ซาอุดีอาระเบียชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยืนยันคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับจีนเมื่อปีก่อนว่า ซาอุฯ คือหุ้นส่วนและผู้จัดหาน้ำมันดิบที่น่าเชื่อถือไว้วางใจมากที่สุดสำหรับจีน
นับเป็นการประกาศจุดยืนของซาอุฯ โดยที่มิได้คำนึงถึงความวิตกกังวลของพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เลยสักนิด
ย้อนกลับไปบนเวที การประชุมประจำปีการพัฒนาจีน (China Development Forum) เมื่อเดือนมีนาคมปี 2564 นายอามิน ฮัสซัน นัสเซอร์ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) ของอารัมโค บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุฯ ได้ประกาศว่า อารัมโคยังคงให้ความสำคัญสูงสุดในการรับประกันกับจีนว่า จีนจะมีความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ 5 ปีข้างหน้า แต่เป็นในอีก 50 ปี หรือนานกว่านั้น
ต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการหารือกันรอบใหม่ ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมระหว่างเจ้าชาย อับดุลอะซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุฯ กับนายจาง เจี้ยนหวา ผู้บริหารพลังงานแห่งชาติของจีน ซาอุฯ ก็ยังคงยึดมั่นบทบาทการเป็นพันธมิตรให้จีนเลือกใช้บริการได้เสมอในตลาดน้ำมัน โดยชาติทั้งสองให้คำมั่นว่า จะติดต่อสื่อสารและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
การหารือกันรอบใหม่นี้มีขึ้นไม่นาน หลังจากที่อารัมโค และซิโนเปก บริษัทพลังงานแห่งชาติจีน เพิ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่ง ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นย่างก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์จีนในการดึงซาอุฯ มาเป็นพวก ขณะที่ทางด้านซิโนเปกเองระบุว่า เป็นบทใหม่ของการเป็นหุ้นส่วน เพื่อจับมือกันพัฒนาโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative - BRI) และนโยบาย "วิสัยทัศน์ซาอุฯ 2030" (Saudi Arabia’sVision 2030)
ความเคลื่อนไหวของซาอุฯ ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า ซาอุฯ มิได้แยแสว่าสหรัฐฯ จะคิดอย่างไร และไม่สนผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมาจากความโกรธเกรี้ยวของสหรัฐฯ หลังจากที่เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโอเปกพลัส ซึ่งนำโดยซาอุฯ หักหน้าสหรัฐฯ ด้วยการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่วันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ เป็นต้นไป
นอกจากนั้น มกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ผู้นำซาอุฯ ตัวจริง ยังปฏิเสธรับโทรศัพท์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งโทร.มาขอร้องให้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อฉุดรั้งราคาน้ำมันโลกที่พุ่งทะยาน อันเป็นผลจากสหรัฐฯ คว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯ โกรธถึงขั้นประกาศพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุฯ เพราะมองว่า ซาอุฯ ร่วมมือกับรัสเซีย ซึ่งอยู่ในโอเปกพลัส
อย่างไรก็ตาม การตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ หันมาหาจีน ก็เท่ากับว่า มกุฎราชกุมารซาอุฯ เป็นฝ่ายยุติข้อตกลงที่ใช้เป็นหลักกำหนดการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ (1945 core agreement) ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
ดูเหมือนว่า ฐานะของสหรัฐฯ ในสายตาของมกุฎราชกุมารซาอุฯ เวลานี้เป็นแค่หุ้นส่วนอีกชาติหนึ่งเท่านั้นในระเบียบโลกใหม่ ที่มีจีนและชาติพันธมิตรเข้ามามีส่วนแบ่งความเป็นผู้นำร่วมกับสหรัฐฯ โดยพระองค์อาจมองสหรัฐฯ เป็นเพียงหุ้นส่วนในแง่ความมั่นคง ซึ่งไม่มีสิ่งตอบแทนที่สลักสำคัญอะไรให้ซาอุฯ แต่ในขณะที่จีนต่างหากเล่า ที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ และรัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญด้านพลังงาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรจีน ซาอุฯ จัดส่งน้ำมันให้จีนในช่วงเดือน ม.ค.- ส.ค. ปี 2565 คิดเป็น 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.7 จากร้อยละ 16.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนั้น ชาติทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะมีการหารือกันต่อไปในโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น การพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร ตลอดจนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการหารือในเรื่องการใช้เงินหยวนซื้อน้ำมันจากซาอุฯ แทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า การเจรจามีความเข้มข้นมากขึ้น
ข้อมูลจาก "Saudi Arabia Reiterates Commitment To China, Regardless Of U.S. Concerns " By Simon Watkins for Oilprice.com