xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights :คนจีนยุคใหม่ร่ำรวยอู่ฟู่กันจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวชนบทจีนเข้าเมืองมาทำงาน เราจะเห็นภาพนี้ได้ทั่วไปตามสถานีรถในเมืองใหญ่ (ที่มา Jiemian)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
University of International Business and Economics,School of International Education


ปัจจุบันคงไม่มีคนปฎิเสธได้ว่า จีน เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก เป็นประเทศที่มีอัตราการค้าต่างประเทศอยู่ในระดับสูงเป็นเวลาต่อเนื่อง สาเหตุหลัก ๆ มาจาก จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมหาศาล ในช่วงเริ่มต้นมีต้นทุนแรงงานถูก ทั้งยังเป็นแรงงานที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการทำงาน หนักเอาเบาสู้ ขยันขันแข็ง(เพราะคนเยอะ การแข่งขันสูง ไม่ขยันก็ถูกตีตกได้ง่ายๆ) ทำให้การลงทุนจากต่างชาติและกิจกรรมการร่วมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

40 กว่าปีจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตขึ้นมาของจีนเป็นที่หวาดหวั่นของชาติตะวันตกกลุ่มอำนาจโลกเก่า โดยมองว่าการเติบโตของจีนคือ ภัยคุกคาม

แต่มาจนถึงปัจจุบันถึงแม้ว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่จีนยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะประชากรที่มาก อัตรารายได้ ความเป็นอยู่ของประชาชนและมาตรฐานประกันสังคม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมาก และนี่ก็เป็นโจทย์หนักของรัฐบาลจีน ที่จะทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำและก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศพัฒนา

ท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะรู้จักจีนจากสื่อต่าง ๆ เห็นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยและการช็อปแหลกในประเทศต่าง ๆ อาจจะมองและรู้สึกว่าคนจีนร่ำรวยมั่งคั่งกันทุกคน แต่แท้จริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เรามองเห็นเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อย่าลืมว่าจีนมีประชากรทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 10 อาศัยอยู่ในเมืองชั้นหนึ่งอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ของเมืองชั้นหนึ่งของจีนที่สูงโด่งกว่าเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้สินทรัพย์ของประชาชนในเมืองชั้นหนึ่งก็สูงตามไปด้วย

ในบทความครั้งที่แล้ว ผู้เขียนเคยกล่าวถึงว่าราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยในประเทศจีนจะเห็นว่า เมืองชั้นหนึ่งและเมืองชั้นสอง ราคาเฉลี่ยก็ต่างกันมากอยู่ทีเดียว คงไม่ต้องกล่าวถึงเมืองชั้นต่อ ๆ ไปที่มีความต่างของราคาเฉลี่ยมากขึ้นไปอีก มีตัวเลขที่น่าสนใจหนึ่งรายงานจาก Ctrip.com ว่าคนจีนที่มีพาสปอร์ตปัจจุบันมีอยู่จำนวน 120 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าคนจีนส่วนมากไม่เคยออกเดินทางไปต่างประเทศ!

จากการระบาดทั่วโลกของโควิด-19 เริ่มกระทบเศรษฐกิจและปากท้องของคนทั่วโลก แม้ประเทศใหญ่อย่างจีนก็ยังได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออกและธุรกิจบริการในประเทศ หลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า “รายได้เฉลี่ยของคนจีนทั้งประเทศปีละ 3 หมื่นหยวนและยังมีคน 600 ล้านคนในประเทศที่รายได้เฉลี่ยเดือนละ 1000 หยวนเท่านั้น”

หากนายกหลี่ไม่ออกมาพูด คนจีนเองที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองชั้นหนึ่งหลายคนก็นึกว่าคนจีนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอู่ฟู่กันมาก ทำให้สื่อเริ่มหันกลับมาสนใจกลุ่มคนชั้นกลางถึงกล่างระดับล่างในประเทศซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ในจีน(เหมือนกันประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ)

จริง ๆ แล้วผู้เขียนมองว่า จีนออกมารายงานตัวเลขนี้ต่อสายตาประชาชน อาจจะเป็นการเตือนสติว่าอย่าเพิ่งหลงระเริงกับสถานการณ์ปัจจุบัน แท้จริงแล้วภารกิจด้านยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นงานใหญ่และหนัก

ในเดือนมีนาคมปีนี้ สำนักงานสถิติจีนรายงานว่า จากการสำรวจเก็บสถิติจากชาวเน็ตจีนที่มีจำนวนตัวอย่าง 900 ล้านคน(อัตราการเข้าถึงคนทั้งประเทศคิดเป็น 65%) จากการเก็บตัวเลขเงินเดือนจากตัวอย่างคนเหล่านี้พบว่า 72% รายได้ไม่ถึง 5,000 หยวน ประชาชนในเมืองชั้นสาม มีครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 4,000 หยวนและจากสถิติของแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์จีนแห่งหนึ่งให้ตัวเลขลูกค้าในเมืองชั้นสอง-สามลงไปนั้น ส่วนหนึ่งกำลังการใช้จ่ายไม่ถึง 1,000 หยวน โดยตารางของสัดส่วนรายได้ของชาวเน็ตจีนแบ่งได้เป็นระดับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

จนถึง 2020 เดือนมี.ค. สัดส่วนรายได้(หยวน/เดือน)ของชาวเน็ตจีน 900 ล้านคนหรือประมาณ 65% ของประชากรทั้งประเทศจีน (ที่มา CNNIC)
จากตัวเลขดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่ารายได้ของชาวเน็ตจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงของ 3,001-5,000 หยวนต่อเดือน รองลงมาคือช่วงรายได้ 5,001-8,000 หยวนต่อเดือน ทีนี้เรามาดูช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกลุ่มคนช่วงอายุทำงานประมาณ 20-30 กว่าปี นอกจากตัวเลขของชาวเน็ตจีนแล้วทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเมื่อปี 2019 ก็ได้รายงานสัดส่วนรายได้ของคนจีนทั้งประเทศไว้ดังนี้ 38% ของประชากรมีรายได้ต่อเดือนต่ำว่า 2,000 หยวน 46% ของประชากรมีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 2,000-2,500 หยวน 13% ของประชากรมีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 หยวนและประชากรที่มีรายได้มากกว่า 10,000 หยวนมีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น นับว่าตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่างและตัวเลขจริงจากประชากรทั้งประเทศก็มีความสอดคล้องกัน

ในส่วนของรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้เฉลี่ยรายบุคคลของจีน (Per capita disposable income) ในต้นปีนี้ เมืองที่ครองอันดับหนึ่งได้แก่ เซี่ยงไฮ้ 19,621 หยวนและตามมาด้วยปักกิ่ง 17,874 หยวน โดยรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้เป็นดัชนีชี้วัดมาตราฐานชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี เมืองใหญ่ในจีนก็เหมือนกับเมืองใหญ่ในประเทศอื่น ๆ ที่ประชากรจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาแสวงหาโอกาสและต่างต้องดิ้นรนให้ตัวเองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จากที่ผู้เขียนบอกเล่าไปจะเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ใหญ่ เราไม่สามารถจะเอาคนส่วนน้อยที่เราเห็นหรือสัมผัสมาตัดสินว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

อีกมุมหนึ่ง จีนมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทางข้างหน้าต้องเดินกันอีกยาวไกล รายได้เฉลี่ยของประชาชนจีนในปัจจุบันก็ถือว่าสูงกว่าแต่ก่อนมาก โดยใช้เวลาเพียง 40 กว่าปีเท่านั้น ความเป็นอยู่โดยรวมของคนจีนดีขึ้นมาก คนส่วนใหญ่มีบ้านอยู่เป็นของตัวเอง เรื่องของความอดอยากหมดไป ตอนนี้โจทย์ใหญ่ของจีน จึงได้แก่การประคองและช่วยเหลือคนชั้นล่างที่สุดให้ลืมตาอ้าปากได้ มีอาชีพที่มั่นคงและมีที่ยืนในสังคมอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น