โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงประเด็นมลพิษในอากาศของจีนปัจจุบันหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วถือว่าดีขึ้นเป็นอย่างมาก แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมืองทางเหนือของจีนได้รับผลกระทบด้านมลพิษในอากาศสูงที่สุด หากนึกย้อนกลับไปในปี 2013 ขณะนั้นผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองปักกิ่งแล้ว มีความรู้สึกว่าในเวลาช่วงเช้าแต่ละวันแทบจะไม่เห็นแสงอาทิตย์สาดส่องลงมาเลย เหมือนมีหมอกควันบางๆ ปกคลุมอยู่ ตอนแรกคิดว่าหมอกธรรมดาลงแต่พอหลังจากได้อ่านข่าวต่างๆ ของทางการจีนมากขึ้น จึงทราบว่าเป็นหมอกควันที่ประกอบด้วยสารพิษมากมาย
หมอกควันฝุ่นละอองในอากาศนี้เรียกว่า PM2.5 (particulate matter) หมายถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ฝุ่นพิษดังกล่าวมีขนาดเล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ อนุภาคละเอียด PM2.5 นี้มาพร้อมกับสารพิษที่เป็นอันตรายเช่น โลหะหนัก จุลินทรีย์ สามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานานและเดินทางได้ไกล ดังนั้น จึงมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเข้มข้นของปริมาณ PM2.5 ในอากาศยิ่งสูงเท่าใดก็แสดงว่ามลพิษทางอากาศยิ่งรุนแรงเท่านั้น
ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าจีนจะจัดการแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศได้มากและอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามลพิษในอากาศของจีนจะหมดไป และถูกกำจัดไปอย่างราบคาบ ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความอยู่นี้ในค่า PM2.5 ในอากาศมีอยู่ 106-110 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีวันที่มีแสงแดดและฟ้าใสอยู่เพียง 2-3 วันเท่านั้น
ในปี 2011 เป็นปีที่คนจีนเริ่มให้ความสำคัญกับมลพิษในอากาศ ประชาชนทั่วไปเริ่มรู้จักกับ PM2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อทางการจีนเริ่มประโคมข่าวเรื่องมลพิษ ผู้คนเริ่มตื่นตัวสวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 ประเภท N95 เพราะสามารถกรองมลพิษอานุภาคขนาดเล็กได้ ในด้านของภัยอันตรายของ PM2.5 ต่อร่างกายหลักๆ แบบเข้าใจง่ายคือ มลพิษตัวนี้มีขนาดเล็กจิ๋ว เมื่อมนุษย์สูดอากาศที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 นี้ สารพิษจะเข้าไปในปอดและกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว กรมการแพทย์จีนมีการแนะนำให้ประชาชนเมื่อกลับถึงบ้านรีบล้างหน้า ล้างจมูกในวันที่มลพิษในอากาศรุนแรง เนื่องจากฝุ่นพิษสามารถเกาะอยู่บนชั้นผิวหนังของเราได้ หากปล่อยไว้ไม่ล้างทำความสะอาดอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้และคันผิวหนังได้
ในปี 2013 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานวิจัยถึงผลกระทบจาก PM2.5 ว่าเป็นสารก่อโรคมะเร็งได้ ทำให้ผู้คนเริ่มกังวลกับมลพิษในอากาศมากยิ่งขึ้น ในปี 2013 ทั้งปี ทั้งประเทศจีนมีวันที่อากาศเป็นมลพิษรุนแรงอยู่ 36 วันโดยเฉลี่ย และ 30 มณฑลทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบ โดยในปี 2013 เดือน ม.ค.เพียงเดือนเดียว ปักกิ่งมีแค่ 5 วันเท่านั้นที่ท้องฟ้าเปิดสดใส ที่เหลือ 26 วันเป็นวันที่อากาศเต็มไปด้วยหมอกควันฝุ่นละอองมลพิษ!
เพราะความรุนแรงของมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในเดือน ต.ค. ปี 2013 กรมอุตุนิยมวิทยาจีนเริ่มรายงานคุณภาพอากาศรายวันเพิ่มเติม โดยมีการเตือนภัยระดับการเป็นพิษในอากาศล่วงหน้าด้วย สื่อจีนเองมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น จนในปี 2013 ทั้งปีคำยอดฮิตในข่าวและโซเชียลจีนคือคำว่า “หมอกควัน” “PM2.5” “ควันพิษพุ่งปรอทระเบิด” เป็นต้น ส่วนสินค้ายอดฮิตที่ประชาชนแห่กันซื้อตุนในวันชอปปิ้งคนโสดวันที่ 11 พ.ย.ในปีนั้นคือหน้ากากอนามัยแบบ N95 และ KN95 ถัดมาในปี 2014 สถานการณ์ความรุนแรงมลพิษในอากาศของจีนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2014 มีถึง 13 ครั้งที่หมอกควันที่มีความเข้มข้นสูงกระจายไปทั่วประเทศ บางเมืองมีความเข้มข้นของมลพิษเฉลี่ยรายวันสูงถึง 255 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
การแจ้งเตือนของทางการจีนในวันที่มลพิษในอากาศรุนแรงจะเน้นแนะนำให้ประชาชนลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่เปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ เป็นต้น ในช่วงนั้นกิจกรรมการเรียนการทำงานของประชาชนนอกบ้านทั่วไปยังเป็นปกติ ทางการไม่มีการประกาศให้ทำงานหรือเรียนอยู่ที่บ้าน (นอกจากแต่ละหน่วยงานอาจจะมีการพิจารณาที่ต่างกันไป) ดังนั้น ประชาชนเมื่อจะต้องเดินทางออกจากบ้านก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 และ KN95 เพื่อป้องกันตัวเอง ผู้เขียนยังจำได้ว่าขณะนั้นในมหาวิทยาลัยมีการแจกหน้ากากอนามัยแบบ N95 ให้บุคลากรและคณาจารย์อยู่บ้างเพื่อให้ทุกคนเอาไว้ป้องกันตนเอง
ในเดือน พ.ย.ปี 2014 จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก APEC ทำให้รัฐบาลจีนมีความพยายามที่จะยับยั้งและลดหมอกควันในอากาศ ในเดือน ก.พ. ก่อนการประชุมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สำรวจเมืองปักกิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมในปลายปีนั้น ได้ออกคำสั่งถึงหน่วยงานที่ดูแลด้านสภาพแวดล้อมว่า “ต้องมีวิธีการกำจัดและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ ต้องควบคุมมาตรฐานอากาศ ลดการเผาถ่านหิน ควบคุมปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในท้องถนนและต้องมีมาตรฐานควบคุมโรงงานที่ปล่อยมลพิษอย่างเข้มงวด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือกัน และเพิ่มกฎหมายคุมเข้มด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม” ทำให้ในช่วงการประชุม APEC ระหว่างวันที่ 20-25 พ.ย.ปี 2014 ปักกิ่งสถานที่จัดการประชุมมีท้องฟ้าเปิดสดใส เพราะในช่วงก่อนและระหว่างการประชุม APEC กรมสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกตรวจสอบและดำเนินมาตรการให้โรงงานต่างๆ หยุดการผลิตชั่วคราว ให้ไซต์งานที่กำลังมีการก่อสร้างหยุดการก่อสร้างชั่วคราว โดยมีการเน้นคุมเข้ม 24 เมืองใน 6 มณฑล เช่น นครปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย มณฑลส่านซี เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และมณฑลซานตง จนชาวโซเชียลจีนมีคำยอดฮิตในช่วงนั้นว่า “APEC ฟ้าใสสั่งได้”
แต่หลังการประชุม APEC ในปี 2015 ทั่วประเทศจีนโดยเฉพาะเมืองทางตอนเหนือยังประสบกับวิกฤตมลพิษในอากาศ ในปี 2015 มีถึง 11 ครั้งที่หมอกควันที่มีความเข้มข้นสูงกระจายไปทั่วประเทศ ในเมืองฮาร์บิน เมืองฉางชุน และเมืองเสิ่นหยางเคยวัดระดับความเข้มข้นของมลพิษในอากาศสูงได้ถึง 1,000 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร! ในขณะที่มาตรฐานอากาศปลอดภัยของจีนภายใน 24 ชั่วโมงความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 ในอากาศต้องต่ำกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ตั้งแต่ปี 2013 ต่อเนื่องถึงปี 2018 จีนเริ่มดำเนินการตาม “แผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ” และ “แผนปฏิบัติการ 3 ปีในการต่อสู้เพื่อปกป้องท้องฟ้าสีคราม” อย่างจริงจัง ทำให้คุณภาพอากาศของจีนทั่วประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2021 กรมสิ่งแวดล้อมจีนออกประกาศผลการดำเนินงานตาม "แผนปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อฟ้าสีคราม" ว่าจาก 339 เมืองทั่วประเทศที่จัดตั้งจุดตรวจสอบคุณภาพอากาศ มี 218 เมืองมีคุณภาพอากาศดีถึงมาตรฐาน คิดเป็น 64.3% ของเมืองที่ตั้งจุดตรวจสอบทั้งหมด นครปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบ ความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 มีอยู่ 43 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงเกือบ 60% เมื่อเทียบกับปี 2013 ปัจจุบันคุณภาพอากาศของจีนทางเหนือดีขึ้นมาก แต่ยังมีวันที่อากาศมีมลพิษอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่หลายพื้นที่ในภาคเหนือจีนยังใช้วิธีการเผาถ่านเพื่อให้ความอบอุ่นกันอยู่
จีนจัดการกับหมอกควันในประเทศได้เร็ว ไม่ใช่แค่นั่งรอฝนตกหรือลมพัดเท่านั้น แต่เพราะ “มาตรการที่เด็ดขาดสั่งได้” เช่น บังคับการลดการใช้/เผาถ่านหินในอุตสาหกรรมและภาคประชาชน จำกัดการออกมาวิ่งของรถยนต์บนท้องถนนในแต่ละวัน ให้โรงงานที่สร้างมลพิษปริมาณมาก เช่น อุตสาหกรรมโรงงานหลอมเหล็กรอบปักกิ่งย้ายออก ถูกสั่งให้ลดการผลิต หรือที่หนักคือถูกสั่งให้ปิดไปเลย ในเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ติดต่อกัน ทางการสามารถสั่งให้ไซต์งานก่อสร้างพักการก่อสร้างชั่วคราวได้ เช่น ในมณฑลเหอเป่ย ไซต์งานก่อสร้างใน 1 ปีจะหยุดการก่อสร้าง 4 เดือนในช่วงฤดูหนาวเพื่อลดการก่อมลพิษในอากาศ ทั่วประเทศพยายามเพิ่มการปลูกป่าให้มากขึ้น บำรุงแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้เป้าหมายงานของรัฐบาลจีนในด้านการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายงานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่ง
ทั้งนี้ ปัญหามลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมของจีนยังมีประเด็นที่ท้าทายอยู่ เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก มีอุตสาหกรรมหนักหลายประเภท การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมยังมีอยู่ การควบคุมของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีความเข้มงวดต่างกัน การพยายามพัฒนาเมืองของจีน ทำให้เกิดการบุกรุกธรรมชาติ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นต้นเหตุของมลพิษฝุ่นละอองเช่นกัน
สรุปแล้ว ในปัจจุบันจีนมีคุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น แต่ยังไม่ดีขึ้นถึงขนาดที่ผู้คนไร้ความกังวล คนจีนจำนวนมากยังมีความโหยหาอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ อย่างเพื่อนคนจีนชาวปักกิ่งของผู้เขียน ตัดสินใจย้ายครอบครัวจากเมืองปักกิ่ง ไปอยู่เมืองลี่เจียงถาวรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (เมืองในมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน) โดยเขาให้ความเห็นว่า อยากให้ครอบครัวไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่อากาศสะอาด สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดี ซึ่งทุกวันนี้เพื่อนผู้เขียนชาวปักกิ่งคนนี้มีความสุข พอใจกับการใช้ชีวิตและทำงานที่นั่น ผู้เขียนเองมองว่าปัญหามลพิษในอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา และเป็นเรื่องของคนในสังคมทุกคนที่ต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม