xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights:การพัฒนาของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross border e-commerce) มือถือที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตสามารถเลือกซื้อของได้ทั่วโลก 163.com
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)

ก่อนหน้านี้พูดกันเรื่องอีคอมเมิร์ซหรือการค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันมาเยอะแล้ว หลายท่านอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อของบนออนไลน์แพลตฟอร์มกัน อย่างแพลตฟอร์ม Lazada และ Shoppee เติบโตอย่างรวดเร็วในอาเซียน การค้าออนไลน์ไม่ใช่แค่การซื้อภายในประเทศเท่านั้น

การซื้อขายข้ามประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ด้วยนี้ เป็นอัตราเร่งการเข้าสู่ดิจิทัลออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ผู้เขียนมองว่าจีนปรับตัวและมองเห็นช่องทางในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว จริง ๆ แล้วการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน(Cross border e-commerce) เริ่มต้นเติบโตอย่างรวดเร็วในอเมริกาและยุโรป แพลตฟอร์มยักษ์อย่าง Ebay และ Amazon เป็นสองแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีคนใช้งานมากที่สุด มาถึงภูมิภาคเอเชีย จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพและอนาคตในการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซทั้งในและข้ามประเทศ

จีนมีแพลตฟอร์มที่แข่งแกร่งอย่าง Alibaba ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีเวอร์ชั่นสำหรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มีภาคการร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งการส่งออกของจีนและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งต้องหยุดชะงักเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้จีนหันมาเน้นเรื่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลจีนยังนำทัพออกนโยบายที่เอื้ออำนวยแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดต่าง ๆ ให้มาใช้บริการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากขึ้น อำนวยความสะดวกด้านคลังเก็บสินค้า ระบบบริหารและบริการของภาครัฐออนไลน์ต่างๆแบบ one-stop-service เพื่อให้ไวและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ขนาดของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนมีมากถึง 1.7 ล้านล้านหยวน บริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อมกระโดดเข้ามาในวัฎจักรของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากขึ้น บริษัทหนึ่งที่มีขนาดพนักงานไม่ถึง 100 คน ทำตลาดขายออนไลน์ใน 4 ประเทศ บางบริษัทยอดขายในช่วงโควิด-19 ปี 2020 นี้สูงขึ้น 130 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปี 2019 เลยทีเดียว

ในด้านของการนำเข้าส่งออกรวมของจีนผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนปี 2020 เพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปี 2019 แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกกลับเป็นปัจจัยการเติบโต โดยอัตราส่วนของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราส่วนของการส่งออกมีอยู่มากกว่า 70% นำเข้าเพียง 30% เท่านั้น

จากตัวเลขนี้ทำให้ทราบว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน หลัก ๆ แล้วคือการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

ตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมารัฐบาลจีนส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบรอบด้าน ทั้งช่วยเหลือในเรื่องของการผู้ซื้อต่างประเทศ การตั้งคลังเก็บสินค้าในต่างประเทศ อย่างเช่นการตั้งคลังสินค้าของ Alibaba และ JD.com ที่ไทยเพื่อการสะดวกในการขนส่งถึงมือลูกค้าในประเทศ หรือการตั้งเขตคลังสินค้าในประเทศจีนเอง ตามเมืองท่าสำคัญต่าง ๆ อย่างในตอนเหนือที่เทียนจิน สินค้าที่นำเข้ามาจีนจะถูกเก็บไว้ที่นั่น หลังจากที่ลูกค้าลงออเดอร์สั่งสินค้าประเภทส่งตรงจากต่างประเทศ ผู้ค้าออนไลน์ก็จะทำเรื่องผ่านระบบศุลกากรออนไลน์และขอเบิกของปลอดภาษีออกมาได้เลย ผ่านถึงโลจิสติกส์และส่งถึงมือลูกค้าในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ในด้านของผู้ประกอบการสตาร์อัพ จีนเข้ามาเป็นผู้ค้าออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่สมัยก่อนจะมีแต่บริษัทใหญ่ ๆ มีศักยภาพทำเพราะความซับซ้อนหลายขั้นตอน เช่น เรื่องจัดซื้อ การขาย โลจิสติกส์ คุณสมบัติการส่งออก รับเงินตราต่างประเทศ กระบวนการแลกเงิน การคืนภาษี

เนื่องจากปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ สมัยใหม่ของจีนก็ใช้งานระบบพวกนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ปัญหาส่งออกในอดีตที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว

ผู้เขียนมองว่า สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ภาครัฐที่ให้บริการแก่หน่วยงานธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองไปเป็นบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านและอัพเกรดนั้นสำคัญมากเลยทีเดียว

ปัจจัยต่างๆที่สำคัญในการผลักดันอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (ที่มา Tencent news)
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตั้งแต่การระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งการเติบโตของ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน จากการรายงานตัวเลขของ Taobao เวอร์ชั่นอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนว่า ผู้ประกอบการใหม่ที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งร้านในแพลตฟอร์ม เดือนพ.ค. 2020 เพียงเดือนเดียว มีจำนวนมากถึง 150,000 ราย มากกว่าปี 2019 ทั้งปีถึง 8 เท่า

เทรนด์การเติบโตแบบพลุแตกนี้อีกด้านหนึ่งก็ได้แรงสนับสนุนจากการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านบิ๊กดาต้าและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พัฒนาให้มีการใช้งานง่ายขึ้น ฉลาดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไปได้มากและประหยัดเวลา ลดความเสี่ยง ทำให้ “บริษัทธุรกิจออนไลน์ข้ามชาติขนาดเล็ก” กำลังเป็นที่นิยมและกำลังจะกลายเป็นเทรนด์เติบโตใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ

เครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและการรับจ่ายเงินข้ามประเทศ เป็นอีกกุญแจสำคัญของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน CBNData ก็ได้รายงานเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ประกอบการจีนขายสินค้าออนไลน์ไปต่างประเทศได้คล่อง ก็เพราะระบบของโลจิสติกส์ส่งสินค้าจีนและระบบการรับจ่ายเงินที่สะดวก อย่างช่วงช็อปแหลก 1111 การซื้อของออนไลน์ทำสถิติไม่ใช่เพียงในประเทศจีนเท่านั้น แต่ผู้ซื้อจากต่างประเทศที่สั่งออเดอร์เข้ามาก็มีจำนวนมหาศาล กิจกรรมช็อปแหลก 1111 กำลังจะกลายเป็นเทศกาลช็อปออนไลน์ของโลกไปแล้ว

ในช่วงหนึ่งปี 2019-2020 ปริมาณของพัสดุจากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในโลกใบนี้ 60% ถูกส่งออกจากจีน ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้โลจิสติกส์ระหว่างประเทศสูงอันดับหนึ่งของโลก และเรื่องของการจ่ายเงินชำระสินค้าของคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำระบบ ช่วยลดต้นทุน ความซับซ้อนและสะดวกสบายทั้งในมุมผู้ขายและผู้ซื้อ

ปัจจุบัน Worldfirst Pingpong Paypal เป็นผู้ให้บริการหลักของโลกจนเป็นแพลตฟอร์มที่จะขาดไม่ได้เลยในการเป็นตัวกลางสำคัญในการซื้อขาย

Worldfirst ก็ร่วมมือกับ Alipay และลิงค์แพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทำให้ผู้ประกอบการจีนสามารถได้รับเงินค่าสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับสมัยก่อนที่การจ่ายเงินระหว่างประเทศผู้ค้าอาจจะต้องรอเงินหลายวันหรืออาจจะเป็นเดือน ในปัจจุบันไม่ถึงหนึ่งวันก็ได้รับเงินที่ลูกค้าต่างประเทศชำระแล้ว

ยุทธศาสตร์การออกไปตั้งคลังสินค้าจีนในหลายประเทศก็ทำให้ประสิทธิภาพการขนส่งระหว่างประเทศดีขึ้น สินค้าจีนประเภทต่าง ๆ สามารถที่จะทำตลาดในท้องถิ่นได้ง่าย สร้างความคุ้นเคยให้กับคนในท้องที่ ให้ลูกค้าในท้องที่ประเทศต่าง ๆ มีประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งถูกและรวดเร็ว เป็นต้น

การปะทุของโรคโควิด-19 ทำให้การค้าต่างประเทศโลกลดลง 1/5 แต่สำหรับด้านของจีนนั้นการเติบโตยังคงเป็นบวกอยู่ อย่างในเรื่องของสินค้าทางการแพทย์ ชุด PPE หน้ากากอนามัย เป็นที่ต้องการมหาศาลและกำลังการผลิตของจีนมีอย่างเพียงพอ ทำให้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 ถึงปลายปี 2020 จีนได้ส่งออกสินค้าประเภทนี้ทั้งสิ้นกว่า 4.4 ล้านล้านหยวน
แนวโน้มการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน จะให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น มีรายละเอียดในการทำการตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ในปัจจุบัน 51.9% ของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน ดำเนินธุรกิจแบบ B2C (Business to Customer) 29.8% คือการดำเนินธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) และ 25% คือการดำเนินธุรกิจแบบทำแพลตฟอร์ม ระบบของตัวเอง สร้างแบรนด์ของตัวเอง ในแบบหลังสุดนี้กำลังจะเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์เพราะจะอิสระมากกว่าการขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มที่คนอื่นสร้างขึ้น

อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนกับการพัฒนากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่ใช่การเติบโตแบบไร้ทิศทางอีกต่อไป และจะกลายเป็นแนวทางพัฒนาการค้าต่างประเทศหลักของจีนในอนาคต เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ “ปกติใหม่” ที่ได้มาถึงแล้ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น