xs
xsm
sm
md
lg

ลมปากนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

สถานการณ์การเมืองยังคงย่ำอยู่กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อแก้ปัญหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ว่าทุกอย่างอยู่ที่รัฐสภา มติที่ค้างอยู่ในวาระ ๓ จะทำอย่างไรก็ต้องโหวตจาก ส.ส.อยู่แล้ว รัฐบาลต้องรอฟังกลไกทั้งหมด รอสรุปในสภาและต้องรอฟังคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อให้นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องตีความให้ชัดเจน จากนั้นจะตัดสินใจและประกาศจุดยืนได้

ทางด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายเสนาะ เทียนทอง ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยู่กับการเมืองมานาน วิเคราะห์สถานการณ์รอบคอบ จึงเห็นควรแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งแก้ไขได้ง่าย อะไรที่ยากและเกิดความขัดแย้งก็อย่าไปทำ ส่วนตัวมีแนวทางอยู่ ๕ ประเด็น คือ ๑.ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส.ว.สรรหาเมื่อมั่นใจว่าดี ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ชาวบ้านเลือกก็จบ ถ้าเป็นแบบเดิมบ้านเมืองไม่สงบ ๒.ยกเลิกผู้ตรวจราชการแผ่นดิน มีไว้ทำไม มีประโยชน์อะไร เปลืองเงินเดือน ใครยื่นอะไรก็รับคำร้อง ช่างให้สัมภาษณ์ ๓.ควรควบรวมศาลไปเป็นแผนกในศาลฎีกาใครจะมาว่าไม่ได้ เพราะเวลามีคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ คดีปกครอง ศาลฎีกาจะเลือกผู้พิพากษา ๙ คนมาทำหน้าที่เป็นองค์คณะ ๔.กกต.ควรมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ควรมีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงและ ๕.ปปช.กับกกต.ต้องมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา เป็นการคัดเลือกโดยตัวแทนของประชาชนมีอายุตำแหน่ง ๔ ปี

ร.ต.อ.เฉลิม ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า จะไม่ยืดเยื้อหากทำตามวิธีของตน แต่ถ้ามาส.ส.ร.จะยืดเยื้อและเชื่อว่าจะไม่มีเกมของฝ่ายค้านในสภา

สำหรับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ และแกนนำนปช.กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องดูคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นรูปแบบและวิธีการแก้ไขคงชัดเจนมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการโดยรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ทำขึ้นมาโดยการรัฐประหารเต็มไปด้วยกับดักอุปสรรคและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หลังคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้ว คนเสื้อแดงต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเอกภาพ สถานการณ์ขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามใช้ทุกเครื่องมือ รวมทั้งรัฐธรรมนูญโค่นล้มรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นอันตรายของระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขต้องไม่ตกไปในกับดักของคนกลุ่มนี้อีกรอบ ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการบังคับใช้ตามอำเภอใจ

อนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทยได้มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ภายหลังการประชุม นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย กล่าวว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ยังคงยืนยันต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้และเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ตอนเข้ารับตำแหน่ง แต่วิธีการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังสรุปไม่ได้ว่าจะเดินหน้าโหวตวาระ ๓ การทำประชามติ หรือการแก้ไขรายมาตรา แต่การเดินหน้าโหวตวาระ ๓ คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ถ้าทำไปจะมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาจะวนมาจุดเดิมอีก ขณะที่แนวทางการทำประชามติก็มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๕ วรรค ๔ ระบุถึงข้อห้ามการทำประชามติว่า ห้ามทำในเรื่องที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือในเรื่องตัวบุคคล คณะบุคคล หากเราไปทำประชามติ จะมีผู้ร้องว่าขัดต่อมาตรา ๑๖๕ วรรค ๔ ได้ ที่ประชุมจึงให้ไปพิจารณาว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการแก้ไขเป็นรายมาตรายังไม่ใช่ทางออก ขณะนี้ต้องทำตามหลักการที่หาเสียงไว้คือ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมีส.ส.ร.

นายสามารถ แก้วมีชัย ยังกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องที่กลุ่มพันธมิตรได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองออกจากวาระการประชุมสภาฯ ไม่เช่นนั้น จะจัดชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่ามีแนวโน้มว่าจะไม่มีการถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองออก แต่จะเลื่อนเอากฎหมายสำคัญมาพิจารณาก่อน ระหว่างนั้นจะจัดเวทีสานเสวนาหาทางออกเรื่องพ.ร.บ.ปรองดอง วิปรัฐบาลจะประชุมกันเรื่องปัญหาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง โดยรัฐบาลจะเชิญฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมารับฟังวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพื่อให้สบายใจว่ารัฐบาลไม่คิดจะเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น