xs
xsm
sm
md
lg

คำขวัญวันเด็ก ที่ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่เคยทำได้

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เสาร์ที่จะถึงนี้ เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือน มกราคม ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ นั่นคือวันเด็กแห่งชาติ

งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนต่อประเทศ ปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้เป็นกำลังของชาติ

รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

งานวันเด็กแห่งชาติเดิมจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 ใน พ.ศ.2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ

ได้รู้ที่มาที่ไปของวันเด็กไปแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ของวันเด็กแห่งชาติ ก็คือคำขวัญวันเด็ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนคิดขึ้นหรือให้ทีมงานช่วยคิดก็แล้วแต่ เพื่อให้มอบแก่เด็กๆและเยาวชนทั้งประเทศ

คำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คำขวัญวันเด็กทุกปีก็จะถูกนำมาให้เด็กท่องในโรงเรียน บางปีก็สั้นหน่อย บางปีก็ยาวไม่อยากจำสังคมก็จะพูดถึงกันในสัปดาห์นั้น หลังจากนั้นก็แทบไม่มีใครใส่ใจอีก

คำขวัญวันเด็กสะท้อนสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย ในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจ มีคำขวัญขึ้นต้นเหมือนกันว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็ก...” เช่น “จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย”

ในปี พ.ศ. 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำขวัญวันเด็กที่ ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงจำกันได้คือ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ”

ปีถัดมา อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯพระราชทาน หลังเหตุการณ์การเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้มอบคำขวัญวันเด็กที่สั้นที่สุดให้กับเด็กไทยว่า “สามัคคีคือพลัง”

หลังจากนั้นก็มีคำขวัญวันเด็กอีกมายมาย แต่ที่ผมสะดุดตาที่สุดคือคำขวัญวันเด็กในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างปี พ.ศ. 2524–พ.ศ. 2531 ที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2529 – 2531 พลเอกเปรมมอบคำขวัญวันเด็กเนื้อหาเหมือนกันถึงสามปีติดต่อกันว่า “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม”

ส่วนช่วงนายกฯชวน ปี พ.ศ.2536–พ.ศ. 2538 เน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะจะลงท้ายด้วยคำว่า “รักษาสิ่งแวดล้อม”ถึงสามปีติดต่อกัน เมื่อเป็นนายกฯอีกในช่วงหลัง(2541-2544)จึงมีคำขวัญเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยว่า “มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย”

ช่วงนายกฯทักษิณ คำขวัญวันเด็กของนายกฯคนนี้ก็จะพูดถึงเรื่องเรียน เรื่องอ่านหนังสือ เรื่องเทคโนโลยี ก็เอาเถอะชายคนนี้เค้าเจ้าพ่อสื่อในสมัยนั้น ทั้งดาวเทียมทั้งมือถือ

หลังมีการยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ การเมืองไทยก็เดินเซไปเซมาเหมือนคนเมา จนกระทั่งเราได้นายกฯหน้าหล่อซึ่งมีคำขวัญวันเด็กที่ฟังแล้วดูดีที่สุดคำขวัญหนึ่งอย่าง “คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม”

ล่าสุดคำขวัญของนายกฯปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบคำขวัญปีนี้ว่า “สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี” ครับจะได้ซื้อขายเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือกันให้เอิกเกริก ใครร่ำรวยจากเรื่องนี้บ้างก็เห็นๆกันอยู่

จริงๆแล้วคำขวัญวันเด็กไม่ใช่เรื่องเด็กๆอย่างเดียว ผมว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เสียมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะผู้ใหญ่ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กๆ ถ้าเด็กมีตัวอย่างดีๆเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

จะสังเกตได้ว่าคำขวัญวันเด็กยังสะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรดีไม่ดีตรงไหน หรือสังคมกำลังกังวลเรื่องอะไร เศรษฐกิจดีไม่ดี ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณธรรมจริยธรรม ทุกอย่างถูกสอดแทรกและโยนความหวังทั้งหมดไปไว้ที่เยาวชน

คำขวัญวันเด็กที่มีเรื่องคุณธรรม ก็ต้องถามผู้ใหญ่อย่างอดีตนายกฯ ว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาล มีคุณธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับเด็กมากน้อยแค่ไหน

คำขวัญของสองพี่น้องตระกูลชินวัตร ทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ น่าสังเกตว่าไม่เคยมีคำว่าคุณธรรม หรือเป็นเพราะครอบครัวนี้ไม่มีคุณธรรม หรือไม่สนใจคุณธรรม หรืออาจจะรู้ตัวแสลงใจว่าตัวเองทำไม่ได้ จึงไม่ใส่เข้าไปดีกว่า กลัวกลืนน้ำลายประจานตัวเอง

ด้วยวัยที่ผมเพิ่งผ่านพ้นจากการเที่ยวงานวันเด็กมาไม่กี่ปี ฟังคำขวัญวันเด็กจากนายกฯ ทีใด อดจะตั้งคำถามกลับไปถึงผู้ใหญ่ไม่ได้ ผู้ใหญ่อย่าสักแต่คิดประดิษฐ์คำ อย่าเอาเด็กเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ทางการเมือง สร้างภาพลักษณ์หลอกลวงตา

คำขวัญวันเด็ก ก็อย่าให้เป็นแค่ลมปากของผู้ใหญ่ที่เอาแต่สอนเด็ก แต่ตัวเองกลับทำไม่ได้ ผู้ใหญ่นั่นแหละที่เป็นแบบอย่างเลวๆให้เด็กเห็นอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง

ทุกปีที่มีคำขวัญวันเด็ก ผมอยากให้ทุกปีมี “คำขวัญวันเด็กวอนสอนผู้ใหญ่” ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นกระจกให้ผู้ใหญ่ส่องย้อนดูตัวเอง และเสนอคุณลักษณะของผู้ใหญ่ที่ดีในสายตาของเด็ก ทุกปีก็ให้เด็กๆส่งคำขวัญถึงผู้ใหญ่บ้าง ดีไหมครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น