xs
xsm
sm
md
lg

อองซาน ซู จี หญิงเหล็กนักสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อไม่นานนี้มีภาพยนตร์ เรื่องหนึ่งเข้าฉายที่บ้านเราแบบเงียบๆ และออกจากโรงภาพยนตร์ไปแบบเงียบๆเช่นกัน นั้นคือ ภาพยนตร์เรื่องเดอะเลดี้ (The Lady) ผู้หญิงท้าอำนาจ นำแสดงโดย มิเชลล์ โหย่ว และกำกับการแสดงโดย ลุค เบซอง

น่าเสียดายที่คนไทยน้อยคนจะได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะเข้าที่โรงหนังในเซ็นทรัลเวิลด์เพียงโรงเดียว ผมว่าคนรุ่นผม เติบโตมาในช่วงที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนบ้านอย่างพม่า

เมื่อราวสามปีก่อน ผมได้ไปพม่าในช่วงสั้นๆ ผมว่าประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และศาสนาพุทธในพม่าน่าสนใจมาก การเมืองในพม่าก็เข้มข้นน่าติดตาม

ภาพยนตร์กึ่งชีวประวัติของ ออง ซาน ซูจี เรื่องนี้ ฉายภาพผู้หญิง นักสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องใช้ชีวิตต่อสู้กับระบบการเมืองเผด็จการทหารพม่าอย่างกล้าหาญทรหดอดทนมายาวนาน ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เสียสละเด็ดเดี่ยวมั่นคง เธอเป็นหญิงเหล็กจริงๆครับ

หนังเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของอองซาน ซูจี ตั้งแต่เด็กหญิงตัวน้อยวัยเพียงสองขวบ ต้องสูญเสียพ่อ เธอเป็นลูกคนเล็กและลูกสาวคนเดียวจากลูกสามคนของนายพลอองซานผู้นำพม่า

อองซาน ซูจีสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่งงานกับดร.ไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษ พำนักอยู่กับสามีและลูกชายสองคนในลอนดอน เมื่อทราบข่าวแม่ป่วย เธอจึงเดินทางกลับพม่าอย่างเร่งด่วนเพื่อดูแลแม่ที่โรงพยาบาล

การกลับไป พม่าครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเธอเลยทีเดียว เมื่อบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการและนักต่อสู้ ต่างก็เข้าพบเธอ ขอให้เธอเข้าสู่สนามการเมือง เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของนายพล อองซาน

อีกส่วนหนึ่งที่ภาพยนตร์พูดถึงมากคือ ดร.ไมเคิล อริส สามีของ ออง ซาน ซูจี ผู้ชายผู้อยู่เบื้องหลังดอกไม้เหล็กแห่งพม่า เขาเป็นนักวิชาการ เป็นพ่อผู้ต้องดูแลเลี้ยงลูกโดยลำพัง ทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุน ปกป้องภรรยา ยอมเสี่ยงชีวิต และยืนเคียงข้าง ให้กำลังใจภรรยา แม้เขาเองจะกำลังเจ็บป่วย และเสียชีวิตโดยภรรยาอยู่ห่างไกล

ภาพยนตร์เน้นบทบาทของ ดร.อริส ที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องออง ซาน ซูจี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอเรื่องของซูจีไปยังคณะกรรมการโนเบล เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารพม่าทำอะไรกับอองซาน ซูจี

ในที่สุดออง ซาน ซูจีได้รางวันโนเบล สาขาสันติภาพ นอกจากรางวัลนี้จะเป็นเกราะให้เธอ รางวัลนี้ยังทำให้เธอมีกำลังใจอย่างมากในการที่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป

อเล็กซานเดอร์ และคิม ลูกชายทั้งสองของอองซานซูจี บินไปรับรางวัล แทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ สองพี่น้องเดิน ถือภาพถ่ายของมารดา ขึ้นเวทีท่าม กลางเสียงปรบมือต้อนรับอย่างกึกก้อง อเล็กซานเดอร์กล่าว กับคณะกรรมการและผู้มาร่วมในพิธีว่า “ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้อง ให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ”

ภาพยนตร์ทำให้เราได้เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อส่วนรวมของออง ซาน ซูจี ระหว่างความรักครอบครัว และความรักประเทศชาติ อย่างฉากที่เธอส่งสามีและลูกขึ้นรถไปสนามบิน ด้วยน้ำตาคลอ แต่เมื่อเธอหันหลังกลับไปที่ประตูบ้านที่เต็มไปด้วยประชาชนนักสู้ที่ยืนรออยู่ เธอต้องกลืนน้ำตาลงในอก เธอเลือกประเทศชาติครับ

ภาพยนตร์ชีวประวัติ เรื่องนี้ นับว่าเป็นหนังที่สะท้อนชีวิตและบุคลิกของอองซาน ซูจี ได้อย่างงดงาม เธอคือผู้สืบสานอุดมการณ์ทางการเมืองของบิดาอย่างเข้มแข็ง

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนที่ดิฉันเดินทางกลับมาพม่าเมื่อ พ.ศ.2531 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ดิฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่ม ทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อด้วย เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของดิฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้อง ประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ (นายพลอองซาน) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉัน ต้องเข้าร่วมด้วย”

ออง ซาน ซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2531 โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 สิงหาคม เธอขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน ที่มาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง ซูจีเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย

แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน และปราบปรามสังหาร จับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้น (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมืองของนางออง ซาน ซูจี จึงได้เริ่มต้น นับแต่นั้น

รัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจเผด็จการภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็น ครั้งแรก เวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 ปีโดยไม่มีข้อหา และถูกกักบริเวณต่อมาอีกหลายช่วง ในที่สุด เธอถูกปล่อยตัวจากการกักบริเวณ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลังพรรค NLD ตัดสินใจที่จะสิ้นสุดการบอยคอตระบบการเมืองของรัฐบาลทหาร พรรค NLD ส่งอองซาน ซูจี และผู้สมัครเข้าชิงเก้าอี้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้(1 เมษายน 2555) 44 ที่นั่ง จากทั้งหมด 45

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพีรายงานว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เปิดเผยว่า นางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งในเขตกองมู NLD ระบุว่าพรรคชนะที่นั่งทั้ง 44 ที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะมีการประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการภายใน 1 สัปดาห์ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ออง ซาน ซูจี ผู้หญิงที่ท้าทายอำนาจกระบอกปืนเผด็จการทหาร ผู้หญิงคนนี้กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองพม่า และการเปลี่ยนแปลงหนนี้ประชาคมโลกก็กำลังเฝ้าจับตามองดูอย่างใกล้ชิด น่าสนใจชวนติดตามจริงๆครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น