สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทวีความร้อนแรงขึ้นอีก แวดวงอุตสาหกรรมไฮเทคแสดงความกังวลในวันอังคาร (4 ก.ค.) ห่วงโซ่อุปทานโลกอาจเกิดความชะงักงันมากขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเมื่อวันจันทร์ (3) ควบคุมการส่งออกแกลเลียม (Gallium) และเจอร์เมเนียม (Germanium) โลหะ 2 ชนิดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทคอื่นๆ นอกจากนั้น บริษัทต่างๆ ยังผวากันมากขึ้นว่าหลังจากนี้ปักกิ่งอาจถึงขั้นขยายการจำกัดส่งออกให้ครอบคลุมถึงแร่แรร์เอิร์ธด้วย
กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเมื่อวันจันทร์ (3 ก.ค.) ว่า จะเริ่มควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์แกลเลียม 8 ชนิด และเจอร์มาเนียม 6 ชนิดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ โดยพวกนักวิเคราะห์เชื่อว่า เป้าหมายที่แท้จริงคือการตอบโต้การที่วอชิงตันกำลังพยายามควบคุมจำกัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีน โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ ประกาศของปักกิ่งมีขึ้นก่อนหน้าวันชาติของสหรัฐฯ วันเดียว และไม่กี่วันก่อนหน้ากำหนดการไปเยือนปักกิ่งของรัฐมนตรีคลังอเมริกัน เจเน็ต เยลเลน
ปีเตอร์ อาร์เคลล์ ประธานสมาคมการทำเหมืองทั่วโลกในจีน ชี้ว่า จากคำสั่งคราวนี้ จีนกำลังโจมตีตอบโต้การจำกัดการค้าของอเมริกาในจุดที่อ่อนแอที่สุดของสหรัฐฯ
เจฟฟรีส์ แอนาลิสต์ ขานรับว่า จังหวะเวลาที่จีนออกมาตรการนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการจงใจให้เกิดขึ้นในขณะที่เยลเลนกำลังจะไปเยือนหรือเปล่า และวอชิงตันจะยกเลิกการเยือนนี้หรือไม่
ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นองค์กรบริหารของอียู แถลงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวคราวนี้ของปักกิ่ง
มีรายงานว่า บริษัทต่างๆ พากันตอบสนองรับมือกับข่าวนี้อย่างรวดเร็ว เช่น ผู้ผลิตเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งหนึ่งของสหรัฐฯรีบยื่นขอใบอนุญาตส่งออกเพื่อรับประกันความมั่นใจสำหรับนักลงทุน ขณะที่ผู้ผลิตเจอร์มาเนียมในจีนเผยว่า ได้รับการสอบถามจากลูกค้าในยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาซึ่งหวังจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ตุนไว้ก่อนที่มาตรการควบคุมการส่งออกจะมีผลบังคับใช้ ด้านราคาเสนอขายในตลาดจีนและตลาดส่งออกพุ่งขึ้นเป็น 1,380 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และกว่า 1,500 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมตามลำดับ
พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลไต้หวันและเกาหลีใต้พยายามคลายความกังวล โดยรอย ลี รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศไต้หวัน คาดว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้แถลงว่า มีสต๊อกแกลเลียมเพียงพอ และมีแหล่งนำเข้าเจอร์มาเนียมอื่นนอกเหนือจากจีน
ทว่าพวกผู้เล่นในอุตสาหกรรมบางคนกลัวว่า จีนอาจเดินหมากต่อด้วยการประกาศจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธ หลังจากเคยจำกัดการจัดส่งเมื่อ 12 ปีก่อนตอนที่มีปัญหาขัดแย้งกับญี่ปุ่น ทั้งนี้ แรร์เอิร์ธคือกลุ่มแร่หายากที่ใช้ในการผลิตอีวีและอาวุธ และจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก
อาร์เคลล์ เสริมว่า แกลเลียมและเจอร์มาเนียมเป็นโลหะที่สำคัญมากสำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีมากมาย และจีนเป็นผู้นำการผลิตโลหะเหล่านี้ส่วนใหญ่ในระดับที่ยากจะหาประเทศอื่นมาแทนที่ได้ทั้งในระยะสั้นหรือแม้กระทั่งระยะกลางก็ตามที
เว็บไซต์ข่าวไฉซินรายงานโดยอ้างข้อมูลศุลกากรว่า จีนผลิตแกลเลียมและเจอร์มาเนียมมากที่สุดในโลก ปี 2020 ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์แกลเลียมรายใหญ่จากจีนคือ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เจอร์มาเนียมรายใหญ่จากจีนคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอเมริกา
มาตรการควบคุมของจีนมีขึ้นขณะที่วอชิงตันได้ออกมาตรการจำกัดใหม่ๆ ในการปิดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงไมโครชิปไฮเทครวมทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นอกจากนั้น ยังคาดว่าอเมริกาและเนเธอร์แลนด์จะเพิ่มการจำกัดการขายอุปกรณ์ผลิตชิปให้บริษัทชิปจีนในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีตกถึงมือกองทัพจีน
ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเมื่อวันอังคาร (4) ว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเตรียมจำกัดบริษัทจีนในการเข้าถึงบริการคลาวด์คอมพิวติ้งของอเมริกา โดยคาดว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะดำเนินการเรื่องนี้เสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์
ทั้งนี้ จีนเดินเกมตอบโต้การกดดันด้านชิปของอเมริกาครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคมด้วยการห้ามอุตสาหกรรมในประเทศบางส่วนจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากไมครอน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำของอเมริกา ที่ถูกกล่าวหาว่าสนองนโยบายของทางการสหรัฐฯ อย่างแข็งขันกว่าบริษัทอื่นๆ
เจฟฟรีส์ แอนาลิสต์ ชี้ว่า การควบคุมการส่งออกล่าสุดเป็นมาตรการตอบโต้ใหญ่ลำดับที่ 2 ของจีนหลังการแบนไมครอน และมีความเสี่ยงสูงที่ความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับจีนจะลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า มาตรการต่อไปที่จีนอาจใช้คือการควบคุมการส่งออกแรร์เอิร์ธ
(ที่มา : รอยเตอร์, บีบีซี)