xs
xsm
sm
md
lg

กราบเรียน ผู้หลักผู้ใหญ่นักสานเสวนา

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เข้าไปดูเว็บไซต์ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล - - ไม่ใช่ว่าตั้งใจจะหาช่องมาโต้แบบไม่รู้เด็กผู้ใหญ่ เพียงแต่ประสงค์จะทำความเข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงของข้อเสนอกระบวนการสานเสวนาเพื่อสันตินั้นคืออะไรกันแน่ ?

ยอมรับว่า ไม่ได้ตามรายละเอียดเบื้องหลังของข้อเสนอที่นำมาสู่การเดินสายแจกเสื้อยืด และพยายามจัดเวทีกลางให้คู่ขัดแย้งได้เจรจากันและกันตามคำศัพท์ “สานเสวนา” ที่แปลมาจาก “Dialogue” เท่าที่ควร
อนุมานเอา, ข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามทฤษฎีนักสันติวิธีคนสำคัญแห่งศตวรรษ 20 ที่ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อนักสันติวิธีในประเทศไทยเวลานี้ ที่ชื่อ เดวิด โบห์ม (David Bohm)

กระบวนการสานเสวนา คือการเปิดพื้นที่ให้บุคคลต่าง ๆ (ที่เกี่ยวกับปัญหา) ได้ก่อความสัมพันธ์(รอบ)ใหม่ ด้วยวิธีการฟังและเจรจาซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้บุคคลหลายฝ่ายได้พูดคุย ตั้งคำถาม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

หนึ่งในข้อสรุปที่อาจจะเกิด (หรือไม่เกิด) อาจจะเป็นความหมายหรือนิยามของคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ทั้งพันธมิตรและ นปก. อ้างถึง ทั้งนี้หัวใจสำคัญของกระบวนการสานเสวนาตามสำนักโบห์ม ก็คือการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ด้วยความตั้งใจจะรับฟังเรื่องราวของอีกฝ่ายด้วยใจจริงหรืออย่างกระตือรือร้น

เท่าที่สังเกตดูการเคลื่อนไหวของนักสานเสวนา มุ่งไปที่ 2 เรื่องหลัก คือ

หนึ่ง-หยุดยิง ในที่นี้หมายถึงการรณรงค์ไม่ให้มีเหตุรุนแรง, ใช้เสื้อยืดเป็นสื่อ, ใช้การเดินสายไปพบแกนนำเกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่...สอง-การเปิดโต๊ะเจรจาแบบที่สองหรือสามฝ่ายเปิดใจรับฟัง

ถ้าเป็นไปตามกรอบนี้ ท่านผู้ใหญ่นักสานเสวนาทั้งหลายเหนื่อยเปล่าแน่ ๆ !

ตอนแรกพันธมิตรฯ ตอบแบบตรง ๆ ว่ายังไม่สน กระแสสังคมก็ซัดใส่พันธมิตร !!!

ไม่เหมือนนายสมชาย รับเสื้อยืดยิ้มถ่ายรูปกับสื่อบอกว่าพรุ่งนี้จะสวมทันที ถ้าแปลตามภาษาของนักสานเสวนาหมายถึง ฝ่ายรัฐบาลยอมรับแนวทางนี้

ซึ่งก็เปล่าทั้งเพ !

เพราะนักการเมืองลิงหลอกเจ้าก็ยังใช้เครือข่ายปลุกระดมไล่ตี ไล่ทุบ ลอบปาระเบิดเหมือนเดิม ไปดูไปฟังได้เลยระดับพื้นที่วิทยุชุมชนก็ยังปลุกถึงขนาดฆ่าได้ก็ฆ่าแล้ว ขณะที่สามเกลอหัวกลมที่ล้วนแต่เป็นคนของรัฐบาลก็ยังใช้ปากไล่ทุบเหมือนเดิม

เมื่อตั้งใจจะไม่ทำ ไม่รู้รับปากสร้างภาพไปทำไม !!?

ขอฉายหนังซ้ำอีกรอบ ปัญหาการเมืองเวลานี้เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ทางหนึ่งจากผู้ไม่นิยมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ , แต่สำหรับกลุ่มที่ยังเชื่อในประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายเหลือง ฝ่ายแดงนั้นก็เดินไปกันคนละทาง

นิยามคำว่าประชาธิปไตยของสีเหลือง กับ สีแดง ต่างกันในเชิงหลักการด้วยซ้ำไป !!

ฝ่ายหนึ่ง มองว่าประชาธิปไตยมีแค่เลือกตั้งก็พอ, นักการเมืองโกงบ้างไม่เป็นไรขอให้ทำงาน, ธรรมาภิบาลไม่ต้องมีก็ได้แล้วแต่ฝ่ายการเมืองว่า, การมีส่วนร่วมไม่จำเป็นเพราะนักการเมืองเก่ง, สิทธิเสรีภาพพื้นฐานบางอย่างของประชาชนไม่จำเป็นต้องมี เช่น เสรีภาพในการรับรู้ People right to know เพราะในยุคทักษิณชาวบ้านขอทราบรายละเอียดโครงการใหญ่ ๆ ไม่เคยได้ ไม่รวมถึงการแทรกแซงสื่อ, ประเทศไม่จำเป็นต้องยึดนิติรัฐ-กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นคือตำรวจกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง, ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายบริหารครอบงำนิติบัญญัติ แม้รัฐธรรมนูญปี 40 จะพยายามแก้ปัญหานี้โดยมีองค์กรอิสระพ่อก็ไล่ตามไปครอบงำจนได้ ฯลฯ

แต่อีกฝ่ายมองตรงกันข้ามสิ้นเชิง ! ยอมรับว่าสีเหลืองก็มีหลายเฉด แต่เชื่อว่าแนวทางหลักของเสียงส่วนใหญ่เชื่อในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ความซับซ้อนของปัญหาไม่ใช่แค่ความคิดขัดแย้งกันเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงผลประโยชน์และความอยู่รอด ที่เดิมพันสูงมาก !

อย่างชินวัตรและวงศ์สวัสดิ์นั้นอาจจะหมายถึงการติดคุกและไม่มีแผ่นดินอยู่ ขณะที่พวกนักการเมืองหมายถึงการหลุดจากวงจรการเมืองเพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนไป.. ผลประโยชน์ทั้งนั้น และมากด้วย

หากมีเวทีเจรจากันบนโต๊ะที่เป็นกลางได้จริง ผมก็ไม่เชื่อว่าจะลงตัวยอมรับแฮปปี้เอ็นดิ้งแบบหนังไทย เพราะว่า หมายถึงการที่ผู้ที่เคยกุมอำนาจมาก ๆ ต้องยอมสละพื้นที่ทางอำนาจของตน, จะต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมหรือกติกาทางการเมืองแบบใหม่ที่ตนเองไม่เคยชิน

ถ้ายอมรับจริงย่อมหมายถึงมีพลังทางสังคมที่มีพลังมากกดดันให้เขายอมรับ มิใช่เงื่อนไขที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

การสานเสวนา คงไม่ได้หมายถึง สองสามฝ่ายเจรจากันแล้วได้ข้อสรุปว่า หัวหน้าอีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดในคดีอาญาหรือคดีทุจริตที่เคยก่อไว้ และไม่ได้หมายถึง คนผิดไม่ต้องรับผิด –ใช่ไหมครับ !!!

ผมมีข้อเสนอที่ไม่รู้ว่าบังอาจเกินไปหรือเปล่าต่อบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในแนวทางสานเสวนา ประการแรกสุดให้เดินหน้ารณรงค์ระงับความรุนแรงต่อไปเถอะครับ หากระดมพลังของประชาชนได้มากเท่าไหร่เป็นกระแสสังคมก็ยิ่งดี เพราะเวลานี้การเมืองกำลังเดินเข้าสู่ความรุนแรงทุกขณะ

ความสำเร็จของการสานเสวนาไม่ใช่การได้จับสองสามฝ่ายขึ้นโต๊ะเจรจา ไม่ว่าผลจะออกมารูปใด.. ตกลงกันได้หรือไม่เป็นจบ / หากแต่ผลสำเร็จก็คือนำพาสังคมไทยสู่การเมืองที่ยั่งยืนและสมดุลอย่างถาวร

การหยุดยิงชั่วคราว หรือโต๊ะเจรจาที่ไม่มีข้อสรุปนั้นไม่ต่างกับการซุกขยะใต้พรม เพาะบ่มเงื่อนไขความรุนแรงต่อไป

ท่านไม่ต้องเข้าข้างพันธมิตรฯ หรือฝ่ายใดหรอกครับ เพียงแต่ย้อนไปทบทวนยุทธศาสตร์ที่มุ่งจัดโต๊ะเจรจาในฐานะคนกลาง เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวได้หรือไม่ ?

ท่าน ๆ ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง หากระดมพลังทางสังคมระดมแรงสนับสนุนจนกลายเป็นพลังที่สาม ลองมุ่งไปสู่การให้ความรู้ ให้ปัญญา ออกทีวี. จัดสัมมนาบ่อย ๆ ขอเงินจากทุกภาคส่วนไปดำเนินการ

บอกกับประชาชนชาวไทยว่า ประชาธิปไตย คืออะไร ? เท่านั้นแหละครับเพราะเวลานี้นิยามความหมายไปคนละทิศละทาง

ผมเชื่อว่า นิยามความหมายของสังคมประชาธิปไตย / และสังคมไทยในฝันของพวกท่านคงจะหมายถึง การเชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพ, หลักธรรมภิบาล, หลักนิติธรรม, หลักการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพแท้จริงเป็นแบบไหน, บรรทัดฐานความรับผิดชอบของนักการเมืองที่ท่านคาดหวัง, กระบวนการยุติธรรมที่ท่านคาดหวัง, การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสทำลายชาติอย่างไร, นโยบายสาธารณะที่ยึดความเสมอภาคเป็นธรรมปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนนักการเมืองเป็นแบบไหน, ประชาธิปไตยที่แท้ต้องเปิดพื้นที่ให้อีกฝ่าย ยอมรับความเห็นต่างไม่ยกพวกไปตีเขาทำอย่างไร ... ฯลฯ

ในฐานะคนเป็นกลางมุ่งให้ปัญญาให้ความรู้ประชาชนในช่วงที่สองฝ่ายไม่ฟังใคร เพื่อให้คนที่อยู่กลาง ๆ เข้าใจและหันมามองปัญหาอย่างมีสติ

แค่ออกไปบอกกับประชาชนที่เหลือว่าสังคมประชาธิปไตยในฝันที่ทั่วโลกยอมรับกันเป็นแบบไหน รณรงค์ให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลยว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ก็จะเป็นพระคุณในระดับสำคัญ !!

เป็นข้อเสนอเพื่อพิจารณาหากว่าท่านเริ่มเบื่อกับการเดินสายแจกเสื้อและไม่รู้ว่าจะเริ่มปูโต๊ะเจรจาได้วันไหน

ไม่ได้บังอาจนะครับ กราบเรียนผู้หลักผู้ใหญ่นักสานเสวนา มาด้วยความเคารพจริง ๆ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น