xs
xsm
sm
md
lg

พระเอกสรยุทธ์-นางเอกปู กับน้ำท่วมตอผุด

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่


เวลาผ่านไปไวจริง ๆ เผลอแผล็บก็ผ่านไปปีนึงแล้วจนหลายท่านอาจจะจำไม่ได้แล้วว่าช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว(2553) ก็เกิดอุทกภัยน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางของประเทศแบบที่เกิดคราวนี้แหละ

ในตอนนั้นสื่อจำนวนมากทั้งสื่อดริฟท์ สื่อดราม่า สื่อการเมืองต่างพากันพรรณนาเสียใหญ่โตบ้างก็ยกให้เป็นสถิติพิบัติภัยจากน้ำในรอบหลายสิบปี บ้างเอาเรือไปถึงที่เกิดเหตุป้ายน้ำตาหยดแหมะ ๆ เพื่อรายงานความทุกข์ยากแสนสาหัสของพี่น้องผู้ประสบภัย ไปถึงที่ไหนเอาไมค์จ่อปาก เดือดร้อนไหม ลำบากไหม มีใครมาช่วยยัง ต้องการอะไร ? เรตติ้งของสื่อที่รายงานเรียบ ๆ ไม่หวือหวาเอาเฉพาะเนื้อ ๆ ว่าเป็นน้ำท่วมตามปกติไม่มีใครอยากฟังหรอกกดรีโมตหนีมาดูรายงานของสื่อดราม่ากันสนุกกว่า

ช่วงนั้นรัฐบาล ปชป.เองก็ไม่ได้เรื่องได้ราวเท่าไรนักหรอกเพราะขยับตัวช้า(ดูเหมือนไม่รู้สึกรู้สาด้วยซ้ำ) ไม่เหมือนภาคเอกชนที่ขยับเร็วกว่าจึงไม่แปลกที่ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา จึงมีบทบาทโดดเด่นทั้งเรื่องการส่งทีมไปปาดน้ำตารายงานความทุกข์ยากแสนสาหัสลุยน้ำกันเห็น ๆ ออกทีวีเช้าเย็นลากข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาสั่งราชการทางอ้อมแถมด้วยตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยช่อง 3 มีการบริจาคท่วมท้น

มติชนสุดฯ (ซึ่งคงไม่ต้องมาดัดจริตนิยามกันแล้วว่าเป็นสื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทย)ได้ทีจับสรยุทธ์มาแต่งซุปเปอร์แมนขึ้นปกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 พาดหัวเก๋ไก๋ไฉไลเกิ้นนนน..ว่า“พระเอกตัวจริง” ซึ่งไม่ต้องอธิบายต่อว่ามันมีนัยสะท้อนให้คิดต่อว่าแล้วใครล่ะที่เป็น “พระเอกตัวปลอม”และมีผลแคนนอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งระดับไหน !!?

อันที่จริงคุณูปการของสรยุทธ์และช่อง 3 ในห้วงนั้นก็มีอยู่โดยเฉพาะการกระตุ้นให้คนไทยมีจิตสาธารณะยื่นมือมาช่วยผู้ประสบอุทกภัย แต่ในความดีงามดังกล่าวก็มีผลทางการเมืองแฝงอยู่ไม่เพียงเท่านั้นผลที่ไม่พึงประสงค์ก็มีแฝงอยู่เพราะอิทธิพลของสื่อหลักมีผลตรงต่อทัศนคติของสังคม กระแสการรายงานแบบดราม่าทำให้ภาพของปัญหาน้ำท่วม(ที่เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ของคนที่ราบภาคกลาง)กลายเป็นสภาวะไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งแปลกแยกเป็นปัญหารันทดเป็นความทุกข์ยากแสนสาหัส ฯลฯ ขึ้นมา

ผมเชื่อของผมว่าการ Built ของสื่อดราม่าที่บ่มสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่ออาการตื่นตระหนก Panic เกินเหตุของคนกรุงในปีนี้นอกเหนือจากปัจจัยที่เมืองกรุงฯ ว่างเว้นจากศึกน้ำมาหลายปีจนคนรุ่นใหม่แทบไม่มีประสบการณ์รับมือกับน้ำท่วมเลย

ในที่สุดกาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าคำพรรณาของสื่อแบบดราม่าเมื่อพ.ศ. 2553 ในทำนองว่านี่เป็นน้ำท่วมสาหัสในรอบหลายทศวรรษ ท่วมมากท่วมใหญ่อะไรทั้งหลายแหล่เร้าอารมณ์ให้คนตาตื่นนั้นมันแค่เด็ก ๆ เมื่อเทียบกับภาวะผลกระทบและพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในปีนี้

น้ำท่วมรอบนี้สาหัสจริง ๆ ทั้งต่อคนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม มองในแง่ดีการที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่กับข่าวสารติดตามสถานการณ์น้ำย่อมทำให้เกิดความเข้าใจต่อภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ระบบของน้ำฯลฯ มากขึ้นชื่อคลองที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนก็ได้รู้จักตอนนี้ มวลน้ำเป็นก้อน ๆ ไหลแบบไหนไปทางไหน เจ้า ลบ.ม.ต่อวินาทีนี่มันขนาดไหน ฯลฯ และที่สำคัญมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่เราบังเกิดตาสว่างขึ้นมา

ข้อมูลข่าวสารที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ต ในโซเชี่ยลมีเดียมีทั้งแบบบวกลบต่อรัฐบาลก็ปกติของสื่อประเภทนี้แหละครับที่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวใส่ลงไป ขาที่เชียร์รัฐบาลก็พยายามจะเตือนสติกันให้ระวังการเสพข่าวจากโซเชี่ยลมีเดียและให้ดูจากสื่อที่เชื่อถือได้เช่น NBT (ฮา!) แต่โดยรวมคือขาที่เชียร์รัฐบาลอยากให้คนเลิกเสพอะไรที่มันดราม่า กระตุ้นอารมณ์ในทำนอง Emotional Report

สกู๊ปเรื่อง “หยุดกวนน้ำให้ขุ่น ขวางรัฐบาลแก้อุทกภัย”ของ DNN (ทีวีแดง) ที่แพร่หลายในเฟซบุ้คตอนหนึ่งเขาก็บอกตรง ๆ ทำนองว่า “การรายงานข่าวก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมเกินจริง ไปรายงานในที่ท่วม เร้าอารมณ์ผู้ชม ข่าวควรรายงานเฉพาะข้อเท็จจริง การรายงานใช้คำว่าวิกฤตและน้ำท่วมหนักทั้ง ๆ บางแห่งไม่หนัก”

ฟังสกู๊ปชิ้นนี้ปุ๊บนึกถึงสื่อดราม่าที่คนเสื้อแดงเคยชื่นชมปั๊บเลย !!

ใครว่าไงไม่รู้ล่ะ ผมฟังสกู๊ปทีวีแดงเรื่องนี้ภาพแรกที่ลอยมาคือสรยุทธ์ใส่ชุดซุปเปอร์แมนเป็นพระเอกลุยน้ำท่วมท่วมกลางสมองมือที่ชูสลอนของผู้ประสบภัยที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส !!!

ทีวีแดงกล่าวไม่ผิดหรอกครับที่ว่าไม่ควรดูสื่อประเภทปาดน้ำตารายงาน วิกฤติโน่น สาหัสนี่เร้าอารมณ์ เพราะหลักการของการรายงานข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ควรใส่อารมณ์เร้าคนดู เพียงแต่มาพูดช้าไปหน่อยคือมาพูดเอาตอนที่รัฐบาลตัวเองมาบริหารประเทศ หากทีวีแดงรายงานเรื่องนี้เมื่อปี 2553 ตอนที่สรยุทธ์ได้รับยกย่องจากมติชนสุดฯ ให้สวมชุดซุปเปอร์แมนเป็นพระเอกตัวจริง อย่าปฏิเสธเลยว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยกลับชมชอบกับวิธีการรายงานข่าวแบบดังกล่าว

จนกระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่บานปลายทะลักเข้ากรุงฯ ศปภ.ที่เคย “เอาอยู่” ก็เลิกใช้คำนี้ไปแล้วเพราะต้องขนของหนีน้ำเป็นผู้ประสบภัยเอง วิธีการรายงานข่าวแบบดราม่าปาดน้ำตาตอกย้ำคำวิกฤติสองคำก็วิกฤติกลายเป็นวิธีการรายงานที่สำนักข่าวเสื้อแดงไม่ชอบ รัฐบาลปูแดงก็ไม่ชอบ คนที่กลาง ๆ อยากฟังข่าวสารเขาก็ไม่ชอบมานาน เรตติ้งสถานีข่าวกลับตกเป็นของสถานีที่รายงานเรียบ ๆ กว้างขวางครอบคลุมไม่ใส่อารมณ์ลงไป พิบัติภัยของจริงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพและความเชื่อถือวิธีการรายงานข่าวของสื่อทีวีพร้อมกันไปด้วย

“พระเอกตัวจริง” ที่มาพร้อมกับ Emotional Report จึงกลายเป็นสินค้าตกยุคพ้นสมัยไปทันที เพราะขนาดสื่อแดง DNN ยังประกาศโต้ง ๆ ว่าไม่นิยมการรายงานแบบเร้าอารมณ์ น้ำท่วมรอบนี้ไม่จำเป็นให้หนังสือรายสัปดาห์ฉบับไหน “ยกใคร” หรือ “อวยใคร” ให้เกินพอดีเพราะพระเอกนางเอกตัวจริงประชาชนจิตอาสามีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ประสบภัย และที่สำคัญน้ำท่วมรอบนี้ยังกระชากหน้ากากของนางเอก พระรอง และตัวประกอบทั้งหลายแหล่พร้อมกันด้วย

นอกจากไม่มีพระเอกตัวจริงแล้ว “นางเอก”ที่นักการเมืองสอพลอจำนวนหนึ่งเคยบอกสรรพคุณกับสื่อมวลชนว่าเธอเป็นซีอีโอนักบริหารมืออาชีพเป็นหญิงแกร่งที่ผ่านกิจการหมื่นล้านมาแล้วก็ถูกน้ำพัดพาหายไปเหลือแค่หญิงกลางคนวัยสี่สิบต้นที่น่าสงสารซีดเซียวเหนื่อยล้าคนหนึ่ง

เมื่อสถานการณ์สร้างวีรบุรุษได้.. สถานการณ์ก็ยังกระชากหน้ากากนางเอกได้เช่นกัน !

น้ำลดตอผุดฉันใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยได้รับ “คำอวย” จากคนเสื้อแดงให้เป็นสุดยอดซีอีโอนักบริหารหญิงแกร่งอะไรนั่นก็ถูกสถานการณ์น้ำพิสูจน์ล่อนจ้อนแล้วว่าเป็นแค่การยกก้นกันเองสื่อไทยสื่อเทศพูดตรงกันว่าเธอขาดภาวะผู้นำ สถานการณ์วิกฤตของประเทศระดับนี้ภาวะผู้นำเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ของการขับเคลื่อนกลไก ของการพยุงรักษาสิ่งต่าง ๆ และต่อการนำพาประเทศให้พ้นจากหายนะภัย

ในแง่ปัจเจกระหว่างคนกับคนผมเห็นใจนายกฯปู-ยิ่งลักษณ์นะครับจำเป็นต้องแบกของที่ไม่อยากแบก บางเวลาต้องกล้ำกลืนกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีความสุขแต่เมื่อนึกถึงส่วนรวมแล้วก็จำเป็นต้องตำหนิ ประเทศชาติไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ออฟฟิศทดลองงาน ประเทศไทยไม่ใช่ของคน 15 ล้านคนที่เลือกเพื่อไทย แต่เป็นของคนอีก 55 ล้านที่ไม่ได้เลือกด้วย

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้เราตาสว่างขึ้นหลายเรื่อง ปัญหาน้ำที่ใกล้ตัวที่สุดแต่คนจำนวนมากกลับไม่เคยมองจนกระทั่งภัยมาจึงได้เห็นว่าผังเมืองเราไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศอย่างยิ่ง ผมนึกถึงเคยมีกลุ่มคนที่ประท้วงโครงการใหญ่อย่างไนท์ซาฟารีและพืชสวนโลกว่าตั้งขวางทางน้ำไหล และจะแย่งสูบน้ำจากพื้นที่ดอยแต่คนส่วนใหญ่ไม่ฟังเหตุผลคำคัดค้านดังกล่าวหาว่าขวางความเจริญจนมาปีนี้ 2554 กระมังที่เหตุผลทำนองว่าไม่ควรสร้างโครงการใหญ่ขวางทางน้ำจึงค่อยดังขึ้นมาในสังคม

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้คนเสพสื่อตาสว่างขึ้นว่า ทันทีที่ภัยลามมาใกล้ถึงตัวเขาจะเลือกเสพและเชื่อสื่อแบบไหน ? แบบเร้าอารมณ์หรือแบบให้ข้อมูลไม่หวือหวา

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้สิ่งที่เราเรียกว่าการเมืองในสถานการณ์ภัยพิบัติชัดเจนขึ้นมา ในยุคหนึ่งมีคนจำนวนหนึ่งชมชอบอยากเห็นการรายงานข่าวแบบเร้าอารมณ์เพียงเพื่อให้กระทบต่อรัฐบาลที่เขาไม่ชอบ แต่พอพวกเขามาเป็นรัฐบาลเองกลับต้องการสื่อที่รายงานเรียบ ๆ ไม่หวือหวาเร้าอารมณ์ และกล่าวหาว่าสื่อที่รายงานแบบดังกล่าวไม่หวังดี (ทางการเมือง) ต่อรัฐบาล

แล้วเราก็ได้เห็นพระเอก-นางเอกที่เคยถูกยกย่องอวยขึ้นในสถานการณ์หนึ่งถูกน้ำของจริงพัดพาหัวโขนคำอวยออกไป ไม่เหลือภาพพระเอก-นางเอกของสังคมการตลาดดราม่า(และการเมืองดราม่า)ต่อไป

โบราณท่านว่าน้ำลดตอผุดเพื่อเปรียบเปรยว่าความจริงที่เคยถูกปิดบังย่อมถูกเปิดเผยสักวันหนึ่งวันยังค่ำ ... แต่ก็น่าประหลาดแท้สำหรับเรื่องบางเรื่องในประเทศสารขัณฑ์ต้องรอให้น้ำท่วมใหญ่เสียก่อนเจ้าตอที่ว่าจึงค่อยผุดขึ้นมาให้ชาวประชาได้เห็นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น