xs
xsm
sm
md
lg

‘เฮนรี คิสซินเจอร์’ นักการทูตมะกันผู้ทรงอิทธิพล เสียชีวิตในวัย 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ และนักการทูตผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันพุธ (29 พ.ย.) ขณะมีอายุได้ 100 ปี


คำแถลงจากบริษัทที่ปรึกษา Kissinger Associates Inc ระบุว่า คิสซินเจอร์ เสียชีวิตที่บ้านของเขาในรัฐคอนเนตทิคัต และครอบครัวจะจัดพิธีฝังศพเป็นการภายใน หลังเสร็จสิ้นพิธีไว้อาลัยอย่างเป็นทางการที่นครนิวยอร์กซิตี

คิสซินเจอร์ ยังคงทำภารกิจต่างๆ อย่างสม่ำเสมอแม้ในวัยล่วงเข้า 100 ปี ทั้งการเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบขาว ออกหนังสือเกี่ยวกับสไตล์ความเป็นผู้นำ และเข้าให้การต่อคณะกรรมการวุฒิสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา นักการทูตชั้นครูผู้นี้ก็ได้สร้าง “เซอร์ไพรส์” อีกครั้งด้วยการเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ในช่วงทศวรรษ 1970 คิสซินเจอร์ เข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลายเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัย ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน นักการทูตผู้เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิวโดยกำเนิดคนนี้เป็นผู้นำในการเปิดสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีส่วนในการเจรจาควบคุมอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ช่วยยกระดับความสัมพันธ์อิสราเอลกับบรรดารัฐอาหรับเพื่อนบ้าน และยังร่วมผลักดันสนธิสัญญาปารีส (Paris Peace Accords) ระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามเหนือซึ่งนำไปสู่การปิดฉากสงครามเวียดนาม

ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ และ เฮนรี คิสซินเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ขณะเดินทางโดยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันไปเยือนจีนในปี 1972 (แฟ้มภาพ)
บทบาทของ คิสซินเจอร์ ในฐานะสถาปนิกผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เริ่มลดน้อยถอยลงหลังจากที่ประธานาธิบดี นิกสัน ลาออกเมื่อปี 1974 จากผลพวงของคดี “วอเตอร์เกต” (Watergate) แต่กระนั้นเขาก็ยังคงเป็นขุมพลังทางการทูตให้กับสหรัฐฯ ต่อมาในยุคของประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด และยังคงนำเสนอแง่คิดอันทรงอิทธิพลในด้านการทูตมาตลอดทั้งชีวิต

แม้ คิสซินเจอร์ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการทูตที่ชาญฉลาดและมีประสบการณ์กว้างขวางอย่างยิ่ง แต่ก็มีบางคนที่เรียกเขาว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” จากการที่ คิสซินเจอร์ สนับสนุนพวกรัฐบาลเผด็จการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา และในช่วงปีหลังๆ มานี้การเดินทางของ คิสซินเจอร์ เริ่มถูกจำกัดจากการที่รัฐบาลบางประเทศคิดจับกุมตัวเขา หรือต้องการตั้งคำถามเขาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอดีต

คิสซินเจอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1973 ร่วมกับ เล ดึ๊ก เถาะ (Le Duc Tho) สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมเจรจาจนเกิดข้อตกลงสันติภาพปารีส ทว่าฝ่ายหลังปฏิเสธที่จะรับรางวัลนี้ ซึ่งการมอบรางวัลในปีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และมีคณะกรรมการโนเบลถึง2 คนที่ลาออกสืบเนื่องจากผลการคัดเลือกนี้ ตลอดจนกระแสคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติการทิ้งระเบิดแบบลับๆ ในกัมพูชา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายแสนคน

ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของคิสซิงเจอร์ เรียกเสียงยกย่องไว้อาลัยจากทั่วโลก ทางการจีนออกคำแถลงเรียกเขาว่าเป็น “เพื่อนมิตรที่ดีและเก่าแก่ของประชาชนจีน” ผู้มีคุณูปการทางประวัติศาสตร์ในการทำให้จีนกับสหรัฐฯเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นปกติ

ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สรรเสริญคิสซินเจอร์ว่าเป็น “รัฐบุรุษผู้เฉลียวฉลาดและมีสายตายาวไกล” ส่วนนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวถึงการพบปะหารือหลายครั้งกับคิสซินเจอร์ว่า ทำให้เขาได้เข้า “ชั้นเรียนระดับมาสเตอร์คลาสในเรื่องการเป็นรัฐบุรุษ”

ที่มา: รอยเตอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น