xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ครก.112 รุมดิสเครดิต “สุวินัย” - โดนโต้หน้าหงายข้อมูลเท็จหลักคิดเพี้ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อความที่ น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ เขียนถึงนายเกษียร เตชะพีระ ผ่านทางเฟซบุ๊ก
กลุ่มหนุนแก้ ม.112 มั่วข้อมูล ดิสเครดิตนักวิชาการ “สยามประชาภิวัฒน์” กล่าวหาคลั่งความเป็นตะวันออก ทำตัวเป็นซามูไร “สุวินัย” โต้กลับ วิจารณ์โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง พร้อมชี้ “เกษียร เตชะพีระ” ตรรกะเพี้ยน อ้างการเมืองใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ กลับไปเสนอลดการบังคับใช้ ม.112 ไม่แก้ที่การเมืองเป็นกรณีไป แถมมองข้ามวิกฤติสถาบันที่จะถูกล้มล้างแบบปี 2475

หลังจากที่มีนักวิชาการ-นักเขียนกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยได้ตั้งเป็นคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) หลังจากนั้นได้มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งรวมตัวในนามกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ปรากฏว่าได้มีนักวิชาการในกลุ่ม ครก.112 บางคนฉวยโอกาสเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อลดความน่าเชื่อถือของนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์บางคน

ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายสุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ว่า ม.112 ที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ ถ้ามองจากปรัชญาความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ตามปรัชญาแบบตะวันตก ที่ไม่เชื่อและไม่ยอมรับในเรื่องสมมติเทพ รวมทั้งเคยมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในยุคกลางที่เป็นยุคมืด ตามมาด้วยการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมพวกปัญญาชนไทยที่จบการศึกษาจากโลกตะวันตกหรืออินกับการศึกษาแบบตะวันตกถึงไม่ค่อยแฮบปี้กับ ม.112 นี้นัก ตรงนี้คิดว่าน่าจะมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ อันนี้หมายความว่า ไม่มี “บริบททักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้อง

“แต่ทว่าสถานการณ์ในความเป็นจริงขณะนี้ไม่ใช่เช่นนั้นเลย ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฏร์รวมทั้งกระบวนการเกี่ยวเนื่องที่ตามมาล้วนถูกวางแผนมาอย่างดีใน “บริบททักษิณ” (พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเป็นหมากตัวหนึ่งของทักษิณ) โดยมีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอย่างชัดแจ้ง เพราะฉะนั้น นี่มิใช่การถกเถียงทางวิชาการหรือทางปรัชญาเฉยๆ แล้วนะครับ แต่เป็นการต่อสู้อย่างอำมหิตเพื่ออำนาจและการเปลี่ยนระบอบโดยเอาชีวิตของผู้คนเป็นเหยื่ออย่างไม่รู้สึกผิดแต่อย่างใดเลยต่างหาก” นายสุวินัยระบุ

จากนั้น นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน ครก.112 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก kasian.tejapira มีเนื้อหาสรุปว่า นายสุวินัยมีอุปสรรคหรือกับดักทางปัญญาที่ข้ามไม่พ้นอยู่จำนวนหนึ่ง และยากที่จะรับฟังคนอื่นตามบุคลิก “ท่าทีเชื่อแบบซามูไร” คือเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปักใจเชื่อแต่ละครั้ง พร้อมจะฟาดฟันทุกอย่างที่ขวางทางเชื่อ จนกว่าแกจะหันไปเชื่อสิ่งใหม่ แบบซามูไรตามเคย

นายเกษียรอ้างว่า นายสุวินัยมายาคติที่ติดมาจากการไปเรียนที่ญี่ปุ่น รวมทั้งวัฒนธรรมเจ๊กจีนของตัวและครอบครัว ที่รู้สึกดีกับมายาคติตะวันออกของตัว กลายเป็นว่าความเสื่อมทรุดทั้งหลายทางสังคมวัฒนธรรมโยนขี้ให้ตะวันตก ส่วนอะไรที่เข้าท่าดูดีทางจิตวิญญาณ เหมาให้ตะวันออกหมด และอ้างว่า ในฐานะมิตร ตนปวดใจมากที่เห็นนายสุวินัยใช้พลังของตัวทำร้ายคนอื่นและสังคมในทางการเมือง

หลังจากนั้น น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนายสุวินัย ได้เขียนข้อความถึงนายเกษียร เตชะพีระ ทางเฟซบุ๊ก เพื่อขยายความเพิ่มเติมจากที่นายเกษียรได้วิพากษ์วิจารณ์นายสุวินัย โดยเว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้นำไปเผยแพร่ต่อ

น.ส.เวียงรัฐกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายเกษียรในประเด็นที่ว่านายสุวินัยใช้มายาคติแบบตะวันออกเหนือกว่าตะวันตก จนบดบังเหตุผลและข้อเท็จจริง และกล่าวหาว่านายสุวินัยอินกับเรื่องไสยศาสตร์ ภูตผี วิญญาณ นอกจากนั้น น.ส.เวียงรัฐยังอ้างว่า โรงเรียนฝึกมวยโซรินจิ หรือวัดเส้าหลินในญี่ปุ่น เป็นแค่โรงเรียนสอนกีฬาต่อสู้ทั่วๆไป แบบคาราเต้ ยูโด ใครๆ ก็ไปเรียนได้ และมีเพื่อนไปเรียนที่นั่น ก็ไม่เห็นจะเป็นจอมยุทธ์ หรือมีจิตวิญญาณเหมือนในเรื่องจอมยุทธ์ที่นายสุวินัยเขียน

น.ส.เวียงรัฐยังอ้างว่า ความเป็นซามูไรของนายสุวินัยนั้นออกจะแปลก เพราะซามูไรหรือบูชิโดเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของนักรบที่สู้รบเพื่อปกป้องเจ้านาย เคียงข้างเจ้านาย และตายไปกับเจ้านายอย่างจงรักภักดี ซึ่งเป็นวิธีคิดและการปฏิบัติที่โบราณไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่เลย แต่ในญี่ปุ่นก็มีกระแสฟื้นฟูลัทธิซามูไรขึ้นมา คือ มิชิมะ ยูกิโอะ นักเขียนนิยายที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกขวาจัดคลั่งชาติ ที่เป็นหนึ่งในนักเขียนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มิชิมะก็ฆ่าตัวตายแบบฮาราคิรี คือคว้านท้อง ตั้งแต่อายุแค่ 45 ปี เพราะถึงจุดที่ประสบความสำเร็จสุดยอด ไม่ต้องการเห็นความตกต่ำในชีวิตอีกต่อไป

“ถ้าเป็นซามูไรในโลกสมัยใหม่จริง อ.สุวินัยคงคว้านท้องตายไปตั้งแต่เรื่องอาจารย์กู้แล้วล่ะค่ะ ไม่รอให้มีวันนี้” น.ส.เวียงรัฐกล่าวเยาะเย้ย

หลังจากนั้น นายสุวินัยได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก
Suvinai Pornavalai ว่า ตรรกะที่ น.ส.เวียงรัฐใช้วิเคราะห์ตนนั้นตลกมาก และข้อมูลก็คลาดเคลื่อนจนแทบไม่เชื่อว่าเป็นนักวิชาการมาได้อย่างไร เพราะที่ตนหัดในญี่ปุ่นคือกังฟู หรือมวยจีนที่เป็นมวยเหนือและมวยภายใน ไม่ใช่มวยโชรินญิเค็มโป อันเป็นชมรมกีฬาในมหาลัยที่ น.ส.เวียงรัฐคงสับสนกับมวยเส้าหลินของจีน

“ก็ต้องถามอีกแหละครับ ว่ามีนักเรียนไทยในญี่ปุ่นกี่คนที่สนใจศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของตะวันออกที่ไม่ใช่ชมรมกีฬาและฝึกฝนอย่างเอาเป็นเอาตายกันสักกี่คนกันครับ ตรรกะที่แกใช้จึงตลกมาก เพราะแกรู้จักเพื่อนที่อยู่ชมรมโชรินญิเค็มโป ไม่เห็นเพื่อนของแกมีความรู้สึกด้านจิตวิญญาณอะไร เพราะฉะนั้นสุวินัยก็ต้องไม่มีความลึกซึ้งด้านจิตวิญญาณไปด้วย ซ.ต.พ.” นายสุวินัยระบุ

“เรื่องฮาราคีรีก็เหมือนกัน ตอนเกิดเรื่องอาจารย์กู้ ผมก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผมได้ตายไปแล้วจากสังคมนี้ อันนี้มีเขียนไว้อยู่ในหนังสื่อของผมเรื่อง “ระบำรบแห่งสันติ 2 วิถีของลูกผู้ชายคนหนึ่งในสถานการณ์ที่เลวร้ายช่วงหนึ่ง” (สำนักพิมพืไอดอนิค 2544) อันนี้ผมถือว่าตัวผมได้ฮาราคีรีเชิงสัญลักษณ์ไปแล้ว ถ้าแกไม่ใช่อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา และเป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่งผมจะไม่ว่าเลย แต่เป็นอาจารย์ไม่ทำการบ้านแล้วเขียนจดหมายกล่าวถึงคนอื่นราวกลับรู้จริงแต่ไม่จริงและผิดพลาดขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ถือว่าน่าอายมากๆ ครับ”

อนึ่ง นายสุวินัยได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊ก ตอบโต้กรณีที่ นายเกษียร เตชะพีระ ให้สัมภาษณ์มติชนเกี่ยวกับเหตุผลที่ควรแก้ไขมาตรา 112 โดยระบุว่า ตามบทสัมภาษณ์ของนายเกษียรในมติชนนั้น นายเกษียรมองว่าสถาบัน(พระมหากษัตริย์)ถูกใช้จากขุมพลังทางการเมืองทุกฝ่ายในช่วงการต่อสู้และการแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ที่ผ่านมานี้ ตรงนี้มีบางประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ตรรกะของนายเกษียรอยู่เหมือนกัน เพราะนายเกษียรไปลดทอนปัญหาการที่สถาบันถูกกลุ่มการเมืองใช้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบด้วยการเสนอให้ลดการคุ้มครองสถาบันตาม ม.112 แทนที่จะแก้ปัญาหาเป็นรายๆ ไป ไม่ว่าด้วยหลักรัฐศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์ก็ตาม

“อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การใช้สถาบันของกลุ่มการเมืองต่างๆ มิได้เป็นสาเหตุปฐมของความขัดแย้งในตัวของมันเอง และมูลเหตุจูงใจของการใช้ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าสาเหตุปฐมนั้นมาจากเผด็จการพรรคการเมืองนายทุน การกินรวบประเทศไทย และการคิดเปลี่ยนระบอบการปกครอง การอ้างใช้สถาบันของภาคประชานไม่น่าจะอยู่ในระนาบเดียวกับการดิสเครดิตสถาบันเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่ซ่อนเร้นตามอุดมการณ์ความเชื่อของกลุ่มการเมืองนั้น

“แต่อาจารย์เกษียรกลับประเมินคุณค่าการกระทำของสองแบบนี้ในระดับหรือระนาบเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาทางตรรกะเช่นกัน เมื่อผนวกกับจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพของอาจารย์เกษียรเข้าไปด้วยแล้ว คงทำให้อาจารย์เกษียรมีแนวโน้มเห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฏร์ไปโดยปริยาย เพราะอาจารย์เกษียรคงมองว่า การต่อสู้กับการผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนต้องต่อสู้ในระบบเท่านั้นและไม่ควรดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยว ต่อให้สถาบันตกอยู่ในวิกฤตที่จะถูกล้มล้างแบบ 2475 ก็ตาม”

นายสุวินัยโพสต์ข้อความอีกว่า “สิ่งที่เป็นความต่างระหว่างพวกผมกับเพื่อนพี่ปัญญาชนที่เลือกยืนอยู่อีกฟากหนึ่งคือความต่างในการยอมรับวิกฤตของสถาบันที่กำลังเเผชิญอยู่ว่าจะยอมรับถึงขั้นยอมให้ถูกล้มล้างแบบปี 2475 แล้วเปลี่ยนระบอบการปกครองได้หรือไม่ กับความต่างในการประมินว่าระหว่างเผด็จการทหาร กับเผด็จการพรรคการเมืองนายทุน อย่างไหนเป็นหายนะต่อบ้านเมืองมากกว่ากัน”
ข้อความของ น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ที่มติชนออนไลน์นำไปเผยแพร่ซ้ำ
หน้าเฟซบุ๊กส่วนบุคคลของนายสุวินัย ภรณวลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น