xs
xsm
sm
md
lg

“เอเปก” ไทยรับเต็มๆ แต่มีคนกระอักเลือด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

ตามกำหนดการประชุมเอเปก หรือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ โดยมี 21 ผู้นำประเทศ และตัวแทนเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าร่วม และที่น่ายินดีก็คือได้รับการตอบรับครบทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีผู้นำเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ยืนยัน นั่นคือ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งก็พอเข้าใจได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

แต่รายอื่นๆ ที่ยืนยันมาแน่ล้วนระดับ “บิ๊ก” ทั้งนั้น และที่สำคัญ งานนี้ไทยได้ประโยชน์เต็มๆ นั่นคือ ประธานาธิบดี “สีจิ้น ผิง” ของจีน และน่าตื่นตาตื่นใจ ก็คือ หนึ่งใน “แขกรับเชิญพิเศษ” คือ เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ที่ตามข่าวก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า จะนำคณะมาเยือนไทยไม่ต่ำกว่า 800 คนเลยทีเดียว หากเป็นไปตามนี้ถือว่า “สุดพิเศษ” จริงๆ เพราะนั่นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ “พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” กันเลย จากเดิมที่หากใช้ภาษาบ้านๆ ในความหมาย “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” กันมานานกว่าสามสิบปี แต่ในยุคนี้ความสัมพันธ์กลับก้าวกระโดดจนตามแทบไม่ทัน

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ซาอุดีอารเบียในยุคปัจจุบันไม่ธรรมดา ทุกประเทศต่างอยากเข้าหา ต้องการสร้างสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ขณะเดียวกัน ในยุคที่กำลังมีการ “จัดระเบียบโลกใหม่” ซาอุดีอารเบีย ยังกลายเป็นตัวแปรสำคัญ
และแน่นอนว่า การยกคณะใหญ่มาเยือนไทยในครั้งนี้ ย่อมเป็นที่จับจ้องไปทั้งโลก และสำหรับประเทศไทยมีแต่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุน หลังจากที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะไปเยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของ มกุฎราชกุมารฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดังนั้น การมาเยือนในฐานะแขกพิเศษในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสานต่อความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี 2565 ว่า ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 3 ปีที่จะมีการประชุมเต็มรูปแบบ และเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด -19 รวมทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เราจะต้องทำให้ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะบุคคลที่จะเดินทางมายังประเทศไทยล้วนแต่เป็นระดับสูงสุดของรัฐบาลเสียส่วนใหญ่ แต่ก็มีผู้แทนมาบ้าง ยืนยันว่า ทุกประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจมาประชุม เพียงแต่ว่าจะอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการที่จะมาร่วมประชุม แต่ก็มีบางประเทศที่มีปัญหาภายใน ถือว่าเป็นเรื่องปกติในการประชุม ซึ่งไทยไม่ได้ติดใจเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้ เรามีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งเรื่องการต้อนรับ เรื่องการรักษาความปลอดภัย ส่วนที่ยังไม่เปิดเผยว่ามีผู้นำประเทศไหนมาบ้างนั้น เพราะมีการขอร้องเนื่องจากปัญหาเรื่องความปลอดภัยของแต่ละประเทศ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้แต่ในฐานะประเทศเศรษฐกิจต่างๆ ยืนยันว่าจะมาแน่นอน

"ที่ประชุมวันเดียวกันนี้ ได้ประชุมทุกเรื่อง ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความปลอดภัย ความมั่นคง การจราจรซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อสภาพปกติของบ้านเมือง รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ทั้งการประชุมย่อยและการพูดคุยที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของเอเปก ซึ่งแต่ละประเทศก็ได้มีการนัดหมายกันรวมถึงขอหารือกับเราด้วย” นายดอน กล่าว
เมื่อถามว่า แขกพิเศษ 3 ประเทศ ที่ตอบรับเดินทางมามีประเทศใดบ้าง นายดอน กล่าวว่า นอกจาก 21 ประเทศเขตเศรษฐกิจแล้ว ยังได้เชิญ นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมูฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท และเป็นเรื่องที่ค้างกันมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ไปเยือน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ได้เตรียมการไว้แล้ว ทั้งนี้ การคาดหวังผลที่จะตามจากการประชุมในระดับต่างๆ คนไทยจะได้ประโยชน์
เมื่อถามว่า แขกที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการที่จะมาเยือนทำเนียบรัฐบาล มีประเทศใดบ้าง นายดอน กล่าวว่า ประมาณ 6-7 ประเทศ รวมถึง นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจีนถือเป็นการเยือนพิเศษ เพราะมีการพูดคุยกันมานานแล้ว ส่วนประเทศที่ส่งตัวแทนมา อาทิ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากกำลังมีการเลือกตั้งในประเทศวันที่ 29 พฤศจิกายน ส่วนประเทศเม็กซิโก มีปัญหาในบ้านเมืองของเขา และประเทศสหรัฐอเมริกา จะส่ง นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแทนตามที่โฆษกสหรัฐฯ ได้ชี้แจงไว้ นอกจากนั้น ยังมีฮ่องกงและไต้หวัน แม้ไม่ได้เป็นประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่เหลือเป็นระดับผู้นำที่จะเดินทางมา ส่วน วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย คงต้องรอต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ ยังยืนตามนี้ไปก่อน ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่ต้องรออีกซักระยะ
อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่สุดที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจะต้องดูแล คือ ความปลอดภัยระดับสูงสุดของผู้นำแต่ละประเทศ และเหตุผลที่ไม่สามารถตอบได้ว่าผู้นำแต่ละประเทศมีใครเดินทางมาร่วมประชุมบ้างนั้น เป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยขอให้อดใจรอ
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลจะครบวาระจะไม่ส่งเป็นอุปสรรคในการหารือในครั้งนี้หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ไม่เป็นอุปสรรค จะเห็นได้จากที่มีผู้นำประเทศมาร่วมเป็นจำนวนมาก ด้วยความตั้งอกตั้งใจ บางประเทศขอเวลาการหารือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีหน้าที่จัดสรรเวลาให้ลงตัว

ดังนั้น หากพิจารณาจากผู้นำและแขกรับเชิญพิเศษดังกล่าว โดยเฉพาะผู้นำจีน อย่างประธานธิบดี สี จิ้นผิง ที่เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามมาหมาดๆ และเจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมานฯ ที่ถือว่าเป็นผู้นำซาอุฯ โดยพฤตินัย เพียงแค่นี้ก็ถือว่า “ได้เต็มๆ” โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจแบบเนื้อๆ ไม่ต้องพูดถึงเครดิตระหว่างประเทศที่จะทำให้ทั่วโลกจ้องมองไทยเป็นจุดเดียว

นอกจากนี้ ยังไม่นับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นต้น หรือหากในที่สุดแล้ว
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางมาก็ยิ่งเป็นที่จับตามองมากขึ้นไปอีก จากวิกฤตสงคราม ซึ่งอาจมองได้สองด้าน เพราะอาจมีการวอล์กเอาต์ กันวุ่นวายก็ได้ หรืออีกมุมหนึ่งอาจมีการตั้งวงถกหาทางออกกันในประเทศไทยก็เป็นได้ และยังเชื่อว่ามีแนวโน้มสูงไม่น้อยเหมือนกัน ที่ผู้นำรัสเซียจะมาร่วมประชุม เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่คอนเฟิร์ม เนื่องจากประเด็นความปลอดภัย ซึ่งเข้าใจได้
เอาเป็นว่า ผู้นำที่ตอบรับมาร่วมประชุมเอเปกที่กรุงเทพฯในครั้งนี้ ถือว่าเป็นระดับ “งานช้าง” ระดับโลกจริงๆ โดยเฉพาะเพียงแค่แขกรับเชิญพิเศษเพียงสองสามประเทศ ที่ยกคณะใหญ่และน้อยครั้งจะมีแบบนี้ และที่สำคัญ เป็นการมาเยือนในช่วงจังหวะเหมาะสมที่ไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากต้องเจอกับวิกฤตซ้ำซ้อนต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มันก็อาจทำให้มี “บางคน” ที่มองจากข้างนอกด้วยความริษยา อาจถึงขั้นกระอักเลือดตายก็ได้ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น