โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนขอเล่าประเด็นวิกฤตวัยกลางคนของชาวจีนที่จริงๆ แล้วเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียมานาน และกลับมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงนี้ที่จีนมีการประชุมสองสภาแห่งชาติ (ระหว่างวันที่ 5-11 มี.ค.) การประชุมสองสภาซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน และสภาที่ปรึกษาการเมืองจีน เป็นอีเวนต์การเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศจีนที่ประชาชนจีนรวมทั้งสื่อท้องถิ่น และสื่อต่างประเทศต่างให้ความสนใจมาก เพราะเนื้อหาในการประชุมจะเป็นการถกประเด็นปัญหาสังคมที่กำลังฮอตและเป็นปัญหาเร่งด่วน นอกจากการถกเถียงแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ของผู้แทนหลากหลายอาชีพแล้ว ในระหว่างประชุมยังมีการสรุปผลการบริหารงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ ด้วย
“วิกฤตวัย 35 ปี” เป็นอีกปัญหาสังคมที่คนจีนรุ่นใหม่วัยทำงานให้ความสนใจอย่างมาก เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น? หลักๆ เลยคือตลาดแรงงานจีนปัจจุบัน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการจำกัดอายุผู้สมัครงานที่ส่วนใหญ่ “ไม่เกิน 35 ปี” โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และหลังโควิด-19 เป็นต้นมา คนจีนตกงานจำนวนมาก กลุ่มคนวัยทำงานที่อายุมากกว่า 35 ปีตกงานกันระนาวในช่วงแพร่ระบาดโควิดและหางานใหม่ได้ยากหรือหาไม่ได้เลย
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การประกาศรับสมัครงานในจีนที่กำหนดเกณฑ์คัดเลือกด้านอายุต่ำกว่า 35 ปี ดูกลายเป็นเรื่องปกติ ในการประชุมสองสภาครั้งนี้มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกและเป็นที่สนใจของประชาชน ชาวเน็ตจีนหลายคนบอกว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในช่วงวัย 35 ปี และกำลังติดกับดัก “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” มีประสบการณ์งานสูง งานที่ทำอยู่อยากลาออกแต่ไม่กล้าลาออก หากโดนเลิกจ้างก็จะหางานใหม่ที่ตัวเองพอใจได้ยาก
มีการตั้งคำถามว่าการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงานในตำแหน่งงานต่างๆ ที่อายุ 35 ปี สมเหตุสมผลหรือไม่? จะปกป้องสิทธิของผู้หางานได้อย่างไร? ก่อนหน้านี้มีข่าวดังเกี่ยวกับเกณฑ์การรับพนักงานใหม่ที่อายุไม่เกิน 35 ปี เป็นตำแหน่งงานของสำนักงานเทศบาลหนานจวงในเมืองฝอซาน มณฑลกว่างตง ที่ประกาศ “รับสมัครพนักงานทำความสะอาดที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี” ได้รับการวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจีนขรม หลายคนพูดติดตลกว่า “ดูเหมือนว่าคนอายุเกิน 35 ปี จะต้องว่างงานกันหมดแล้ว”
จากข้อมูลการสำรวจของเว็บไซต์ข่าวข้อมูลการรับสมัครงานในจีน Zhaopin Recruitment พบว่า 85% ของตำแหน่งพนักงานออฟฟิศ "มีการตั้งเกณฑ์รับพนักงานใหม่ อายุไม่เกิน 35 ปี" โดยเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มบริษัทไอที บริษัทการเงินและบริษัทงานบริการอื่นๆ โดย 70% ของชาวเน็ตจีนเรียกร้องการยกเลิกข้อจำกัดของ "เกณฑ์คนทำงานไม่เกิน 35 ปี" ทั้งตำแหน่งงานในบริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ
นายหลี่ เจิ้งกั๋ว ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมสองสภาครั้งนี้ ยกตัวอย่างว่า "การกำหนดเกณฑ์อายุ 35 ปีเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนัก" บางอุตสาหกรรมได้ปรับระบบการทำงานเป็นแบบ "996" (ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม สัปดาห์ละ 6 วัน) ทำให้การทำงานล่วงเวลาเพิ่มสูงขึ้น บางที่ได้ค่าทำงานล่วงเวลา แต่บางที่ก็ไม่ได้ ปฏิบัติกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร พนักงานต้องใช้แรงกายและแรงใจที่มากขึ้นเพื่อลุยงาน แต่นายจ้างส่วนใหญ่มองเพียงด้านเดียวว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีจะมีข้อได้เปรียบกว่าผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี เช่น ด้านความสามารถ พลังงานและสมรรถภาพทางกาย ดังนั้น นายจ้างจึงมักจะมุ่งสรรหาพนักงานผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และไม่จ้างคนที่อายุสูงกว่านี้
ยังมีอีกประเด็นสำคัญคือเพื่อลดต้นทุนค่าแรง “คนงานอายุเกิน 35 ปี มีความต้องการเงินเดือนสูงกว่า และหากได้รับการว่าจ้างหรือเลื่อนตำแหน่งค่าแรงก็จะสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงต้นทุนค่าแรงแล้ว นายจ้างจำนวนมากจึงจ้างคนรุ่นใหม่ที่ต้นทุนถูกกว่า” เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมาตลาดแรงงานจีนอยู่ในภาวะที่อุปทานเกินอุปสงค์ทำให้นายจ้างยกระดับมาตรฐานการรับคนเข้าทำงานให้ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และสร้างการแข่งขันรุนแรงในกลุ่มผู้หางาน
มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงานจีนเรียกร้องหลายครั้งให้หน่วยงานรัฐและบริษัทต่างๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านอายุการจ้างงานของคนที่อายุมากกว่า 35 ปี การแข่งขันในการจ้างงานในจีนดุเดือด คนหนุ่มสาวจำนวนมากอยากสอบเข้าราชการมากขึ้นเพื่อความมั่นคง ซึ่งตำแหน่งงานที่เปิดรับน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่อยากสอบเข้าทำงาน ในขณะเดียวกัน อัตราเกิดในประเทศจีนติดลบ ดังนั้นการตั้งเกณฑ์อายุเข้าทำงานต่ำกว่า 35 ปี จึงสวนทางกับแนวโน้มของการพัฒนาประชากร
ทุกวันนี้ประชาชนจีนมากมายเรียกร้องให้หยุดเอาข้อจำกัดด้านอายุมาเป็นอุปสรรคในการสมัครงานหรือทำงาน กลับกันต้องช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานที่อายุมากกว่า 35 ปีอย่างจริงจัง เพราะคนกลุ่มนี้ยังคงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีภาระในชีวิตที่มาก มีครอบครัวที่ต้องดูแลแบบ “上有老下有小” อ่านว่า “ซ่างโหย่วเหล่าเซี่ยโหย่วเสี่ยว” แปลได้ตรงตัวว่า “ข้างบนมีผู้สูงอายุข้างล่างมีลูกหลาน” แสดงให้เห็นถึงภาระครอบครัวที่หนักอึ้งของคนกลุ่มนี้ ในด้านการจ้างงานนั้นมีการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารแรงงานจีนควรเสริมสร้างการกำกับดูแลและตรวจสอบการเลือกปฏิบัติด้านอายุในที่ทำงาน ต้องเท่าเทียมกันมากขึ้น
เพราะการเรียกร้องของสังคมที่ผ่านมาด้านข้อจำกัดอายุผู้สมัครงาน ทำให้หลายมณฑลในจีน เช่น เหอหนาน กุ้ยโจว เทียนจิน หูเป่ย เจียงซี กว่างซี เสฉวน ยูนนาน ฉงชิ่ง และมองโกเลียใน ค่อยๆ ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านอายุของคนเข้าทำงานสำหรับบางตำแหน่งในการสรรหาพนักงานของหน่วยงานรัฐ แต่ว่านโยบายการผ่อนปรนเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้สำหรับนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาโทและนักศึกษาปริญญาเอกเท่านั้น
วิธีการรับมือกับวิกฤต “วัย 35 ปี” ของชาวจีนมีหลากหลาย ในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ 71.1% ระบุว่าพวกเขาต้องมีทักษะที่แข็งแกร่งขึ้นผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต 61.1% หวังที่จะปรับปรุงคุณค่าตนเองผ่านการสั่งสมประสบการณ์ 34.6% หวังการเลื่อนขั้นและการก้าวสู่ระดับบริหารจะทำให้มีอิสระมากขึ้นหลังอายุ 35 ปี 26.3% หวังว่าจะมีรายได้มากขึ้นจากงานเสริม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคนจีนในวัยทำงานยุคนี้เชื่อว่าทุกอย่างเริ่มต้นได้จากตนเอง การปรับปรุงและตระหนักถึงคุณค่าในตนเองก็อาจจะเพียงพอและสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตในที่ทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นหลังอายุ 35 ปีได้ นอกจากนี้ ยังมีส่วนหนึ่งเห็นว่าควรปรับสภาพจิตใจด้วย ไม่คิดมากเกินไป และให้ความสำคัญกับปัจจุบัน
ระหว่างการประชุมสองสภาในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญจีนด้านตลาดแรงงานและสังคมแนะนำว่าหน่วยงานของรัฐควรเป็นตัวอย่างและส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ รองรับแรงงานสูงวัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานในตำแหน่งที่ดีๆ ได้ด้วย
ผู้เขียนมองว่าโครงสร้างแรงงานจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้วิกฤตชาวจีนวัย 35 หางานยากมีให้เห็นทั่วไป หลายคนที่หางานไม่ได้ก็ต้องหันไปประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุอย่างงานรับจ้างประเภทต่างๆ เป็นต้น ด้านของผู้ประกอบการบริษัทเอกชนก็ยังต้องการรับพนักงานอายุน้อย เงินเดือนไม่มาก ทำงานอึด ซึ่งการที่จะกระตุ้นให้เอกชนหันมารับพนักงานใหม่ที่อายุมากขึ้นอาจจะต้องใช้เวลา และรัฐบาลต้องลงมือทำจริงจังให้เป็นตัวอย่าง จากตรงนี้จะเห็นว่าปัญหาโครงสร้างแรงงานจีนเป็นปัญหาใหญ่และเกี่ยวโยงกับเรื่องปากท้องประชาชนวัยทำงาน ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นที่สนใจของสังคมจีนและชาวจีนที่รอให้รัฐบาลออกนโยบายแก้ไขอย่างจริงจังและทั่วถึง