าวมานั้น สื่อด้วยกันเองหรือองค์กรวิชาชีพทางสื่อมักเลือกที่จะนิ่งเฉยมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์สื่อด้วยกัน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสื่อยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพข้อหนึ่ง ที่กำหนดให้สื่อ “ไม่กระทำการใดๆอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ” ตามที่กำหนดไว้ใน “จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์” เข้ากับคำกล่าวที่มักได้ยินเสมอในหมู่คนทำสื่อว่า “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน” หากเป็นเช่นนี้จริงก็นับว่าเป็นการแปรเจตนารมณ์ของจรรยาบรรณผิดจากความเป็นจริงมากที่สุด

นี่คือตัวอย่างของการละเมิดหรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อในยุคปัจจุบัน ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ สื่อแขนงใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมเทคโนโลยีสื่อสาร ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์น้อยใหญ่ที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดยทั่วไปก็ดี และเผยแพร่เป็นการเฉพาะกิจก็ดี วิทยุชมชน โทรทัศน์เคเบิล โทรทัศน์ดาวเทียม สื่อเหล่านี้ได้ยึด หลักจรรยาบรรณหรือไม่เพียงใด รวมถึงสื่อหลักที่ต้องแข่งขันกันแสวงหารายได้ทางธุรกิจ ทั้งยังต้องแข่งขันในการเสนอข่าวสารกับสื่อกระแสหลักด้วยกันและสื่อแขนงใหม่ที่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะยังยึดมั่นในจรรยาบรรณหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพได้อยู่หรือไม่ เพียงใด

คำตอบก็คือ จากพฤติกรรมของสื่อที่ยกมาข้างต้น ทำให้เห็นว่า สื่อเริ่มจะจืดจางห่างหายจากจรรยาบรรณหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพมากขึ้น

คำถามต่อไปก็คือ ทำไมเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้สื่อทำงานได้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้รักษาคุณภาพแห่งเนื้องานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดด้านเวลาที่ใช้ในการผลิต เมื่อสื่อทำงานสะดวกและสบายขึ้นก็ควรที่จะมีเวลาในการตรวจสอบ ตรวจทานเนื้อหากับจรรยาบรรณว่าจะล่วงละเมิดหรือไม่ แต่กลายกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือยิ่งมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสารเพิ่มขึ้นมากเพียงใด แนวโน้มการละเมิดจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อก็มีมากขึ้น

หรือว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะทำให้สื่อเกิดนวัตกรรมทางพฤติกรรมไปในทางลดคุณค่าแห่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงไป หรือว่า หลักแห่งจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ตราขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วในกรณีของสื่อสิ่งพิมพ์ และที่ตราไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนในกรณีของวิทยุและโทรทัศน์ จะล้าสมัยไม่เข้ากับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสารและนวัตกรรมของพฤติกรรมสื่อในปัจจุบันแล้ว

ปัญหาต่อมาก็คือ จะต้องแก้ไขนวัตกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพฤติกรรมของสื่อให้เข้ากับจรรยาบรรณและจริยธรรม หรือต้องสร้างนวัตกรรมทางจริยธรรมและจรรยาบรรณให้เข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพฤติกรรมของสื่อในยุคปัจจุบัน

และมีปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือ ใครจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ สมาคมวิชาชีพสื่อ สื่อ กสทช. ภาคประชาชน หรือจะมอบอำนาจให้ภาครัฐเข้ามาปฏิรูปสื่อเสียเอง?

หมายเหตุ -บทความเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เผยแพร่ในบล็อกของผู้เขียน เห็นว่าประเด็นและข้อมูลยังไม่ล้านสมัย มีการแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำและข้อมูลบ้างแล้ว ก่อนนำมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งในที่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น