xs
xsm
sm
md
lg

วาทกรรมทางการเมืองกับความหมายเชิงสัญญะ

เผยแพร่:   โดย: โกศล อนุสิม

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของวาทกรรม โกหกสีขาว
ผู้นำทางการเมืองมักประดิษฐ์ถ้อยคำ (จะโดยตัวเองหรือคนอื่นคิดให้ก็ตาม) อันโดดเด่นเป็นที่จดจำจนกลายเป็นวาทกรรมประจำตัวกันคนละมากบ้างน้อยบ้าง วาทกรรมดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับผู้ฟังคือสาธรณชนหรือประชาชนให้รับรู้และเข้าใจความคิด ความเชื่อ การกระทำของผู้พูดในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด หรือเป็นไม่ก็เป็นแก่นความคิดของผู้พูด ที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานทางการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ฟังเชื่อถือ ยอมรับ และคล้อยตาม อันจะนำไปสู่การทำงานทางการเมืองได้ต่อไป

แม้วาทกรรมเหล่านั้นได้ผ่านการประดิษฐ์คิดค้นมาอย่างดีหรือเกิดขึ้นโดยปุบปับฉับพลันก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลตามเป้าหมายเสมอไป มีหลายกรณีที่วาทกรรมอันสวยหรูกลายเป็นหอกกลับเข้ามาทิ่มแทงผู้พูดอย่างไม่คาดคิด กลายเป็นแผลเป็นทางการเมืองติดตัวไปจนตายก็มี

ผู้นำทางการเมืองไทยหลายคนมีวาทกรรมประจำตัวเป็นที่จดจำได้และถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง ดังจะขอยกตัวอย่างมาให้พิจารณา ดังนี้

1.วาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” โดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้ยืนยันว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ได้ต้องการตำแหน่งใดในทางการเมือง แต่ต่อมาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ลพ.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รับการต่อต้านจากประชาชนจนลุกลามเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 จนในที่สุด พล.อ.สุจินดาคราประยูร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นการสิ้นสุดบทบาทในทางการเมืองนับแต่นั้นมา

2.วาทกรรม “ยังไม่ได้รับรายงาน” โดย นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี 2 สมัย ที่มักตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยประโยคดังกล่าวเมื่อไม่ต้องการให้คำตอบใดๆแก่ผู้สื่อข่าว การตอบคำถามของนายชวน หลีกภัย ด้วยประโยคดังกล่าว ทำให้สาธารณชนไม่ได้รับรู้รับทราบเรื่องสำคัญจากปากนายกรัฐมนตรีเท่าใดนัก การบริหารงานของนายชวน หลีกภัย ในสายตาสาธารณชนนั้นก็เป็นไปอย่างล่าช้าพอกับคำตอบในเรื่องต่างๆที่กว่าจะได้ยินจากปากของนายกรัฐมนตรีก็ต้องใช้เวลานาน ที่เป็นดังนี้อาจเนื่องมาจากนายชวนเป็นนักกฎหมาย มีความระมัดระวัง รอบคอบ จึงมีส่วนทำให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่ทันใจประชาชน จนได้รับฉายาว่าเป็น “ชวนเชื่องช้า” ด้วย และการตอบคำถามใดๆก็มีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทั้ง ฉายา “ชวนเชื่องช้า” และคำพูด “ยังไม่ได้รับรายงาน” จึงเป็นวาทกรรมประจำตัวไปในที่สุด

3.วาทกรรม “บกพร่องโดยสุจริต” โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่อธิบายการกระทำของตนในกรณีที่ถูกกล่าวหาและฟ้องร้องว่ากระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการโอนย้ายทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ถูกฟ้งร้องในศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทราบกันโดยทั่วว่าคดีซุกหุ้น ซึ่ง ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว่าในเรื่องนี้ตน “บกพร่องโดยสุจริต” ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิดด้วยคะแนนเสียงข้างมาก โดยได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 1 เสียง

4.วาทกรรม “โกหกสีขาว” โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกล่าวถึงการพูดโกหกเรื่องตัวเลขการส่งสินค้าออกที่อ้างว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และว่าการพูดเช่นนี้เป็นหลักสากลที่เรียกว่าการโกหกสีขาวหรือ white lie ปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนอย่างอื้ออึงในทางไม่เห็นด้วย เพราะการที่ผู้รับผิดชอบนโยบายระดับสูงในรัฐบาลพูดเช่นนี้เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อาจทำให้ภาคธุรกิจกำหนดทิศทาง นโยบายและการลงทุนตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีเพราะไม่ได้เป็นไปตามความเป็นจริง นักลงทุนย่อมไม่มีความเชื่อมั่นรัฐบาลเมื่อได้ทราบความจริงแล้ว

วาทกรรมที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ถ้าพิจารณาเพียงแค่ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ก็จะได้ความหมายธรรมดาตามตัวอักษร แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งกว่านั้นก็จะได้ความหมายอันกว้างขวาง มีนัยอันมากมายเกี่ยวพันกับถ้อยคำเหล่านั้น ดังที่นักภาษาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์แนวสัญวิทยา (Semiology) อธิบายว่า วาทกรรม (Discourse) มีทั้งความหมายธรรมดาและความหมายเชิงสัญญะ (sign) เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ที่มาและที่ไป” ของถ้อยคำหรือวาทกรรมนั้นๆ

การสร้างวาทกรรมทั้งหลายทั้งปวง ย่อมมิใช่เพื่อความสวยงามหรือโก้เก๋ แต่เพื่อเป้าหมายทางการเมืองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น ก่อนที่จะได้วาทกรรมแต่ละอย่างย่อมผ่านการเลือกสรร กลั่นกรอง ประดิษฐ์ประดอยให้เข้ากับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ แน่นอนว่าความสวยงามของถ้อยคำก็มีส่วนในการทำให้คนจดจำได้ง่าย ดังนั้น ความงดงามทางภาษาจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เมื่อผู้คนจดจำได้แล้ว ย่อมเกิดการรับรู้และทำความเข้าใจตามมา โอกาสบรรลุวัตถุประสงในการสื่อสารย่อมมีมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือวาทกรรมที่มุ่งสร้างความเป็นชาตินิยมและปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” “สละชีพเพื่อชาติ” “รักชาติยิ่งชีพ” เป็นต้น

ในกรณี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีความหมายเชิงสัญญะหรือที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เพราะผู้พูดคือผู้ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลจากนั้นก็สถาปนาอำนาจของกลุ่มตนเองขึ้นแทนที่ ในขณะที่กำลังจัดระบบอำนาจเพื่อให้เกิดความมั่นคงอยู่นั้นก็แสดงเจตนาดีว่าไม่ต้องการตำแหน่งใดๆเพียงแต่ต้องการเข้ามาเพื่อขจัดสิ่งเลวร้ายออกไปเท่านั้น เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็ขึ้นครองอำนาจนั้นโดยกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมต่างๆนานา จากนั้นก็สรุปรวบยอดเหตุผลด้วยวาทกรรมสวยหรูคือ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพื่อให้คนรับรู้และยอมรับว่า เพื่อเป้าหมายในการขจัดสิ่งไม่ดีออกไปให้หมดสิ้นนั้น แม้แต่ต้องเสียคำสัตย์ก็ต้องยอม เพื่อจะได้ทำงานขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกไปให้สิ้นซากและสร้างสิ่งดีๆขึ้นมาแทน ดังนั้น เมื่อพูดถึงวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ย่อมมีเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวพันอยู่ ไม่ใช่ในความธรรมดาๆตามรูปคำเท่านั้น

โดยนัยเดียวกัน วาทกรรม “ยังไม่ได้รับรายงาน” “บกพร่องโดยสุจริต” และล่าสุด “โกหกสีขาว” ย่อมไม่ได้มีความหมายธรรมดาตามรูปของถ้อยคำเท่านั้น หากแต่มีความหมายเชิงสัญญะอยู่ด้วย อันหมายถึง“ที่มา” และ “ที่ไป” ของวาทะกรรมนั้น ซึ่ง “ที่มา” ก็คือ วัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์คิดค้นถ้อยคำ “ที่ไป” ก็คือ เป้าหมายในการใช้วาทกรรมนั้น แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นสาธารณชนหรือผู้ฟังย่อมเป็นผู้ตัดสิน

ความสำเร็จและความล้มเหลวของวาทกรรมที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เป็นไปเช่นไร ก็ขอเชิญพิจารณากันโดยใช้สติปัญญาให้ถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร วาทกรรมของนายชวน หลีกภัย วาทกรรมของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และล่าสุด วาทกรรม โกหกสีขาว ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปัจจัยใดที่ทำให้สำเร็จ ปัจจัยได้ที่ทำให้ล้มเหลว ก็น่าจะรู้ได้ไม่ยากนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่เราๆท่านที่เป็นคนธรรมดาจะต้องพึงตระหนักก็คือ วาทกรรมของนักการเมืองนั้นย่อมมีเป้าหมายในการแสวงหาและรักษาอำนาจทางการเมือง ดังนั้น การอ่านหรือรับรู้วาทกรรมใดๆก็ตามของนักการเมือง เห็นที่จะพิจารณาความหมายเชิงสัญญะของวาทกรรมนั้นด้วย ก่อนที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะจะมากจะน้อยการกระทำของนักการเมืองย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราเอง หากวาทกรรมดูดีแต่แฝงไว้ด้วยการโกหกพกลม วาทกรรมนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ใคร นอกจากนักการเมืองคนนั้นเท่านั้นเอง

สำหรับนักการเมือง พึงตระหนักไว้ว่า การคิดค้นวาทกรรมที่ปราศจากความจริงอาจใช้สำเร็จเพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นวาทกรรมที่ใช้ได้ผลในครั้งแรกอาจกลายเป็นอาวุธที่ศัตรูใช้กลับมาทิ่มแทงตนเองได้ ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายที่นักการเมืองตายจากอาชีพอย่างอัปยศเพราะวาทกรรมของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น