xs
xsm
sm
md
lg

มีใครให้มากกว่านี้ไหม? บ.ไต้หวัน "เอเวอร์กรีน ชิปปิ้ง" ประกาศจ่ายโบนัสกลางปีให้พนักงานอีก 10 เดือน ทั้งๆ ที่ตรุษจีนเพิ่งจ่ายไป 40 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - "เอเวอร์กรีน ชิปปิ้ง" ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งทางเรือของไต้หวันเผยผลประกอบการปี 64 ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่ม 880% ประกาศจ่ายโบนัสกลางปีพนักงานเพิ่มอีก 10 เดือน หรือเฉลี่ยได้คนละ 7.6 แสนบาท ทั้งๆ ที่ช่วงตรุษจีนเพิ่งจ่ายโบนัสไปหมาดๆ 40 เดือน

สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อไต้หวันหลายสำนักรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ในการประชุมคณะกรรมการของเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ป (Evergreen Marine Corp.) หรือในชื่อจีนคือ ฉางหรงไห่ยุ่น (長榮海運) บริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ของไต้หวันประกาศว่าจะจ่ายโบนัสให้พนักงานเพิ่มเติมอีกในช่วงกลางปีนี้ (ราวเดือนกรกฎาคม 2565) จำนวน 10 เดือน ทั้งๆ ที่บริษัทเพิ่งจ่ายโบนัสให้พนักงานมากถึง 40 เดือน ในช่วงตรุษจีนที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ ตามระเบียบของบริษัทระบุว่า จะมีการจัดสรรโบนัสให้พนักงานจำนวน 0.5% จากกำไรสุทธิที่ได้ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา Evergreen Marine Corp. มีผลประกอบการ และสร้างกำไรสุทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยหลังจากหักภาษีแล้วมีกำไรสุทธิสูงถึง 239,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้น 880.98% จากปีก่อนหน้า และทำให้มีผลกำไรต่อหุ้นมากถึง 45.57 ดอลลาร์ไต้หวัน

สื่อไต้หวันคำนวณด้วยว่า จำนวนเงินโบนัสเฉลี่ยที่ บ.ชิปปิ้งยักษ์ใหญ่ของไต้หวันจะจ่ายให้พนักงานช่วงกลางปีนี้มากกว่าครึ่งล้านดอลลาร์ไต้หวัน เนื่องจากเมื่อคำนวณ 0.5% ของกำไรสุทธิแล้ว คิดเป็นเงินราว 1,300 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หารด้วยจำนวนพนักงานทั้งหมด 2,017 คน ก็จะตกอยู่ที่เฉลี่ยราว 650,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน (ราว 760,000 บาท)


ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ปีที่แล้วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การขนส่งทางบกประสบกับภาวะชะงักงัน อีกทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานและตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอยู่ที่ยุโรปและอเมริกา ทำให้ภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลกเกิดปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ตามมาด้วยการขนส่งทางอากาศก็เกิดปัญหา เนื่องจากสายการบินต่างๆ ลดเที่ยวบินลง อีกทั้งสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ก็ไม่เหมาะที่จะส่งทางอากาศ ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ปริมาณขนส่งทางเรือพุ่งพรวดพราดและค่าขนส่งก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว การขนส่งทางเรือเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ธุรกิจขนส่งทางเรือทำกำไรมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตาม กิจการของสายการบิน EVA ซึ่งอยู่ในเครือเอเวอร์กรีนเช่นเดียวกัน กลับประสบกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สายการบิน EVA ประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างหนัก และไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ในปี 2563 ก่อนที่ในปี 2564 จะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจโดยหันมาเน้นธุรกิจการให้บริการขนส่งทางอากาศมากกว่าผู้โดยสาร ทำให้ในปีที่แล้วกลับมามีกำไรราว 6,600 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน และในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา สามารถกลับมาจ่ายโบนัสให้พนักงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น