ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นประเด็นร้อน!เมื่อชาวสกลนครแทบจะทุกภาคส่วนได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบน “เกาะดอนสวรรค์” กลางบึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 85 ไร่จากที่ดินทั้งหมดบนเกาะ 105 ไร่ และยิ่งร้อนฉ่าราวกับราดน้ำมันลงบนกองฟางเมื่อรู้ว่าเบื้องหลังการขอออกโฉนดครั้ง นี้เพื่อนำไปสร้าง “สาขาของวัดพระธรรมกาย” ซึ่งมีคอนเซ็ปต์การทำบุญที่แหกแก่นธรรม คือ “ทำบุญบริจาคเงินเข้าวัดธรรมกายมาก…ก็ได้บุญมาก”
กระแสต้านธรรมกายฮุบที่ดินบนเกาะดอนสวรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชาวสกลนครที่มีเหล่าบรรดาผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้เฒ่าคนเก่าแก่ไทสกลฯเท่านั้น ในโลกออนไลน์ก็ตอบรับกระแสต้านนี้อย่างแพร่หลายรวดเร็ว รวมแล้วนับล้านเพจวิวที่มีการโพสต์กระทู้ “ธรรมกายรุกยึดเกาะดอนสวรรค์” กลายเป็นประเด็น Talk of The town ชั่วข้ามวัน
ความแรงของพลังมวลชนที่ออกมาต้านส่งผลให้ ล่าสุด วันที่ 11 ก.ย.55 ในที่ประชุมของจังหวัดสกลนคร มีมติให้ระงับการออกโฉนดชั่วคราว โดยอ้างว่าเนื่องจากผู้ร้องขอให้ออกโฉนดไม่มีสิทธิ์ในการยื่นขอถอน เป็นเรื่องระดับกรรมาธิการการศาสนาและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการพิจารณาต่อ
อย่างไรก็ตามแค่มติสั่งชะลอหรือระงับการออกโฉนดชั่วคราวนั้นดูเหมือนจะไม่เพียงพอเสียด้วย เนื่องเพราะชาวสกลนครต้องการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถอนคำร้องการขอออกโฉนดที่ดินเกาะดอนสวรรค์ออกไปอย่างถาวร นั่นหมายความว่าเกาะดอนสวรรค์จะต้องอยู่ในสถานะที่ดินสาธารณะประโยชน์ แหล่งชุมน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น ต้องไม่ถูกครอบครอง หรือออกเอกสารสิทธิให้กับหน่วยงานหรือองค์กรใดใด...!!
คำถามที่เกิดขึ้นจากบรรดาพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งประเทศก็คือ
หนึ่ง-วัดพระธรรมกายปรารถนาที่จะยึดเกาะดอนสวรรค์จริงหรือไม่
สอง-ถ้าหากวัดพระธรรมกายมีความประสงค์ที่จะยึดเกาะดอนสวรรค์จริง วัดพระธรรมกายต้องการใช้พื้นที่ราว 85 ไร่นี้ด้วยวัตถุประสงค์ใด
และสาม-บนเกาะดอนสวรรค์เคยมีวัดร้างตั้งอยู่จริงหรือไม่
เพราะทั้งสามคำถามมีคำตอบจากวัดพระธรรมกายเรียบร้อยแล้ว โดยสองข้อแรก วัดพระธรรมกายปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะข้อที่สามวัดพระธรรมกายก็อ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นธรณีสงฆ์ ดังคำให้สัมภาษณ์ของ“พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกายที่ชี้แจงว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัดดอนสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะดอนสวรรค์ ในบึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นวัดร้าง และยังคงเป็น “ที่วัด” และ “ที่ธรณีสงฆ์” ตราบจนถึงปัจจุบัน ที่ทางคณะสงฆ์จังหวัดสกลนครและทางราชการ กำลังปรับปรุงให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการคณะสงฆ์ เพื่อแก้ไขปัญหาวัดร้างตามนโยบายของทางการคณะสงฆ์ส่วนกลางและทางราชการ
“วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่า เรื่องการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษานั้น เป็นสิทธิของทางการคณะสงฆ์จังหวัดสกลนครเอง และกรณีความคิดเห็นเรื่องการจัดการพื้นที่ที่แตกต่างกันไปนั้น เป็นเรื่องผลประโยชน์ของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในจังหวัดสกลนครเอง ไม่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายแต่ประการใด”
หรือดังคำให้สัมภาษณ์ของ “น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล” ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยเปิดเผยว่า มีความศรัทธาในวัดพระธรรมกายเป็นอย่างมาก โดยระบุชัดเจนว่า “ตามที่นายกเทศมนตรีนครสกลนคร ทำหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินให้กับวัดดอนสวรรค์ ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ตั้งแต่พ.ศ.2472 แต่ต่อมาไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำวัดจึงถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง และต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสงฆ์ กลับไปจำวัดอีกครั้ง จึงได้มีการแจ้งแก้ไขการขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง และกลับคืนสู่สภาพวัดที่มีพระจำศีล ตามปกติ แต่เนื่องจากโฉนดที่ดินของวัดดอนสวรรค์ ที่หายสาบสูญไป จึงแจ้งไปยังกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดใหม่ แต่ถูกคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า เทศบาลสกลนคร ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เพราะเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่าสาธารณประโยชน์ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
“จากการพิจารณาของ อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า มีหลักฐานที่ชัดจน และยืนยันได้ว่า มีการจดทะเบียนวัด โดยกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่พ.ศ.2472 และมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2472 พร้อมทั้งออกโฉนดที่ดิน ดังนั้นเมื่อที่ดินใด ที่ตกเป็นของวัด จึงถือเป็นที่ธรณีสงฆ์ จะให้เห็นเป็นอื่นไม่ได้ จึงยืนยันว่าที่ดินดังกล่าว เป็นที่ของวัด เป็นธรณีสงฆ์ ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ตามที่นายกเทศมนตรีนครสกลนครกล่าวอ้าง”
กล่าวสำหรับ “เกาะดอนสวรรค์” นั้นมีพื้นที่ราว 105 ไร่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า 20 เกาะที่ตั้งอยู่ในบริเวณหนองหาร ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีชื่อเสียงและกว้างใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย อยู่ในเขตปกครองของ อบต.ธาตุเชิงชุม ต.ในเมือง อ.เมืองสกลนคร หนองหารมีเนื้อที่ประมาณ 123 ตาราง กิโลเมตร เป็นที่รวมของลำห้วยต่างๆ หลายสายและยัง เป็นต้นน้ำของลำน้ำ ก่ำ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จ.นครพนม เป็นแหล่งผลิต อาหาร ที่สำคัญทั้งทางด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง ซึ่งเป็นอาชีพ หลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาร
ทั้งนี้ เกาะดอนสวรรค์ อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 4 กิโลเมตร มีต้นไม้น้อยใหญ่เป็นแหล่งพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ เป็นแหล่งหาอาหารป่า แหล่งเพาะปลูกพืชผักสวนครัวชั่วครั้งชั่วคราวของชาวบ้านชาวประมงที่อาศัยอยู่รอบบึงหนองหาร
นายประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าเขต 11 และพลเมืองอาวุโสของจังหวัดสกลนคร เล่าว่าแต่ไหนแต่ไรมา เกาะดอนสวรรค์จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พระสายปฏิบัติมักจะปฏิบัติธรรมและมีไม่มากนักไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราวยามหน้าแล้งเท่านั้น เพราะสภาพอากาศเย็นสบายเป็นธรรมชาติเหมาะต่อการปลีกวิเวก ส่วนหน้าฝนอยู่ไม่ได้พื้นแฉะเกือบทั้งเกาะ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อีกด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ตนเอง และสมาชิกหอการค้า เทศบาลนครสกลนคร และสมาชิกสภาอุตสาหกรรม ได้เดินทางลงเรือล่องไปเยี่ยมชมเกาะดอนสวรรค์ปรากฏว่าพบการเปลี่ยนแปลง คือ มีพระจากวัดธรรมกายเข้าไปอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 รูป มีการกางเต็นท์ ถากถางต้นไม้ออกแล้วเทปูนลงพื้นดิน สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับทางคณะเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การรุกขยายอิทธิพลความเชื่อของวัดธรรมกายนั้นไม่มีแต่เฉพาะความพยายามเข้าไปถือครองเอกสารสิทธิ์บนเกาะดอนสวรรค์ จ.สกลนครเท่านั้น ในห้วง 10 ปีย้อนหลัง วัดธรรมกายได้จัดตั้งสำนักงานกัลยาณมิตรขึ้นในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ มีศิษย์เอกในพื้นที่เป็นธุระจัดหาสถานที่และสมาชิกเครือข่าย มีการจัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีทุนสนับสนุนจากสำนักใหญ่ปทุมธานีเต็มที่
ที่สำคัญคือ เป็นที่น่าสังเกตว่าศิษย์เอกของธรรมกายนั้นล้วนแต่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า คหบดีเงินหนาแทบทั้งนั้น พร้อมจะร่วมต่อบุญกับธรรมกายทุกเมื่อ
สอดรับกับข้อมูลที่ออกมาจากอดีตพระวัดพระธรรมกายว่า กรณีวัดดอนสวรรค์ไม่ใช่เหตุการณ์แรกและไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายมีนโยบายที่จะรุกคืบด้วยการส่งพระในสังกัดเข้าไปจับจองพื้นที่วัดร้างทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และก็ประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด จนเวลานี้วัดร้างจำนวนมากได้แปรสภาพเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ในสังกัดของวัดพระธรรมกายเข้าไปจำพรรษาอยู่
ที่สำคัญคือ มิใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ธรรมกายมีนโยบายชัดเจนที่จะขยายอาณาเขตความเชื่อของตนเองออกไปในทั่วโลกอีกด้วย
“ผมไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่วัดดอนสวรรค์ เพราะในสมัยที่ผมยังเป็นพระวัดธรรมกาย นโยบายในลักษณะนี้ก็มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่เพียงวัดร้างเท่านั้น วัดพระธรรมกายยังใช้สารพัดวิธีที่จะเชิญชวนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในทุกจังหวัดให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมกายอีกด้วย”อดีตพระลูกวัดพระธรรมกายให้ข้อมูล
ขณะที่ใน จ.สกลนครเอง เริ่มมีการเคลื่อนไหวของเหล่าพระสายธรรมกายเข้าไปจำวัดและทำกิจกรรมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชัดเจนที่สุดในสมัยที่นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ (ผู้ว่าฯขอนแก่นคนปัจจุบัน)นั่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พ.ศ.2552-2553 โดยภรรยา คือนางสุวรรณี ตรีวัฒน์สุวรรณ์ ถือเป็นศิษย์เอกของธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกายระดับแถวหน้าคนหนึ่งในเมืองสกลฯ ในห้วงนี้ศิษย์ธรรมกายเมืองสกลฯได้ใช้โรงแรมสกลแกรนด์เป็นศูนย์ประสานงานและทำกิจกรรมร่วมกัน มีงบสนับสนุนก้อนโตจากวัดธรรมกาย
ว่ากันว่า จากโรงแรมที่เกือบจะเจ๊งแล้ว สกลนครแกรนด์ได้ฟื้นขึ้นใหม่เพราะเงินจากธรรมกายนี้เอง
ศิษย์เอกเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้เปิดทางให้พระสายธรรมกายเข้าไปจำวัดในเมืองสกลฯอย่างเปิดเผย ครั้งแรกไม่ถึง 10 รูปพากันไปจำวัดอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง ระหว่างจำวัดได้จัดกิจกรรมอันเป็นกิจของธรรมกายบ่อยๆจนชาวบ้านผิดสังเกตจึงนัดรวมตัวกันไล่พระพวกนี้ออกจากวัด
แต่พระศรีสกลกิจ รองเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร(เพิ่งถูกฆาตกรรม)เจ้าอาวาสวัดศรีสุมังค์ได้ช่วยเหลือให้มาจำวัดชั่วคราวอยู่ที่วัดหลังจากนั้นได้ส่งขึ้นเรือไปพักอยู่บนเกาะดอนสวรรค์ แต่ก็เกิดเรื่องทะเลาะชกต่อยกับพระที่อยู่เดิม มีการเผาเต้นท์กัน ในที่สุดพระที่อยู่มาก่อนก็ถูกไล่ออกจากเกาะ หลังจากนั้นพระสายธรรมกายบนเกาะแห่งนี้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทุกวันนี้มีไม่ต่ำกว่า 40-50 รูป และยังมีปัญหากับชาวบ้านทำประมงหาปลาอยู่แถวนั้นบ่อยๆ
สำหรับแผนการขอออกโฉนดเกาะดอนสวรรค์เพื่อสร้างสาขาวัดธรรมกายนั้น มีการเตรียมการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งฝ่ายการเมืองพรรคเพื่อไทย ข้าราชการและกลุ่มพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดที่ฝักใฝ่หวังลาภยศ คนเหล่านี้มั่นใจว่าผ่านฉลุยเพราะอำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องล้วนอยู่ภายใต้อาณัติ แต่ผิดคาดเพราะทันทีที่คณะสงฆ์ภาค 8 อ้างพื้นที่เกาะดอนสวรรค์เป็นวัดร้างทำเรื่องขอออกเอกสารสิทธิไปยังสำนักงานที่ดินหลุดรั่วออกไปเมื่อราวต้นอาทิตย์ก่อน ก็เกิดกระแสต้านในพื้นที่ทันที
ที่สำคัญคือ ในปัจจุบันเกาะดอนสวรรค์ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พระราชกฤษฎีกาเขตพื้นที่หวงห้ามฯ ปี พ.ศ.2484 และ มติ ครม.ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งทำให้หนองหารเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในความสำคัญระดับนานาชาติ
อดีตประธานหอการค้าเขต 11 เล่าเพิ่มเติมว่าความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประชาชน 10 กว่าตำบลผู้อยู่รอบหนองหารกับรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาฯ ให้หนองหารเป็นพื้นที่หวงห้าม และแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯได้ไปครอบคลุมทับพื้นที่ไร่นา บ้านเรือน วัด โรงเรียน และหมู่บ้าน ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นปัญหามากว่า 70 ปี แล้ว แต่ในวันนี้ ดอนสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ กำลังถูกกลุ่มบุคคลขอออกเอกสารสิทธิ์ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์
และนั่นคือประจักษ์พยานที่ยืนยันว่า วัดพระธรรมกายต้องการยึดพื้นที่เกาะดอนสวรรค์จริงๆ
ส่วนประเด็นพื้นที่บนเกาะดอนสวรรค์เป็นวัดร้างหรือไม่นั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 เจ้าคณะอำเภอเมืองได้ยื่นขอขึ้นบัญชีวัดร้างที่ดอนสวรรค์ (หลังจากที่เทศบาลเมืองสกลนครได้เข้าไปพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์) โดยนำหลักฐานมาประกอบหลายอย่าง เช่น ข้อมูลจากปูมเมืองสกลนคร และจากหอจดหมายแห่งชาติ ที่บันทึกสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2472 นายอำเภอเมืองได้เรี่ยรายเงินไปสร้างอุโบสถที่วัดดอนสวรรค์ และเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้รายงาน เพื่อกราบบังคมทูลฯ ผ่านราชเลขาธิการ และวันที่ 13 สิงหาคม 2472 กรมราชเลขาธิการมีหนังสือตอบมาสรุปตอนท้ายว่า”.....คงจะทรงอนุโมทนาในเมื่อทรงทราบรายงานหนังสือราชการ เจ้าหน้าที่จะได้นำแจ้งความลงในราชกิจจาฯต่อไป”
แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่ามีการลงทะเบียนวัดดอนสวรรค์ในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด ในเมื่อไม่มีชื่อในทะเบียนวัด และไม่เคยมีรายชื่อเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายและผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยืนยันว่าไม่มีใครเคยเห็นพระอยู่ประจำที่ดอนสวรรค์ เอกสารทางที่ดินก็ไม่ปรากฏว่าบนดอนสวรรค์มีที่ธรณีสงฆ์ หลักฐานต่างๆจึงมีไม่พอที่จะบ่งบอกว่าเป็นวัดมาก่อน ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นวัดร้างในความเห็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมการการศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
ที่สำคัญคือ ดอนสวรรค์เพิ่งจะมีพระแปลกๆ มาจำพรรษาอยู่บ้าง ก็หลังจากที่เจ้าคณะอำเภอเมืองยื่นขอขึ้นบัญชีวัดดอนสวรรค์(ร้าง) และจังหวัดก็เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ทั้งๆ ที่หลักฐานการเป็นวัดมาก่อนนั้นไม่สมบูรณ์ แม้จะมีการสร้างโบสถ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 แต่ในข้อเท็จจริงไม่มีพระอยู่จำพรรษา เพราะไม่มีญาติโยมมาถวายอาหารบิณฑบาตได้ ในเกาะก็ไม่มีบ้านเรือนราษฎรแต่อย่างใด และที่ว่ามีพระแปลกๆ มาอยู่ก็คือ มีพฤติกรรมเป็นที่ติฉินนินทาของคนทั่วไปด้วยซ้ำ
และดอนสวรรค์ก็เริ่มมีข่าวมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการศาสนาสภาผู้แทนราษฎรมาจัดประชุมร่วมกับจังหวัดเรื่องวัดดอนสวรรค์ และดูเหมือนว่าหลังประชุมนัดดังกล่าวเสร็จแล้ว กระบวนการขอออกเอกสารสิทธิที่ดิน 85 ไร่บนเกาะดอนสวรรค์ก็เร่งเครื่องเดินหน้าทันทีจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านจากชาวสกลนครและกลุ่มคนไทยทั่วประเทศที่ไม่เอาธรรมกาย
ด้าน “นายชัยมงคล ไชยรบ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เกาะดอนสวรรค์ มีพระจากวัดพระธรรมกายมาจำวัดอยู่ประมาณ 30-50 รูปแล้ว และที่น่าเป็นห่วงคือ ชาวประมงไม่สามารถขึ้นไปพักอาศัยระหว่างหาปลาที่หนองหาร เมื่อชาวบ้านขึ้นไปพักกลับถูกพระที่มาจำวัดบริเวณนั้นไล่ออกจากเกาะ ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวสกลนครสามารถเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนได้ ถือเป็นสมบัติสาธารณะท้องถิ่นของชาวสกลนคร”
ส่วนประเด็นเรื่องที่ธรณีสงฆ์ที่ทางวัดพระธรรมกายและสาวกตัวแม่อย่างนางสาวลีลาวดีพยายามให้ข้อมูลต่อสาธารณชนนั้น นายชัยมงคลโต้แย้งเอาไว้เช่นกันว่า “ที่ดินเกาะดอนสวรรค์เป็นสมบัติแผ่นดินของชาวสกลนครใช้ประโยชน์ร่วมกันมาช้านาน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีหลักฐานเป็นหนังสือสำคัญที่ หลวง (นสล.) ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำจะไม่สามารถออกโฉนดให้ใคร ครอบครองได้ กรณีที่ น.ส.ลีลาวดีอ้างว่าที่ดินเกาะดอนสวรรค์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นธรณีสงฆ์มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ตามที่ชาวสกลนครอ้าง แต่โฉนดที่ดินได้หายสาบสูญไปนั้น หากขึ้นทะเบียนเป็นที่ธรณีสงฆ์จริงจะต้องมีต้นขั้วเดิมอยู่กรมที่ดิน น.ส.ลีลาวดีต้องนำมายืนยัน ไม่ควรอ้างลอยๆ ตามข้อมูลเล่าอ้างทางประวัติศาสตร์ และหากจะใช้ข้อมูลเล่าอ้างทางประวัติศาสตร์ตามแบบที่ น.ส.ลีลาวดียืนยัน ก็ควรจะออกโฉนดที่ดินให้ครอบครัวรอบๆ บึงหนองหารที่ครอบคลุมในพื้นที่อำเภอเมืองสกลนครและหลายๆ อำเภอรอบบึงหนองหารก็มีประวัติศาสตร์การครอบครองที่ดินรอบๆ บึงหนองหารมายาวนานเช่นกัน ซึ่งจะต้องออกโฉนดให้กว่าหมื่นครอบครัว ไม่ควรทำ 2 มาตรฐานออกโฉนดเฉพาะที่ดินเกาะดอนสวรรค์เท่านั้น”
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความชาญฉลาดของวัดพระธรรมกายเพราะถ้าหากจับใจความสำคัญที่ออกมาจากพระสนิทวงศ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกาย และนางสาวลีลาวดี ซึ่งก็เป็นคนของธรรมกาย ก็จะเห็นชัดเจนว่า ขณะที่วัดพระธรรมกายได้ลอยตัวออกมาจากความขัดแย้งดังกล่าวด้วยการประกาศว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้ชี้โพรงให้กระรอกเห็นว่า ที่ดินผืนนี้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นสิทธิที่คณะสงฆ์จะทำอย่างไรก็ได้
แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งก็คือ ที่ดินของวัดคือที่ธรณีสงฆ์ มิใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น ถ้าคณะสงฆ์จะออกโฉนดให้ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม แล้วเมื่อเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว จะมีพระภิกษุสงฆ์จากธรรมกายเข้าไปจำพรรษาก็มิใช่เรื่องที่แปลกอันใด
ถึงตรงนี้ หลายฝ่ายต่างหวั่นวิตกว่า ประเด็นความขัดแย้งกรณีเกาะดอนสวรรค์ อาจจะลุกลามบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ หากฝ่ายการเมืองไม่ชิงสั่งถอนเรื่องการขอเอกสารสิทธิเกาะแห่งนี้ออกไปให้เร็วที่สุด เพราะการรุกคืบขยายอิทธิพลของลิทธิธรรมกายเข้าสู่ใจกลางเมืองสกลนครนั้น ไม่ต่างจากการท้าท้ายความรู้สึกของพี่น้องชาวพุทธทั้งประเทศ เป็นที่รับรู้กันทั่วว่า จังหวัดสกลนครเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมเกจิอาจารย์ของพระวัดป่าสายปฏิบัติ
และเป็นภารกิจที่ท้าทายยิ่งสำหรับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรว่าจะให้ประเด็นเกาะดอนสวรรค์จบอย่างไร....ต้องไปงัดข้อกันเองระหว่าง ดร.ประกอบ จีรกิตติ ประธานกมธ.ฯซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ กับ ลีลาวดี วัชโรบล ในฐานะเลขานุการกมธ.ฯคนของพรรคเพื่อไทยและเป็นศิษย์เอกแถวหน้าแห่งลัทธิธรรมกาย
ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะต้องยอมรับว่า ในยุคนี้สมัยนี้ ไม่มีใครหรือองค์กรใดมายุ่มย่ามกับทางวัดพระธรรมกายได้ เพราะองค์กรสูงสูดด้านบริหารของบ้านนี้เมืองนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรมล้วนแล้วแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัดพระธรรมกายเรียบร้อยแล้ว
ชิตังเม.....สาธุ......สาธุ.....