xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์ : ธัมมชโย-ภุมมะเทวาสตีฟ จ็อบส์ต่อวงการสงฆ์ไทย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

หมายเหตุก่อนเข้าเรื่อง - บทความชิ้นนี้ค่อนข้างยาว มุ่งหวังวิพากษ์วิจารณ์กรณีความฝันเรื่องสตีฟ จ็อบส์ของธัมมชโยเชื่อมโยงกับบทบาทของลัทธิธรรมกายต่อวงการสงฆ์ไทย สำหรับท่านที่มีเวลาน้อยสามารถเลือกอ่านเป็นตอนๆ ไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวทั้งหมด

ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อในโลก ย่อมมีจุดหนึ่งที่ตกต่ำเกิดวิกฤตศรัทธา บางลัทธิศาสนาถึงกับสูญหายตายไป บ้างก็ต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนแล้วก็กลับมาฟื้นฟูเติบโตอีกคำรบ

อย่างคริสต์ศาสนาก็เคยเผชิญกับภาวะตกต่ำมาแล้ว อย่านึกว่าการขายบุญให้ผู้หลงเชื่อควักกระเป๋าจ่ายให้ศาสนาเพิ่งปรากฏครั้งแรกแถวๆ นี้นะครับเพราะในยุโรปเคยเกิดเหตุแบบนี้มาก่อน ศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 14-15 ตกต่ำอย่างหนักนี่เป็นผลพวงมาจากยุคกลางหรือยุคมืดของประวัติศาสตร์ยุโรป โป๊ปมีอำนาจเหนือกษัตริย์ หรือไม่ก็บางช่วงมีกษัตริย์ที่ครอบงำโป๊ป ศาสนจักรผูกพันกับอำนาจการเมืองขุนศึกศักดินา

สันตะปาปาเปรียบเสมือนจักรพรรดิอีกองค์กินอยู่หรูหราอยู่ที่กรุงโรม ส่วนพระธรรมดาก็ครอบครองที่ดินเสมือนฟิวดัลลอร์ดฝ่ายศาสนจักร พระไม่เคร่งครัดปล่อยตัวไม่ระวังพฤติกรรมกอบโกยเงินทอง เรียกเงินจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา กลายเป็นว่า พิธีกรรมกลายเป็นเครื่องมือหากินของพระ

จนกระทั่ง ค.ศ.1500 ต้นๆ สันตะปาปาเลโอที่ 20 แห่งโรมันคาธอลิคต้องการเงินจำนวนมากไปสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ จึงเกิดการเร่ขายใบไถ่บาปหาเงินเข้าวาติกัน ความตกต่ำดังกล่าวทำให้พระหนุ่มชาวเยอรมันชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ ลุกขึ้นมาประท้วงเกิดการปฏิรูปศาสนาคริสต์ครั้งสำคัญโดยพระหนุ่มที่เคร่งครัด ก่อเกิดนิกายลูเธอรัน และโปรแตสแตนท์ตามมา

ไม่น่าเชื่อว่าวิธีการไร่ขายใบไถ่บาป หลอกลวงชาวบ้านว่าจ่ายเงินแล้วไม่ต้องตกนรกที่ทำให้คริตศาสนาเสื่อมโทรมลงจนต้องเกิดการปฏิรูปใหญ่เมื่อ 500 ปีกว่าปีก่อนได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้นจากภิกษุในพุทธศาสนาขนาดให้รูดบัตรเครดิตก็สามารถไถ่บาปคือไม่ต้องตกนรกแถมได้บุญคือได้ขึ้นสวรรค์ ไม่จำเป็นต้องส่งสมณทูตเดินทางไปเร่ขายตามเมืองต่างๆ เหมือนศตวรรษที่ 15

อันที่จริงชาวพุทธจำนวนไม่น้อยขัดอก ขัดใจ และขัดตากับวัดดาวเทียมมานานแล้วล่ะไม่ใช่เฉพาะเรื่องสตีฟ จ็อบส์ที่กำลังเป็นกระเด็นสนทนา อาการขัดหูขัดตาหลักๆ เกิดมาจากการเร่ขายใบบุญ บริจาคมากได้บุญมาก จากนั้นก็คงขัดตากับพิธีการหรูหราอลังการยิ่งกว่างานเปิดกีฬาแห่งชาติระดับที่ต้องมีทีมออร์กาไนเซอร์คอยจัดการยิ่งกว่าอีเวนต์คอนเสิร์ตใหญ่ๆ กิจกรรมแต่ละอย่างห่างไกลจากแนวคิดสงบ สันโดษ เลิกละวาง ที่ชาวพุทธเคยเข้าใจกันมาแต่ก็น่าแปลกใจที่วัดธรรมกายก็ยังโตเอาๆ แถมยังแผ่อิทธิพลข้ามไปครอบเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมอีกต่างหาก

วันก่อนมีโอกาสเข้าสวนโมกข์ ไชยา นับนิ้วแล้วนี่เป็นการกลับไปเยือนในรอบ 22 ปี ได้หนังสือที่ทางวัดแจกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ตำราดูพระ” ซึ่งได้ตัดย่อปรับปรุงมาจากหนังสือ “ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์”ของท่านพุทธทาส เอาเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงพระภิกษุแบบต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อให้ศาสนิกชนได้ใช้เป็นคู่มือตรวจสอบว่านักบวชตนใดเป็นของแท้ของเทียมโดยได้อ้างอิงจากพระพุทธภาษิตสูตรต่างๆ มาบรรยายใหม่เป็นลักษณะของภิกษุเทียมแบบต่างๆ เช่น ภิกษุนกแก้วนกขุนทอง ภิกษุเปลือกปอ ภิกษุหมองู ภิกษุเห็นการแก่การกินดี ภิกษุลามก ฯลฯ

มีบทหนึ่งที่บรรยายถึงภิกษุมหาโจร 5 ประเภท โดยประเภทที่ห้าจัดเป็นมหาโจรชั้นเลิศ กล่าวคือภิกษุที่อวดอุตริมนุสสธรรมอันไม่จริงไม่เป็นจริงอ่านแล้วประหวัดนึกถึงเทพบุตรภุมมะเทวระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์ที่ชื่อสตีฟ จ็อบส์ทันที คำบรรยายของหนังสือสวนโมกข์ชัดเจนว่าพฤติกรรมเรื่องนี้ของธัมมชโยจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ภิกษุดี

แต่เมื่ออ่านประเภทของภิกษุที่ไม่เข้าท่าทั้งหลายทั้งปวงอันปรากฏในหนังสือไปเรื่อยๆ กลับไม่ใช่แค่ธรรมกายเท่านั้น ยังสะท้อนถึงบรรดาภิกษุในพุทธศาสนาปัจจุบัน ซึ่งมักพบพฤติกรรมแย่ๆ ให้เป็นทั่วไปโดยเฉพาะพวกพุทธพาณิชย์ หลอกลวงชาวบ้านในเรื่องไสยศาสตร์พิธีกรรมทั้งปวง

คิดๆ ดู ก็คล้อยตามคำอธิบายของสาวกธรรมกายเขาแหละครับ ก็ในเมื่อแวดวงสงฆ์ในปัจจุบันมันเต็มไปด้วยพระเก๊ปลอมพระไม่สำรวม ธรรมกายก็ยังดีกว่าพระสงฆ์ทั่วไปที่ยากจะจำแนกว่าพระดีพระเลว องค์ไหนแอบดื่ม องค์ๆ ไหนแอบเอาสีกาเข้ากุฏิ อย่างน้อยที่สุดพิธีกรรมเริดหรูอลังการแบบธรรมกาย ใส่เสื้อเหมือนกัน เป็นระเบียบแบบแผนก็ยังทำให้สาวกผู้เข้าร่วมเกิดความปิติ เอิบอิ่ม เกิดความสุขพร้อมกลับไปทำงานทำการในโลกจริงได้ต่อ ส่วนการบริจาคมันก็เป็นเรื่องของเขา

เรื่องราวแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาเราปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์เรื่อยมาแหละครับ ในยุคโบราณอำนาจอยู่ที่กษัตริย์วันดีคืนดีก็มีเหตุชำระสงฆ์กันครั้ง ไม่ว่าช่วงรัชกาลที่ 1 มาถึง ร.4 เกิดคณะธรรมยุติเพราะสงฆ์มหานิกายหย่อนยาน มาถึงรัชกาลที่ 6 แม้จะไม่มีเหตุชำระสงฆ์แต่ก็ทรงมีพระราชนิพนธ์เทศนาเสือป่า กัณฑ์ที่ 9 ว่าด้วยการป้องกันรักษาศาสนาให้ยั่งยืนแล้วก็กล่าวถึงสงฆ์โดยรับสั่งให้บำรุงเฉพาะสงฆ์ที่ควรเคารพอย่าได้บำรุงคนที่อาศัยพระศาสนามาเอาเปรียบชาวบ้าน มาถึงปัจจุบันมันก็อยู่ในช่วงกึ่งพุทธกาลที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกว่าเป็นยุคเสื่อมของพระพุทธศาสนากระทั่งมีพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์มาสืบบวรพระพุทธศาสนาต่อนั่นแหละ

ทางหนึ่งก็เออจริงของเขา ไปเจาะจงว่ากล่าวธัมมชโยแต่เพียงคนเดียวก็เหมือนจะไม่เป็นธรรมเพราะสงฆ์ที่ประพฤติไม่เหมาะไม่งามไม่ถูกแบบมีมากมายทั่วไป นี่กระมังที่ทำให้เครือข่ายธรรมกายยังยืนหยัดเติบโตต่อเนื่องเพราะสาวกที่ได้เข้าไปปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าตน “ได้” บางสิ่งบางอย่างกลับไป อาทิ ความอิ่มเอิบ เบิกบาน เหมือนได้อยู่ในโลกอีกใบที่ผ่อนคลาย บางคนคิดว่าการบริจาคก็ดีกว่าตีตั๋วไปดูหนังหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป

และที่สำคัญโลกยุคใหม่รับรองสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ให้เลือกนับถือศาสนา ลัทธิที่ตนชอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็รับรองสิทธิ์ดังกล่าวนั้นไว้ ต่อให้สอนแผลงๆ บิดเบี้ยวไป เช่น หากจะเพี้ยนถึงขึ้นประกาศว่าภุมมะเทวที่ชื่อสตีฟ จ็อบส์บัดนี้ได้เลื่อนชั้นเป็นเทวาเต็มตัวไม่ใช่กึ่งยักษ์ก็คงจะไม่มีใครว่าขาน เนื่องจากเป็นสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

ปมมีอยู่ปมเดียวคือ ธัมมชโยและวัดธรรมกายยังถือว่าตนสังกัดคณะสงฆ์ไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ และกรอบธรรมเนียมของสงฆ์ไทยที่เป็นเถรวาทนิกาย ดังนั้นคำสอน การแสดงออกต่างๆ ย่อมต้องอยู่ภายใต้กรอบของคณะ ปัญหาในอดีตที่มหาเถรสั่งให้ธัมมชโยต้องปาราชิกและเกิดคดีความอาญาตามมาก็เพราะเรื่องนี้

การเติบโตของธรรมกายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับสังคมไทยยุคนี้ เพราะแทนที่จะเลือกประกาศตนแยกลัทธิออกไปไม่อยู่ภายใต้คณะสงฆ์ไทยก็เป็นอันจบ แต่ธรรมกายเลือกที่จะสู้ แล้วก็เลือกที่จะเข้าร่วมกับอำนาจฝ่ายการเมืองเครือข่ายทักษิณ ไทยรักไทย...ก็เป็นที่รู้ว่าการที่อัยการสั่งไม่ฟ้องธัมมชโยฯ ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากเหตุผลใด เท่านั้นยังไม่พอธรรมกายซึ่งมีฐานมวลชนและฐานทุนก็แผ่อิทธิพลไปยังเถรานุเถระในมหาเถรสมาคม จนล่าสุดการประกาศศักดาธุดงค์กลางเมืองหลวงทำให้เกิดผลกระทบชิ่งกระแสการเมืองในคณะสงฆ์ร้อนฉ่าขึ้นมาอีกระลอก

การปรับตัวเข้ากับทุนสามานย์-อำนาจต่อฝ่ายอาณาจักรยุคใหม่ของธรรมกาย

ธรรมกายเป็นลัทธิที่ปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนสังคมไทยจากยุคสังคมอำมาตย์-เกษตร มาสู่ นายทุนใหม่ชนชั้นกลาง-ทุนสามานย์ ได้ดีที่สุด กลมกลืนที่สุด นี่เป็นจุดเด่นของพวกเขา

ธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการการเมืองของทุนและชนชั้นกลางไทยภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นแนวทางหลักที่ทุกรัฐบาลเดินตามปรัชญาการพัฒนาแบบนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2500 จนบัดนี้สังคมไทยก้าวมาถึงขั้นทุนเสรีนิยมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ไม่สมบูรณ์นัก ในระดับบนทุนใหม่ ทุนสามานย์ที่มุ่งกอบโกยเป็นหลักก้าวเข้าสู่วงจรการเมืองมีอิทธิพลทางการเมืองแทนที่ระบบราชการ (Bureaucratic Politic) ที่เคยเป็นมาก่อนปี 2540 ในขณะเดียวกันสังคมไทยยุคใหม่ก็ซับซ้อนขึ้น มีชนชั้นกลาง กลางสูง กลางใหม่ที่หายใจเข้าออกท่ามกลางระบบการแข่งขันแบบทุนจึงไม่แปลกกับวิธีการที่ได้บุญมาก็ต้องมีการเอาเงินบริจาคเป็นข้อแลกเปลี่ยน วิธีการมองโลกแบบคนในยุคทุนจึงแตกต่างจากคนในสังคมพุทธเดิมๆ เมื่อ 3-4 ทศวรรษก่อน

สำนักธรรมกายจึงเป็นสำนักที่ปรับตัวให้เข้ากับทุนนิยมใหม่และสังคมไทยยุคทุนสามานย์ได้โดดเด่นที่สุด

ในยุคก่อนคือยุคอำมาตย์ราชการเป็นใหญ่ ข้าราชการนายทหารตำรวจ ผู้ว่าฯ เหล่านั้นฝากตัวกับพระเถระผู้ใหญ่ในโครงสร้างยศชั้นของมหาเถรสมาคม ต่างก็เอื้ออาศัยกัน ข้าราชการเล็กๆ ทหารตำรวจที่อยากเติบโตก็วิ่งหาพระที่เจ้านายนับถือ เพราะเวลาพระเอ่ยปากขอตำแหน่งให้ ข้าราชการผู้ใหญ่มักจะปฏิเสธไม่ออก ต่างฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรต่างก็บำรุงกันไป

จนเมื่อโครงสร้างสังคมเปลี่ยนมาเป็นทุนมากขึ้น ชนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จอย่าโน้ส อุดมฯ ไปจนถึงชนชั้นสูงอย่างอนันต์ อัศวโภคิน แลนด์แอนด์เฮาส์ เป็นพลังขุมใหม่ในสังคมแทนที่อำนาจแบบขุนนางในยุคอำมาตยาธิปไตย คนกลุ่มนี้มีทุนและพร้อมจ่ายให้กับสิ่งที่คิดว่าตอบสนองเขาได้ ขณะที่ธรรมกายก็ตอบสนองเขาได้จริง อย่างน้อยก็มีโลกอีกใบที่สะอาด สว่าง สงบ เย็นก่อให้เกิดความปิติอิ่มเอิบ และเมื่อไปเปรียบเทียบกับการตอบสนองของสงฆ์คณะอื่นทั่วไปที่ต้องยอมรับว่าเหลวแหลกเสียส่วนใหญ่ ทรงเจ้าเข้าผีใบ้หวยกินเหล้าเคล้านารีมีให้เห็นเป็นข่าวบ่อย ๆ ชนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเหล่านี้ยิ่งเกิดความพึงพอใจกับ “ลัทธิ” ที่เขาเชื่อในนามของพระพุทธศาสนาอีกสายหนึ่ง

อย่างที่บอกตอนต้นว่าเหตุปัญหาคงจะไม่เกิดเลยหากธัมมชโยประกาศแยกนิกายตนเองออกไปจากคณะสงฆ์ไทย แต่ในเมื่อวัดธรรมกายเลือกที่จะโตภายใต้คณะสงฆ์ไทยโดยมีฐานทุนและมวลชนหนุนหลังเข้าไปร่วมกับเถระผู้ใหญ่กลายเป็นเครือข่ายขุมกำลังในคณะสงฆ์ที่ไม่อาจมองข้าม และที่สำคัญที่สุดคือดันมามีบทบาทในระยะที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันซึ่งเคยทรงวินิจฉัยธรรมกายให้ได้รับโทษทรงมีพระชนมายุสูงมากทั้งยังประชวร และเกิดในระยะที่มีแรงปะทะกันระหว่างมหานิกาย กับ ธรรมยุตินิกาย ระลอกใหม่แบบเงียบๆ

ด้วยปัจจัยความอ่อนแอภายใต้โครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย ประกอบทั้งพระมหาเถระหลายองค์ชราภาพหรือไม่ก็ประชวร ไม่เพียงเท่านั้นธรรมกายยุคนี้มีทั้งเส้นสายอำนาจเครือข่ายธรรมกายในมหาสมาคม และอำนาจหนุนหลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ผมไม่เชื่อหรอกว่ามหาเถรสมาคมจะเอาผิดใดๆ กรณีอวดอุตริมนุสสธรรมเรื่องสตีฟ จ็อบส์ได้

ในท่ามกลางบรรยากาศที่น่าหดหู่ของวงการพุทธศาสนาที่แม้จะมีพระสุปฏิปัญโณ พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคอยค้ำจุนพระศาสนาอยู่จำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่มากพอ กลับปรากฏสงฆ์ที่เข้าข่ายภิกษุที่เป็นภัยกับศาสนาตามหนังสือ “ตำราดูพระ” ของสวนโมกข์มากมายเต็มไปหมด เป็นส่วนให้เกิดความเสื่อมทรุดในวงการศาสนาลงไปเรื่อยๆ ยิ่งเกิดกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยเทพบุตรกึ่งยักษ์สตีฟ จ็อบส์โด่งดังเท่าไหร่และมหาเถรสมาคมหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่สามารถจะทำอะไรได้ยิ่งแสดงให้เห็นถึง พลังอำนาจอำนาจขั้วใหม่ภายในคณะสงฆ์ไทยมากขึ้นเท่านั้น

สังคมสยามหรือรัฐชาติน้อยใหญ่ละแวกสุวรรณภูมิแห่งนี้ในอดีตอำนาจการปกครองของกษัตริย์ตั้งอยู่บนลัทธิเทวราชาและความเป็นเอกอัครมหาศาสนูปถัมภกมารองรับสิทธิธรรมอำนาจ กล่าวได้ว่ากษัตริย์จะได้รับสิทธิธรรมเต็มเปี่ยมจริงจะต้องเป็นองค์อุปถัมภ์ทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนาด้วย ศาสนาจึงเติบโตรุ่งเรืองควบคู่กับอำนาจฝ่ายอาณาจักรในลักษณะค้ำจุนซึ่งกันและกัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก พ.ศ.2475 ผ่านมาบัดนี้เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจฝ่ายอาณาจักร กับศาสนจักรก็แปรเปลี่ยนไปอย่างน้อยที่สุดก็ไม่เหมือนกับก่อน พ.ศ.2475 กล่าวได้ว่า โครงสร้างอำนาจและการปกครองคณะสงฆ์ไทยไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับ “วัง” เหมือนครั้งอดีต

ในระดับรองลงมา ความสัมพันธ์ระหว่างเถรานุเถระน้อยใหญ่ที่เคยสัมพันธ์กับอำมาตย์ขุนนาง (ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พ่อค้าพระยาเลี้ยง ฯลฯ) ก็แปรไปเนื่องจากอำมาตย์ขุนนางไม่ได้มีพลังอำนาจที่แท้จริง และทั้งยังไม่มีทุนซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดของอำนาจการเมืองยุคทุนนิยมสามานย์ ดังนั้น “พระ” ที่มีวิธีการดึงดูดทุนด้วยกลวิธีการตลาดแบบใหม่ พิธีกรรมผนวกเทคนิคพรีเซนเตชั่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ ตลอดถึงรูปแบบความโอ่อ่าอลังการบรรยากาศของพิธีกรรมที่น่าดึงดูดกว่าจึงได้เปรียบ “พระ” ในสังคมพุทธแบบเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าธรรมกายไม่ได้อยู่ภายใต้คณะสงฆ์ไทยก็คงไม่เป็นปัญหาดังที่กล่าว แต่เมื่อเลือกที่จะอยู่และเลือกที่จะร่วมเล่นการเมืองในวงการสงฆ์ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะชักจูงให้คณะสงฆ์ไทยมีธรรมเนียมและแนวทางโน้มไปตามแบบของตัว ทั้งโดยพฤตินัย (การเชื่อมโยงกับพระเถระน้อยใหญ่ดึงมาร่วมกิจกรรมแบบที่ทำกัน เช่น ธุดงค์กลางเมือง หรือตักบาตรร้อยๆ พันๆ รูป) และโดยนิตินัย ก็คือ อำนาจการปกครองสงฆ์ผ่านมหาเถระสมาคม ตาม พ.ร.บ.สงฆ์

กรณีเทวะภุมมะสตีฟ จ็อบส์เป็นบทสอบอำนาจของคณะธรรมกายที่มีต่อวงการสงฆ์ไทยโดยนิตินัย ก็คือ อำนาจการปกครองผ่านมหาเถระสมาคมว่าจะดำเนินการกับเรื่องดังกล่าวเช่นไรนั่นเอง

พระศรีอาริย์ฯ? ผู้นำการปฎิรูปฯ หรือ ผู้ฉวยโอกาสครอบงำ ?

เชื่อกันว่าพุทธศาสนาจะมีอายุถึง 5,000 ปี และยังเชื่อกันว่าเมื่อเข้าถึงกึ่งพุทธกาลศาสนาจะตกต่ำเสื่อมถอย ชนขาดศรัทธาเลื่อมใส บางสำนักเชื่อว่าจนกระทั่งมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ศรีอาริยเมตไตรยกำเนิดขึ้นจะนำพาศาสนาให้รุ่งเรืองสืบต่อไปอีกจนครบ 5,000 ปี ปมปัญหาอยู่ตรงที่คณะสงฆ์ไทยนับปีพุทธศักราช (พ.ศ.) ตามลังกาคือตามกลุ่มเถรวาท กล่าวคือ พม่า ศรีลังกา อินเดีย เขานับ พ.ศ.2556 ส่วนไทยช้าไป 1 ปีคือ พ.ศ.2555 หากยึดตามประเทศตอนใต้กลุ่มเถรวาท กึ่งพุทธกาลคือ พ.ศ.2500 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับไทยคือตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามโน่น

แต่สำหรับประเทศทางตอนเหนือที่นับถือมหายาน คือ ทิเบต เนปาล เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน เขานับศักราชช้ากว่าของเราไป 60 ปี กล่าวถือตอนนี้ยังอยู่ที่ พ.ศ.2496 อยู่เลย เหลืออีกตั้ง 4 ปีจึงจะครบกึ่งพุทธกาล

ความเป็นมาของการนับศักราชระหว่างฝ่ายหินยาน กับ มหายานไม่ตรงกันมีคำอธิบายทางวิชาการค่อนข้างยาวเอาเป็นว่า ศ.ประเสริฐ ณ นคร ปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีรับว่าไทยเราคำนวณศักราชผิดไป 60 ปีจริงๆ แต่ต้องปล่อยเลยตามเลยไปเปลี่ยนแล้วจะกระทบไปหมดเสียทุกด้าน

ฝ่ายมหายานนั้นเชื่อในเรื่องพระโพธิสัตว์และเรื่องพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ที่หนักแน่นพอสมควร ความคิดเรื่องพระศรีอาริย์ฯ มาบังเกิดนั้นแพร่หลายในกลุ่มนี้มากขณะที่วงการสงฆ์ของไทยก็มีผู้พยายามเผยแพร่ความคิดทำนองว่า พระเกจิอาจารย์องค์โน้นองค์นี้เป็นภาคที่แบ่งมาของพระศรีอาริย์ฯ ก็ว่ากันไป

เคยได้ยินมาถึงการกล่าวขวัญถึงพระเถระรูปนั้นรูปนี้เป็นภาคที่แบ่งของพระศรีอาริย์ฯ และก็เคยได้ยินคนแต่งชุดขาวยกย่องศาสดาของตัวให้เป็นเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันมั่นเหมาะจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ เอาเป็นว่า ในช่วงที่ศาสนาดำเนินมาถึง 2,500 ปีบวกลบโดยประมาณก็ได้เกิดความเสื่อมทรุดถดถอยไปจริงๆ โดยเฉพาะสงฆ์ผู้สืบพระศาสนาที่ไม่ปฏิบัติตนเป็นสงฆ์ที่แท้ตามพระธรรมคำภีร์ดั้งเดิม ศรัทธาของพุทธบริษัทจึงเสื่อมถอยลง ภายใต้ความเสื่อมถอยของศาสนาเองและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมือง โครงสร้างทางสังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากเดิมสู่การครอบงำของทุนนิยมสามานย์ดังที่กล่าวมา ผู้ที่ปรับเปลี่ยนนำศาสนาความเชื่อให้ตอบรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของคนยุคทุนนิยมแล้วได้รับการตอบรับที่ดี คิดอยากได้เงิน เงินก็บังเกิดมา คิดอยากได้อำนาจบ้านเมืองมาช่วยปัดเป่า อำนาจนั้นก็บันดาลให้ คิดอยากทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำกลางเมืองหลวง อำนาจปกครองก็เอื้อให้เกิด ฯลฯ สำหรับศิษย์หรือสาวกแล้วผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในศาสนาระดับนั้นได้ย่อมถูกเรียกขานว่าผู้นำแห่งการปฏิรูปศาสนา หรือไกลเลยเถิดไปถึงขึ้นเป็นภาคส่วนของพระศรีอาริย์ฯ ย่อมได้ทั้งสิ้น

สถานการณ์ความตกต่ำเสื่อมโทรมลงของศาสนาโดยรวม, การเกิดขึ้นของลัทธิแนวทางที่สอดรับกับสังคมทุนนิยมแบบใหม่ที่แม้จะขัดแย้งกับแบบแผนความเชื่อธรรมวินัยที่เคยถือกันมาแต่กลับไม่มีอำนาจปกครองหรือการจัดการใดๆ , การอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคณะสงฆ์ผ่านอำนาจทางกฎหมาย พ.ร.บ.สงฆ์ ที่ขั้วอำนาจซึ่งใกล้ชิดกับอำนาจการเมืองของนักการเมืองจะเข้ามามีอำนาจ, การขาดตอนของความเชื่อมโยงระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรแบบเดิมโดยเฉพาะแบบที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4, และการเข้ามามีอำนาจของทุนในกิจกรรมของสงฆ์ ล้วนแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ครั้งสำคัญของพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์

ในท่ามกลางความเสื่อมโทรมและการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เช่น อาจเกิด พระศรีอาริย์ฯ? ผู้นำการปฎิรูปฯ ? หรือ ผู้ฉวยโอกาสครอบงำและปกครอง ? ขึ้นในวงการสงฆ์

กรณีสตีฟ จ็อบส์ ภุมมะเทวากึ่งยักษ์อะไรนั่นดูเหมือนเรื่องตลกล้อเล่น แต่แท้จริงอย่าเป็นเล่นไปเพราะกรณีนี้คือการหยั่งเชิงเพื่อวัดกำลังภายในครั้งใหญ่ในวงการสงฆ์ในช่วงคาบเกี่ยวแห่งการเปลี่ยนแปลงเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น