7 เดือนปี ‘66 ต่างชาติลงทุนในไทย 58,950 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 19,893 ล้านบาทตามด้วย สิงคโปร์ 12,925 ล้านบาท และจีน 11,663 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,594 คน
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า “ช่วง 7 เดือนปี 2566 (มกราคม - กรกฎาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 122 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 255 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,594 คน
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ * ญี่ปุ่น 84 ราย (ร้อยละ 22) เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท * สหรัฐอเมริกา 67 ราย (ร้อยละ 18) เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท * สิงคโปร์ 61 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท * จีน 28 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท และ * เยอรมนี 16 ราย (ร้อยละ 4) เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 (เดือน ม.ค. - ก.ค. 66 อนุญาต 377 ราย / เดือน ม.ค. - ก.ค. 65 อนุญาต 323 ราย) มูลค่าการลงทุนลดลง 14,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 (เดือน ม.ค. - ก.ค. 66 ลงทุน 58,950 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ก.ค. 65 ลงทุน 73,624 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 286 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 (เดือน ม.ค.- ก.ค. 66 จ้างงาน 3,594 คน / เดือน ม.ค. - ก.ค. 65 จ้างงาน 3,308 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ
* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง
* บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
* บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
* บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสำหรับที่ใช้ในสถานพยาบาล
* บริการซอฟต์แวร์ ประเภท ENTERPRISE SOFTWARE และ DIGITAL CONTENT
* บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC
12,348 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจาก * ญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 5,379 ล้านบาท * จีน 12 ราย ลงทุน 893 ล้านบาท * เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 287 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 25 ราย ลงทุน 5,789 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์ 3) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และ 5) บริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนกรกฎาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 51 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 31 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,023 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 372 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาเว็บไซต์ และ Data Analysis เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์และวิเคราะห์ข้อมูลในการทำการตลาด และองค์ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
* บริการให้ใช้ระบบแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับป้องกันการตรวจสอบการโทร
* บริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล
* บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ ชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ในระบบแปรรูปยางพารา และเครื่องจักรทั่วไป
* บริการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะ
* บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมส์ออนไลน์และแอปพลิเคชัน