xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าห้ามถมที่จะยอมกันมั้ย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ไม่รู้ว่าหลังน้ำลดประเทศของเราจะหยิบบทเรียนน้ำท่วมรอบนี้ไปแก้ไข-ล้อมคอก-ปรับปรุง-ยกเครื่องกันอย่างไรบ้าง ดูจากกรอบบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุด ดร.โกร่ง-กยอ. และชุด กยน. ที่มีดร.สุเมธเป็นที่ปรึกษาก็ยังไม่ชัด

เหมือนกว้างแต่ไม่น่าเชื่อว่ากว้างจริง เหมือนลึกแต่ไม่มั่นใจว่าลึกจริง ต้องรอดูว่าท่าน ๆ จะแถลงถึงกรอบยุทธศาสตร์รายละเอียดวิธีการกันอีกสักรอบสองรอบแล้วค่อยว่ากันใหม่ !

นึกจินตนาการแบบเร็ว ๆ ภารกิจหลังน้ำท่วมมีมีมากเหลือคณานับถ้าตัดเรื่องรุงรังประเภทการเยียวยาการรักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือการซ่อมแซมแล้วจะเห็นว่าภารกิจของการวางยุทธศาสตร์ประเทศแบบมองไปข้างหน้ามันช่างยิ่งใหญ่และยากเย็นถึงขั้นต้องเปลี่ยนระบบคิด ทัศนคติ กรอบแบบแผนการพัฒนาไปจนถึงระบบราชการที่เป็นกลไกเลยทีเดียว

เฉพาะการยกเครื่องทัศนคติจะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก...ถ้าเป็นก่อนหน้าผมก็คงไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะให้น้ำหนักความสนใจเรื่องสภาพภูมิประเทศ สัณฐานบ้านเมือง ทางน้ำทางลมมากเท่ากับเรื่องปากท้องหรือเรื่องบันเทิง แต่น้ำท่วมใหญ่รอบนี้ผมเชื่อว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติว่าด้วยประเทศไทยของเราเป็นเมืองน้ำ

เมื่อ 25 ตุลาคม 2553 คือเมื่อกว่า 1 ปีมาแล้วได้เขียนบทความเรื่อง “น้ำท่วม อย่าบ่นมาก อย่าลืมโทษตัวเองด้วย” ว่า....

“เรามักจะก่นด่าหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดก่อนคือรัฐบาลและราชการซึ่งก็ถูกอยู่บ้างเพราะน้ำท่วมรอบนี้พิสูจน์น้ำยารัฐบาลและระบบราชการได้ชัดเจนว่าขาดประสิทธิภาพจริง แต่เราลืมที่จะตำหนิตัวเราเอง องค์กรท้องถิ่นของเราเอง หรือชุมชนของเราเองที่ไม่ตระหนักความเป็นจริงพื้นฐานว่าเราเป็นเมืองน้ำ บางชุมชนอยู่มานานจนลืมไปเลยว่าน้ำท่วมเป็นอย่างไร จนละเลยที่จะสนใจสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะระบบระบายน้ำและภูมิประเทศของเราเอง อบต.บางแห่งรู้ทั้งรู้ว่าที่หนองจุดดังกล่าวเป็นแก้มลิงของชุมชน แต่วันดีคืนดีมีนายทุนมาซื้อถมทำเป็นหมู่บ้านจัดสรรก็อนุมัติไป ซ้ำร้ายคนในหมู่บ้านก็ไม่แยแสใครจะถมก็ถมมีหมู่บ้านมาก็ดีบ้านเราจะได้เจริญ ครั้นพอฝนมามากน้ำท่วมก็หาเรื่องด่าจังหวัด ชลประทาน ไปจนถึงรัฐบาลทั้ง ๆ ที่คนแรกที่ควรด่าก็คือชาวบ้านและ อบต.ในพื้นที่เองที่ไม่แยแสตระหนักในเรื่องภูมิประเทศของชุมชนตัว

บอกแล้วไงครับ เราไม่เหมือนคนโบราณที่จะงอมือรอน้ำมาถึงหัวกะไดบ้าน เราอยู่ในยุคที่สามารถจัดการน้ำได้ ปัญหาคือจะจัดการอย่างไร หากคิดว่าเป็นภาระของคนอื่นทั้งสิ้นมันก็ไม่ถูกหรอกครับ อันดับแรกสุดคือต้องจัดการความคิดของเราเองให้ได้ก่อนด้วยการย้ำ ๆ ลงในสมองว่า “เราอยู่ในเมืองน้ำ ๆ ๆ ๆ”

ถ้ามีฐานความคิดนี้ท่านจะเห็นท่อระบายน้ำ เห็นคูคลองในละแวกบ้าน เห็นที่ลุ่ม ที่ดอน มองเห็นภูมิประเทศของเมืองที่ท่านอาศัยอยู่ชัดเจนขึ้น

ต่อจากนั้นท่านจะรู้สึกโกรธขึ้นมาที่มีใครไปถมหรือทำให้ทางระบายน้ำแคบ หรือไม่ต่อเชื่อมไปสู่ทางระบายใหญ่กว่า ท่านจะโกรธที่เห็น อบต.ถมลำเหมือง ท่านจะโกรธที่เห็นการถมที่ลุ่มซึ่งเป็นแก้มลิงของชุมชน และท่านจะโกรธที่ทราบว่ามีการทำลายป่าต้นน้ำเพราะจะทำให้ดินไม่อุ้มน้ำ

หลังจากนั้นท่านจะเงี่ยหูฟังว่า ปีนี้จะมีฝนมากหรือไม่ เขื่อนตอนเหนือของเรามีระดับน้ำเท่าไหร่ และเราต้องเตรียมตัวเองหากเกิดน้ำท่วมอย่างไร ไล่ไปถึงระดับ อบต.หากมีการนำข้าวของมาแจกจะเตรียมระบบประชาสัมพันธ์และกระจายความช่วยเหลือแบบไหน ? เพราะยังไงเสีย อบต.ของเราจะต้องเจอน้ำท่วมเข้าสักวัน”

ผมจั่วหัวบทความตอนนี้ว่า “ถ้าห้ามถมที่จะยอมกันมั้ย?” ตั้งชื่อสั้น ๆ ให้ดึงดูดน่ะครับ เพราะชื่อเต็ม ๆ ควรจะเขียนว่า “หากมีกฏหมายหรือเทศบัญญัติท้องถิ่นกำหนดเขตระบายน้ำ และห้ามถมที่ดินขวางทางระบายน้ำ จะเอามั้ย?”

คนในรัฐบาลเริ่มพูดกันเรื่องผังประเทศ ผังเมืองยุคใหม่ ระเบียบการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ (โดยเฉพาะถนน) ไม่ให้ขวางทางน้ำ ซึ่งมันก็ดีครับเป็นกรอบคิดแบบมหภาค แต่ที่สุดแล้วหากไม่มีระบบคิด ทัศนคติ การเห็นพ้องต้องกันของประชาชนมันก็ยากจะเกิดจริงแบบที่กำลังเกิดการโต้แย้งเรื่องบิ๊กแบ็กที่ดอนเมืองนี่แหละ

การปฏิรูปยกเครื่องใหม่จะเกิดได้จริงต้องควบคู่ไปกับทัศนคติของประชาชนและการเริ่มมองเห็นจากชุมชน หมู่บ้าน และท้องถิ่น !!

สำหรับผมกลับมองว่าไม่ต้องรอดร.โกร่ง หรือ นายกฯปูหรือกครับ เริ่มที่เราเองและท้องถิ่นของเรานี่แหละ

เอาเฉพาะในระดับท้องถิ่นทุกคนจะรู้โดยอัตโนมัติว่าทางระบายน้ำดั้งเดิมของชุมชนเรามีสายใดบ้าง และอยู่ในสภาพใด มีท้องไร่ท้องนาที่เคยเป็นแก้มลิงรับน้ำตรงจุดไหนและตรงไหนบ้างที่เขาถมกลายเป็นบ้านจัดสรรไปแล้ว ปัจจุบันยังเหลือระบบระบายน้ำที่ใช้การได้อย่างไร ... ถ้าตั้งโจทย์แบบนี้ลงไปยังระดับชุมชนหมู่บ้านรับรองว่าประชาชนจะได้เห็นข้อมูลจริงเชิงประจักษ์ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง

ผมไม่คุ้นกับกรุงเทพฯ แต่พอจะเข้าใจกายภาพของเมืองเชียงใหม่อยู่บ้างขอยกตัวอย่างเผื่อจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อหมู่บ้านที่ผมอยู่มา 15-16 ปีก็เพิ่งจะถูกน้ำท่วมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านดั้งเดิมที่น้ำไม่เคยถึงบ้านเขาเลยยอมรับโดยปริยายว่าที่นาด้านตะวันออกที่เคยรับน้ำตอนนี้เป็นหมู่บ้านไปแล้ว (และหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวนั่นแหละที่รับน้ำเต็มๆ) ส่วนทางตอนเหนือเป็นที่ลุ่มดั้งเดิมคือเขตระบายน้ำสองฟากลำเหมือง มันก็ถูกถมกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรใหม่อีกแห่ง จึงไม่แปลกที่น้ำไม่มีทางไปเอ่อท่วมมาถึงหมู่บ้านดั้งเดิมที่ตั้งบนที่ดอนไม่เคยท่วมมาก่อน

เมื่อปี 2548 ตอนน้ำท่วมใหญ่ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ชัดว่ามวลน้ำจากตัวเมืองไหลลงใต้เป็นรูปใบพัดคลี่ออกมีศูนย์กลางที่เวียงกุมกาม อ.สารภีซึ่งเป็นที่ต่ำที่สุด ประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้ว่าเวียงแห่งนี้ถูกน้ำท่วมจม มาถึงยุคปัจจุบัน700 กว่าปีผ่านไปภูมิศาสตร์กายภาพก็ยังคงเดิมคือมวลน้ำท่วมจากตัวเมืองจะไหลลงที่ต่ำที่สุดคือเวียงกุมกาม อ.สารภีที่อยู่ติดกันทางทิศใต้ ปัญหาก็คือโครงการของภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งหลายไม่เคยสนใจลักษณะพื้นฐานทางกายภาพดังกล่าวเลย ถนนวงแหวน ถนนมหิดลก็ยังคงเป็นสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ซึ่งหากเราปรับทัศนคติยกเครื่องกลไกราชการทั้งหมดต้องใส่ปัจจัยสภาพพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ลงในกรอบการตัดสินใจด้วย

พื้นที่ อ.สารภีและตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่ มีลำเหมืองมากมายเพราะมีฝายกั้นน้ำแม่น้ำปิงรายทางส่งน้ำหล่อเลี้ยงเข้าไปตอนใน ลำเหมืองเหล่านี้แท้จริงก็คือแก้มลิงรับน้ำระบายน้ำจากเมือง หล่อเลี้ยงเขตเกษตรกรรมแต่พอเมืองเริ่มขยายเขตเกษตรกรรมกลายเป็นหมู่บ้าน โรงงาน ถนนตัดใหม่ เมื่ออาชีพเกษตรกรรมเริ่มหดลงลำเหมืองกลายเป็นของเกินจำเป็นตื้นบ้างแคบบ้างน่าเจ็บใจคืออบต.บางแห่งดันไปถมลำเหมือง บ้างเอาท่อคอนกรีตมาลงแล้วถมฟุตบาททับ เรื่องราวเหล่านี้องค์กรประชาชนอย่างภาคีคนฮักเจียงใหม่เคยต่อสู้ผลักดันแต่ไม่ค่อยมีใครสนใจกันหรอก บ้างก็ว่าเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำชอบคัดค้านความเจริญ

ตัวอย่างที่ยกมาของเชียงใหม่อาจจะตรงกับพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งตรงที่ประชาชนที่ติดพื้นที่เองจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับภายภาพ-ทางลาดเท-ทางระบายและแก้มลิงของตนเอง ใครใคร่ถมก็ถม ใครใคร่สร้างก็สร้างแบบตัวใครตัวมัน ถึงเวลาหรือยังครับที่ประชาชนในระดับท้องถิ่นจะเริ่มเปลี่ยนสายตาเปลี่ยนมุมมองเริ่มแก้ปัญหาประเทศไทยจากท้องถิ่นตัวเองกัน

ซึ่งอาจจะหมายถึงเทศบัญญัติ ข้อบังคับท้องถิ่นว่าด้วยการรักษาแหล่งน้ำ คู คลอง ทางระบายน้ำดั้งเดิมไปจนถึงพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ซึ่งน้ำไหลผ่าน แม้จะเป็นของเอกชนแต่ก็สามารถมีกฏบังคับไม่ให้ปลูกสร้างขวางทางน้ำ ในต่างประเทศเขามีกฏท้องถิ่นเรื่องการถมที่คือห้ามเกินระดับความลาดชันที่กำหนด ไม่ได้ห้ามขาดแบบศรีธนนไชยหากแต่ต้องอยู่ในกรอบ

น้ำท่วมรอบนี้เศรษฐีที่ดินปวดหัวกันมากขึ้นแน่นอนเพราะเมื่อก่อนซื้อเอา ๆ ขณะที่ประชาชนหรือคนซื้อต่อก็ไม่ได้สนใจว่าที่ตรงนั้นเคยเป็นแก้มลิง เป็น Floodway หรือเป็นที่ลุ่มของเมืองมาก่อนหรือไม่ แต่จากนี้ไปการพิจารณาตัดสินใจซื้อที่ดินอาจจะรอบคอบขึ้น ผมเชื่อว่าเศรษฐีที่ดินจู่ ๆ จะไปดินไปดัมพ์ถมที่ลุ่มให้สูงขึ้นมามิดหัวชาวบ้านรอบ ๆ ดั้งเดิมก็คงยากขึ้นเพราะชาวบ้านไม่ยอม แต่เรื่องทั้งหมดนี้จะไม่ลุกลามหากมีการสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ชัดเจนเสียทีเดียว และเศรษฐีทั้งหลายก็ควรจะยอมรับความเป็นจริงใหม่กันด้วยไม่ว่าเศรษฐีเก่า-เศรษฐีใหม่พรรคไหน ๆ ก็เหอะ

มองในเชิงองค์รวมให้มากขึ้น ๆ เถอะครับอย่ามองในมิติเศรษฐกิจให้มากนักเลย

เอาล่ะถึงจะมองเฉพาะมิติเศรษฐกิจล้วน ๆ ก็ได้ ในยุคก่อนการซื้อที่ ถมที่ ปลูกสร้างถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจแต่ในยุคใหม่การรักษาที่ ป้องกันที่ จัดการที่และโซนนิ่งพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน -!

ถ้าทุกชุมชนทุกท้องถิ่นเริ่มคุยกันเรื่องลำเหมืองตื้นแคบ คุยเรื่องทางระบายน้ำ คุยเรื่องแหล่งเก็บน้ำ คุยเรื่องการถมที่ ตรงไหนจะถมได้แค่ไหนตรงไหนห้ามถม แล้วก็ผลักดันให้ท้องถิ่นออกระเบียบกฎหมายขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะเปรียบได้กับสัญญาณสดใสก้าวเริ่มใหม่จากหลุมพิบัติภัยที่มืดดำ

รัฐบาลเปลี่ยนมาเปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยและคนไทยยังต้องอยู่ต่อครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น