xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : คนจีนยุคใหม่กับแนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หญิงวัย 30 ปี ออกจากงานเงินเดือนสูงในปักกิ่ง หันหลังให้ชีวิตฟุ่มเฟือย และสังคมจอมปลอม กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ห้องขนาด 88 ตารางเมตรที่เธอซื้อไว้มีเฟอนิเจอร์เพียง 6 ชิ้น ปัจจุบันเธอมีความสุข และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ (ภาพจากสื่อจีน CCTV)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในบทความนี้ผู้เขียนขอเล่าสู่กันฟังถึงแนวคิดการดำรงชีวิตของกลุ่มคนจีนยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเวลานี้ คือ “ตัด-ปล่อย-จาก” ภาษาจีนเรียกว่า “断舍离” คำแรก 断 (อ่านว่า ต้วน) แปลเป็นไทยตรงตัวว่า “ตัดหรือทำให้ขาดออก” คำที่สองคือ “舍” (อ่านว่า เส่อ) แปลเป็นไทยตรงตัวว่า “ปล่อยหรือละทิ้ง” ส่วนคำสุดท้ายคือคำว่า “离” (อ่านว่า หลี) แปลเป็นไทยตรงตัวคือ “ถอยห่างหรือตีจากไป” ซึ่งสามคำเอามารวมกันคือ “ตัด-ปล่อย-จาก” แนวคิดนี้จะเน้นการตัดและกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต ไม่สะสมสิ่งของ ซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและมีความพอใจกับชีวิตเรียบง่าย


แนวคิดนี้ต่อเนื่องมาจาก “การนอนราบ” ที่มุ่งการละวาง ไม่ขนขวายทะเยอะทะยานให้ตัวเองเหนื่อย ไม่ต้องไปแข่งขันและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ที่สบายขึ้น

แนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งจะมาได้รับความนิยมในช่วงหลังๆ อาจเพราะสังคมยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยแรงกดดันและการแข่งขัน ทำให้คนจีนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเริ่มหันหลังให้การแข่งขันและอยากจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง

ในโซเชียลมีชาวเน็ตรายหนึ่งตั้งคำถามว่า ชีวิตคนเราในรูปแบบไหนที่สุขสบายที่สุด? และมีอยู่คอมเมนต์หนึ่งมีคนมากดไลก์ถล่มทลาย เป็นการตอบคำถามนี้ว่า มีสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แสวงหาความสงบและอยู่ในสังคมที่สะอาด เรียบง่าย คนเรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ยิ่งง่ายยิ่งมีความสุข ยิ่งละวางได้ยิ่งร่ำรวย

หญิงสาวจีนรายหนึ่งนามว่า มอร์ อายุ 25 ปี ได้เข้ามาทำงานปักกิ่ง เช่าห้องพักเล็กๆ อยู่กับแฟน ราคาเดือนละ 2,000 หยวน หรือประมาณ 10,000 บาท รายได้ 2 คนรวมกันประมาณ 8,000 หยวน หรือประมาณ 40,000 บาท หลังจากเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ก็เปลี่ยนไป วันหยุดชอบไปเดินห้างชอปปิ้ง ซื้อของออนไลน์ อยากได้อยากมีไปหมด ทำให้ทั้ง 2 คนแต่ละเดือนแทบไม่มีเงินเก็บ ส่วนห้องเช่าเล็กๆ ที่เช่าอยู่นานวันไปก็เล็กเกินไปแล้ว เพราะของมีซื้อเข้ามาสะสมอยู่เรื่อยๆ จนสุดท้าย สาวมอร์ และแฟนต้องหาห้องเช่าใหม่ที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น และจากประสบการณ์ทำงานในปักกิ่งสะสมหลายปี ทำให้รายได้ของทั้ง 2 คนเพิ่มขึ้นจาก 8,000 หยวน เป็น 20,000 หยวน หรือประมาณ 1 แสนบาท กระนั้นก็ยังเก็บเงินไม่ได้อยู่ดี เพราะหาเงินได้มากก็ใช้มาก พอใช้เงินมากขึ้นก็อยากที่จะหาเงินให้ได้มากขึ้น เหมือนหนูที่กำลังวิ่งบนจักร จะหยุดพักไม่ได้

ผ่านมา 10 ปี สาวมอร์ และแฟนตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองในวัย 35 ปี โดยหันมายึดหลักแนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” พวกเขาตั้งกฎว่าสิ่งของใดไม่ได้ใช้งานเกิน 30 วัน จะต้องโละทิ้ง ถอดแอปชอปปิ้งออนไลน์ที่ไม่จำเป็นออกจากมือถือ ของที่จะซื้อเข้าบ้านหากว่าเป็นของที่มีอยู่แล้วจะต้องทิ้งของเก่าก่อนถึงจะซื้อของใหม่เข้ามา และหลังจากที่พวกเขายืนหยัดแนวทางนี้ได้ระยะหนึ่งก็ค้นพบว่า มีเวลาให้กับตัวเองเยอะขึ้น สามารถไปเดินออกกำลังกายในสวนได้ บ้านโล่งขึ้น เงินเก็บมีมากขึ้น และรู้สึกมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน

หญิงจีนวัยกลางคนที่ใช้ชีวิตตามแนวทาง “ตัด-ปล่อย-จาก” เธอตัดสินใจไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ 10 ปี บริจาคของที่ไม่จำเป็น กินอยู่แบบเรียบง่ายรักษาสุขภาพ ปัจจุบันเธอลดน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัม (ภาพจากสื่อจีน CCTV)
ในบางครั้งชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสิ่งของภายนอก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีเวลาให้ความสุขกับตัวเอง คนเรามีความต้องการมากมาย แต่มีสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ไม่เท่าไหร่ มีการให้หลักการของแนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” มีอยู่ 5 ประการดังต่อไปนี้

- สิ่งของที่เก็บไว้เกิน 1 ปี และไม่ได้นำออกมาใช้ต้องทิ้ง ให้คนอื่นหรือขายต่อ

- ของที่ไม่จำเป็นและไม่ได้ใช้งาน คือผ่านมาไม่ได้ใช้และอนาคตคงจะไม่ได้ใช้ หากทบทวนแล้วไม่จำเป็นจริงๆ ก็ต้องกำจัดดออกไป

- สิ่งของที่มีครอบครองไว้แต่ทำให้เรารู้สึกไม่สบาย ไม่ว่าจะไม่สบายใจหรือไม่สบายกาย ก็เป็นสิ่งของที่ควรกำจัดออกไป

- สิ่งของที่เราไม่ได้รู้สึกชอบอะไร ไม่ชอบหยิบมาใช้ก็ควรกำจัดออกไป นอกจากว่าของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบ เห็นแล้วมีกำลังใจเก็บเอาไว้ได้

แนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” ไม่ใช่แค่เป็นกรอบแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้เท่านั้น แต่ยังใช้กับเรื่องราวและคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตอีกด้วย ความสัมพันธ์ในสังคมกับหลายคนเมื่อเสร็จภารกิจหรือเสร็จกับภาระหน้าที่ก็จากไปเป็นธรรมชาติ คนที่คบแล้วไม่ใช่ก็ “ตัด-ปล่อย-จาก” ออกไป ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดแบบนี้คล้ายๆ กับแนวคิดการใช้ชีวิตที่ว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่น”

กลุ่มคนจีนยุคใหม่ที่เกิดหลังปี 1985 มีแนวคิดสมัยใหม่แตกต่างจากคนจีนยุคก่อน คนจีนยุคใหม่ยอมรับในความต่างของสังคมมากขึ้นและหลายคนมีทัศนคติต่อการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยมองว่าชีวิตคนเราทำงานทุกๆ วันอย่างเอาเป็นเอาตายเพียงเพื่อ “เงิน” และต้องแลกกับสุขภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วนั้นไม่คุ้มค่า ดังนั้น แนวทาง “ตัด-ปล่อย-จาก” ก็ตอบโจทย์คนจีนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แนวทางนี้จะทำให้ชีวิตเบาลง เช่น ในแง่ของวัตถุสิ่งของก็มีเท่าที่จำเป็นและใช้งาน ตัดในเรื่องของภาระความฟุ่มเฟือยออกไปจากชีวิต

คนจีนรุ่นก่อนที่เกิดในยุคสมัยปี 1960-1970 มีแนวคิดที่ต่างจากคนจีนยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน เช่น คนในยุคนั้นที่ปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุแล้ว ช่วงวัยทำงานของคนกลุ่มนี้เป็นช่วงเวลาที่จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว (ช่วงปี 1980-2000) ในขณะนั้นสังคมการทำงาน การทำธุรกิจเต็มไปด้วยโอกาส ดังนั้นคนที่เกิดในยุคสมัยปี 1960-1970 จะมองว่าการทำงานหนักนำมาซึ่งความสุข ตรงกันข้ามกลุ่มคนยุคใหม่ (เกิดในช่วงปี 1990-2000) เกิดมาในยุคที่จีนพัฒนามาระดับหนึ่ง การแข่งขันในการเรียนและการทำงานมีมากขึ้น สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น การประสบความสำเร็จจนร่ำรวยทำได้ยากขึ้น ทำให้คนจีนยุคใหม่จำนวนมากมองว่าความสุขของชีวิตคือชีวิตที่มีความผ่อนคลาย พยายามค้นหาและเน้นความสุขด้านจิตใจมากกว่าด้านวัตถุ

ผู้เขียนมองว่าแนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” ที่คนรุ่นใหม่เริ่มยึดถือกันมากในปัจจุบัน สะท้อนถึงต้นเหตุจากปัญหาของสังคมจีนยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความกดดันจากครอบครัวและสังคม ตั้งแต่วัยเรียนจนกระทั่งวัยทำงาน และคนจีนมากกว่า 80% ไม่นับถือศาสนา ทำให้คนส่วนใหญ่มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางโลกเป้าหมายเดียวคือ “เงิน-อำนาจ-สรรเสริญ” เมื่อสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้คนจีนยุคใหม่พยายามหาแนวทางดำเนินชีวิตใหม่ที่ทำให้จิตใจและชีวิตเบาสบาย แนวคิด “ตัด-ปล่อย-จาก” ที่ผู้เขียนแนะนำไปเป็นแนวทางปฎิบัติใหม่ที่คนจีนยุคใหม่จำนวนมากยึดถือ เป้าหมายเพื่อหาทางออกและความสุขในอีกแบบหนึ่งให้ชีวิต และดูเหมือนว่าแนวทางการดำเนินชีวิตแบบใหม่นี้จะยิ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น