xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ จ้องเขม็งขณะที่ ‘จีน’ นำ ‘ประเทศอ่าวอาหรับ’ ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: มอร์เดชาย ชาซีซา ***


พวกลูกค้าชาวซาอุดีอาระเบีย แวะชมร้านหัวเว่ยแห่งหนึ่งในกรุงริยาด (ภาพจากเฟซบุ๊ก)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US looks on while China takes the Gulf digital
By MORDECHAI CHAZIZA
07/10/2022

บรรดารัฐอ่าวอาหรับกำลังดิ้นรนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความผูกพันด้านความมั่นคงที่มีอยู่กับสหรัฐฯ กับลู่ทางโอกาสอันสดใสของแผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมดิจิทัลของจีน

การต่อสู้แข่งขันกันในทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังขยายตัวไปสู่การดิ้นรนหาทางเข้าควบคุมเหนือเศรษฐกิจดิจิทัล –โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เวลานี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนจัดอยู่ในกลุ่มซึ่งคึกคักมีชีวิตชีวามากที่สุดของโลกทีเดียว โดยเมื่อปี 2021 มีขนาดใหญ่อยู่ในอันดับ 2 ของทั่วโลกด้วยมูลค่า 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจดิจิทัลนี่เองยังกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพวกรัฐอ่าวอาหรับ ไม่ว่าจะเป็น บาห์เรน คูเวต อิรัก, โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
(เรื่องจีนเป็นอันดับ 2 ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.news.cn/20220907/9c3a91bf167f450db8cdc4febdbbe6cb/c.html)

ภาคพลังงานนั้นยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจซึ่งเป็นผู้รับเงินลงทุนของจีนเอาไว้มากที่สุดในบรรดาประเทศอ่าวอาหรับส่วนใหญ่ โดยแรกเริ่มเดิมทีน้ำมันดิบที่จีนนำเข้าก็มาจากพวกชาติในตะวันออกกลางเพียง 9 รายเท่านั้น การที่ปักกิ่งนำเข้าน้ำมันและก๊าซ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการขายอาวุธ เหล่านี้ทำให้แดนมังกรมีอิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งนี่เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ พวกระบบเศรษฐกิจของรัฐในอ่าวอาหรับนั้นในอดีตที่ผ่านมา ต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกพลังงานมาสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้แก่เศรษฐกิจของพวกตน

แต่การผงาดขึ้นมาของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เห็นบรรดารัฐอ่าวอาหรับหันมาทำให้ระบบเศรษฐกิจของพวกเขามีการกระจายตัวอย่างหลากหลายมากขึ้น ทั้งด้วยการพัฒนาภาคการเงินและการพัฒนาพวกอุตสาหกรรมที่ยึดโยงอยู่กับความรู้ขึ้นมา นี่หมายความว่าความร่วมมือกันทางดิจิทัลระหว่างจีนกับเหล่ารัฐอ่าวอาหรับ สามารถที่จะกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” สำหรับปักกิ่งในการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกับสหรัฐฯ เพื่อบรรลุความเหนือล้ำกว่าในทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคแถบนี้

สำหรับจีน และเหล่ารัฐอ่าวอาหรับแล้ว การร่วมกันพัฒนาทั้งในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การสร้างเมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และพวกธุรกิจที่ชี้นำโดยเทคโนโลยี กำลังกลายเป็นความอุตสาหะพยายายามที่เสริมส่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน ประชากรในวัยหนุ่มสาวของอ่าวอาหรับได้พบเห็นสัมผัสกับเทคโนโลยีของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่พวกแอปพลิเคชันเครือข่ายโซเชียล ไปจนถึงแพลตฟอร์มการชำระเงินระบบดิจิทัล

เส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road หรือ DSR) คือแขนขาด้านเทคโนโลยีของแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) แผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมดิจิทัลนั้น มีศักยภาพที่จะเพิ่มรายรับถึง 255,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของภูมิภาคแถบนี้โดยรวม และสร้างตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีจำนวน 600,000 ตำแหน่งขึ้นมาในบรรดาชาติสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ภายในปี 2030 กระนั้น โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมดิจิทัล ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ได้มีการแบ่งสันปันส่วนกันอย่างเสมอหน้าในหมู่รัฐอ่าวอาหรับ
(เรื่องเส้นทางสายใหม่ดิจิทัลสามารถเพิ่มจีดีพีและตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีให้แก่รัฐอ่าวอาหรับ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.zawya.com/en/economy/gcc/gcc-states-can-create-600-000-tech-jobs-add-255bln-to-gdp-by-2030-h6vrbxtt)

พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคนั้นมีบทบาทมากในการก่อกำเนิดแผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมดิจิทัลของจีน และในการทำให้การพัฒนาด้านดิจิทัลของภูมิภาคแถบนี้ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หัวเว่ยกำลังทำงานกับซาอุดีอาระเบียในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลสำหรับรองรับผู้จาริกแสวงบุญทางศาสนา บริษัทจีนแห่งนี้ยังทำงานร่วมกับพวกเจ้าหน้าที่ของดูไบ ในการช่วยอัปเดตท่าอากาศยานที่นั่นให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมมือกับการไฟฟ้าและประปาดูไบ (Dubai Electricity and Water Authority) ในการสร้างเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง และการตรวจตราเฝ้าระวังด้วยเครือข่ายกล้องวิดีโอ

พนักงานร้านผู้หนึ่งถ่ายภาพเซลฟี่ ที่ห้างแห่งใหญ่ที่สุดในต่างประเทศของหัวเว่ย ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย   ในวันเปิดร้านวันแรก 2  กุมภาพันธ์ 2022 (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
ในปี 2022 ดู (Du) บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของยูเออี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งกับหัวเว่ย ในเรื่องการวิจัย การตรวจสอบความถูกต้อง และการทำซ้ำ multi-access edge computing applications ในภูมิภาคแถบนี้ ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่การยกระดับ multi-access edge computing applications สู่ระบบ 5จี ไปจนถึงการถ่ายทอดสดรายงานแข่งขันจักรยานทางไกลชิงถ้วย Presidential Cycling Cup

หัวเว่ย ยังได้รับอนุญาตให้เสนอบริการต่างๆ ทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing services) ในคูเวตในเดือนกรกฎาคม 2022 ส่วนอาลีบาบา นั้นให้สัญญาที่จะสร้าง “เทคทาวน์” (Tech Town) ร่วมกับ เมอราส โฮลดิ้ง (Meraas Holding) ซึ่งเป็นกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งฐานอยู่ที่ดูไบ เพื่อรองรับบริษัทไฮเทคต่างๆ กว่า 3,000 แห่ง อาลีบาบายังลงนามในดีลหลายฉบับเพื่อจัดเก็บข้อมูลคลาวด์ ดาต้า ในโอมาน รวมทั้งมีกิจการด้านอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่โตกว้างขวางอยู่ในซาอุดีอาระเบียอีกด้วย
(หัวเว่ย สามารถให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งในคูเวต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theglobaleconomics.com/2022/07/28/huawei-cloud/)
(กิจการของอาลีบาบาในตะวันออกกลาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thechinaproject.com/2022/02/02/middle-eastern-countries-look-to-china-for-infrastructure-funding-new-technology/)

เซนส์ไทม์ (SenseTime) บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์สัญชาติจีน ไปเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคแถบนี้ขึ้นที่อาบูดาบี ในปี 2019 ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์อาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต (Abu Dhabi Global Market) และตลาดหลักทรัพย์ ฮ่องกง ซีเคียวริตีส์ แอนด์ เอกซ์เชนจ์ (Hong Kong Securities and Exchange) ก็มีการทำงานด้วยกันในระยะหลังๆ นี้ เพื่อคอยดูแลนวัตกรรมด้านบริการทางการเงินทั้งในฮ่องกงและในยูเออี

ส่วนเอ็ม/เอส อารัมโก (M/s Aramco) กิจการของซาอุดีอาระเบีย กำลังเจรจาเพื่อเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัทจีนชื่อ เอวิค อินเตอร์เนชั่น (Avic International) ในเรื่องบริการทางด้านโดรน (อากาศยานไร้นักบิน) และการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมจีน อย่าง หัวเว่ย ก็กำลังพยายามเช่นกันที่จะยื่นข้อเสนอขยายงานศูนย์การประมวลผล ซึ่งตั้งอยู่ที่ดัมมาน (Dammam) และริยาด

พวกยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีนนั้นมีการเข้าร่วมการพัฒนาเครือข่ายสื่อสาร 5จี กับเหล่ารัฐอ่าวอาหรับอย่างน่าจับตามองทีเดียว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เป็นรัฐอ่าวอาหรับรายแรกๆ ที่สร้างเครือข่าย 5จี ขึ้นมา ภายในปี 2019 เครือข่าย 5จี ของยูเออีก็ครอบคลุมพื้นที่ราว 80% ของตัวเมืองต่างๆ ของยูเออีไปได้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น หัวเว่ยยังได้ทำงานสร้างสถานีฐานสำหรับ 5จี ไปแล้วกว่า 1,000 แหงตลอดทั่วทั้งคูเวต

การที่จีนมีการปรากฏตัวในภูมิภาคแถบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ วอชิงตันแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการออกแรงกดดันให้เหล่ารัฐอาหรับทั้งหลายต้องตัดสินใจเลือกข้าง ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีความรับรู้ความเข้าใจว่าความร่วมมือทางดิจิทัลระหว่างประเทศเหล่านี้กับจีนมีบางมิติที่กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ขณะที่พวกรัฐอ่าวอาหรับก็ตระหนักดีว่าสหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับการปรากฏตัวในภูมิภาคแถบนี้ของจีน และพวกเขาต่างต้องการหลีกเลี่ยงไม่ปรารถนาที่จะพลัดเข้าไปอยู่หว่างกลางระหว่างความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจใหญ่
(เรื่องจีนมีการปรากฏตัวในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นทุกที ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eastasiaforum.org/2022/04/05/understanding-chinas-relations-with-the-middle-east/)

ถึงแม้ในระยะหลังๆ มานี้ พวกรัฐอ่าวอาหรับบังเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า วอชิงตันมีความมุ่งมั่นผูกพันกับเรื่องการดูแลความมั่นคงของพวกเขามากน้อยแค่ไหน กระนั้น พวกเขาก็ทราบดีว่าไม่อาจมีอะไรมาสกัดกั้นการก้าวร้าวรุกรานของอิหร่าน ได้ดีกว่าการที่มีทหารสหรัฐฯ ปรากฏตัวอยู่แถวๆ นี้

พวกรัฐอ่าวอาหรับกำลังพยายามที่จะกระจายการรับความสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารของพวกเขาให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยวอชิงตันหรือปักกิ่งอย่างดิ้นไม่หลุด ขณะที่การเลือกข้างย่อมทำให้รัฐอ่าวอาหรับเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่พวกเขามีอยู่กับสหรัฐฯ หรือไม่ก็ความเป็นหุ้นส่วนด้านเทคโนโลยีที่พวกเขามีอยู่กับจีน

การที่สหรัฐฯ มีการปรากฏตัวทางทหารในบริเวณอ่าวอาหรับ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันทางการทหารในระดับหนึ่งระหว่างสหรัฐฯ กับพวกรัฐอ่าวอาหรับ ขณะที่จีนไม่ได้มีความสามารถในการสำแดงแสนยานุภาพทางทหารไปทั่วโลกทำนองนี้ เนื่องจากยังขาดไร้ทั้งความสามารถในการเข้าไปถึงจุดต่างๆ ทั่วทั้งโลก การไม่ได้ทำสนธิสัญญาด้านการป้องกันกับใครทั้งสิ้น รวมทั้งการไม่มีฐานทัพทางทหารอยู่ในต่างแดน

นอกจากนั้น จีนไม่ได้มีเงินทองอยู่ในมือเผื่อเอาไว้สำหรับเข้าแทนที่วอชิงตันในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยของเขตอ่าวอาหรับ แม้ว่าสหรัฐฯ กำลังพิสูจน์ตนเองให้เกิดความประทับใจขึ้นมาว่าตนเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือพึ่งพาไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้จึงยิ่งทำให้พวกรัฐอ่าวอาหรับต้องเผชิญกับสถานการณ์ซึ่งยากยิ่งแก่การแก้ไขคลี่คลาย ขณะที่พวกเขาพยายามสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงซึ่งสำคัญยิ่งยวดกับสหรัฐฯ เอาไว้ เคียงคู่ไปกับความผูกพันทางดิจิทัลซึ่งเพิ่งเริ่มต้นขึ้นมากับประเทศจีน

ทหารสหรัฐฯ เดินอยู่ในฐานทัพอากาศกัยยาระห์ (Qayyarah air base) ทางภาคเหนือของอิรัก ทั้งนี้ื กองทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เคยช่วยเหลือฝ่ายอิรักในการวางแผนสู้รบขับไล่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ซึ่งเวลานั้นยึดเมืองโมซุล (Mosul) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ฐานทัพแห่งนี้เอาไว้ได้  โดยที่ในที่สุดแล้วสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากฐานทัพกัยยาระห์ ไปตามแผนการที่กำหนดไว้ในวันที่ 26 มีนาคม 2020 ในปัจจุบันอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางยังคงเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ (ภาพเอเอฟพี)
ทว่าการที่พวกรัฐอ่าวอาหรับสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคโนโลยีกับจีนในขอบเขตมากน้อยขนาดไหน กลายเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแรงบีบคั้นกดดันของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การที่วอชิงตันเรียกร้องพวกรัฐอ่าวอาหรับให้ชะลอการใช้เทคโนโลยีจีนอย่างแพร่หลาย ก็เป็นการสร้างความยุ่งยากให้แก่สภาพแวดล้อมเชิงพาณิชย์สำหรับพวกบริษัทจีนด้วย

ในการตอบโต้ จีนอาจจะใช้แรงบีบคั้นกดดันทางการทูตและทางเศรษฐกิจเพื่อเลื่อนฐานะของตนเองขึ้นมา ด้วยการลดทอนฐานะของสหรัฐฯ –ทำให้เหล่ารัฐอาหรับบังเกิดความยากลำบากที่จะรักษาความเป็นหุ้นส่วนแบบคู่ขนานกันเอาไว้

ในยุคสมัยของการต่อสู้แข่งขันกันทางภูมิยุทธศาสตร์ วอชิงตันคาดหวังให้เหล่ารัฐอาหรับต้องตัดสินใจเลือกอย่างชัดเจนและเหี้ยมเกรียม เหล่ารัฐอาหรับจึงต้องบริหารจัดการความผูกพันทางดิจิทัลที่พวกเขามีอยู่กับจีนในเวลาเดียวกับที่ทำความเข้าใจว่า ความกังวลของวอชิงตันเป็นการสร้างข้อจำกัดขึ้นมาในความเป็นหุ้นส่วนทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ของพวกตน

มอร์เดชาย ชาซีซา เป็นอาจารย์อาวุโส ภาควิชาการเมืองและการปกครอง วิทยาลัยวิชาการแอชเคลอน (Ashkelon Academic College) ประเทศอิสราเอล

บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดย อีสต์เอเชีย ฟอรั่ม (East Asia Forum) ซึ่งขยายตัวออกมาจากคณะวิชานโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) ภายในวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia and the Pacific) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)
กำลังโหลดความคิดเห็น