xs
xsm
sm
md
lg

ขุนค้อนรู้มั้ย อังกฤษเอา ส.ส.ฉ้อฉลเข้าคุก

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้ัแทนราษฎร
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคณะไปดูงานรัฐสภาอังกฤษ ดูจาก FB พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ บอกแค่ผ่านๆหน้ารัฐสภาไม่ได้เข้าไปด้วยซ้ำ อ้าว! ตายอ่า ดูงานเอี้ยไรฟระ!! (ขออภัยท่านผู้อ่านที่ต้องใช้เสียงในฟิล์มเป็นการเฉพาะกิจเพราะเหลืออดจริงๆ) จึงน่าเสียดายที่ทริป “ดูงาน” ครั้งนี้ไม่ได้ไปดูเรื่องที่เป็นประโยชน์เช่นหน่วยงานอิสระภายในรัฐสภาอังกฤษใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูแลป้องกันไม่ให้นักการเมืองฉ้อฉลงบประมาณ

มีการพยายาม “แก้” แบบนิ่มๆ ให้เช่นมีรองเลขาธิการสภาฯ คนหนึ่งให้ข่าวกับสื่อเช่นบอกว่าเป็นโครงการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเมืองที่จัดต่อเนื่องกันมาไม่ได้โยกงบ แล้วก็บอกด้วยว่าเป็นงบของสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังบอกลึกลงไปว่าเป็นงบเดินทางไปต่างประเทศของท่านประธานฯ นี่ยิ่งต้องตรวจสอบเข้าไปใหญ่เพราะเป็นคำอธิบายที่ขัดแย้งกัน งบเดินทางของประธานมีแน่นอนแต่ก็ไม่ถึง 7 ล้าน (เข้าใจว่าของประธานคนเดียวอยู่ที่วงเงิน 2 ล้านบาทเท่านั้น) ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องนำเสนอที่มาของงบประมาณและโครงการต้นเรื่องที่ชัดเจน ไม่ใช่พูดคนละหนุบละหนับจับหลักฐานทางการไม่ได้สักอย่าง

จะว่าไปดูงานสื่อก็ใช่เรื่องอีกเพราะไม่มีการติดต่อกับสถาบันสื่อล่วงหน้า การไปดู BBC World ที่ลอนดอนเหมือนไปดูซากเทคโนโลยีของเขาเพราะที่นั่นเปิดรับนักท่องเที่ยวตีตั๋วเข้าชมกิจกรรมสื่อสาธารณะ เช่นดูสตูดิโอ ดูการถ่ายทอด ห้องข่าวฯลฯ รถบัสนักท่องเที่ยวเต็มลาน แต่กิจการสื่อ BBC ยุคใหม่ตัวจริงเขาเพิ่งย้ายไปอยู่แมนเชสเตอร์ เน้นการทำงานภายใต้เทคโนโลยีหลอมสื่อยุคใหม่ ส่วนตรงนี้ ฯพณฯ ประธานรัฐสภาไทยไม่ได้ดู แต่กลับไปตีตั๋วดูเหมือนนักท่องเที่ยว อ้างว่าดูกิจการสื่อ (ฮาๆ)

ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ! จึงอยากจะยกเรื่องราวของรัฐสภาอังกฤษที่คณะทัวร์กิตติมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยควรจะดูกิจการอย่างยิ่งก็คือเรื่องการปฏิรูปจริยธรรมและการตรวจสอบการใช้จ่ายของนักการเมืองครั้งใหญ่ กรณีนี้โด่งดังไปทั่ว แต่นักการเมืองไทยไม่สนจะไปดู

ประธานรัฐสภาไทยควรทราบว่าอังกฤษเพิ่งจะปฏิรูปการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อซัก 2-3 ปีนี้เอง เป็นการปฏิรูปเพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมครั้งสำคัญอันเป็นผลต่อเนื่องจากกรณีอื้อฉาวที่นักการเมืองขี้โกงหาช่องเอาเงินหลวงเข้าตัว การปฏิรูปดังกล่าวถึงขั้นที่เอานักการเมืองจำคุก บางคนถูกสั่งจำคุก 18 เดือน แถมยังสั่งให้ชดใช้เงินกลับคืนให้กับรัฐด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีรายการลาออกจากตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองกันระนาว

เหตุการณ์ครั้งนั้นใหญ่มากรู้จักกันทั่วไปในนามกรณี MP’s expense scandal เปรียบกับระเบิดลงกลางรัฐสภาอังกฤษก็ว่าได้เพราะมันสั่นสะเทือนไปทั่ว มีขนาดที่รัฐบาลอยู่ไม่ติดต้องเสนอกฎหมายตั้งองค์กรอิสระมาอุดช่องโหว่ ให้มีหน่วยสืบสวนสอบสวนมาคอยจับตาไม่ให้ส.ส.เบียดบังงบประมาณได้อีก

เหตุเกิดขึ้นในช่วงปี 2009 (2552) เมื่อหนังสือพิมพ์ Daily Telegraph ตีพิมพ์ข้อมูลปกปิดที่มีผู้ลักลอบนำออกมาให้เปิดโปงการขอเบิกเงินสิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาที่เลี่ยงบาลีทำไม่ถูกระเบียบ การเปิดโปงการคดโกงฉ้อฉลก่อให้เกิดการสังคายนาระบบเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ของนักการเมืองในสภาครั้งใหญ่

พึงทราบว่านอกจากเงินเดือนแล้วนักการเมืองอังกฤษยังได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ คือสามารถยื่นเคลมรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งสิทธิในการเบิกค่าที่พักในกรุงลอนดอนด้วย ปรากฏว่ามีนักการเมืองจำนวนมากทุจริตรายการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เช่น เอาลูกที่ยังเรียนไม่จบมาสวมเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยงาน บางคนมีห้องพักของตัวเองในลอนดอนอยู่แล้วก็โกงหลักฐานว่าเป็นของผู้อื่นแล้วก็ขอเบิกค่าเช่าเอาเงินหลวงมาจ่ายค่าบ้านตัวเอง บางคนก็เบิกค่าตกแต่งภายในบ้านที่สองโดยเคลมว่าเป็นการซื้อ บางคนขอเบิกเกินจริงคือออกบิลให้แพงกว่าค่าเช่าจริง ฯลฯ

เมื่อข่าวสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อไม่เพียงแค่ในอังกฤษเท่านั้นสื่อยักษ์ใหญ่ทางฝั่งอเมริกาก็ตามมาเล่นด้วยก็ยิ่งเกิดกระแสโกรธแค้นจากประชาชนอย่างรุนแรงเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีผู้ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารขอดูรายละเอียดการเบิกจ่ายแต่ถูกสำนักงานรัฐสภาปฏิเสธ ต้องร้องไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก็ได้ดูแค่บางส่วน จนทางผู้ร้องต้องร้องไปยังศาลที่พิจารณาเรื่องข้อมูลข่าวสาร จนกระทั่งศาลวินิจฉัยว่าข้อมูลการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้เป็นข้อมูล “sensitive” นั่นแหละทางฝั่งรัฐสภาจึงค่อยๆ อ่อนลงแต่ก็ยังไว้ท่ากระบิดกระบวนไม่ยอมเปิดสักที

ในช่วงแรกๆ นักการเมืองอังกฤษแสดงท่าทีอิดออดไม่อยากให้เปิดข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ ถึงขนาดเสนอขอแก้กฎหมายข้อมูลข่าวสารว่าห้ามประชาชนขอข้อมูลการใช้จ่ายส่วนตัวของส.ส.โดยอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลด้วยซ้ำไป การยื้อไปยื้อมาเล่นเอาเถิดชักคะเย่อมาร่วม 3 ปี คิดดูว่าระหว่างนั้นได้เพาะบ่มความไม่พอใจของสังคมแค่ไหน

ข้อมูลที่รั่วไหลออกตีพิมพ์ใน Daily Telegraph เปรียบกับฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ กระแสความโกรธแค้นของประชาชนสะเทือนวงการเมืองอังกฤษจากรัฐสภาลามมาทำเนียบรัฐบาล ที่สุดฝ่ายนักการเมืองต้องยอมตีพิมพ์รายละเอียดการใช้จ่ายทุกเม็ดย้อนหลังไปถึงปี 2004 ก่อให้เกิดกลุ่มประชาสังคมตรวจสอบนักการเมือง เกิดการฟ้องร้องเอาผิด เกิดการเรียกร้องให้คืนเงิน เกิดการเรียกร้องให้นักการเมืองรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง ฯลฯ มากมาย

รัฐบาลอังกฤษต้องกุลีกุจอเสนอร่างกฎหมายตัวใหม่ที่ชื่อว่า Parliament Standard Act 2009 เข้าสภาออกบังคับใช้ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน บังคับใช้เมื่อ 21 ก.ค. 2009 เนื้อหาคือให้มีองค์กรอิสระจากอำนาจรัฐสภาที่ชื่อว่า Independent Parliamentary Standards Authority (IPSA), เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงินและผลประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภาโดยตรง ให้มีหน่วยงานลูกเป็นแขนขา เสมือน “จั่นเจามือขวาท่านเปา” มาช่วยงานคือ The office of the Commissioner of Parliamentary Investigation ขึ้นมาเพื่อ เพื่อสอดส่อง ตรวจสอบสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมทางการเงิน หรือมีความฉ้อฉลในผลประโยชน์ที่ได้รับนั่นเพราะว่าประชาชนหมดความเชื่อถือให้สำนักงานเลขานุการรัฐสภาหรือองค์กรที่มีนักการเมืองบังคับบัญชา จึงต้องมีองค์กรที่เป็นอิสระขึ้นมากำกับแทนประชาชน

คนในวงการรัฐศาสตร์ถือว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐสภาอังกฤษรอบนี้เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งหนึ่งเลยทีเดียว และไม่ใช่แค่อังกฤษเท่านั้นกระแสการเรียกร้องอยากรู้การใช้จ่ายของนักการเมืองยังลามไปยังฝรั่งเศสด้วย มีส.ส.กลุ่มหนึ่งเสนอแก้กฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์เบี้ยเลี้ยงของส.ส.นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัดเข็มขัดรองรับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจยุโรปของรัฐบาลแต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวถูกคว่ำไป

ส.ส.เดอ กูร์ซอง คนที่เป็นตัวตั้งตัวตี (พยายาม) ปฏิรูปรัฐสภาฝรั่งเศสบอกกับ The Telegraph ในข่าว France parliament votes down MP expenses overhaul ได้น่าสนใจครับว่า กระแสความเรียกร้องให้นักการเมืองเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมน่ะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักการเมืองฝรั่งเศสหนีกระแสประชาชนไม่พ้นหรอก อย่าให้เหมือนกรณีอื้อฉาวที่สะเทือนรัฐสภาอังกฤษ (เวสมินสเตอร์) เมื่อปี 2009 ก็แล้วกัน

กระแสเรียกร้องให้นักการเมืองในสภาเพิ่มความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายและการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ไม่หยุดอยู่แค่อังกฤษแน่นอน ดังตัวอย่างที่เกิดในรัฐสภาฝรั่งเศส ปัจจุบันสื่ออย่าง Daily Telegraph ก็ไม่ยอมหยุดในเรื่องนี้ เว็บไซต์ของเขาคือ The Telegraph มีนโยบายเกาะติดข่าวที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการเบิกจ่ายใช้งบประมาณของนักการเมือง โดยตั้งหัวข้อข่าวถาวรหัวข้อ MP’s expense เกาะติดประเด็นเกี่ยวข้องกับการใช้เงินของนักการเมืองตลอด แม้จะเป็นเรื่องในฝรั่งเศสก็ยังตามไปรายงาน

น่าเสียดายที่คณะประธานรัฐสภาอุตส่าห์ไปถึงอังกฤษแต่ไม่ได้ดูงานเรียนรู้จากรัฐสภาของประเทศที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยว่าด้วยการจัดการกับนักการเมืองฉ้อฉล เบียดบังประโยชน์ที่ไม่ควรได้เกินไปจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว อุตส่าห์ไปทั้งทีได้ผ่านแค่ประตูรัฐสภาแล้วเอาเวลากับงบประมาณไปทำอย่างอื่น เช่นซื้อตั๋วดูทัวร์ BBC ที่สำหรับนักสื่อสารมวลชนแล้วการโชว์ที่นั่นตกสมัยไม่ทันการเปลี่ยนแปลงล่าสุดไปแล้ว หรือไปดูฟุตบอลที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการพัฒนาสื่อและประชาธิปไตยตามคำอ้าง

เพราะหากได้ดูได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ ทั้งตัวหัวหน้าคณะและลูกทัวร์อาจจะเกิดสำนึกในการใช้ภาษีของประชาชนผุดโผล่ขึ้นมาบ้าง-แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี.


สิทธิประโยชน์ทางตรงและอ้อมเพื่อการฉ้อฉลของส.ส.ไทย

(บทความประกอบ)

ความแตกต่างระหว่างรัฐสภาอังกฤษกับไทยอยู่ที่ของอังกฤษโกงได้เฉพาะการเคลมเงินสิทธิประโยชน์พิเศษ แต่ของไทยมีช่องการโกงจากสิทธิที่ได้รับโดย โดยอ้อม และยังลามมาหาประโยชน์จากงบดำเนินการเช่น งบประมาณในคณะกรรมาธิการอีกต่างหาก

วงเงินผลประโยชน์ของนักการเมืองไทยในฝั่งรัฐสภาไม่น้อยเลยนะครับแต่ละปี อย่านึกว่าต้องไปอยู่ฝ่ายบริหารคืออยู่กับรัฐบาลแล้วจึงหาประโยชน์ใส่กระเป๋าได้ เพราะเป็นแค่ส.ส.อยู่ในรั้วรัฐสภาที่เขาดินก็หาประโยชน์ได้ เผลอๆ ได้มากกว่าส.ส.อังกฤษที่รัฐสภาเวสมินสเตอร์ด้วยซ้ำไป

สิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาไทย มี 2 ประเภทคือ

1/ สิทธิประโยชน์ที่ระบุไว้ในหนังสือคู่มือ เช่น เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม การแต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินการ ถ้าเป็นประธานหรือรองประธานฯ มีสิทธิตั้งคณะทำงานทางการเมืองคือที่ปรึกษา เลขานุการ และนักวิชาการประจำตัวเพิ่มขึ้นอีก อย่างสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นี่มีสิทธิ์ตั้งได้ 10 คน บวกกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงาน 6 คนรวมเป็น 16 คน ส่วนส.ส.ทั่วไปใช้สิทธิ์ตั้งพรรคพวกมากินตำแหน่งที่ปรึกษา นักวิชาการได้เหมือนกันโดยผ่านการตั้งอนุกรรมการธิการ หรือตั้งที่ปรึกษา/นักวิชาการประจำกรรมาธิการ นี่ก็ได้เบี้ยเลี้ยงเงินประจำตำแหน่ง นอกนั้นยังมีสิทธิ์เดินทางฟรี ทั้งรถโดยสาร รถไฟและเครื่องบิน และมีการประกันสุขภาพกลุ่ม เขาเขียนว่าไม่เกินคนละ 2 หมื่นบาท/ปี แต่แท้จริงมากกว่านั้นจะกล่าวในหัวข้อต่อไป สิทธิอีกแบบคือได้กล่องหมายถึงสิทธิในการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยสำหรับสังคมแบบไทยๆ

เขาให้ตั้งที่ปรึกษา เลขาฯ นักวิชาการมาช่วยให้ “ทำงานในหน้าที่ผู้แทนประชาชน” ให้คล่องตัว แต่สำหรับนักการเมืองไทยการแต่งตั้งคนอาจหมายถึง เม็ดเงิน สายสัมพันธ์ และผลประโยชน์อื่นๆ เพราะมีคนไม่น้อยพร้อมจ่ายเงินเพื่อได้ตำแหน่งมาทำนามบัตร ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่นการเดินทางนี่ก็เช่นเดียวกัน หากใช้มาตรฐานอังกฤษสิทธิดังกล่าวมีให้ส.ส.ทำงานได้สะดวก แต่ไม่ได้จัดไว้ให้เพื่อกิจกรรมนอกหน้าที่

2/ สิทธิประโยชน์ที่ไม่ระบุในหนังสือคู่มือ นั่นคือ สิทธิฝากฝังข้าราชการ, สิทธิได้หัวคิวในโครงการพัฒนาซึ่งหากเป็นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณก็ยิ่งได้สิทธิมากกว่าส.ส.อื่น, สิทธิเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศฟรีทุกปีๆ ละไม่น้อยกว่า 2 ครั้งโดยอาศัยงบดูงานของกรรมาธิการ
แต่ละปีกรรมาธิการแต่ละคณะได้งบเที่ยวต่างประเทศ 5 ล้านบาท / ในหนังสือคู่มือบอกว่าได้สิทธิประกันสุขภาพกลุ่มเบิกไม่เกิน 5 หมื่น/ปี แต่งบประมาณประจำปีรัฐสภาตั้งงบสำหรับรักษาพยาบาลส.ส.ถึง 100 ล้านบาท? สิทธิในการกินฟรีอย่างราชานี่ก็ไม่ได้รวมในเอกสารแต่งบประมาณประจำปี ตั้งไว้อย่างซ้ำซ้อนเช่น งบอาหารวันประชุมส.ส. 24 ล้านกว่าบาท แล้วก็ตั้งงบอาหารของกรรมธิการ/กรรมาธิการวิสามัญเพิ่มไปอีก เกือบ 28 ล้านบาท เรียกว่าหากมีประชุมสภาและประชุมกรรมาธิการด้วย แต่ละห้องก็มีอาหารของตัวเอง

สิทธิในการไปต่างประเทศนี่ตั้งไว้ซ้ำซ้อนมากคือไม่เฉพาะ 5 ล้านบาท/คณะ (กมธ.วิสามัญก็มีให้ไปด้วยแยกจากก้อนนี้) ยังมีการตั้งงบในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อการไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มจากส่วนกรรมาธิการที่ได้จัดสรรโดยตรงอีก โดยเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการเจรจาธุรกิจและดูงานตปท.ของกมธ.ประมาณ 175 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านตปท.ของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาอีกประมาณ 300 ล้านบาท

สิทธิประโยชน์เหล่านี้ล้วนเป็นเงินจากภาษีอากรที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของ “สมาชิกรัฐสภา” ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทว่าในทางเป็นจริงมีการเบิกจ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานในหน้าที่เลยก็มี

เช่น ส.ส.ภาคเหนือหญิงชาย 2 คนใช้สิทธิบินฟรีไปพักผ่อนภูเก็ต ซึ่งหากเป็นอังกฤษส.ส.ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้เพราะไม่ใช่ภารกิจในหน้าที่ และไม่ได้เป็นพื้นที่ภูมิลำเนา การแต่งตั้งญาติพี่น้องลูกเมียเป็นผู้ดำเนินการเกิดขึ้นเป็นปกติ บางคนอ้างว่าคนเหล่านั้นมีคุณวุฒิถึงแต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ใช้งานเพื่อภารกิจในหน้าที่แต่อย่างใด

ในทางปฏิบัตินักการเมืองที่พลาดหวังตำแหน่งในฝั่งบริหารวิ่งเต้นเพื่อจะมีตำแหน่งในทางรัฐสภา เช่น ประธานฯ รองประธานฯ ประธานกรรมาธิการฯ เพราะมีงบประมาณให้ใช้จ่าย รัฐสภาตั้งงบประมาณสำหรับประธานสภาฯ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และรอง 2 คนไปต่างประเทศโดยตรงเฉพาะตัวไว้ 4 ล้านบาท รถประจำตำแหน่งคันละ 7 ล้านกว่าบาท ค่ารับรองของประธานและรอง 2 คนรวม 8 ล้านบาท ซึ่งก็คือเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูตามสะดวกขอให้มีบิล ไม่รวมโครงการใหญ่ๆ อย่างเรื่องการก่อสร้างซ่อมแซม ฯลฯ

ที่ผ่านมาสังคมไทยพุ่งเป้าไปยังฝ่ายบริหาร คือ การทำงานของรัฐมนตรีและรัฐบาลเป็นสำคัญ ไม่ค่อยจะสนใจให้น้ำหนักกับฝ่ายนิติบัญญัติ นานๆ ทีจะมีข่าวคราวเรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศอ้างดูงานบังหน้าแบบน่าเกลียดสักหนแล้วก็ลืมๆ กันไป

ก็ไม่ว่าอะไรหรอกหากไปดูงานเพื่อประโยชน์ในการยกระดับมาตรฐานองค์กรนิติบัญญัติจริง จะมีเที่ยวบ้างเป็นขอแถมนิดๆหน่อยๆ แบบนี้เข้าใจได้ แต่ที่เล่นเที่ยวเป็นหลักเอางานบังหน้านี่สิมันน่าเกลียด เพราะที่สุดแล้วงบประมาณ “การเดินทางไปต่างประเทศ” ที่ตั้งไว้นั้นก็เพื่อรองรับภารกิจงานในหน้าที่เป็นสำคัญ ไม่ใช่ “สิทธิประโยชน์” โดยตรงว่าอยากไปไหนก็ได้ไป

เชื่อเหลือเกินว่าหากมีผู้ไปขอข้อมูลข่าวสารเรื่องสิทธิประโยชน์ การเบิกจ่าย การไปต่างประเทศ มานำเสนอโดยละเอียดเหมือนเช่นที่อังกฤษ จะได้พบเรื่องพิลึกกึกกือชวนโมโหโกรธาได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าคนอังกฤษโมโหส.ส.ของเขา เช่น อาจจะพบว่ามีส.ส.คนหนึ่งใช้สิทธิ์บินไปประชุมเช้า บ่ายกลับทั้งๆ ที่วันนั้นมีประชุมจนค่ำ ไม่เพียงเท่านั้นยังเบิกเบี้ยเลี้ยงประชุมกรรมาธิการเต็มเพดาน 2 คณะ (2พันบาท) ในวันเดียวกัน หลักฐานการเดินทางดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของส.ส.หลังยาว ที่ประสงค์จะได้เงินเบี้ยเลี้ยง แต่ไม่ประสงค์จะเข้าประชุมคนนั้นได้ชัดเจน


กรณีของคณะทัวร์ประธานรัฐสภาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นี่ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะแก้ตัวยังไงมันก็มีพิรุธเป็นหลักฐานมัดว่าเป็นการรีบใช้เงินหลวงที่เหลือจ่ายปีงบประมาณ ทำโครงการท่องเที่ยวอ้างการดูงานบังหน้า มีที่ไหนบอกว่าไปดูรัฐสภาแต่ไม่ได้เข้าไปภายใน คนที่รับเชิญก็เจาะจงพวกกันแวดวงที่มีวอยซ์ทีวี.ของโอ๊ค พานทองแท้ กับจักรพันธุ์ ยมจินดาเป็นแกนกลาง

การฉ้อฉลงบประมาณจากภาษีประชาชนแบบนักการเมืองไทยจึงก้าวหน้ากว่าของอังกฤษ เพราะไม่เพียงแต่ฉ้อฉลสิทธิประโยชน์โดยตรง-โดยอ้อม ยังฉ้อฉลงบประมาณบริหารกิจการนิติบัญญัติอีกต่างหาก

การปฏิรูปการเมืองไทยหากจะมีขึ้นจริง ไม่ควรเพ่งเล็งปฏิรูปแต่ฝ่ายบริหาร เพราะหัวใจของความโหลยโท่ยไม่พัฒนาก็อยู่ที่นักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยเช่นกัน ในปีงบประมาณ 2556 นี้ฝ่ายนิติบัญญัติมีโครงการตั้งศูนย์ติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณของทุกส่วนราชการของฝ่ายบริหาร(กระทรวง กรม) จำนวน 14 ล้านบาท แต่ไม่ยักมีหน่วยงานที่ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายของฝ่ายนิติบัญญัติเลย

คิดเล่นๆ ว่าหากสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานรัฐสภาอังกฤษก็อาจถูกสั่งจำคุกเหมือนกับนักการเมืองหลายคนก่อนหน้า แต่นี่เป็นเมืองไทยที่ยังคนจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลบอกว่าโกงก็ได้ไม่เป็นไร ขอให้เป็นพวกกันก็พอ สมศักดิ์ กลับมาเมืองไทยก็คงใช้วิธีสีข้างถูหน้าด้านหน้ามึนอยู่กันไปตามประสารัฐสภาไทย-เอวังฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น