ญี่ปุ่นเริ่มควบคุมการส่งออกเครื่องมือสำหรับผลิตชิปขั้นสูง 23 รายการแล้วตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) ผนึกเกมรุกสามประสานมะกัน ดัตช์ และแดนปลาดิบ กีดกันพญามังกรจีนออกจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก เพื่อตัดเตะขาไม่ให้สามารถผลิตชิปขั้นสูง ที่เกรงกันว่าจีนจะนำไปใช้ในด้านการทหาร
ญี่ปุ่นประกาศร่างมาตรการดังกล่าวเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ถูกกระทรวงพาณิชย์ของจีนทักท้วงว่า ไม่ควรนำเรื่องธุรกิจมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของชาติจนเลยเถิด ทำให้ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับจีนอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แดนมังกรระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งมีมาตรการเหลือเฟือสำหรับออกอาวุธตอบโต้ในเร็วๆ นี้
ยกตัวอย่าง การออกข้อจำกัดสำหรับบริษัทผู้ผลิตชิปของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์แดนปลาดิบกลายเป็นซากุระร่วง เนื่องจากจีนเป็นตลาดผู้นำเข้าสารกึ่งตัวนำ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่สุดสำหรับผู้ผลิตของญี่ปุ่น กล่าวคือราวร้อยละ 30 ของการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าสูงถึง 5,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2565
เมื่อส่งออกไปจีนไม่ได้ ผู้ผลิตชิปของญี่ปุ่น เช่น บริษัทนิคอน และโตเกียวอิเล็กตรอนอาจมีกำไรลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมและกัดกร่อนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่น
งานนี้จะเป็นการปราชัยซ้ำรอยกับสงครามชิปที่เคยเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยตอนนั้นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ เช่น โตชิบาเข้าตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้ เสียหายหนัก
นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งยังอาจสั่งห้ามการส่งออกวัตถุดิบเชิงกลยุทธ์ เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้มีความเหนือชั้นกว่าจีน เช่น บริษัทของสหรัฐฯ อย่างควอลคอมม์ และอินเทล เป็นผู้นำด้านการออกแบบชิป ส่วนบริษัทอาร์เอสเอ็มแอล ของเนเธอร์แลนด์มีเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูง เช่นเดียวกับบริษัทของญี่ปุ่น หรือซัมซุงและเอสเค ไฮนิกซ์ ของเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำชั้นนำ ส่วนไต้หวันครองตลาดรับจ้างผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ แต่จีนมีข้อได้เปรียบในด้านเป็นแหล่งใหญ่ของวัตถุดิบสำหรับการผลิตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นอกเหนือจากเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศข้อจำกัดการส่งออกเมื่อเดือน ต.ค.2565 จนเทคโนโลยีผลิตชิปขั้นสูงแทบไม่สามารถส่งไปจีนได้อีกต่อไป จากนั้นในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็ประกาศมาตรการควบคุมบ้าง และจบลงที่มาตรการของญี่ปุ่น
การปิดกั้นจีนหนักข้อขึ้นเริ่มส่งผลย้อนกลับมาหาสหรัฐฯ เอง โดยบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ หลายรายเรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระงับการออกข้อจำกัดการส่งออกชิปไปจีนเพิ่มเติม ก่อนที่ผลกำไรในตลาดที่ใหญ่สุดในโลกแห่งนี้จะเหือดหาย
อ้างอิงข้อมูลจากโกลบอลไทมส์