xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวการเมือง-การเมือง(เรื่อง)ข่าว

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สื่อที่ทำข่าวการเมืองในยุคนี้มีคู่แข่งเยอะขึ้นเพราะเดี๋ยวนี้พรรคการเมือง+นักการเมืองมีช่องทางนำเสนอกิจกรรม-ทัศนะความเห็น-เรื่องราวของตัวเองกันถ้วนหน้าไม่ต้องรอจัดแถลงให้สื่อแบกกล้องตัวใหญ่ๆ ไปถ่ายแล้วรอให้บ.ก.ข่าวสงเคราะห์เลือกหยิบมาลงในแง่มุมที่ตัวเองต้องการ มีทีวี.ดาวเทียมพร้อมเสิร์ฟข่าวสารของพรรคและนักการเมืองได้ทันทีไม่ว่าจะช่องสีแดงหรือช่องสีฟ้า

อิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ยังทำให้นักการเมืองแถวสองมีพื้นที่แสดงของตัวเองหลายคนมีเฟซบุ้ค/ทวิตเตอร์ที่มีคนติดตามมากมายบางครั้งสื่อกระแสหลักยังต้องเอาเรื่องราวที่ทวิตไปนำเสนอซ้ำ ส่วนจอมยุทธ์ระดับแถวหน้าไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการที่พูดเรื่องการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะสื่อหลักพร้อมนำเสนอต่อแบบเดี่ยวบ้างหรือแบบจับชนบ้างเช่นกรณีกรณ์ จาติกวณิชวิวาทะเรื่องไพร่จิบไวน์กับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือที่มติชนนำความเห็นในเฟซบุ้คของเกษียร เตชะพีระ/สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาจับชนกับสุวินัย ภรณวลัยบ้างคำนูณ สิทธิสมานบ้างกลายเป็นข่าวที่นักข่าวไม่ต้องเหนื่อยยกหูไปสัมภาษณ์แค่ตัดแปะมาจากออนไลน์ปรุงใหม่แต่งหน้าตาพาดหัวก็เป็น “ชิ้นงานข่าว” ให้คนอ่านได้แล้ว

และก็เช่นเดียวกัน, ข่าวสารการเคลื่อนไหวประเภทใครจะจัดสัมมนาที่ไหน จะนัดพบรวมพลแสดงพลังหรืออดข้าวประท้วงเพื่อพ่อ จะล่าชื่อแก้กฎหมายกันที่ไหนหากเป็นเมื่อก่อนคนจัดต้องแฟกซ์เชิญชวนหรืออย่างเก่งก็อีเมล์กรุ๊ปให้คนจำนวนมากรู้ และหากเป็นงานใหญ่ยังไงก็ต้องแถลงข่าวล่วงหน้าซึ่งไม่แน่ว่าจะมีสื่อหลักให้ความสนใจนำเสนอหากเรื่องนั้นมันไม่ใหญ่จริง (ตามมุมมองบ.ก.หรือพื้นที่จำกัดหน้ากระดาษ) แต่เดี๋ยวนี้มีช่องทางมากมายนำเสนอกิจกรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวางล่วงหน้า

ยุคนี้ไม่ต้องรอสื่อหลักหรอกเรื่องราวบางเรื่องถูกแพร่ถึงกันในสังคมจากแวดวงหนึ่งไปสู่แวดวงหรือกลุ่มเพื่อนอีกกลุ่มอย่างรวดเร็วแค่คลิกนิ้วขอให้มัน “ฮ็อต” จริง ข่าวสารประเภทหนุน-ต้าน เสียดสีทางการเมืองนี่แหละตัวดี มันแพร่ไปเร็วมากทั้งนี้ขึ้นกับว่ากลุ่มของใครเช่นฟากไม่เอาปูก็จะแชร์เรื่อง ว.5โฟร์ซีซั่นส์ ส่วนพวกเอาปูก็จะแชร์เรื่อง ปชป.จัดรายการสายล่อฟ้าต่ำกว่าสะดือแล้วก็ต่างคนต่างเมนท์ต่างระบายเอามันไปตามรสนิยมของแต่ละวง

หากมองผ่านแนวคิดสื่อสารมวลชนกับการเมืองแบบประชาธิปไตย ลักษณาการที่กล่าวเป็นปัจจัยด้านบวกของสังคมประชาธิปไตยเพราะต้นประชาธิปไตยจะเติบโตงอกงามได้บนสังคมที่เปิด ไม่เพียงเท่านั้นสังคมเปิดที่มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร ต่อให้เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะแบบสุดขั้วเกลียดมากรักมากก็จะยิ่งควบคุมการทำงานของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น หลักการของแนวคิดนี้สื่อสารมวลชนและสังคมแบบเปิดมีบทบาทในการกำกับควบคุมและเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร

โจทย์จึงย้อนกลับมาที่ตัวสื่อมวลชนกระแสหลักหรือให้ตรงคือโต๊ะข่าวการเมืองของสื่อหลักจะปรับตัวกับภาวะดังกล่าวยังไง?

ตอบแบบกวนทีนเล่นๆ อาจจะบอกว่าสื่อหลักก็หันมาเชลียร์พรรคการเมืองและรัฐบาลอย่างออกหน้าออกตา คอยส่งนักข่าวไปตามไปรายงานเสื้อผ้าหน้าผมเป็นสกู๊ปสัปดาห์ละชิ้น แล้วก็มีรายงานคอยแก้ตัวปกป้องให้รัฐบาลก็พอเพราะข้อมูลอื่นๆ หาอ่านได้ทั่วไปอยู่แล้ว..ซึ่งมันก็เป็นแค่การกวนทีน ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เนื่องจากมีสื่อหลักไม่กี่ค่ายเท่านั้นที่เลือกจุดยืนทางการเมืองอยู่ข้างขั้วมีอำนาจ

ความเห็นของผมกลับมองว่าโต๊ะข่าวการเมืองของสื่อแทบทุกค่ายในปัจจุบัน(รวมทั้ง ASTVผู้จัดการด้วยกระมัง) ยังติดกับการนำเสนอแง่มุมและประเด็นการเมืองกระแสหลักว่าด้วย “การเมืองก็คือการแย่งชิงอำนาจระหว่างขั้วพลังต่างๆ (ทั้งที่อยู่ในระบบพรรคและไม่ใช่)” ซึ่งมันก็ไม่ผิดหรอกนะครับเพียงแต่มันไม่พอเสียแล้วสำหรับยุคนี้

ในเมื่อกรอบคิดหลักเป็นเช่นนั้นดังนั้นประเด็นแง่มุมของชิ้นงานที่นำเสนอออกมาจึงวนเวียนอยู่กับเกมการชิงไหวชิงพริบและการตอบโต้แบบปิงปอง เดี๋ยวเทพไทว่าไงเสด็จพี่โต้กลับ ปูไปไหน มาร์คทำอะไร วิปรัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านร้องเรื่อง ว.5 ทำอะไรให้แจ้งประชาชน แหล่งข่าวรัฐบาลบอกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยังไงก็ไม่ลาออก ฯลฯ

ข่าวการเมืองบ้านเราจึงจำกัดการวนอยู่ที่การนำเสนอเกมการเมืองของนักการเมืองเป็นหลัก !

ไม่ได้ทำเก่งวิจารณ์เพื่อนสื่อหรือผู้อาวุโสวงการข่าวการเมืองที่นั่งเอ้เต้กันอยู่ในแต่ละสำนักดอกนะครับ เข้าใจดีว่าในยุคก่อนหน้าพื้นที่ข่าวสื่อมีจำกัด แต่ละวันหนังสือพิมพ์ฉบับนึงจะมีหน้าการเมืองไว้รายงานสักกี่หน้า วิทยุโทรทัศน์สักกี่นาที ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นข่าวทีวีวิทยุไล่ตามความเห็นของนายกฯ หรือรัฐมนตรีในแต่ละเรื่องใหญ่ๆ ประจำวันก็หมดเนื้อที่รายงานแล้ว ส่วนหนังสือพิมพ์แม้จะมีพื้นที่มากกว่าแต่ก็ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ดีแค่รายงานประเด็นสำคัญประจำวันสักข่าวก็กินเนื้อที่ไปเยอะแล้ว ดังนั้นแง่มุมข่าวการเมืองจึงหนักไปที่ประเด็นจำพวก ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นทุจริตหรืออื้อฉาว การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเก้าอี้ เกมชิงไหวพริบในสภา เกมการตีกินเรียกคะแนนนิยม การแต่งตั้งโยกย้าย และที่สำคัญคือวิวาทะแบบปิงปอง มึงทีกูที (ถ้าไม่มีใครซัดกับใครนักข่าวก็จะแหย่ถามให้ซัดกันจนได้-ฮา)

ข่าวทำนองนี้บวกกับคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์เบื้องหลังเหตุการณ์ ใครไปพบใคร ใครจะทำอะไรกันแน่เพราะเวลาไมโครโฟนจ่อปากนักการเมืองจะไม่พูดจริงแต่จะแอบไปกระซิบ บ.ก.หรือคอลัมนิสต์แทน หนังสือพิมพ์จึงต้องมีพื้นที่รายงานคนพูดไม่จริงในเนื้อข่าวและมีวิเคราะห์ความจริงในหน้าวิเคราะห์ ซึ่งเท่านี้ก็กินพื้นที่หน้ากระดาษประจำวันไปหมดแล้ว

ผมคิดว่าในยุคที่สื่อหลักไม่ต้องสาละวนเรื่องข่าวปิงปองให้มากแล้ว (เพราะมันเถียงกันผ่านเฟซบุ้คกันเองแล้วสื่อหลักค่อยหยิบมาปัดฝุ่นขายต่อ) ไม่ต้องให้พื้นที่รายงานกิจกรรมล่วงหน้าหรือกิจกรรมใหญ่น้อยที่มีคนจัด (เพราะเดี๋ยวนี้เขาถ่ายทอดสดผ่านเน็ตเองและถอดเทปรายงานละเอียดกว่าสื่อหลักด้วย) ในท่ามกลางข่าวสารการเมืองที่มากมายในแต่ละวันผ่านสื่อกระแสรอง ผ่านเฟซบุ้คนักวิชาการและนักการเมืองตลอดถึงกิจกรรมของมวลชนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นโอกาสดีที่ข่าวการเมืองในสื่อหลักจะได้ฉีกหนีไปจากกรอบข่าวการเมืองกระแสหลักที่เป็นอยู่มานานเสียที

ข่าวการเมืองบ้านเราให้น้ำหนักกระบวนการแย่งชิงและเทคนิควิธีการการครอบครองอำนาจมองเรื่อง“การถือ-ชิงอำนาจ” เป็นเรื่องสำคัญแต่กลับละเลย “มิติของการคุ้มครองประชาชนเจ้าของอำนาจ” ไว้ท้ายๆ ซึ่งการเมืองยุคใหม่หลังการตื่นขึ้นของมวลชนหลากสีที่กว้างขวางในตลอด 4-5 ปีมานี้ มิติดังกล่าวควรจะถูกจัดลำดับเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมการเมืองที่เป็นจริง

ยกตัวอย่าง- เวลาพรรคการเมืองหาเสียงมันป่าวประกาศวาดฝันร้อยแปดจิปาถะถมทะเลบ้างยกเลิกกองทุนน้ำมันบ้างซึ่งล้วนแต่เหลวไหลโกหกพกลมสื่อบางจำพวกมองในมิติการแข่งขันทำนองว่านี่เป็นการแข่งวิสัยทัศน์ส่วนปฏิบัติจริงอาจปรับเปลี่ยนได้ซึ่งมันเป็นมุมมองแบบกลยุทธ์ และพอมีรองนายกฯจอมปั้นน้ำออกมาให้ข่าวขมึงขึงขังซึ่งไม่จริงเลยแม้แต่นิดเดียวสื่อก็ตีความเชิงกลยุทธ์ว่านี่เป็นการสับขาหลอกเป็นเกมการเมืองชั้นสูงซึ่งเป็นการรายงานบนฐานคิดการแข่งขันชิงอำนาจระหว่างนักการเมือง(ที่ประชาชนไม่เกี่ยว)

แต่หากสื่อยืนอยู่บนหลักคิดการคุ้มครองอำนาจของประชาชน สื่อจะเปลี่ยนมุมมองจากการสับขาที่สวยงามมาเป็นการรายงานว่านี่มันยุคไหนแล้วนักการเมืองยังจะหน้าด้านตอแหลหลอกประชาชนแบบนี้ไม่ได้แล้ว (นะโว้ย)

หรืออีกตัวอย่าง - สื่อที่ยืนบนหลักคิดว่าการเมืองคือเรื่องแย่งชิงอำนาจของสองพรรคสองพวกแล้วก็หนุนพวกหนึ่งก็จะรายงานว่า ไม่มีอะไรหรอกว.5 โฟร์ซีซั่น ไปขุดมาได้แล้วว่านักธุรกิจเขาประชุมกันแล้วนายกฯก็ไปร่วมพบปะพูดคุย แต่หากสื่อยืนบนหลักผลประโยชน์ประชาชนสื่อต้องรายงานว่า ผู้ได้อำนาจจากประชาชนไปต้องไม่ปิดบังประชาชน ต้องไม่เบียดบังเวลาราชการ ต้องไม่ลับๆ ล่อๆ ไปพบนักธุรกิจมีคนสงสัยก็ตอบอย่างเป็นทางการให้มันชัดๆ เพื่อจะได้จบๆ ไป แทนที่จะให้ลิ่วล้อออกมาคนละทีสองทีแล้วไม่เหมือนกันสักคน

ที่ผ่านมาพื้นที่ข่าวการเมืองของเราไม่สมดุลอยู่บ้างเพราะการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติแทบไม่ได้ถูกนำเสนอในหน้าข่าวการเมืองเลยนอกจากนานๆ ทีจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีบอยคอต หลังๆ เริ่มมีการรายงานกระทู้สดเรื่องที่อยู่ในความสนใจประชาชนบ้างแต่นั่นก็เป็นเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็น Talk of the town

หากสื่อเทน้ำหนักมาที่งานนิติบัญญัติมากขึ้นบนฐานคิดทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชนที่เลือกตั้งพวกเขาขึ้นมา การทำหน้าที่ประจำวันเช่นใครขาดใครโดดก็สำคัญ ในต่างประเทศร่างกฎหมายสำคัญแต่ละร่างอยู่ในความสนใจประชาชนสามารถอ่านจากสื่อได้ว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ของตนมีจุดยืนในเรื่องนี้เช่นไร คิดเล่นๆ ว่าเมื่อมีกฏหมายสำคัญเข้ามาแล้วสื่อถือไมค์ดักรอหน้าสภาถามว่ามีความเห็นต่อกฏหมายดังกล่าวอย่างไรเราอาจจะเห็น ส.ส.จำนวนมากพากันแบะๆ ไม่รู้เรื่องในหน้าที่ของตนประจานออกทีวี.ก็ได้ เพราะระบบพรรคของเราเน้นไปที่รอดูใบสั่งจากวิป ส.ส.ไปยกมืออย่างเดียว

ระบบการเมืองบ้านเราเป็นแบบรัฐสภาแต่แท้จริงแล้วรัฐสภาไม่ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจการเมืองและจะว่าไปสื่อมวลชนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ (อีกต่างหาก)

รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจแทนประชาชน หากสื่อมวลชนตระหนักในหลักการข้อนี้ว่ามันจะทำให้การเมืองบ้านเราเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไปได้ ประเด็นข่าวของรัฐสภามีมากมายไม่หวาดไม่ไหวยกตัวอย่างเช่นที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งประกอบกับธุรกิจที่นักการเมืองถือครองก็เล่นได้ทั้งปี และหากจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นต้องเลียนแบบสื่ออังกฤษตามไปดูรายการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนใครใช้ตั๋วบินฟรีไปไหนบ้างเกี่ยวกับงานในหน้าที่ส.ส.หรือเปล่า เช่น ส.ส.บางคนอยู่ภาคเหนือแต่ดันใช้ตั๋วบินไปภูเก็ตช่วงวันหยุดโดยไม่มีกำหนดการในหน้าที่ก็สมควรเอามาประจานให้สังคมกดดันการใช้งบประมาณเหล่านี้

ยังมีประเด็นและแง่มุมทางการเมืองอีกมากมายที่ถูกมองข้ามไม่ได้นำเสนอในยุคที่สื่อมีพื้นที่จำกัด(เลยต้องทำข่าวปิงปองเป็นหลัก-หุหุ)บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้สังคมกลายเป็นสังคมการเมืองแบบเปิด ส่องไฟไปยังกิจกรรมหรือปริมณฑลที่ถูกละเลยทั้งๆ ที่ใช้เงินหรืออ้างอิงอำนาจมาจากประชาชน ในยุคหนึ่งงานกรรมาธิการในรัฐสภาเป็นแหล่งตบทรัพย์คอยจ้องหาคนที่มีแผลเพื่อตั้งเรื่องสอบหรือศึกษาแล้วเจรจาตามหลัง อีกทางหนึ่งงานที่กรรมาธิการบางคณะศึกษามีรายละเอียดมีความซับซ้อนและเป็นเรื่องที่ประชาชนควรทราบ หากเป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงควรเปิดเผยต่อสาธารณะทราบเป็นระยะ (ยกเว้นประธานกรรมาธิการเกรียนอ้างว่าลับสุดยอดก็ค่อยว่ากันอีกชั้นนึง)

และหากจะลึกลงไปอีก สื่ออาจตามย้อนไปดูถึงการอภิปรายก่อนหน้าจะพบว่าส.ส.เมืองไทยหาจุดยืนแทบไม่ได้ พอตัวเองเป็นฝ่ายค้านก็ใช้หลักการอย่างพอเป็นรัฐบาลก็อีกอย่าง แม้ช่วงแรกคนอ่านยังเฉยๆเพราะมีทัศนะว่าการเมืองกับการโกหกเป็นของคู่กันแต่พัฒนาการของสังคมในอนาคตก็จะรับไม่ได้กับการตอแหลตลบแตลงของนักการเมืองเข้าสักวัน

ที่ยกมานี่หนักไปทางพื้นที่ของงานด้านนิติบัญญัติเป็นหลักซึ่งแค่นี่ก็มากมายไม่หวาดไม่ไหวแล้ว นักข่าวยุคใหม่ไม่ได้จนตรอกขนาดต้องตามไปดูเสื้อผ้าหน้าผมนายกฯ แล้วคอยรายงานสัปดาห์ละหน หรือคอยแก้ตัวให้รัฐบาลงานละวันเพราะเรื่องเหล่านั้นสื่อเฉพาะกิจที่สนับสนุนรัฐดำเนินการอย่างเอางานเอาการอยู่แล้ว สื่อหลักหันมาเน้นประโยชน์ประชาชนมากกว่าประโยชน์นักการเมืองไม่ดีกว่าหรือ

หากสื่อหลุดจากกรอบคิดแบบแคบว่าการเมืองคือเรื่องการแย่งชิงอำนาจระหว่างขั้วต่างๆ มาสู่การเมืองคืออำนาจที่ประชาชนมอบให้ตัวแทนไปดำเนินการ, การเมืองแบบประชาธิปไตยจะงอกงามในสังคมแบบเปิด, การเมืองแบบรัฐสภาที่งานรัฐสภาควรอยู่ในสายตาประชาชนให้มากขึ้น, การเมืองคือการออกแบบโครงสร้างอำนาจในระดับต่างๆ ก็อาจจะพบว่าการเมืองที่ไม่ดีเกิดจากระบบรวบอำนาจให้นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงกระจุกอยู่เป็นก้อนเดียว การอนุมัติสั่งการตัดสินโครงการ การโยกย้ายแต่งตั้ง การให้คุณให้โทษล้วนแต่อยู่ที่เก้าอี้ไม่กี่ตัวที่แย่งชิงกัน แง่มุมและเนื้อหาข่าวการเมืองที่นำเสนอก็จะหลากหลายไปจากการเดินตามนายกฯ หรือรัฐมนตรีรอให้สัมภาษณ์เป็นหลัก

ข่าวการเมืองของสื่อสารมวลชนยุคใหม่ไม่ควรดักดานอยู่ที่เสื้อผ้าหน้าผมรายสัปดาห์ หรือการวิเคราะห์การสับขาหลอกรายสัปดาห์ว่านี่เป็นกลยุทธ์ชั้นสูงที่แข่งกันระหว่างพรรคสองพรรค

ข่าวการเมืองยุคใหม่จึงควรเลิกให้น้ำหนักเอียงมาทางด้านทำข่าวการเมืองของนักการเมืองเสียที ! แล้วก็หันมาเน้นการปกป้อง-คุ้มครอง- ส่งเสริมอำนาจของเจ้าของอำนาจเป็นมิติหลัก หรืออย่างน้อยก็ควบคู่กับมิติการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่เป็นกระแสหลักมายาวนาน

ถ้านายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส.หนีสภาแล้วเกิดมีคำถามขึ้นมาแทนที่สื่อจะช่วยกันปกป้องว่าไม่ได้ไปทำอะไรแบบที่ว่าสักกะหน่อยแล้วใช้ไมโครโฟนทำหน้าที่แทนประชาชนเจ้าของภาษีเจ้าของฉันทานุมัติว่าท่านไปทำอะไรจึงไม่ไปทำหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายซึ่งถ้าท่านตอบได้เป็นเหตุเป็นผลก็แล้วไป แต่ถ้าท่านวิ่งหนีอย่างเดียวแล้วให้ลิ่วล้อโง่บ้างไม่โง่บ้างคอยแก้แทนคนละหนุบหนับแย้งกันบ้างก็มีสื่อก็ไม่ควรไปสนับสนุนการเกมที่ไม่แยแสประชาชนในลักษณะอย่างนั้น

การเกิดขึ้นของสื่ออินเตอร์เน็ตเลือกขั้ว เฟซบุ๊กกระจายการแชร์ ทีวีดาวเทียมแดงฟ้า(ซึ่งโดยสามัญสำนึกมันคือนอมินีกันเห็นๆ) ข่าวสารที่กระจายไปทั่วโดยไม่ต้องง้อสื่อมวลชนกระแสหลักเหมือนเช่นเดิม ฯลฯ ยังไงเสียโต๊ะข่าวการเมืองของสื่อหลักแต่ละค่ายก็ต้องปรับตัวตามอยู่แล้วล่ะ ผมแค่เอามะพร้าวมาขายสวนก็อาจเป็นได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น