xs
xsm
sm
md
lg

หมีขั้วโลก(71ล้าน)ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สารภาพตามตรงเลยครับว่าแม้ตัวจะอยู่เชียงใหม่แต่ไม่ได้สนใจข่าวคราวเรื่องสวนสัตว์เชียงใหม่จะเอาหมีขั้วโลกเหนือมาอยู่เลยแม้แต่น้อยมัวแต่สนใจเรื่องอื่นทั้ง ๆ ที่เจ้าหมีขั้วโลกสมาชิกใหม่ตัวนี้ถูกวางตัวให้เป็นแม่เหล็กแทนแพนด้าในอนาคตแถมต้องลงทุนก่อสร้างถึง 71 ล้านบาท

อันดับแรกต้องตำหนิตัวเองอย่างรุนแรงเพราะโดยอาชีพแล้วไม่สามารถจะแก้ตัวใด ๆ เลยว่าไม่รู้.., แต่เมื่อมาตรวจสอบอีกรอบก็ปรากฏว่าคนเชียงใหม่รอบ ๆ ตัวไม่ว่าเพื่อนในซอย เพื่อนในโต๊ะอาหาร และเพื่อนในกลุ่มแทบทุกคนก็ไม่รู้..จนกระทั่งสวนสัตว์มีคัตเอาท์โปรโมตเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันและก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สัตว์อาทิ หมอหม่อง-น.พ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณนิคม พุทธา ฯลฯ และจะมีเพื่อนสื่อมวลชนจากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมมาลงพื้นที่เชียงใหม่เพื่อติดตามโครงการดังกล่าว

ผมตรวจดูข่าวเก่าพบว่าศูนย์ข่าวภาคเหนือของเอเอสทีวีผู้จัดการรายงานเรื่องนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ชิ้นก็แทบไม่มีคนมาคลิกอ่าน ชิ้นนึง 200 กว่าคลิกส่วนอีกชิ้น 120 กว่า (หลังจากนำเสนอเรื่องนี้หวังว่าคงมีจำนวนคลิกมากขึ้น) ตอนที่ผู้บริหารสวนสัตว์แถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้เชิญสื่อมวลชนร่วมงานวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคมปีที่แล้วตอนนั้นที่กรุงเทพฯเพิ่งจะผ่านพ้นวาระเผาบ้านเผาเมืองมายอมรับว่าช่วงดังกล่าวไม่มีกะจิตกะใจอ่านข่าวอื่นเลยนอกจากสนใจปัญหาการเมืองเป็นหลักซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็คงเป็นเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อ 26 มีนาคมไม่กี่วันที่ผ่านมาผู้บริหารสวนสัตว์แถลงความคืบหน้าโครงการนี้อีกครั้งว่าก่อสร้างแล้วเสร็จไป 30% จะเปิดบริการในปี 2556 ซึ่งนอกจากหมีขั้วโลกแล้วก็จะมีเพนกวินคิงมาแสดงด้วย

ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่จึงต้องรีบทำการบ้านไว้ก่อน ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ของสวนสัตว์พบว่ามีคลิปวีดีโอ.นำเสนอโครงการ Polar World Chiang Mai อยู่จึงรีบคลิกไปเข้าดูรายละเอียดด้วยความดีใจที่สวนสัตว์มีช่องทางเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนทราบที่ดีมากเมื่อเทียบกับองค์กรรัฐอื่น ๆ เนื้อหาในคลิปความยาว 10.35 นาทีเกริ่นนำด้วยปัญหาโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วก็โยงมาถึงสวนสัตว์จึงได้มีโครงการมูลค่า 71 ล้านบาทนี้ขึ้นมา ในนั้นยังบอกด้วยว่าตึกหลังใหญ่ที่ออกแบบให้มีอุณหภูมิเหมือนขั้วโลกหลังนี้มีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ เช่นส่วนวิจัย ที่ชั้นลอยก็เป็นพื้นที่แบ่งให้เอกชนเช่าค้าขายเชิงพาณิชย์ ถัดไปก็เป็นร้านของที่ระลึก ฯลฯ เป็นต้น

จะว่าไปแล้วคลิปนี้ก็ให้รายละเอียดเบื้องต้นได้พอสมควรแม้จะไม่ลงข้อมูลสำคัญที่ประชาชนควรรู้ส่วนอื่น ๆ ก็ตาม..ผมก็เลยทำลิงค์โพสต์ขึ้นเฟซบุ้คเมื่อวันอาทิตย์แปลกดีพอเช้าวันจันทร์(11เม.ย.)คลิกเข้าไปดูอีกรอบดูไม่ได้เสียแล้วระบบมันบอกว่า Access Denied (ใครสนใจคงต้องติดต่อสวนสัตว์เองหรือว่าถ้าหากติดขัดวันหยุดหรือยังไงถามมาทางนี้ก็ได้เพราะโหลดมาไว้แล้ว) ผมคิดว่านี่เป็นภารกิจพื้นฐานของหน่วยงานรัฐที่ต้องทำตัวเองให้โปร่งใส ยิ่งโครงการใช้เงินของประชาชนมากเท่าไหร่ยิ่งต้องตั้งใจเปิดเผยข้อมูลของโครงการนั้นให้มากที่สุด และทางสวนสัตว์หรือกระทรวงทรัพย์ฯเองก็ต้องทำใจครับว่าโครงการลักษณะนี้อย่างไรเสียก็ต้องมีคนสนใจมีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วยหากกระทำตนเป็นองค์กรยุคใหม่ก็ต้องพร้อมเจรจาให้ข้อมูลและเหตุผลเพื่อให้เกิดการถกเถียงผ่านสาธารณะที่ประชาชนได้ประโยชน์จริง

ตอนที่สวนสัตว์ฯ (ซึ่งคงหมายถึงรัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิตติด้วย) ตัดสินใจทำโครงการนี้เป็นห้วงเวลาที่ลูกหมีขาวขั้วโลกที่ชื่อว่า “คนุต” กำลังโด่งดังในเยอรมันกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของทั่วโลกถึงขนาดมีคนแต่งเพลงให้ชื่อว่า Lied: Knut der kleine Eisbär คนุตเปิดตัวต่อสาธารณะเมื่อปี 2007 ช่างน่าบังเอิญมากที่พอถึงปี 2010 สวนสัตว์ประเทศไทยจึงได้คิดทำโครงการ Polar World Chiang Mai ขึ้นมาด้วยความพิสดารแบบไทย ๆ เพราะการเอาสัตว์ขั้วโลกมาอาศัยอย่างปกติสุขในเมืองร้อนมันต้องลงทุนเป็นพิเศษถึง 71 ล้านบาทแต่เมื่อคิดจินตนาการว่ามันจะคุ้มค่าในทางเม็ดเงินหรือไม่ ? มันก็ก้ำกึ่งอยู่ขึ้นกับว่าเราจะคิดต้นทุนกำไรกันแบบไหน แต่ที่แน่ ๆ มีโครงการลักษณะนี้ทีไรคนที่ยิ้มกว้างเป็นพิเศษล้วนแต่เป็นนักการเมืองหรือไม่ก็ผู้บริหารระดับสูงทุกทีไป

ผมคิดเอาเองว่าสวนสัตว์เริ่มโชคไม่ดีแล้วล่ะครับ เด้งแรกสืบเนื่องจากเจ้าคนุตน้อยที่น่ารักแห่งสวนสัตว์เบอร์ลินจู่ ๆ ก็ตายลงในวัยแค่ 4 ขวบเป็นข่าวช็อคไปทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง แม้เจ้าคนุตจะไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติทางใดกับคุณโสภณ ดำนุ้ย หรือรัฐมนตรีสุวิทย์ (ฮา) แต่มันยิ่งทำให้กระแสปกป้องหมีขั้วโลกยิ่งโหมแรงขึ้น องค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าระดับโลกเขาสนใจเรื่องหมีขั้วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะโลกร้อนและการหดตัวของขั้วโลก เมื่อไม่กี่วันมานี้ช่อง Discovery ก็เพิ่งฉายสารคดีว่าด้วยปัญหานี้เขาฉายภาพหมีน้อยที่ตายเพราะขาดอาหารที่สืบเนื่องจากธรรมชาติเปลี่ยนแปลง การที่จู่ ๆ สวนสัตว์เมืองร้อนเอาหมีขั้วโลกมาจัดแสดงในนามของการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์มันก็แปลก ๆ พิลึกพิกลอยู่ ส่วนที่เด้งที่สองก็คือว่านับจากนี้สังคมไทยส่วนหนึ่งคงจะจับตามองโครงการนี้อย่างจริงจัง สวนสัตว์คงจะต้องอยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์และแน่นอนว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วยก็จะดังขึ้นทันทีที่ข่าวคราวของโครงการนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างจริงจัง

ไม่ต้องถึงกับหมอหม่อง หรือคุณนิคม ที่นักอนุรักษ์สัตว์มืออาชีพที่มีความรู้ความชำนาญความเข้าใจ แค่ระดับตัวผมก็ยังมีข้อสงสัยเลย ยกตัวอย่างเช่นเราต้องผลิตความเย็นภายในอาคาร 2,900 กว่าตร.ม.แบบไหนถึงจะให้สัตว์ขั้วโลกอยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่ถูกต่อว่าจากคนรักสัตว์ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเปิดเครื่องทำความเย็นตลอดวันตลอดคืนเพราะต่อให้หน้าหนาวของเชียงใหม่จะหนาวสุด ๆ แค่ไหนมันก็คือความร้อนอบอ้าวของหมีขั้วโลกอยู่ดี ข้อมูลเหล่านี้สวนสัตว์ยังไม่ได้บอกกับสาธารณะว่าต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาเพื่อการนี้เดือนละเท่าไหร่ ? คิดเป็นเม็ดเงินกี่บาท ? และคิดเป็นพลังน้ำจากเขื่อนจำนวนเท่าไหร่เพื่อบำเรอเจ้าหมีเจ้าเพนกวินและรายได้ผ่านประตูของสวนสัตว์

เชื่อขนมกินได้เลยครับว่าสวนสัตว์คงจะถูกถล่มในประเด็นว่าด้วย วัตถุประสงค์ของโครงการ(ที่ใครไม่รู้เขียนไว้อย่างสวยงามน่าหลงใหล)ว่า “เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของขั้วโลก รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของขั้วโลก และเป็นแหล่งศึกษาวิจัยอนุรักษ์พันธุ์หมีขั้วโลกและนกเพนกวิน” เอาแค่วัตถุประสงค์และความเป็นจริงที่โหดร้ายของธุรกิจสวนสัตว์ แค่นี้สวนสัตว์ก็คงอ่วมแล้วล่ะครับ เพราะตอบคำถามยังไงก็คงไม่มีใครยอมเชื่อว่าประเทศไทยอาสาตัวลงทุนในการนี้เพื่อการอนุรักษ์หมีขั้วโลกและเพนกวิน (ฮา)

กิจการสวนสัตว์ของโลกยุคใหม่เป็นผลพวงมาจากโลกยุคอาณานิคมที่ยุโรปได้ตระเวณออกไปทั่วโลกเพื่อรวบรวมพันธุ์สัตว์พรรณพืชมาเก็บไว้ จะว่าไปแล้วกิจการสวนสัตว์เป็นกิจการที่มีรากเหง้าของ “เจ้าและอำมาตย์”ล้วน ๆ ระดับไพร่ทั้งหลายอย่างเก่งก็แค่ละครสัตว์เร่เท่านั้น 100-200 ปีก่อนผู้ดีในยุโรปมีสวนขนาดใหญ่และมีสัตว์เพื่อการล่าพอมายุคใหม่การที่มีสวนสัตว์ และสวนพรรณไม้ อย่างอังกฤษดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดินก็มี Kew Garden ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Royal Botanic Gardens ไว้เก็บพรรณไม้จากทั่วโลก และอังกฤษเองที่เป็นต้นแบบของสวนสัตว์ยุคใหม่ให้กับประเทศอื่น ๆ นำไปเลียนแบบแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าการก่อตั้งสวนสัตว์เชียงใหม่เองก็มาจากฝรั่งเป็นผู้เริ่มทำกิจการนี้ตามธรรมเนียมที่แพร่หลายในยุคนั้น

พอปลายศตวรรษที่ผ่านมา ก็คือในช่วง 15-20 ปีมานี้กระแสการเปลี่ยนแปลงในวงการสวนสัตว์เกิดขึ้นมาโลกทั้งใบเขาไม่ยอมรับการกวาดต้อนสัตว์มาขังมาทำกำไรเหมือนคระละครสัตว์จึงมีการประดิษฐ์คำสวย ๆ เท่ ๆ ยกระดับกิจการสวนสัตว์ขึ้นมาเป็นกิจการเพื่อการอนุรักษ์สัตว์อะไรทำนองนี้ ตัวอย่างเพิ่งไปค้นในวิกิพีเดียเช่น New York Zoological Society เปลี่ยนชื่อเป็น Wildlife Conservation Society โดยสรุปแล้วโลกยุคใหม่เขาเริ่มมีกรอบสายตาและมาตรฐานตัวใหม่ว่าด้วยการเอาสัตว์จากป่ามาขังกรงให้คนดูจากดิบ ๆ ห่าม ๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการอนุรักษ์และให้มีเงื่อนไขการปฎิบัติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่เป็นการทรมานสัตว์ อย่างไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่เขาก็พยายามจะเลี่ยงใช้ศัพท์การอนุรักษ์ทั้งหลายแหล่นี่แหละเอามาบังหน้ากิจการ “ขาย” นักท่องเที่ยว (ซึ่งก็ตลกดีเหล่าคนที่สนับสนุนปกป้องกิจการที่มีรากเหง้าสวนสัตว์อำมาตย์ล้วนเป็นไพร่เสียเป็นส่วนใหญ่)

มาถึงยุคนี้มันก็ไม่มีใครหลอกใครได้ง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อนแล้วล่ะครับ การแลกเปลี่ยนสัตว์ การซื้อขายสัตว์เป็นวงการที่มีผลประโยชน์มหาศาลและจำเป็นต้องให้รัฐมาเอี่ยวในนามของข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือการศึกษาวิจัย ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วมันก็คือการซื้อขายสัตว์มาเปิดการแสดงหาตังค์ใช้กัน ส่วนนักการเมืองก็กินหัวคิวค่าก่อสร้างกันไปจะมาหลอกคนไทยด้วยกันเองทำไมว่าเราเสนอตัวไปศึกษาวิจัยสัตว์ขั้วโลก (เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อน) มันตลกง่ะครับ ประเทศไทยยื่นมือออกไปแร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการพ่นความร้อนและสารจากเครื่องทำความเย็นออกสู่อากาศ

เอาเป็นว่าเรื่อง Polar World Chiang Mai ยังไม่จบหรอกนะครับที่เขียนเพราะทราบว่าหมอหม่อง น.พ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ ในนามเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทยและองค์กรพันธมิตรจะมีการนัดหมายเสวนาว่าด้วยเรื่องการจัดแสดงหมีขั้วโลกของสวนสัตว์เชียงใหม่..การศึกษา หรือ ทรมานสัตว์ (alternate title : น่าภูมิใจ เชียงใหม่ เมืองแห่งหมีต่างแดน ??) ในวันที่ 23 เมษายนนี้ในงานน่าจะมีข้อมูล มีข้อสังเกตและมีวิวาทะออกมาสู่สาธารณะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าสิ่งที่ผมได้บ่น ๆ ไปในบทความ

ผมว่าผู้บริหารสวนสัตว์น่าจะมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนนะครับ เรามาช่วยกันสร้างกระบวนการวิวาทะอย่างเป็นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุด้วยผล และด้วยท่วงทำนองสุภาพเรียบร้อยกันเถิดนะครับ ผมเชื่อว่าทั้งผู้บริหารสวนสัตว์และคณะผู้จัดจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมได้เห็นเป็นตัวอย่างได้อย่างแน่นอน.

กำลังโหลดความคิดเห็น