xs
xsm
sm
md
lg

‘ดอกไม้เหล็ก’ สังคมไทยเปิดรับผู้หญิงในบทบาทนักบริหารมากสุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณรู้หรือไม่ว่า!?

....
ประเทศไทยมีผู้บริหารหญิงฝีมือระดับพระกาฬมากที่สุดโลก!!!


หากย้อนมองอดีตของประเทศไทยจะเห็นว่าบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ระดับชาตินั้นจะเป็นเพศชายเสียส่วนใหญ่ แต่เวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป ค่านิยมที่ลิดรอนสิทธิสตรีที่เคยเป็นมาในอดีตก็ค่อยๆ เจือจางลง

ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิงก็ปรากฏอย่างเด่นชัดทั้งในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายปกครองอื่นๆ และปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากขึ้นทั้งทางภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

กระทั่งมีผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน ปี 2554 ได้ทำการสำรวจทัศนคติของธุรกิจเอกชนทั่วโลกเปิดเผยว่า 'ประเทศไทยมีผู้หญิงผู้ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารมากที่สุดในโลกถึง 45 เปอร์เซ็นต์'

ส่วนประเทศที่มีอัตราต่ำสุดได้แก่ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

เป็นชนวนให้ฉุกคิดถึงบทบาททางสังคมที่เพิ่มขึ้นของสตรีเพศ ที่ลบล้างแนวคิดสมัยก่อนเรื่องการจำกัดพื้นที่ทางสังคมไว้สำหรับท่านชายทั้งหลาย

(อ) คติ-ผู้หญิง-ธุรกิจ

วัฒนธรรมทางการศึกษาที่สูงขึ้น ถือเป็นโอกาสขั้นต้นให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในองค์กรธุรกิจ รศ.ดร.อุปถัมภ์ สายแสงจันทร์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงคุณลักษณะของการที่บุคคลจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารหญิงไทยได้เป็นอย่างดี

“ความเป็นบอส (Boss-เจ้านาย) นั้นสำคัญมาก เพราะถ้าขาดคุณสมบัตินี้คุณจะไม่สามารถเป็นผู้บริหารได้เลย อันดับแรกคุณต้องมีความเป็นผู้นำ ต้องสามารถมองการณ์ไกลได้ชัด และมีวิธีการที่จะมุ่งไปสู่จุดๆ นั้น มุมมองดี ความมุ่งมั่นดี มองความสำเร็จ ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการบริหารความเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจ และความสามารถนำทีม เพราะทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริหารก้าวต่อไปได้”

ด้านทัศนคติของสังคมที่เปิดกว้างต่อผู้หญิง และเปิดโอกาสให้ทุกเพศได้แสดงออกถึงอิสระแห่งความคิด ผนวกกับอุปนิสัยจำเพาะของสตรีเพศจึงทำให้พวกเธอเข้ามาเป็นดอกไม้เหล็กขององค์กรต่างๆ

“เรื่องการตัดสินใจของผู้หญิงนั้นดีกว่า ผู้หญิงละเอียดอ่อนทำให้เขาสามารถศึกษาเฉพาะด้านได้ดีกว่า ความรู้เฉพาะด้านพวกเขาจะลึกซึ้ง ส่งผลไปถึงการวิเคราะห์การตัดสินใจที่รอบคอบ ผู้หญิงเป็นคนที่ตัดสินใจเนียนกว่าผู้ชายมาก เพราะธรรมชาติที่ผู้หญิงสร้างมานั้นมีความอดทนสูง”

ผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน จึงถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้หญิงมีโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนมากขึ้นโดยเฉพาะในองค์กรเอกชน ดร. สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวถึงกลไกที่ทำให้ผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งด้านการบริหาร

“สำหรับบริษัทเอกชนนั้น เน้นกันที่คุณภาพ คุณสมบัติของผู้บริหารเป็นหลักโดยไม่สนใจในเรื่องเพศ หรืออายุ อีกอย่างหนึ่งก็จะเป็นทางด้านทายาทธุรกิจเอง ซึ่งหมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแล้วก็ส่งไปเรียนแล้วกลับมาดูแลธุรกิจส่วนตัว เขาก็ให้ความเสมอภาคทั้งลูกผู้หญิงผู้ชายอยู่แล้ว”

โซนของตำแหน่งที่ผู้หญิงได้เข้าไปยึดครองในระดับสูงนั้น จะเป็นทางด้านของการเงิน การบัญชี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งตำแหน่งด้านเหล่านี้เปรียบดั่งแม่บ้านที่ดีขององค์กร คือคุมเงิน คุมคน ฯลฯ

“ซึ่งอันนี้มันสะท้อนคอนเทนต์ของผู้หญิงว่าจริงๆ แล้วมีความสามารถทางด้านนี้ มันเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงว่า ผู้หญิงก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงในบริษัทเอกชนได้เพราะตัวของเขาเอง เพราะเขาต้องทำงานส่วนนั้นได้ดีถึงถูกผลักดัน เพราะทรัพยากรมนุษย์ที่ดีถึงนั่งอยู่ตรงนั้นได้ คือตำแหน่งงานมันสะท้อนคุณภาพ”

ดอกไม้เหล็กในองค์กรใหญ่

เมื่อมีความสามารถ ประสบการณ์ และผลงาน ก็เป็นที่น่าจับตามองขององค์กรใหญ่ที่อยากเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมบริหารงาน ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้หญิงเก่งที่ถูกเชิญเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารของเคเบิ้ลทีวีรายใหญ่ เพราะความเหมาะสมกับงานที่ต้องเข้าไปรับผิดชอบ บวกกับประสบการณ์และผลงานที่เคยทำมา

“ดิฉันอาจจะไม่เหมือนกับกรณีอื่น เพราะพอเข้ามาก็ขึ้นเป็นผู้บริหารเลย จริงๆ โดยส่วนตัวคิดว่า เขาคงดูคุณสมบัติหลายๆ อย่างของเราว่า เหมาะสมกับหน้าที่หรือเปล่า และเขาอาจจะเห็นผลงานของเราด้วย เพราะเป็นจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แค่คุณวุฒิหรือวัยวุฒิอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูผลงาน ประสบการณ์ การตัดสินใจของเราด้วย"

ผู้หญิงในปัจจุบันก้าวเข้ามามีตำแหน่งในงานบริหารมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะยุคนี้ผู้หญิงเก่งๆ ที่มีความสามารถและเข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารได้มากมาย

"สมัยก่อนผู้หญิงถูกมองว่าต้องทำหน้าที่แม่บ้าน เพราะฉะนั้นอาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้ชายมีความเข้าใจมากขึ้น และเข้ามาแบ่งภาระความเป็นผู้หญิงไปได้บ้าง ช่วยกันดูลูก ดูแลบ้านบ้าง ดังนั้นภาระของผู้หญิงจึงน้อยลง แต่มันจะเป็นปัจจัยหรือไม่นั้น มันคงขึ้นกับประเภทของธุรกิจเหมือนกันว่า ธุรกิจนี้จะเหมาะกับผู้หญิงหรือผู้ชายเหมือนกัน”

ซึ่งคุณลักษณะของผู้หญิงนั้นเองเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันพวกเธอสู่องค์กรชั้นนำ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะแสดงศักยภาพสักเพียงไร ดร.กันทิมา กล่าวทิ้งท้าย

"เพราะเราต้องยอมรับว่า ผู้หญิงมีความละเอียด ความอดทน และวาทศิลป์ที่นุ่มนวลมากกว่าผู้ชาย ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้บริหารในการเจรจาต่อรองต่างๆ คือถ้าเป็นงานที่ขึ้นกับหลักการทำงานด้านธุรกิจ ผู้หญิงทำได้หมด แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีความสามารถ ความกระตือรือร้น และความสังสรรค์เป็นสิ่งสำคัญ"

ทายาทธุรกิจภาคปฏิบัติ

จากค่านิยมที่ต้องการลูกชายมาสืบทอดวงศ์ตระกูล สืบทอดธุรกิจ ก็เกิดการยอมรับภายในครอบครัวมากขึ้นว่าผู้หญิงนั้นก็สามารถสืบทอดธุรกิจได้เช่นกัน อย่าง ชลลธร ศรีรัตนประภาส ทายาทสาวบริษัท เบนซ์ รามคำแหง กรุ๊ป จำกัด หรือ BRG ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์หรูชั้นนำ ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารธุรกิจครอบครัวของตน

เหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจสำหรับทายาทสาวท่านนี้มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของครอบครัว ที่ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างลูกชายและลูกสาว

“ลูกส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาแต่ละบ้านผู้ชายเริ่มน้อยลง ส่วนหนึ่งก็คือวัฒนธรรมด้วยเพราะว่าผู้ชายเก่งก็เยอะมากอีกส่วนหนึ่งคือการเลี้ยงดูผู้ชายสมัยก่อนจะได้อะไรที่มากกว่าผู้หญิงเสมอ แต่ปัจจุบันแทบจะเท่าเทียมกัน”

ชลลธร กล่าวถึงการเข้ามาเป็นผู้บริหารว่าเป็นเพราะที่บ้านมีธุรกิจอยู่แล้ว และตั้งใจว่าเรียนจบมาก็ต้องมาทำงานกับครอบครัว

“รู้อยู่แล้วว่าเราต้องกลับมาดูแลธุรกิจทางบ้าน และก็ไม่ได้มีความชอบอะไรที่โดดเด่นขึ้นมาในใจว่าจะต้องทำอย่างอื่น แต่เราตัวรู้ว่าอยากเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหาร

“ซึ่งถ้าจะให้ไปสร้างอาณาจักรใหม่เราก็มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายทำไมต้องทำแบบนั้น สู้รักษาและต่อยอดของเดิมดีกว่า ถ้าสมมุติไปทำใหม่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าครึ่งชีวิต ทำไมไม่เอาความรู้ที่เราเรียนมาปรับสร้างให้แข็งแรง เติบโตไวขึ้น”

จะเห็นว่าการสืบสายทายาททางธุรกิจของผู้หญิงนั้นไม่ได้เป็นเพียงหุ่นเชิดของครอบครัวอีกต่อไป หากพิจารณาจากประวัติการศึกษา และบริบทของทายาทเอง
……….

'ผู้หญิง' ในบทบาท 'ผู้บริหาร' ได้ขยายภาพความเท่าเทียมด้านศักยภาพที่ไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศได้อย่างชัดเจน และภายใต้การบริหารงานของเหล่าดอกไม้เหล็กนี้ก็ถือว่านำความสำเร็จมาสู่องค์กรแทบทั้งสิ้น
>>>>>>>>>>>

……..
เรื่อง : ทีมข่าว Click


กำลังโหลดความคิดเห็น