xs
xsm
sm
md
lg

หลายเรื่องรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

กรณีที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงวิปฝ่ายค้านขอเข้าพบเพื่อหารือเรื่องการถอนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะถอนร่างและเคยไปพูดคุยกับผู้เสนอญัตติทั้ง ๔ ร่าง ให้ถอน มีแต่ว่าต้องมีการสานเสวนาก่อนเพื่อหาทางออกและค่อยไปหารือกับคนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในพรรค เรื่องการถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ใช่หน้าที่ของประธานฯ ตนพูดมาตลอดว่าส่วนตัวควรยื้อออกไปก่อน

ส่วนการเดินหน้าพ.ร.บ.ปรองดองฯ ต่อไป จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนทำตามหน้าที่ เมื่อมีผู้เสนอเรื่องเข้ามาก็บรรจุในวาระการประชุมเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจไปสั่งใครได้และอำนาจการถอนเป็นอำนาจของที่ประชุมต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกก่อนเพื่อให้เขาเห็นด้วย แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตย

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้อ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า ไม่มีอะไรชัดเจน ไม่ได้ฟันธงว่าต้องทำอย่างไรทำให้คู่ความทั้งพรรคเพื่อไทย รัฐสภา รัฐบาลทำงานลำบาก ก็งงเหมือนกันว่า หากไม่ทำตามศาลรัฐธรรมนูญแนะนำได้หรือไม่ ดังนั้น หากยังงงอยู่ก็ให้ถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย ว่ายังห้ามอยู่หรือไม่ในการโหวตวาระ ๓ โดยรัฐสภาน่าจะเป็นองค์กรที่ดำเนินการ ขนาดไม่ได้ถามไป ศาลรัฐธรรมนูญยังแนะนำมาได้เลย เมื่อท่านเอื้อมมือมาเป็นผู้ตัดสินแล้ว ต้องตัดสินให้ปฏิบัติได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งระบุว่าหากคู่ความยังไม่เข้าใจในคำวินิจฉัยให้ถามศาลได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างว่าใช้ ป.วิแพ่งฯ รับไว้พิจารณาชั่วคราว ดังนั้นคู่ความน่าจะใช้ ป.วิแพ่ง สอบถามกลับไป ถามจนกว่าจะกระจ่างไหนๆก็ช้าแล้ว เพราะสติปัญญาประชาชนอาจไม่เท่าศาลรัฐธรรมนูญได้

สำหรับในส่วนท่าทีฝ่ายค้านนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองเพื่อให้ไม่เกิดความหวาดระแวงและความขัดแย้งก็ควรถอน ๒ เรื่อง ออกไป เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมาสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองซึ่งในขณะนี้มีปัญหามากอยู่แล้วทั้งเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ทั้ง ๔ ฉบับ ที่ค้างอยู่ในวาระแรกก็ควรถอนออกไปรวมทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย หลังจากนั้นควรมาตั้งหลักกันใหม่ว่าความปรองดองที่แท้จริง และการแก้รัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน

“นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พูดเองว่า ที่ไม่ยอมถอนทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ปรองดองฯ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้ถอน ทั้งหมดที่เป็นปัญหาความขัดแย้งเพราะสองเรื่องนี้เป็นการทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมืองในเรื่องระบบกฎหมาย ทั้งหมดจึงอยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทย รัฐบาลจะก้าวพ้น พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือยัง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวตอบโต้นายอภิสิทธิ์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ตนพูดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งไม่ให้ถอนร่างรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่อยู่ในสภาว่านายอภิสิทธิ์กำลังพูดเท็จ เพราะตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ในทางตรงข้ามตนพูดว่าการจะถอนร่างรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือไม่เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและส.ส.ที่เสนอกฎหมายดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และท่านไม่เคยมาบงการหรือสั่งการให้ดำเนินการไม่ให้ถอนร่างกฎหมาย ๒ ฉบับดังกล่าว การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์จึงเป็นการพูดเท็จ ชกใต้เข็มขัดและไม่น่าเชื่อว่าคนเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีจะกล้าพูดเท็จต่อหน้ากล้องทีวีเพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง

อนึ่ง นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งจำหน่ายคำร้องของนายเรืองไกร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ จากการกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รับการสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมี ส.ส.จำนวน ๔๖ คน ยังไม่มีการสังกัดพรรคการเมือง จึงถือว่าขณะนี้ไม่มีคำร้องที่ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ค้างในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตามในการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑ ส.ค.ที่ประชุมคณะตุลาการจะได้มีการพิจารณาว่า จะรับคำร้องกรณีนายเรืองไกรร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จากเหตุที่กล่าวหาว่านายวิรัตน์ กัลป์ยาศิริ และนายอภิสิทธิ์ ร้องเท็จว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เป็นการล้มล้างการปกครองไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น