ร่มฉัตร จันทรานุกูล
University of International Business and Economics,School of International Education
วันนี้ผู้เขียนจะขอเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องของสังคมวัยทำงานของคนจีนในเมืองใหญ่กับวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาหรือที่คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า “ทำโอที” ผู้เขียนขอเจาะไปที่กลุ่มคนจีนที่ทำงานในเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น โดยเฉพาะพวกพนักงานบริษัท รัฐวิสาหกิจและข้าราชการ
หลายคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมผู้เขียนถึงหยิบยกเอากลุ่มคนจีนที่ทำงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการขึ้นมา เพราะคนพวกนี้น่าจะมีงานที่สบาย เลิกงานตรงเวลากันทุกหน่วยงาน แต่ความจริงแล้วหน่วยงานราชการจีนหลายที่ต้องทำงานล่วงเวลากันบ่อยครั้ง เพราะด้วยตำแหน่งและหน้าที่ อย่างเช่น ตำรวจ ทหารหรือหน่วยงานในฝ่ายบริการประชาชนต้องทำงานหนักกว่าตำแหน่งอื่น ๆ
สำหรับพนักงานบริษัทจีนโดยเฉพาะในภาคส่วนไอที มีการทำงานล่วงเวลากันจนเป็นปกติ หลายบริษัทใหญ่ ๆ ของจีน จัดที่นอน ห้องอาบน้ำ ห้องฟิตเนสให้พนักงานไว้เรียบร้อย
หลายปีที่ผ่านมาในข่าวหน้าหนึ่ง เราจะเห็นข่าวที่พนักงานบริษัทรุ่น ๆ ไฟแรงที่ทำงานหนักหักโหม พักผ่อนไม่เพียงพอ จนหัวใจวายเสียชีวิต!และจากการรายงานตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของหน่วยงานหนึ่งกล่าวว่า ชาวไอทีจีนในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากหัวใจวายมากถึงปีละ 5 แสนคน!
การทำงานล่วงเวลาของพนักงานบริษัทกลายเป็นประเด็นร้อน ในหมู่ประชาชนจีนยุคใหม่ จีนมีคำกล่าวยอดฮิตเรียกโมเดลการทำงานหนักของคนยุคใหม่นี้ว่า “996” หมายถึงทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่มและทำงานหกวัน หมายถึงในหนึ่งอาทิตย์มีวันหยุดวันเดียวเท่านั้น
การทำงานล่วงเวลาแบบนี้ไม่เป็นไปตามกฎแรงงานของจีนแต่กลายเป็นโมเดลยอดฮิตของคนทำงานไอทีในปัจจุบันไปแล้ว
โดยปกติแล้วเวลาการทำงานตามกฎของแรงงานโดยทั่วไปของจีนก็เหมือนกับที่ไทย เวลาการทำงานตอกบัตรในออฟฟิศวันละ 8 ชั่วโมง หยุดเสาร์และอาทิตย์ โมเดล "996" นี้กลายเป็นภาวะปกติของบริษัทไอทีในจีน
จากการประกาศตัวเลขเวลาเฉลี่ยการทำงานของคนจีนในแต่ละอาทิตย์ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนในปี 2019 รายงานว่า พนักงานบริษัทจีนทั่วประเทศทำงานเฉลี่ย 46 ชั่วโมง/อาทิตย์ หลังจากการออกประกาศตัวเลขนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนให้ชาวเน็ตจีนจำนวนมากโดยมีชาวเน็ตท่านหนึ่งคอมเมนต์ตอบกลับรายงานนี้ว่า “ตัวเลขนี้ถูกต้องแล้วจริงหรือ ตัวฉันเองทำงานอาทิตย์ละ 70 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และนี่ก็ไม่ใช่เวลาการทำงานที่เยอะที่สุด บางทีต้องทำงานถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน บางทีวันหยุดแห่งชาติก็ไม่ได้พัก”
คอมเมนต์นี้ได้รับการกดไลน์จากชาวเน็ตจำนวนมาก ยังมีบรรยายเสียดสีชีวิตคนทำงานออฟฟิศในยุคนี้ว่า “กินน้อยกว่าหมู ทำงานหนักกว่าวัว นอนดึกกว่าสุนัข ตื่นเช้ากว่าไก่”ทำให้เห็นว่ามนุษย์เงินเดือนทำงานออฟฟิศจีนในยุคนี้มีความกดดันค่อนข้างเยอะพอสมควร จากการรายงานสถิติอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจในปี 2017 โดยบริษัท Didi แพลตฟอร์มเรียกรถบริการที่ใหญ่ที่สุดของจีน เกี่ยวกับการจัดอันดับบริษัทจีนที่ทำงานนอกเวลามากที่สุด อันดับหนึ่งได้แก่บริษัทจิงตงหรือ JD.com เวลาเฉลี่ยเลิกงานของพนักงาน 23:16 น. รองลงมาคือบริษัทหัวเว่ย พนักงานเลิกงานโดยเฉลี่ยน 22:00 น. โดยแพลตฟอร์มเรียกรถ Didi นี้ก็เป็นแอพที่นิยมเรียกรถกลับบ้าน ของชาวออฟฟิศที่ทำงานเลิกดึก ทำให้แพลตฟอร์ม Didi นี้มีข้อมูลเวลาการเลิกงานจริงที่เชื่อถือได้ของชาวออฟฟิศจีน
เพราะบรรยากาศในการทำงานและความเคยชินนำมาสู่วัฒนธรรมในที่ทำงาน ผู้เขียนเห็นว่าวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากแนวคิดและความเชื่อในสังคม คนจีนทำงานหนักเอาเบาสู้ การทำงานโอทีคนส่วนใหญ่ 90% พร้อมที่จะทำถ้ามีเงินให้ ความเชื่อในผู้บังคับบัญชาและต้องปฎิบัติตาม ความไม่กล้าแสดงออกทางความคิดของตัวเองในที่ทำงานมากนัก เพราะความซับซ้อนในสังคมทำงานกับคนที่มีหลายประเภท การแข่งขันที่สูงมาก ต้องเรียนรู้ตลอด สังคมจีนที่ยังคงยึดติดกับ "เส้นสายความสัมพันธ์ หรือ Connection อย่างเหนียวแน่นเพราะฉะนั้นการ “得罪人” (เต๋อจุ้ยเหริน) หรือการทำให้คนอื่นขัดใจ โดยเฉพาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งต้องห้าม ในสังคมทำงานจะระแวดระวังกันมาก นำมาสู่การไม่กล้าพูดหรือออกความเห็นใด ๆ มากนัก
อีกสถิติหนึ่งของเว็บไซต์ท่องเที่ยวดังของจีน หม่าเฟิงวอ(马蜂窝)รายงานว่าคนจีน 88% ในระหว่างการพักร้อนท่องเที่ยวก็ยังคงทำงานกันอยู่ หมายถึงว่าถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงพักผ่อนแต่ก็ต้องอยู่ในโหมดทำงานทางไกลอยู่นั่นเอง
จากการสัมภาษณ์พนักงานบริษัทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในช่วงพักร้อนของตัวเอง 10% กล่าวว่า เลือกที่จะไม่บอกเพื่อนร่วมงานสักคนเดียวว่าตัวเองไปเที่ยวไหน 46% จะระวังกับการบอกคนอื่นเกี่ยวกับการพักผ่อนท่องเที่ยวของตนเอง จะบอกแต่กับเพื่อนร่วมงานที่ตัวเองสนิทจริง ๆ เท่านั้น ยิ่งใน Wechat Moment แล้วยิ่งไม่มีใครยอมที่จะลงรูปภาพการท่องเที่ยวของตัวเองมากนัก ทั้งนี้ก็เพื่อลดการนินทาในที่ทำงาน แสดงให้เห็นว่าบรรยากาศในที่ทำงานของจีนนั้นซับซ้อนมากเลยทีเดียว ยิ่งคนเยอะ ตำแหน่งงานเยอะยิ่งซับซ้อน
มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ถึงลักษณะการทำงานของคนจีนในปัจจุบันว่าเป็นลักษณะ “汗水型经济” (ฮั่นฉุ่ยสิงจิงจี่) แปลว่า เศรษฐกิจแบบหยาดเหงื่อ หมายความว่า บริษัทหลายที่ในจีนเลือกที่จะเพิ่มเวลาการทำงานของบุคคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เปอร์เซ็นต์การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มการผลิตเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วยังไม่มากเท่าไหร่นัก ดังนั้นการเพิ่มอัตราการใช้แรงงานเพื่อนำมาซึ่งกำลังการผลิตถือเป็นเศรษฐกิจแบบหยาดเหงื่อ
นอกจากนี้แล้ว วัฒนธรรมการทำงานของคนจีนที่มองว่า คนเราต้องขยัน อดทน มุมานะ นำมาซึ่งความสำเร็จ บางทีวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาก็มาจากสภาวะแวดล้อมของสถานที่ทำงาน งานนำมาซึ่งเงิน โดยปกติคนทั่วไปก็มีความเกรงกลัวอย่างมากที่จะตกงานหรือไม่มีงานทำ นอกจากพวกที่เป็นเศรษฐีหรือกลุ่มคนที่มีอิสรภาพทางการเงิน อย่างเช่น โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นโรงงาน OEM ใหญ่ของบริษัทแอปเปิ้ลและยังผลิตมือถือและส่วนประกอบให้หลายยี่ห้อ ในช่วงที่บูมสุดขีดปี 2015 การทำงานโอทีของคนในโรงงาน เลิกงานดึกดื่นเป็นเรื่องปกติ ทุกคนต้องทำ หากไม่ทำอาจจะไม่มีงาน เพราะคนที่อยากเข้ามาทำงานก็มีอยู่มากมายต่อแถวรออยู่ จนมีคำกล่าวที่ว่า “หากว่าไม่ยอมรับการทำงานนอกเวลาหนึ่งครั้ง ต่อไปก็คงไม่มีงานให้ทำโอที”
บริษัทบางแห่งไม่ได้ใช้วิธีการบังคับ แต่ใช้วิธีการดึงดูดชักชวนให้ทำงานล่วงเวลา เช่น เวลาเลิกงานห้าโมงเย็น กว่ารถรับส่งจะมาจอดรับก็หกโมงเย็น กำลังจะถึงเวลาเลิกงานก็มีการแจ้งมาว่าสองทุ่มจะมีเลี้ยงอาหารดี ๆ หลังจากกินข้าวเสร็จกำลังจะกลับบ้านก็ว่า หากถึงสี่ทุ่มเรียกรถกลับบ้านสามารถเบิกเงินได้ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ นี้ทำให้เลิกงานดึกไปโดยปริยาย
ไม่เพียงเท่านี้ พวกเจ้าสัวรายใหญ่ของหลายบริษัทยังทำงานกันทั้งวันกันจนดึกดื่น เช่น นายเหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย มีเตียงนอนอยู่ในห้องทำงาน นายหม่าฮั่วเถิง ผู้ก่อตั้งเทนเซ็นต์ ตีสองตีสามยังคงตอบกลับอีเมลย์เป็นต้น
จีนเองมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ในด้านของเวลาการทำงานกฏหมายมีช่องว่างให้ยืดหยุ่นได้อยู่ ทำให้บริษัทเอกชนหลายที่ใช้ช่องว่างนี้ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อให้พนักงานทำงานมากที่สุด แน่นอนว่าก็มีการเรียกร้องเช่นกันแต่น้อยมากที่จะไปฟ้องร้องจนต้องขึ้นศาล เนื่องจากหลายคนมองว่า เสียงานและเสียเวลา ดังนั้นในมุมมองของประชาชนส่วนใหญ่มองว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานของจีนในปัจจุบันยังถือว่าไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร การคุ้มครองแรงงานยังไม่แข็งแรงมากพอ
มีนักวิจัยด้านสังคมจีนค้นพบว่า ครอบครัวคนจีนที่อยู่ในระดับฐานะปานกลางถึงสูง รายได้เฉลี่ยปีละ 5 แสนหยวนหรือ 2 ล้านกว่าบาท กลับไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายเลย ทั้งสามีและภรรยาต่างต้องทำงานกันหนักหน่วงเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ค่าใช้จ่ายค่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาท ค่าการศึกษาลูก ต่าง ๆ ล้วนมีต้นทุนที่สูงลิ่วทั้งสิ้น จริง ๆ แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนที่มีรายได้สูงในสังคมก็ไม่ใช่ว่าจะสุขสบายซะทีเดียว เพราะรายจ่ายต่าง ๆ และต้นทุนในการใช้ชีวิตก็มีขึ้นมามากตามเป็นเงาตามตัวนั่นเอง สุดท้ายแล้ววัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของคนจีน เกิดมาจากสภาวะแวดล้อมในสังคม การแข่งขัน สุดท้ายก็เพื่อการอยู่รอดนั่นเอง