xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยความคิดสนธิ 2 : ตอน เชฟรอนในอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ในคำปราศรัยของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ว่าด้วยการเมืองเรื่องพลังงานคืนวันที่ 21 กันยายน 2551 มีประเด็นสำคัญที่อยากจะหยิบมาขยายต่ออีกประเด็น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มให้ความสนใจธุรกิจพลังงานเมื่อปี 2547 หลังการเยือนของอัลฟาเยด นำมาสู่การขายชินคอร์ป

ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ขึ้นพูดบนเวทีใหญ่เช้ารุ่งขึ้นในรายการของคุณสำราญ รอดเพชร ตบท้ายว่าได้ข่าวไม่ยืนยันปัจจุบัน ทักษิณเป็นเจ้าของที่ไม่เปิดเผยในบริษัทเกี่ยวกับการขุดเจาะพลังงานในอ่าวไทย โดยอาจารย์ปราโมทย์เอ่ยชื่อ เชฟรอน ขึ้นมา-เหมือนกับอยากจะชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทักษิณ

ในห้วงเวลาที่ทักษิณ และอัลฟาเยดเริ่มสนใจธุรกิจพลังงานในอ่าวไทย มีกรณีโด่งดังระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานในเอเชียและอ่าวไทยเรื่องหนึ่ง ก็คือ การขายกิจการยูโนแคล ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันที่ได้สัมปทานในพม่า อินโดนีเซีย และอ่าวไทย แรกทีเดียวบริษัทน้ำมันแห่งชาติจีนหรือ ซีนุค (CNOOC) เสนอซื้อ 18,500 ล้านดอลลาร์ หากเป็นการซื้อขายโดยเสรีที่อเมริกาเชื่อในปรัชญาทุนเสรี ยูโนแคลจะตกเป็นของจีน แต่ปรากฏว่าจีนซื้อไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องพลังงานระดับโลก

หากจีนได้ยูโนแคลไป เท่ากับ จะมีดุลต่อรองด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เหนือกว่าอเมริกา เรื่องต้องยื้อไปถึงสภาคองเกรส และที่สุด เชฟรอน ก็เข้ามาซื้อกิจการนี้ในปี 2548

เชฟรอน ในปัจจุบัน จึงเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของอเมริกันในพม่า อินโดนีเซีย และ อ่าวไทย รวมถึงเขมร ... เอาเฉพาะในอ่าวไทย เชฟรอนคือยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่ง ส่วน ปตท.นั้นแม้จะมีสิทธิ์ในสัมปทานหลายแหล่งในฐานะเจ้าของพื้นที่ แต่ก็เป็นที่รู้ว่ามีบริษัทเอกชนอีกจำนวนมากที่เข้าไปรับช่วงดำเนินการในแต่ละระดับชั้น

บริษัทเอกชนเหล่านี้แหละ ที่ถูกตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป ... ใครเป็นเจ้าของตัวจริง !!!?

ส่วนในเขมร เชฟรอนมี 3 หลุม และเจอน้ำมันแล้ว 2 ...ไม่ยอมประกาศตัวเลขจริงตามสไตล์ของยักษ์น้ำมันโลก ขณะที่จีนเองก็อยู่ในน่านน้ำเขมรแล้วเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจกรณีที่อเมริกาไม่ยอมให้จีนซื้อยูโนแคล ถือได้ว่าเป็นการกลืนน้ำลายระดับโลก ยอมฉีกคัมภีร์ตลาดเสรีที่ตนยัดเยียดให้โลกทั้งใบถือตามเป็นครั้งแรก ๆ ซึ่งกรณีล่าสุดก็คือธนาคารกลางเฟด เข้าไปอุ้ม เลห์แมน บราเธอร์ส ที่คุณสนธิ ได้เอามาแฉบนเวทีไปแล้ว

เรื่องนี้จึงตอกย้ำอีกรอบว่า ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเอง เมื่อภัยมาสามารถฉีกคัมภีร์และกฎเกณฑ์ได้ อย่างมาเลเซียเคยปิดประตูตลาดเงินทันทีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอดไปได้แต่ไทยเจ๊งเพราะยึดคัมภีร์ตลาดเสรีที่ไอเอ็มเอฟยัดเยียดให้ ...จนวันนี้ฝรั่งต่างชาติก็ยังเข้าไปทำมาหากินในมาเลเซียเหมือนเดิม

กลับมาที่เชฟรอน ยักษ์พลังงานของอเมริกาที่ผงาดเหนืออ่าวไทยและทะเลเขมรอีกครั้ง ผู้บริหารเบอร์หนึ่งของบริษัทแห่งนี้คนหนึ่งชื่อว่า นางคอนโดลีซ่า ไรซ์ ต่อมาก็เข้ามาเป็นรมว.ต่างประเทศของรัฐบาล บุช เรื่องราวแบบนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกในการเมืองอเมริกัน เพราะยุคบุชรุ่นพ่อ หรือแม้แต่รุ่นก่อน ๆ (อ่านตามรอยความคิดสนธิ1ยังมีอีกหลายรายชื่อตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกเป็นต้นมา )

บุคคลในอดีตเหล่านี้แสดงถึงความคาบเกี่ยวของบริษัทน้ำมันกับอำนาจบริหารในทำเนียบขาว ..กิจการน้ำมันในอินโดนีเซีย ติมอร์ ก็มีคนพวกนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือล่าสุดกลุ่มฮัลลิเบอร์ตันที่สวาปามอิรัคเวลานี้ก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับอดีตรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ และ เจมส์ เบเกอร์

สรุปความได้ว่า ตอนที่ทักษิณ เริ่มสนใจธุรกิจพลังงาน ได้มีเหตุการณ์ระดับโลกที่แสดงให้เห็นว่า มหาอำนาจ ทั้งจีน และอเมริกา สนใจในกิจการพลังงานของเอเชียอาคเนย์เป็นพิเศษ

เรื่องอื่นไม่รู้ แต่เรื่องเงินเรื่องทองต้องคารวะทักษิณสักจอก เพราะแกจมูกไวเหลือเกิน !!

ปี 2549 ทักษิณ เดินทางไปกัมพูชาหลายครั้ง และมีนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดการเจรจาปักปันเขตแดนที่ค้างคามานาน โดยเปลี่ยนนโยบายยื่นข้อเสนอกับกัมพูชาว่า ให้รวมการเจรจาเขตแดนที่ทับซ้อนกันบริเวณเขาพระวิหาร กับ เขตทับซ้อนทางทะเลพร้อมกันไป

อันที่จริงการเจรจาเขตแดนนั้นเป็นกลยุทธ์ชั้นสูง การเปลี่ยนท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ หากยังจำกันได้ในช่วงนั้น คุณสนธิ เคยเปิดประเด็นเรื่องการจะเสียอธิปไตยที่เกาะกูด เพราะว่าเขมรได้ขีดเส้นอ้างสิทธิ์ทางทะเลทับเกาะดังกล่าวด้วย

ข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไม่อยากจะพูดมากนัก ก็คือ สถานะของการเจรจาเขตแดนทางทะเลระหว่าง ไทย-เขมรนั้น เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเขาแต่อย่างใดเลย

เป็นฝ่ายรับ ..ว่างั้นก็ได้ !!

สืบเนื่องจากว่าประเทศไทย ได้ประกาศยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่าง ไทย-เวียดนาม เอาไว้ก่อนหน้าในยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมา มาเลเซียก็ประกาศรับรองเส้นดังกล่าวแล้วด้วย ... เส้นไทย-เวียดนาม จึงเป็นหมุดหมายอ้างอิงสำคัญประการหนึ่งบนโต๊ะต่อรอง เพราะเขมรได้อ้างถึงเส้นนี้ โดยเส้นพรมแดนที่เขมรอ้างนั้นขีดไว้โดยอ้างอิงหลักการเดียวกับเวียดนาม แถมยังต่อเชื่อมสนิทกันดี

นี่แหละครับที่เป็นเบื้องหลังว่า ทำไมการเจรจาเขตแดนทางทะเลไทย-เขมร จึงไม่คืบหน้าแม้ทั้งสองฝ่ายจะรู้ทั้งรู้ว่า มีแหล่งพลังงานมหาศาลที่เขตดังกล่าว เพราะหากพลาดขึ้นมานิดเดียวหมายถึงการเสียพื้นที่ทางน้ำหลายร้อยตารางกิโลเมตร แถมพลังงานอีกมหาศาล

ไทยนั้นเป็นฝ่ายรับ ต้องรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง ..ปรากฏทักษิณสั่งเป็นนโยบายต้องเร่งรัดเจรจาให้เสร็จซึ่งเท่ากับสั่งให้เราเดินไปหาร่องแข้ง... คนวงในเขาจึงโวยออกมาในช่วงนั้น

โชคดี ที่ทักษิณถูกรัฐประหารเสียก่อน !

อ่านเอกสารรายละเอียดแนบท้ายเพิ่มเติมกันดีกว่าครับ ไม่ยาวมากแบ่งเป็นตอน ๆ ให้อ่านง่ายหวังว่าจะเสริมสิ่งที่คุณสนธิได้พูดไปก่อนหน้าในอีกอรรถรสหนึ่ง

เรื่องน้ำมันในอ่าวไทยและเขมรซึ่งกำลังจะกลายเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์การเมืองเรื่องพลังงานโลก มีมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวชัดเจนทั้งยังเริ่มเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดภาคใต้มากขึ้น ๆ เกริ่นไว้ว่า จุดที่ตั้งของสามจังหวัดนั้นคุมปากอ่าวไทย-เขมร พอดี และยังคุมคอคอดกระ-แลนด์บริดจ์ด้วย หากเกิดโครงการนี้

คุณสนธิ ปล่อยเรื่องนี้ออกมาเล็ก ๆ แล้วว่าหาก 3 จังหวัดหลุดจากประเทศไทย เส้นพรมแดนของจุดดังกล่าวลากมาทับแหล่งผลประโยชน์ในทะเลของเราพอดี

จะนำรายละเอียดเรื่องนี้ มานำเสนอต่อในตอนที่ 3 ..แล้วพบกันครับ !

..........................

กรณีศึกษา ยูโนแคล : ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์พลังงานเอเชีย
น้ำมัน แยกไม่ออกจากยุทธศาสตร์ความมั่นคง


ยูโนแคล เป็นบริษัทน้ำมันที่ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ระดับโลก แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทน้ำมันอันดับ 9 ของอเมริกา แต่ก็ถูกคู่แข่งอับดับ 1-5 ทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น

ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีข่าวถูกเสนอซื้อ - - ยูโนแคล ผลิตน้ำมันได้เพียง 0.23 % ของกำลังการผลิตโลก และผลิตได้0.3% ของการบริโภคภายในสหรัฐอเมริกา

มีน้ำมันสำรองอยู่ในมือ (สัญญาสัมปทาน) 1,750 ล้านบาร์เรล ส่วนใหญ่คือ 980 ล้านบาร์เรลอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทย และพม่า

บริษัทน้ำมันแห่งชาติจีนหรือ ซีนุค (CNOOC) เสนอซื้อ 18,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ6.6แสนล้านบาท) แต่ที่สุดก็ซื้อไม่ได้ ทั้งๆที่ บริษัทเชฟรอน เสนอซื้อในราคาเพียง 16,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

อเมริกาไม่ยอม จึงให้ บริษัท เชฟรอน ยักษ์ใหญ่วงการน้ำมันโลกเข้าไปซื้อสำเร็จ

ในทางเปิด เชฟรอนบอกว่า ได้ล็อบบี้สมาชิกวุฒิสภา ออกมาคัดค้าน วุฒิสภาจึงมีมติคัดค้านด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อ้างว่า รัฐบาลจีนอุดหนุนด้านการเงินให้บริษัทซีนุคกู้มาซื้อกิจการของอเมริกาโยคิดดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม

อเมริกา หาเหตุผลแบบสีข้างเข้าถู แต่ก็ชนะในศึกนี้ ...ทั้งๆ ที่อเมริกาเองเป็นเจ้าของปรัชญาการค้าเสรี ใครใคร่ซื้อ-ซื้อ เอาราคาเข้าว่ากัน

เบื้องหลังของการที่จีนถูกปฏิเสธครั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า น้ำมันสำรอง ในไทย และพม่า นั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของจีน และเป็นแหล่งที่อยู่ใกล้ที่สุด สามารถขนส่งทางบกขึ้นไปได้

นี่จึงเป็นการต่อสู้กันในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง มากกว่า การต่อสู้ในเชิงธุรกิจ !

ผลพวงของการซื้อยูโนแคลของเชฟรอน ทำให้ บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐอเมริกา กลายเป็น ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้

เชฟรอน ก็คือ เจ้าของกิจการค้าน้ำมัน คาลเท็กซ์ ที่คนไทยรู้จักกันดี

ในส่วนของการผลิตปิโตรเลียม เชฟรอนมีแท่นที่ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 180 แท่นในอ่าวไทย ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) 46,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 1,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

เชฟรอน เข้ามาไทยพร้อมๆ กับยูโนแคล และเป็นผู้ที่ค้นพบแหล่งก๊าซแห่งแรก ที่แหล่งเอราวัณ (ใกล้สุราษฎร์) เมื่อปี 2516 และได้สัมปทานผลิตจากแหล่งเดียวกันเมื่อปี 2526

ปัจจุบันนอกจากได้สิทธิ์ผลิตน้ำมันหลายแปลงในเขตไทยแล้ว ยังได้สิทธิ์เดียวกันในพื้นที่คาบเกี่ยว ไทย-กัมพูชา ซึ่งถือว่า เป็นเขตที่มีปิโตรเลียมสมบูรณ์ที่สุดด้วย

ล่าสุดเป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ระบุว่า เชฟรอน ซึ่งได้สัมปทานขุดเจาะน้ำในในกัมพูชา กำลังจะเริ่มผลิตได้ในปี 2551 แต่ก็ไม่เปิดเผยปริมาณที่ชัดเจน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กัมพูชามีน้ำมันดิบในพื้นที่ของตนไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาร์เรล

การเมืองเรื่องพลังงาน
จีน-อเมริกา-ไทย


@ กรณีศึกษา ที่อเมริกาไม่ยอมขายยูโนแคล ให้กับจีน เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า การเมืองเรื่องพลังงาน เป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่ปริมาณน้ำมันสำรองของโลกเริ่มหดตัวลง

จีนบริโภคน้ำมันและพลังงานเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัวจากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ต้องเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานของตนเอง เช่น เมื่อพลาดหวังจากการซื้อยูโนแคล บริษัทน้ำมันอีกรายของจีนชื่อ “China National Petroleum Corporation” หรือ CNPC ประสบความสำเร็จในการเข้าประมูลซื้อกิจการบริษัทน้ำมันแคนาดาที่เข้าไปลงทุนขุดเจาะน้ำมันในประเทศคาชัคสถาน โดยใช้ชื่อว่า บริษัทปิโตร-คาชัคสถาน หรือ PK โดยเสนอซื้อในมูลค่าสูงถึง 4,180 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ถือเป็นการซื้อ-ขายบริษัทในต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ธุรกิจจีนทีเดียว

สำหรับในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ปรากฏว่า บริษัทซีนุคได้สิทธิ์สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำกัมพูชา ที่เชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับ ปตท.สผ.ของไทย และ เชฟรอน จากอเมริกา ... เพียงแต่ว่า เชฟรอน ได้ประกาศความสำเร็จในการพบแหล่งน้ำมันดิบก่อนคู่แข่งอื่นๆ ไปก่อนแล้วเท่านั้น

ไม่เพียงแต่การแสวงหาแหล่งพลังงานของตนเองเท่านั้น เส้นทางการขนส่ง และต้นทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไม่กว่ากัน

เส้นทางการขนส่งน้ำมันทางทะเลปัจจุบันจากตะวันออกกลาง ต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกาผ่านสิงคโปร์

จีนจึงมีความพยายามจะแก้ปัญหาด้วยการทำท่อน้ำมันจากอ่าวเมาะตะมะ ผ่านพม่าเดินขึ้นเหนือเข้าสู่มณฑลยูนนานโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้นจีนยังให้ความสนใจในโครงการคอคอดกระ หรือ คลองไทยของประเทศไทยอย่างยิ่งด้วย

เชฟรอน-ยูโนแคล ในอ่าวไทย :

ยูโนแคล เป็นบริษัทน้ำมันรายแรกที่เข้ามาในประเทศไทย จากการเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2504 ซึ่งสอดคล้องกับการเข้ามากำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทยโดยอเมริกา (แผนพัฒนาฉบับที่ 1) รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

พ.ศ. 2505 ยูโนแคล ที่เดิมชื่อว่าบริษัท Union Oil Company of California ได้รับสิทธิ์สำรวจ-ขุดเจาะในภาคอีสาน ถือเป็นเอกชนรายแรกที่ได้สิทธิ์นี้

พ.ศ. 2510 รัฐบาลเริ่มเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตและสำรวจในเขตอ่าวไทย มีบริษัทต่างชาติ 6 รายได้รับสิทธิ์

พ.ศ. 2516 Union Oil เริ่มพบก๊าซในแหล่งเอราวัณ (ตรงกับบริเวณสุราษฏร์ธานี)

พ.ศ. 2523 เป็นยุคเริ่มต้นของ ยุคโชติช่วงชัชวาล โดยบริษัท Texas Pacific พบก๊าซธรรมชาติที่แหล่งบงกช นับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ (ตรงกับบริเวณจังหวัดสงขลา)

ยูโนแคล ได้สัญญาสำรวจและขุดเจาะหลายแปลง เรื่อยมานับตั้งแต่บัดนั้น

พ.ศ. 2548 ยูโนแคล เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกจากการที่ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน หรือ ซีนุค (CNOOC) เสนอซื้อกิจการแห่งนี้ แต่อเมริกาไม่ยอมขาย ให้ กลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ซื้อไป

ปัจจุบัน เชฟรอน-ยูโนแคล คือผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย และน่านน้ำกัมพูชา

ข้อมูลเผยแพร่จากบริษัทเชฟรอน
ยอดผลิตเฉลี่ยต่อวัน (มกราคม – เมษายน 2550)
ก๊าซธรรมชาติ 1,579 ล้านลูกบาศก์ฟุต
ก๊าซธรรมชาติเหลว 46,913 บาร์เรล
น้ำมันดิบ 91,394 บาร์เรล
ยอดการผลิตสะสม (2524 – เมษายน 2550)
ก๊าซธรรมชาติ 7,546,421 ล้านลูกบาศก์ฟุต
ก๊าซธรรมชาติเหลว 246 ล้านบาร์เรล
น้ำมันดิบ 181 ล้านบาร์เรล
ค่าภาคหลวง (รวมผู้ร่วมทุน)
2524 - 2549 139,359 ล้านบาท (3.50 พันล้านเหรียญสหรัฐ)


เรือน้ำมัน คอนโดลีซ่า ไรซ์ ของ เชฟรอน



เรือบรรทุกน้ำมัน condoleezza rice ของบริษัทเชฟรอน ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้นางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ อดีตกรรมการบริหารของบริษัท(1991-2001) ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะมีกระแสกดดันจากการเมือง

บุช กับ ทุนพลังงาน

ครอบครัวบุช- ทำธุรกิจน้ำมันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 มาตั้งแต่รุ่นปู่

ดิ๊ก เชนี่ รองประธานาธิบดี เคยเป็น CEO ของ Halliburton ผู้ให้บริการกิจการน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คอนโดลีซซ่า ไรส์ รมว.ต่างประเทศ เคยเป็นกรรมการบริหารของ เชฟรอน ก่อนรับตำแหน่งการเมือง

โดนัลด์ อีแวนส์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้า เคยเป็น CEO ของ Tom Brown Inc. ผู้ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในเท็กซัส และอีก 2 รัฐในอเมริกา

อ่านเพิ่มเติมจาก : http://www.aztlan.net/oiltanker.htm

ตามรอยความคิดสนธิ 1 ตอน พลังงานในทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น