xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ ระบุจะพบหารือ ‘สีจิ้นผิง’ คาดในอาทิตย์หน้า ย้ำสัมพันธ์แนบแน่นฝ่ากระแสต้านตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (ซ้าย)  พูดคุยกันระหว่างหารเจรจาหารือในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ปีนี้  เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้นำทั้งสองจะหารือกันอีกรอบในปลายสัปดาห์หน้า
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เตรียมพบปะกันในสัปดาห์หน้าที่อุซเบกิสถาน ซึ่งจะเป็นการหารือของผู้นำทั้งสองเป็นหนที่ 2 ในรอบปีนี้ และตอกย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสองชาติมหาอำนาจที่ต่างกำลังเผชิญหน้าอย่างเอาเป็นเอาตายกับฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ

การพบปะหารือกันคราวนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเคียงข้างการประชุมซัมมิตขององค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ --อันเป็นที่ประชุมด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการเมืองของเหล่าประเทศในเอเชียกลางที่จีนและรัสเซียมีอิทธิพลครอบงำนั้น— อยู่ในช่วงเวลาละเอียดอ่อนอย่างยิ่งทั้งสำหรับผู้นำทั้งสอง

ปูตินนั้นกำลังรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองจากสงครามในยูเครนที่ทำให้รัสเซียถูกฝ่ายตะวันตกโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็แสดงท่าทีแข็งขืนต่อต้านมากขึ้นด้วย เมื่อมาตรการแซงก์ชันของตะวันตกนำโดยอเมริกา ไม่ได้บังเกิดผลในทางทำให้แดนหมีขาวอ่อนแอลงอย่างหนักดังที่พวกเขาวาดหวัง ส่วน สี ก็กำลังเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดกับตะวันตกเช่นกันจากประเด็นสถานะของไต้หวัน และการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ

เมื่อวันพุธ (7 ก.ย.) ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำจีนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปูตินและสีจะพบกันในเมืองซามาร์กันด์ ของอุซเบกิสถานในวันที่ 15-16 ที่จะถึง หลังจากนั้นปูตินยืนยันเรื่องนี้เองด้วยการกล่าวกับ ลี่ จ้านซู ประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ซึ่งเป็นผู้นำอันดับ 3 ของแดนมังกรในเวลานี้ ในงานประชุมเศรษฐกิจที่รัสเซียจัดขึ้นว่า ตนเองจะพบกับสีเร็วๆ นี้ และหวังว่า จะเป็นที่เมืองซามาร์กันด์

หากเป็นเช่นนั้นจริง จะถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่งของสี โดยนับจากโควิดระบาดเมื่อต้นปี 2020 ผู้นำจีนเดินทางออกจากแผ่นดินใหญ่เพียงครั้งเดียวตอนที่ไปเยือนฮ่องกงและเดินทางกลับในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้กับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระหว่างการแถลงข่าวประจำวัน กลับไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ

รัสเซียและจีนมีการปรับนโยบายการต่างประเทศซึ่งก็มีด้านที่เข้ากันได้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้นเพื่อต่อต้านพลังฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน กองทัพรัสเซียเพิ่งจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่ที่สิ้นสุดเมื่อวันพุธ (7) ในพื้นที่ทางตะวันออกไกลของประเทศ โดยเป็นการซ้อมรบร่วมกับจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนว่าสองชาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่ก็มีชาติเอเชียอื่นๆ รวมทั้งอินเดีย เข้าร่วมด้วย

พวกผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตะวันตกให้ความเห็นว่า ผู้นำรัสเซียและจีนอาจหวังว่า การประชุมกันอีกครั้งจะช่วยส่งเสริมสถานะของตนเองทั้งในและนอกประเทศ

อเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ นักวิชาการอาวุโสของ คาร์เนกี้ เอ็นดาวเมนต์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแล พีซ ชี้ว่า สำหรับปูติน นี่คือโอกาสในการแสดงให้เห็นว่า เขายังมีพันธมิตรทรงอิทธิพล

“คุณจะโดดเดี่ยวรัสเซียได้อย่างไรในเมื่อจีนปักหลักเคียงข้างอยู่แบบนี้”

สำหรับสี นี่อาจเป็นโอกาสในการแสดงให้เห็นว่า เขาไม่เอาด้วยกับกระแสคัดค้านต่อต้านรัสเซียของฝ่ายตะวันเนื่องจากสงครามยูเครน รวมทั้งยังจะเชิดชูจุดยืนชาตินิยมในขณะที่ความสัมพันธ์กับอเมริกาตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จากประเด็นการค้า เทคโนโลยี สิทธิมนุษยชน และการที่จีนขู่โจมตีไต้หวัน ด้วยความระแวงว่าวอชิงตันกำลังหนุนหลังการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน

กาบูเอฟสำทับว่า การพบกับปูตินครั้งนี้เป็นสัญญาณสำคัญมากที่ตอกย้ำว่า จีนจะไม่ยอมก้มหัวให้การกดดันจากประเทศใดๆ ที่พยายามทำให้ปูตินและรัสเซียเป็นประเทศนอกคอก

นอกจากนั้น การที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญมากที่ทุก 5 ปีจึงจะจัดขึ้นครั้งหนึ่ง เท่ากับว่าการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งนี้สะท้อนความมั่นใจในสถานะของตนเองของสี ซึ่งต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ต่อเป็นวาระที่ 3 อีก 5 ปี

ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่ ปูติน พบกับ สี คือระหว่างการเปิดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปักกิ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่เครมลินจะส่งกองทัพบุกยูเครน ในวาระดังกล่าวผู้นำทั้งคู่เป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ถึงจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ตอนที่เจอกันครั้งนั้น สีได้รับรู้แผนรุกรานยูเครนของรัสเซียหรือไม่

แม้เสนอการสนับสนุนทางยุทธศาสตร์สำหรับสงครามยูเครน แต่จีนพยายามวางตัวเป็นกลางและหลีกเลี่ยงลูกหลงจากการให้การสนับสนุนเศรษฐกิจรัสเซียที่ถูกนานาชาติรุมแซงก์ชัน

และแม้มอสโกและปักกิ่งเคยปฏิเสธความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพันธมิตรทางการทหาร ทว่า ปูตินออกตัวว่า ไม่สามารถตัดทิ้งตัวเลือกนี้ได้ อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียแบ่งปันเทคโนโลยีทางทหารที่มีความอ่อนไหวสูงกับจีนซึ่งช่วยส่งเสริมแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศของแดนมังกรอย่างมาก

(ที่มา : เอพี, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น