xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กรุงเทพชี้ ศก.โลกผันผวนหนัก คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง สกัดเงินเฟ้อ-บาทอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Economic Turbulence 2022 เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตต้องรับมืออย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีปัญหาในลักษณะวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลถึงวิกฤตด้านราคาพลังงานและวิกฤตอาหารโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ทั้งเป็นแรงกดดันสำคัญให้ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ต้องเร่งพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

ทั้งนี้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ที่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3.80% เป็นอย่างน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาสภาพคล่องจำนวนมากที่เคยอัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้ด้วยการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ จึงส่งผลต่อความผันผวนของราคาสินทรัพย์และตลาดการเงินโลก ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจในตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะประเทศที่มีภาระหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังที่เริ่มเห็นสถานการณ์ในศรีลังกา สปป.ลาว และพม่า จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจติดลบ หรือ Recession ได้ในระยะ 1-2 ปีนี้

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มเติบโตชะลอลงจากกำลังซื้อของประเทศปลายทาง และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่กระทบต่อภาคการลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยน จึงประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในการประชุม กนง. ปีนี้ที่ยังเหลืออีก 3 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบันที่ 0.50% ไปเป็น 1.25% ในช่วงปลายปีนี้

“ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก อยู่ที่ 0.50% มาเป็นระยะเวลานาน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเวลานั้นยังอยู่ที่ 1.25% ดังนั้น ตอนนี้ปัจจัยเรื่องโควิด-19 เริ่มคลายลงแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีน้ำหนักมากขึ้นแทนคือ อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก และเงินสำรองระหว่างประเทศที่เริ่มลดลงมาพอสมควร จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจติดลบจะยังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง อาจเกิดผลกระทบเป็นระลอก ซึ่งประเทศไทยยังมีเวลาเตรียมตัวอีกประมาณ 1 ปี เพื่อตั้งรับสถานการณ์ดังกล่าว โจทย์สำคัญคือ ต้องมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาทดแทนภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ และไทยเที่ยวไทย ที่ไม่น่าจะมีกำลังมากพอแล้ว โดยแนะนำให้โฟกัสที่ภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นที่อนุมัติมาก่อนหน้านี้แล้วควรขับเคลื่อนและดำเนินการลงทุนอย่างจริงจัง รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ที่มองว่าอาเซียนน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนที่กำลังหาทางเลือกอื่น นอกเหนือจากจีนและยุโรปที่กำลังมีปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น