เมื่อวันพฤหัสบดี (17 ส.ค.) “เอเวอร์แกรนด์” (Evergrande) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จีนยื่นคำร้องขอคุ้มครองกรณีล้มละลายต่อศาลล้มละลายสหรัฐฯ ในบทที่ 15
การคุ้มครองการล้มละลายในบทที่ 15 อนุญาตให้ศาลล้มละลายสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในคดีล้มละลายข้ามพรมแดนของบริษัทต่างชาติที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินของลูกหนี้ และอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน
รายงานระบุว่า คำร้องดังกล่าวจะช่วยให้เอเวอร์แกรนด์สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของทางบริษัทฯ ได้ในระหว่างที่กำลังเจรจากู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐมาชำระหนี้
คำร้องดังกล่าวได้ระบุถึงแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในฮ่องกง หมู่เกาะเคย์แมน และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
เอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาการจ่ายหนี้เงินกู้อย่างหนักตั้งแต่ปี 2564 ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีหนี้รวม 2.437 ล้านล้านหยวน (หรือราว 11.69 ล้านล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพีจีนทั้งประเทศ
การซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ ถูกระงับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 หนี้ของเอเวอร์แกรนด์สร้างความเสี่ยงต่อวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน และสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินในจีนเป็นวงกว้าง
ความเคลื่อนไหวของบริษัทฯ เกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวว่าปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ
เมื่อไม่นานมานี้ “คันทรีการ์เดน” (Country Garden) ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน ก็ประสบปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 บริษัทฯ คาดว่าจะขาดทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.2 แสนล้านบาท)
"คันทรีการ์เดน" ตามรอยวิกฤตเอเวอร์แกรนด์
คันทรีการ์เดนเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่สุดในด้านมูลค่าการขายในจีน ซึ่งมุ่งเจาะตลาดที่เล็กกว่า ในปี 2565 ยอดขายร้อยละ 62 ของคันทรีการ์เดนมาจากเมืองชั้นสามเมืองชั้นสี่ แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโรคระบาดโควิด ยอดขายในพื้นที่เหล่านี้ก็ตกฮวบลง พร้อมกับราคาบ้านเองก็ร่วงผล็อย ราคาโดยเฉลี่ยของบ้านใหม่ในเมืองเล็กที่สุด 35 เมือง ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนตกลงปีต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17
ยอดขายของคันทรีการ์เดนปี 2563 เท่ากับ 5.7 แสนล้านหยวน (ราว 2.8 ล้านล้านบาท) แต่ได้ลดลงมาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านหยวน (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 ด้วยยอดขายที่ตกต่ำลง กอปรด้วยการเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ที่ยกมากขึ้นใน 2-3 ปีนี้ทำให้ปัญหาขาดเงินสดเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก
คันทรีการ์เดนสร้างความสำเร็จจากการขายโครงการจำนวนมากอย่างรวดเร็วโดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำ นอกจากนี้ ยังได้ซื้อ/เช่าที่ดินผืนใหญ่ที่ราคาต่ำจากรัฐบาลท้องถิ่น โครงการพัฒนาอสังหาฯ หลากหลายวัตถุประสงค์ของคันทรีการ์เดนรวมถึง โรงแรม ร้านค้า โรงเรียน และสวนเทคโนโลยี
ในเดือน มี.ค. ประธานคันทรีการ์เดนคือ นายหยัง ฮุ่ยเหยียน ประกาศว่า บริษัทได้ลดโครงการในกลุ่มเมืองเล็ก หลังจากที่แถลงว่ากำไรจากการดำเนินการในปี 2565 ลดลงร้อยละ 90 และยอดขาดทุนสุทธิทำสถิติถึง 6.1 พันล้านหยวน (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งความเคลื่อนไหวแก้ปัญหาของคันทรีการ์เดนดูจะสายไปแล้ว
คันทรีการ์เดนผุดโครงการทั่วประเทศจีน 3,121 โครงการ บริบทเชิงมหภาคในปัญหาการเงินของยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ที่บุกตะลุยโครงการในเมืองเล็กของจีนรายนี้น่าจะอันตรายเสียยิ่งกว่าเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ที่มีโครงการเพียง 800 โครงการ จากรายงานของ Oxford Economics
จากการประเมินของธนาคารเพื่อการลงทุนญี่ปุ่น Nomura ระบุว่าคันทรีการ์เดนมีบ้านเกือบ 1 ล้านหลัง ที่จะต้องสร้างให้แล้วเสร็จ
“ยิ่งไปกว่านี้ ความต้องการบ้านในเมืองชั้นรองๆ ลงไปลดลง ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาการเงินให้บริษัทอสังหาฯ” Nomura ชี้
ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนมานาน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ผู้นำระดับสูงของจีนแสดงท่าทีสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยเป็นการปูทางให้รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินนโยบายเฉพาะ
ที่มา กลุ่มสื่อต่างประเทศ