xs
xsm
sm
md
lg

‘หญิงอกสามศอก’ หญิงไทยกับอาชีพที่กล้าและแกร่ง !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งความเท่าเทียมกัน สำหรับเพศหญิงที่มีหน้าที่การงานทัดเทียมกับผู้ชาย และเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงานทุกในเกือบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ตำรวจ ฯลฯ แต่เรื่องที่สร้างความแปลกใจให้ไม่น้อย คงเป็นเรื่องของผู้หญิงยุคใหม่ที่ทั้งกล้าและแกร่ง ทั้งบู๊และบุ๋น อย่างเช่นประเด็นข่าวตำรวจจราจรหญิงหัวปิงปองสีชมพูหวานแหวว ที่เกิดขึ้นเพื่อกลบภาพลักษณ์นอกรีตนอกรอยของตำรวจไทย หรือว่าประเด็นของกองร้อยน้ำหวาน บอดี้การ์ดหน้าสวยของนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย

หญิงไทยในยุคก่อน
ความเชื่อฝังหัวโบราณของคนสมัยก่อนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงนั้น มักเชื่อกันว่าเพศหญิงนั้นเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่สมควรทำงานนอกบ้าน ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ดูแลงานบ้านปรนนิบัติรับใช้สามี และไม่จำเป็นต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาแต่อย่างใด
ประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งแรกของประเทศไทยนั้น ต้องย้อนไปไกลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในกรณีเรียกร้องสิทธิไม่ให้สามีสามารถขายภรรยาของตนเองได้ ไปจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2517 ที่รัฐธรรมนูญได้ระบุข้อความมาตร 28 ไว้อย่างชัดเจนว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
และประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งอนุสัญญานี้จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ แต่ถึงแม้ภาครัฐจะได้ให้สิทธิความเสมอภาคต่อผู้หญิงแล้ว แต่ในทางปฏิบัติผู้ชายก็ยังมองว่าผู้หญิงยังเป็นเพศที่อ่อนแอวันยังค่ำ อย่างความคิดของ สุทรรศ คูศรีเทพประทาน อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ
“คือมันก็ดีนะ ที่ผู้หญิงลุกออกมาทำอะไรบ้าง แต่บางอย่างคิดว่า มันไม่เหมาะ ผู้หญิงไม่น่าจะทำได้ อย่างอาชีพทหาร ถ้าเกิดมีการปะทะกันขึ้นมาจริงๆ ทหารชายต้องสู้กับทหารหญิง ปะทะกันขึ้นมาจะมองว่า ผู้ชายเป็นหน้าตัวเมียไหม?”
เมื่อโอกาสทางการศึกษาของชายหญิงนั้นเท่าเทียมกัน จึงทำให้ผู้หญิงมีความคิด ความอ่าน และสามารถบริหารงานได้เท่าเทียมกับผู้ชาย และต้องการที่จะเลือกประกอบอาชีพได้อย่างเสรี เช่น หญิงเก่งอย่าง อรพินท์ ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของไทย หรือ คุณหญิงอัมพร มีศุข อธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นอธิบดีหญิงคนแรกของไทย และในตอนนี้เราก็มี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า สิทธิการเท่าเทียมกันของผู้หญิงนั้นน่าจะเกิดจะเสมอภาคได้อย่างแท้จริง

เหล่าอาชีพ ‘ดอกไม้เหล็ก’
ในเมื่อสังคมยุคปัจจุบัน ที่เปิดกว้างกับการให้โอกาสผู้หญิงได้รับการศึกษาและสามารถทำงานได้ทัดเทียมกับผู้ชายแล้ว อย่างอาชีพทั่วๆไป ที่เมื่อย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาจจะยังไม่มีปรากฏที่ว่ามีผู้หญิงเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้มาว่าจะมองไปทางไหน ก็เห็นว่าอาชีพที่เคยจำกัดไว้ให้แต่ผู้ชายอย่างเดียวนั้น ผู้หญิงก็สามารถทำได้ทัดเทียมกัน ตั้งแต่งานนั่งโต๊ะ ไปจนถึงงานลงภาคสนาม ผู้หญิงก็สามารถทำได้ดีไม่แพ้กัน
แต่ใครจะเคยไปคิดว่าผู้หญิง จะได้ก้าวเข้ามาทำงานในสายงานอย่าง 3 อาชีพนี้ที่มีความเสี่ยงอันตราย มีความยากลำบาก และเป็นงานที่ไม่น่าไปกันได้กับผู้หญิง
ทหารพรานหญิง
ทหารพรานหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าดอกไม้เหล็กที่ต้องประจำการปลายด้ามขวานที่ร้อนระอุ ที่เสี่ยงภัย อยู่ทุกวินาที แรกเริ่มเดิมที เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งกองร้อยทหารพราน 30 กองร้อยเพื่อดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนำมาช่วยรับมือกับม็อบจัดตั้ง (การนำผู้หญิงและเด็กในชุดดำมาปิดล้อมสถานที่ราชการเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ทำตามข้อเรียกร้อง) ซึ่งการส่งทหารพรานหญิงเข้าไปทำงานนี้แทนทหารชายจะช่วยให้ลดความตึงเครียดทางแง่สังคมและศาสนา อีกทั้งทหารพรานหญิงเหล่านี้ยังได้รับการฝึกฝนสำหรับสถานการณ์ลักษณะนี้โดยเฉพาะ
ตำรวจหญิงปราบจลาจล (กองร้อยน้ำหวาน)
อาจจะคุ้นเคยกันดีเพราะตอนนี้บรรดาสาวบู๊อย่างกองร้อยน้ำหวาน หรือกองร้อยปราบจลาจลหญิง กองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 เคยได้รับภารกิจเป็นบอดี้การ์ดให้กับนายกฯ หญิงของเมืองไทย และช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณถนนเยาวราชเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา และกว่าที่เหล่านักสู้หน้าสวยเหล่านี้จะได้เข้าร่วมปฏิบัติงานนั้น พวกเธอต้องผ่านการฝึกหลักสูตรปราบจลาจลที่หนักหนาถึง 3 เดือน ซึ่งเข้มงวดและสุดโหดไม่ต่างกับการฝึกของผู้ชายเลย โดยภารกิจของพวกเธอนั้นก็มีตั้งแต่ดูแลความเรียบร้อยของผู้มาชุมนุม ไปจนถึงการอารักขาบุคคลสำคัญต่างๆ โดยรุ่นแรกของกองร้อยน้ำหวานนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2554 ที่ผ่านมานี้เอง
ตำรวจจราจรหญิง
ไอเดียของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่บอกว่า การนำจราจรหญิงมาใช้ในการปฏิบัติงานนั้น ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นต่อตำรวจจราจร โดยเหตุผลหลักที่ต้องการใช้ตำรวจจราจรปฏิบัติงานนั้นคือ ต้องการเพิ่มกำลังพล และต้องการให้ภาพลักษณ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมายในการกวดขันวินัยจราจร การออกใบสั่ง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมักเป็นข้อพิพาทระหว่างตำรวจจราจร และผู้ขับขี่ นุ่มนวลลง อ่อนหวานขึ้น โดยเบื้องต้นจะทดลองเป็นเวลา 2 เดือน ถ้าได้ผลดีจะขยายผลต่อให้ทุกกองบังคับการตำรวจนครบาล ต้องมีตำรวจหญิงออกปฏิบัติหน้าที่ด้านการจราจร

เปิดประตู ‘ความเท่าเทียม’ ผู้หญิงก็ทำได้ (ดี)
มาถึงในยุคนี้ก็ต้องยอมรับแล้วว่า ผู้หญิงนั้นสามารถทำและสามารถเป็นได้อย่างที่ผู้ชายอกสามศอกทั่วไปถึงแม้จะเกิดมาในรูปลักษณ์ที่บอบบาง อ่อนแอ แต่จิตใจที่แข็งแกร่ง บวกกับความอุตสาหะ และความเพียรพยายาม ก็สามารถทำให้ฟันฝ่าอุปสรรคที่ยากเข็ญไปถึงเป้าหมายได้
อย่างความคิดเห็นของ ดร.กรวิภา วิลลาส อาจารย์พิเศษ โครงการสตรีและเยาวชนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการประจำ กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่เชื่อว่าผู้หญิงไทยในยุคปัจจุบันนั้นสามารถทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพไม่แพ้กับผู้ชายเลย หากสังคมยอมรับและเปิดกว้างให้ผู้หญิงนั้นได้เลือกและได้ทำในสิ่งที่เธอต้องการ
“ความเหมาะสมในการทำงานของผู้หญิงในปัจจุบันนี้ อย่างแรกแลยอย่าไปกีดกัน คือทุกตำแหน่งต้องเปิดหมด ผู้หญิงมันจะทำไม่ทำเรื่องของเขา ผู้ชายไม่ต้องมาตัดสินใจแทน ต้องเปิดหมด เพราะคิดว่าผู้หญิงก็มีประสิทธิภาพ และจากที่ต้องทำงานในห้องประชุมบ่อยๆ จะรู้เลยถ้าผู้หญิงดำเนินการประชุมมันมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าผู้ชายดำเนินการประชุม ผู้ชายจะคิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าตัวเองตัดสินถูกต้องแล้ว”
นอกจากนั้น กรวิภา ยังแสดงทัศนะถึงการทำงานของดอกไม้เหล็กในปัจจุบัน อย่างตำรวจจราจรหญิง ที่มองถึงการนำลงมาปฏิบัติงานในครั้งนี้ เป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรมากกว่าการให้สิทธิความเท่าเทียมเสมอภาคของชายหญิงอย่างแท้จริง
“ด้วยภาพพจน์ของผู้หญิงจะดูซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่คอรัปชัน มันเป็นคุณสมบัติเด่นๆ ที่สามารถดึงออกมาใช้ในการปรับหรือลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตำรวจที่มีข่าวว่ารับส่วย ใต้โต๊ะ ติดสินบน แต่ตรงไม่อยากให้ตำรวจหวังแค่ประโยชน์ของจุดนี้ผู้หญิง เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่ผู้หญิงต้องการคือเรื่องของโอกาสในการทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง มีความเข้าใจอย่างนั้นนะ คิดว่ายังไม่ใช่เรื่องของการบริหารจัดการที่ให้โอกาสเสมอภาคระหว่างหญิงชาย มันยังไม่ได้อยู่ในบริบทของโอกาสที่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องของการสร้างภาพพจน์มากกว่า”
ส่วนอนาคตนั้น กนวิภาก็คาดว่า อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น หากได้รับความชอบธรรม สมกับความสามารถที่ผู้หญิงหนึ่งคนจะทำได้
“หากแต่ละองค์กรมีนโยบายในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาทำงาน แล้วถ้าผู้หญิงเหล่านี้ทำหน้าที่ได้ดี ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างเป็นธรรม ผู้หญิงคนอื่นที่เห็นก็อยากจะเข้ามาทำตรงนี้มากขึ้น ส่วนผู้ชายถ้าทำไม่ได้ก็ต้องถูกเบียดออกไป มันก็เป็นเรื่องของตลาดแรงงานเหมือนกัน”
...........

ผู้หญิงไทยวันนี้กับอาชีพที่ต้องกล้าและแกร่ง ในวันที่ดอกไม้เหล็กบานเบ่งในสาขาอาชีพที่เคยถูกมองว่า สงวนไว้ให้เฉพาะชายอกสามศอก กลับถูกเปิดกว้างในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่จะเป้นภาพลวงตาหรือเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร วันเวลาของอนาคตเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ในความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านอาชีพเหล่านี้

>>>>>>>>>>>>>
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น