xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมเยือน “เมืองต้าหลี่” ตอนที่ 1 : จากนครรุ่งโรจน์ “ยุคเส้นทางสายไหมโบราณ” สู่ “ยุคเส้นทางสายไหมยุคศตวรรษที่ 21”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมู่อาคารสถาปัตยกรรมแบบชนชาติไป๋ ที่เมืองโบราณสี่โจว เมืองต้าหลี่ (ภาพ MGR ONLINE)
ระหว่างไปเข้าร่วมประชุมไดอะล็อกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคการเมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อภิปรายถึงผลสัมฤทธิ์ของการประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Forum /BRF) ที่จัดฉลองครบรอบ 10 ปีที่กรุงปักกิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับการประชุมไดอะล็อกนี้จัดขึ้นในวันที่ 9-10 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนัน หรือที่ชาวไทยมักเรียก ‘ยูนนาน’

หลังการประชุม เจ้าภาพงานประชุมไดอะล็อกคือ ฝ่ายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้จัดโปรแกรมให้กลุ่มผู้แทนจากเอเชียไปเยี่ยมเยือนเมืองต้าหลี่ ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับแคว้นปกครองตัวเองของชาติพันธุ์ไป๋ของมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของจีน

เมืองต้าหลี่ ตั้งอยู่บนที่ราบสูง มีภูเขาชางซันตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตก และทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ทางทิศตะวันออก ถือเป็นภูมิทัศน์ที่หาเมืองใดเทียบได้ยาก (ภาพ MGR ONLINE)
“เมืองต้าหลี่” อยู่ห่างจากนครคุนหมิงเมืองเอกของมณฑลยูนนาน ไปทางทิศตะวันตก 400 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นเมืองโบราณเก่าแก่นับพันปี ตั้งอยู่บนที่ราบสูง มีภูเขาชางซันตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตก และทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ทางทิศตะวันออก ด้วยที่ตั้งสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,975 เมตร ต้าหลี่จึงเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปี ด้วยภูมิศาสตร์ภูมิทัศน์ดังกล่าวทำให้เมืองต้าหลี่เป็นชัยภูมิที่หาเมืองใดเทียบได้ยาก และเป็นเงื่อนไขที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคโบราณ

เมืองต้าหลี่ ถือเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ในเอกสารฝ่ายจีนระบุว่า ถิ่นของชาติพันธุ์ไป๋แห่งนี้เป็นเขตภายใต้การปกครองของจีนมาตั้งแต่เมื่อกว่า 2,200 ปีที่แล้วในยุคราชวงศ์ฉินที่มีปฐมจักรพรรดิฉินคือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ระหว่างยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) และราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) บริเวณเมืองต้าหลี่เจริญรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดต่อเนื่องยาวนานกว่า 500 ปี โดยในช่วงยุคถังและซ่งบริเวณลุ่มน้ำเอ๋อร์ไห่เป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่นของอาณาจักรน่านเจ้า (ค.ศ.738-902) และอาณาจักรต้าหลี่ (937-1253) ตามลำดับ

ภาพเขียนบันทึกเรื่องราวในยุคโบราณในคฤหาสน์ชนชาติไป๋ที่อนุรักษ์ไว้ในเมืองโบราณสี่โจวเมืองต้าหลี่ (ภาพ MGR ONLINE)
ต้าหลี่อยู่บนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชัยภูมิชั้นเยี่ยม กอปรด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นสถานีสำคัญของเส้นทางการค้าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในยุคโบราณ ทั้งเส้นทางการค้าที่เรียกขานกันว่า “เส้นทางการค้าชาบนหลังม้า” (茶马古道 )"เส้นทางสายไหม" (丝绸之路)แห่งภาคใต้ของจีน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เรียกขานว่า “ชุมทางแยกสู่วัฒนธรรมเอเชีย”

เมืองโบราณสี่โจวในต้าหลี่ (ภาพ MGR ONLINE)
ต้าหลี่ถูกกำหนดให้เป็นเสมือนประตูสำคัญของมณฑลยูนนานในการเชื่อมโยงมณฑลและมหานครภายในจีน ได้แก่ เสฉวน และฉงชิ่ง และภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการฟื้นฟูบทบาทศูนย์กลางการคมนาคมที่มีเป้าหมายสร้างฮับ การคมนาคมที่สมบูรณ์แบบระดับประเทศ (National Comprehensive Transportation Hub) มรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของดินแดนต้าหลี่ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันเป็นรากนัคราที่ผู้นำจีนศึกษาเรียนรู้มาตลอดเพื่อวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง

ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาฟื้นบทบาทศูนย์กลางของเมืองต้าหลี่ในการสร้างความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” และฮับด้านโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นภาคการค้าและภาคบริการ (Trade and Service-oriented Logistics Hub)



สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับบทบาทศูนย์กลางดังกล่าว ปัจจุบัน จีนได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิง ไปยังเมืองฉู่สยง (Chuxiong) ต้าหลี่ ลี่เจียง และรุ่ยลี่ โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้มีความยาวรวมกันทั้งสิ้น 873 กิโลเมตร และกำลังบรรลุเป้าหมายในการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทุกอำเภอทุกท้องที่ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้สนามบินต้าหลี่ยังมีปฏิบัติการเส้นทางบินของ 28 สายการบินเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยง


เมืองโบราณสี่โจวในต้าหลี่ (ภาพ MGR ONLINE)
รัฐบาลกลางยังกำหนดนโยบายอนุรักษ์เมืองโบราณในต้าหลี่ที่ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้แก่ เมืองโบราณต้าหลี่ และเมืองโบราณเว่ยซาน เป็นเมืองประวัติศาสตร์วัฒนธรรมระดับชาติ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เมืองต้าหลี่เป็นเขตทดลองการบริโภคด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระดับชาติ

ผู้เขียนขอนำภาพจากเมืองต้าหลี่ที่ได้ไปสัมผัสมาแบ่งปัน ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงต้าหลี่แห่งยุคปัจจุบันที่ผสมผสานมรดกวัฒนธรรมโบราณ และวิถีชีวิตที่ทันสมัย

*โปรดติดตามรายงานพิเศษชุด “เยี่ยมเยือนเมืองต้าหลี่” ตอนที่ 2 มนต์เสน่ห์สวรรค์การท่องเที่ยวแห่งเมืองต้าหลี่


กำลังโหลดความคิดเห็น