CGTN : ฟิลิปปินส์ใช้ซากเรือเป็นเครื่องมือยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน ก่อกวนความสงบในทะเลจีนใต้
ฟิลิปปินส์ใช้ปฏิบัติการส่งเสบียงไปให้ซากเรือที่เกยตื้นอยู่บนแนวปะการังเหรินอ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดกับจีน โดยตั้งแต่ปี 2566 ที่ฟิลิปปินส์ตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อตั้งฐานทัพแห่งใหม่ในฟิลิปปินส์ สถานการณ์ได้เลวร้ายลง เมื่อสหรัฐฯ ได้ส่งทหารหลายหมื่นคนมาในทะเลจีนใต้ และจัดการซ้อมรบร่วมมากกว่า 20 ครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้อง “เสรีภาพในการเดินเรือ”
สหรัฐฯ ได้จัดฉากสร้างความปั่นป่วนในทะเลจีนใต้ โดยยุยงฟิลิปปินส์ให้ใช้ซากเรือรบผุพัง เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์บริเวณแนวปะการังเหรินอ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ (ฝ่ายจีนเรียกว่า “หนานซา”)
ฟิลิปปินส์ได้แสดงสัญลักษณ์เพื่ออ้างสิทธิในพื้นที่ โดยนำซากเรือรบเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจอดทิ้งเกยตื้นบนแนวปะการังเหรินอ้ายตั้งแต่ปี 2542 พร้อมประจำการนาวิกโยธินฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งบนซากเรือลำนี้ โดยฟิลิปปินส์ต้องใช้เรือขนส่งเสบียงอาหารและเชื้อเพลิงมาให้นาวิกโยธินที่อยู่บนซากเรืออยู่เป็นประจำ และหลายครั้งเกือบจะปะทะกับกองเรือลาดตระเวนของจีนที่อยู่ในพื้นที่
ฝ่ายจีนระบุว่า การกระทำของฟิลิปปินส์เป็นการละเมิดอธิปไตยของจีน แต่ก็ได้อนุญาตให้ฟิลิปปินส์นำเสบียงไปส่งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่บนซากเรือด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม แต่ตั้งแต่ปี 2566 ฟิลิปปินส์ได้เพิ่มความถี่ในการส่งเสบียง และยังนำวัสดุก่อสร้างไปส่งด้วยหวังจะยึดเรือให้ติดกับแนวปะการังอย่างถาวร
กองกำลังพิทักษ์ชายฝั่งของจีนได้ห้ามปรามการกระทำของฟิลิปปินส์ ทั้งการส่งเสียงเตือนด้วยวาจา และยิงน้ำแรงดันสูงเข้าใส่เรือฟิลิปปินส์ โดยไม่ได้ทำให้มีการบาดเจ็บ
แต่ฟิลิปปินส์ได้พยายามบิดเบือนเรื่อง โดยโหมกระพือข่าวลบเกี่ยวกับการกระทำของจีนว่าเป็นการรังแกฟิลิปปินส์ โดยสาธารณชนในฟิลิปปินส์เองก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของคนของตน และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนโยบายต่อจีนของรัฐบาล แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ปิดปากเงียบ และปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้ายซากเรือผุพังออกไป
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวถึงท่าทีที่ไม่ชัดเจนของฟิลิปปินส์ว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เกิดขึ้นเพราะฟิลิปปินส์ใช้ปฏิบัติการยั่วยุอยู่เป็นประจำ ละเมิดบูรณภาพทางดินแดนของจีน จีนจึงต้องใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของจีนตามกฎหมาย โดยไม่ได้มีกรณีที่อ้างกันว่า "จีนรังแกฟิลิปปินส์"
ผลการสำรวจของ CMG Voice of the South China Sea และมหาวิทยาลัยจี้หนาน พบว่า ข่าวความขัดแย้งกรณีนี้ส่วนใหญ่ถูกประโคมโดยสื่อต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่า มีข้อตกลงทางทหารที่จะช่วยปกป้องฟิลิปปินส์
สหรัฐฯ อ้างเหตุผลในการแทรกแซงเรื่องในทะเลจีนใต้ว่า เพื่อ “ปกป้องพันธมิตร” และ “รักษาเสรีภาพในการเดินเรือ” ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ เป็นชาตินอกภูมิภาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เพียงแต่ต่องการใช้ฟิลิปปินส์เป็นเบี้ยในยุทธศาสตร์ “หวนคืนสู่เอเชีย” โดยเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในทะเลจีนใต้ ตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างจีนกับชาติอาเซียน รวมทั้งขัดขวางสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้.
อ่านบทความต้นฉบับที่ What is behind the recent turbulence in the South China Sea?