xs
xsm
sm
md
lg

ข้อท้วงติง : กรณีพรรคพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสำเร็จต้องถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยอีกหน้าหนึ่ง เพราะพรรคการเมืองที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ล้วนแต่มาจาก นายทุน-ขุนศึก-นักการเมืองอาชีพกลุ่มเล็ก ๆ รวบรวมกันตั้งเองแทบทั้งนั้น

ไม่ได้ถือกำเนิดมาจากมวลชนกว้างใหญ่ที่มีฐานอุดมการณ์เดียวกันตามปรัชญาของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

หากจะมีที่ใกล้เคียงบ้างคือมีคนส่วนบนกลุ่มหนึ่งตั้งพรรคขึ้นมาก่อนแล้วค่อย ๆ สร้างฐานมวลชนขึ้นมา โดยแทบไม่ได้กล่าวถึงชุดความคิดและอุดมการณ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว

3 ปีกว่า ๆ นับจากวันแรกของการก่อตั้งพันธมิตรฯ จนถึงบัดนี้ “ขบวนการ” และ “กระบวนการ” ของพันธมิตรฯ ได้หล่อหลอมคนจำนวนนับล้านให้มีชุดอุดมการณ์ที่ถือหลักใหญ่ ๆ ร่วมกันภายใต้ชื่อการเมืองใหม่ ซึ่งก็คือ การพยายามเข้าใกล้การเมืองในอุดมคติให้มากที่สุด อย่างน้อยคือการเมืองที่พยายามหลุดให้พ้นจากวงจรอุบาทว์แบบการเมืองเก่า

ถามว่า–พรรคการเมืองที่พันธมิตรคิดจะตั้งขึ้นมีโอกาสและความเป็นไปได้จะ “ประสบความสำเร็จ”หรือไม่ ?

ก็ต้องถามกลับไปว่า – “ประสบความสำเร็จ”ในที่นี้คืออะไร นั่นเพราะจุดหมายปลายทางของพรรคการเมืองโดยทั่วไปก็คือการได้อำนาจรัฐ หรือเรียกให้ง่ายขึ้นว่าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากจะมองโลกในแง่ดีอย่างส.ว.คำนูณ สิทธิสมานที่เสนอแนวทาง “ให้กำเนิดการเมืองใหม่จากใจกลางของการเมืองเก่า”แบบค่อยเป็นค่อยไปสมัยแรกไม่ต้องเป็นรัฐบาลโดยเชื่อว่าจะเริ่มต้น “เปลี่ยนแปลง” ชนิดสัมผัสได้อย่างแน่นอน !

แต่ที่สุดเป้าหมายของพรรคการเมืองในระบบก็คือการมุ่งสู่อำนาจรัฐมิใช่หรือ !!?

เท่าที่ตรวจสอบความเห็นท้ายบทความของ ส.ว.คำนูณแบบคร่าว ๆ พบว่าพี่น้องส่วนใหญ่ถึง 70 %สนับสนุนให้ตั้งพรรค แต่ก็ยังมีไม่ไม่น้อยที่ไม่อยากให้หลุดไปจากกรอบของ “การเมืองภาคประชาชน” ที่เป็นอยู่ ซึ่งหากในวันที่มีการประชุมใหญ่พันธมิตรฯ มีพี่น้องเสนอให้ตั้งพรรคพันธมิตรฯด้วยคะแนนขาดลอยขึ้นมาจริง ๆ อยากจะเห็นคนเสื้อเหลืองที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เคารพและรับฟังความเห็นของส่วนน้อยด้วย

แม้โดยทฤษฎีพรรคการเมืองในระบบสามารถเดินควบคู่กันได้กับการเมืองของประชาชนได้จริง รวมทั้งมีผลพิสูจน์ภาคปฏิบัติของพรรคกรีนในยุโรปมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยซึ่งเป็นสังคมการเมืองที่กำลังถอดรูป อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

อะไรที่เหมือนเข้มแข็ง ก็ยังไม่แข็งจริง อะไรที่เหมือนลงตัวก็ยังไม่ลงจริง !

จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์สามารถออกมาได้ทั้งซ้ายขวา ถ้าดีก็ดีไป แต่หากเกิดปัญหาก็อาจจะถึงขั้นสียหายที่อุตส่าห์สร้างสมกันขึ้นมาจะเสียของเปล่า !!!!

หลักการของแนวคิดประชาธิปไตยยุคใหม่ที่เราเริ่มรับมาตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองครั้งแรกระหว่างปี 2539-2540 มองว่าแนวโน้มของฝ่ายบริหารในระบอบรัฐสภามักจะจับมือลากเอาฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปเสวยอำนาจด้วย แนวคิดใหม่ของระบบนี้จึงได้สร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาคานและถ่วงดุลอำนาจ ของฝ่ายบริหาร+นิติบัญญัติ

และที่สำคัญพลังทางสังคมภายนอกคือ การเมืองของประชาชนและสื่อมวลชน จะเป็นอีกกลไกสำคัญที่มากำกับไม่ให้ผู้ใช้อำนาจรัฐ (ซึ่งถูกออกแบบให้เข้มแข็ง) ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

ตามหลักคิดนี้ การเมืองของประชาชน และสื่อ อยู่ในบทบาทที่ใกล้และคล้ายคลึงกัน

พูดให้ตรงคือขบวนการคนเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ เป็นหนึ่งเดียวกับ เอเอสทีวี-ผู้จัดการได้

ในทางกลับกันพรรคการเมืองของพันธมิตรจะมาเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับเอเอสทีวีไม่ได้

พรรคการเมืองใช้เอเอสทีวีเป็นกระบอกเสียง ส่วนเอเอสทีวีเสนอแต่ข่าวพรรคฯ แม้จะระวังไม่มีอคติในการเสนอข่าวของคู่แข่งแต่ที่สุดมันก็ยังทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อลดลง .... ทั้งพรรคทั้งสื่อกอดคอกันจมน้ำทั้งคู่ !!!

คู่ที่ถูกต้องคือ พันธมิตร + สื่อ = พลังของฝ่ายประชาชนเพื่อการตรวจสอบ

แต่ไม่ใช่ พรรคการเมือง + สื่อ = การลดทอนพลังตนเองของสื่อ และพรรคขาดความชอบธรรม


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็น การเมืองภาคประชาชน...เป็นโอกาสของสังคมการเมืองยุคใหม่ที่มีประชาชนผู้กระตือรือร้นมีสำนึกสาธารณะประกอบอยู่ในโครงสร้าง

( แม้จะมีนักวิชาการบอกว่าพันธมิตรฯไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนก็ช่างเขาเถอะ บทความนี้ถือว่าใช่ก็แล้วกัน - โดยยึดหลักว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อประโยชน์กลุ่มและประโยชน์สาธารณะย่อมเข้าหลักเกณฑ์นี้ทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ขบวนการประชาชนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อมุ่งอำนาจรัฐ หรือ ทวงคืนอำนาจรัฐให้นักการเมือง แบบนี้ต่างหากที่ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน )

การเมืองภาคประชาชนของพันธมิตรฯ เป็นเด็กก็เพิ่งจะเรียนอนุบาลนะครับ ยังต้องใช้เวลาสร้างสมฟูมฟักเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่าน “ขบวนการ” และ “กระบวนการ” อีกหลายยก

ผมไม่แปลกใจอันใดที่ระยะ 3-4 เดือนมานี้มีข่าวพันธมิตรในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ลงรอยกัน หรือแยกกันเดินเพราะการที่คนมาทำงานร่วมกันต้องอาศัยการเรียนรู้ซึ่งกันและกันพอสมควร สิ่งที่สำคัญที่สุดในระยะนี้คือต้องให้เวลากับ “กระบวนการ” ของประชาชนในระดับพื้นที่เช่นการประชุมหารือ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันบ่อย ๆ และเรียนรู้ทัศนคติระหว่างกัน และเรียนรู้จะจัดการกับความแตกต่าง

เพื่อจะนำไปสู่ชุมชนของประชาชนที่ตื่นรู้ กระตือรือร้น มีสำนึกสาธารณะ และรวมกลุ่มกันจากเล็ก ๆ ขยายเป็นเครือข่าย

เป้าหมายของการเมืองภาคประชาชนคือ เป็นกลุ่มชนที่เป็นเสรีชน ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่มิใช่เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐเสียเอง ใกล้เคียงที่สุดคือรณรงค์เลือกพรรคที่ตนเห็นว่าดี

ขอบเขตระหว่างความมีอิสระเป็นตัวของตัวเองของภาคประชาชน กับ เป็นมวลชนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง....เป็นเส้นแบ่งที่บางมาก !

หากก้าวข้ามเส้นไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบบ...มีแต่หนทางทำร้ายและลดทอนพลังของตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือ หรือเสรีชนพลเมืองก็ตาม !!
กำลังโหลดความคิดเห็น