xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชี้การศึกษาเสมอภาคแก้ปัญหาทุกวิกฤต และโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระกนิษฐาฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ชี้ การศึกษาที่เสมอภาค คือ ทางแก้ปัญหาในทุกวิกฤต
นานาชาติเรียกร้อง รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญ


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา และ นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. เฝ้ารับเสด็จฯ ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” จากนั้นทรงฟังการอภิปรายพิเศษ ในหัวข้อ “ความหมายของความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19” (Equitable Education : What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic?) พร้อมกันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเสมือนจริงด้วย

นายอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้านการพัฒนาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาเพื่อปวงชนเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ รวมถึงโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ครั้งใหญ่ของโลก ทั้งนี้ เราพบว่าการศึกษาจะเข้ามาช่วยควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ เพราะเมื่อคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันเขาก็จะสามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองจากการได้รับการศึกษาได้ และนอกจากนี้แล้ว ก็ยังจะมาช่วยกันดูแลสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

นางอลิส ออร์ไบร์ท ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก หรือ Global Partnership for Education (GPE) องค์กรที่ให้ทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษากับประเทศที่กำลังพัฒนามากที่สุดในโลกและให้ทุนกับรัฐบาลของ 60 ประเทศที่ยากจนที่สุดเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 กล่าวว่า การเเพร่ระบาดของโควิด19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเด็กยากจนเลวร้ายลง เมื่อทั่วโลกตัดสินใจล็อกดาวน์ ส่งผลให้เด็กกว่า 1.6 พันล้านคน ไม่ได้ไปโรงเรียน เเละมากกว่าครึ่งของเด็กเหล่านั้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปิดโรงเรียนเพื่อรักษาชีวิตคนไว้ เเต่เมื่อยิ่งปิดนานเท่าไหร่ ผลที่จะเกิดกับสังคมยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น องค์กรมาลาล่าฟันด์ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็กเเละสตรี ระบุว่า ผลกระทบจากโควิดทำให้ เด็กผู้หญิง 10 ล้านคนที่อยู่ในชั้นมัธยมต้องออกจากระบบการศึกษาไปตลอดกาล เเม้ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

“ประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจจะหดตัวลงมากถึง 2.5% ทำให้เกิดความหายนะครั้งใหญ่ งบประมาณของรัฐลดลงส่งผลต่อการลดงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ นอกจากนี้ รายได้เศรษฐกิจครัวเรือนลดลงอย่างรุนแรง ทำให้ครอบครัวไม่สามารถนำเงินมาส่งบุตรหลานเรียนหนังสือได้ ผู้ปกครองต้องเลือกส่งลูกบางคนไปเรียนหนังสือ ผู้หญิง และผู้พิการ จะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และงบประมาณการช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำจะหายไป และจะขาดรายได้ในการระดมทุนช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เด็กจะสูญเสียการเรียนรู้เเละรายได้ การเลี้ยงชีพตัวเองในอนาคต สูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปตลอดชีวิต” นางออร์ไบร์ท กล่าว

นางออร์ไบร์ท ยังแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าในด้านการผลักดันการศึกษาเพื่อความเสมอภาคของ กสศ.ในไทย ซึ่งสำหรับ GPE ในฐานะที่ทำงานในด้านนี้มานานกว่า ยอมรับว่า แนวทางและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษา ไม่มีสูตรแก้ไขที่สำเร็จตายตัว แต่ GPE ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลหรือองค์ความรู้กับทางกสศ.เพื่อไปให้ถึงความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

“ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 บรรดาองค์กรและหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งหลาย ควรตระหนักได้เสียทีถึงบทบาทและความจำเป็นของระบบการศึกษาทางไกลด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮเทค โลว์เทค โนเทค หรือมิดเทค (Mid-tech) และให้คุณครูเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนทางไกล เราต้องทำให้มั่นใจว่า การศึกษาทางไกลที่นำมาใช้จะต้องไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันขยายวงกว้างมากขึ้น มันค่อนข้างเป็นการทำงานที่ยากพอสมควรในการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้อง เพราะเรามั่นใจว่า เมื่อใดก็ตามที่วิกฤตการระบาดจบลง เราไม่สามารถตื่นลืมตามาเผชิญกับโลกที่ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาทวีความเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น” นางออร์ไบร์ท กล่าว

นางยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการ Education Cannot Wait (ECW) กล่าวว่า ECW ประเมินว่า มีเด็กทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษามากถึง 75 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในวิกฤต COVID-19 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความอ่อนด้อยในเชิงโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่การระบาดของ COVID-19 จะกลายเป็นการซ้ำเติม ทำให้การดำรงชีวิตในสังคมยุ่งยากเลวร้าย และเสี่ยงทำให้ครอบครัวที่ยากจนต้องเผชิญหน้ากับภาวะยากจนขั้นสุด (extreme poverty) ที่ในท้ายที่สุดจะส่งผลบีบให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งการเลิกเรียนกลางคัน ไม่ได้มีผลกระทบต่อโอกาสในการเรียนหนังสือของเด็กเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การล่วงละเมิดสิทธิเด็ก การแต่งงานในวัยเยาว์ การเป็นคุณแม่วัยใส การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และอื่นๆ อีกมากมาย

“COVID-19 ทำให้ ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมในสังคมกลายเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่คนในซีกโลกหนึ่งมีไฟฟ้าใช้เป็นเรื่องปกติ คนอีกซีกโลกหนึ่ง เช่น ในแอฟริกาบางพื้นที่ กลับไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือในกรณีของการศึกษา เด็กสวีเดน สามารถเรียนหนังสือออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ เด็กในชาติ หรือ ไนจีเรีย กลับไม่สามารถเรียนหนังสือทางไกลได้เลย” ผู้อำนวยการ ECW กล่าว

นางเชอรีฟ ยังกล่าวด้วยว่า สนับสนุนแนวทางการทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับต้นๆ เรื่องนี้ คือกุญแจ ที่จะทำให้องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายมั่นใจว่าจะไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการกระจายทรัพยากรให้ถึงมือทุกฝ่าย ซึ่งทาง ECW ประเมินว่า จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณอย่างน้อย 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เพื่อส่งต่อการศึกษาที่มีคุณภาพไปถึงมือเด็กๆ อย่างแท้จริง ในภาวะที่การศึกษาต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

“แทนที่จะหันไปลงทุนในด้านเสถียรภาพความมั่นคงทางทหาร เพื่อการทำสงครามขจัดความขัดแย้ง เราควรหันมาลงทุนในมนุษย์ มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่า และมีมนุษยธรรมมากกว่า” นางเชอรีฟ กล่าว

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 ในรูปแบบการประชุมวิชาการออนไลน์ ถือเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับภาครัฐ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ธนาคารโลก (World Bank) Global Partnership for Education และ Save the children UNESCO และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น โดยมีนักปฏิรูป นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำด้านการศึกษากว่า 60 คน จาก14 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมสมองหาทางออกแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากวิกฤตโควิด-19 ใน 4 ประเด็น คือ 1. ข้อมูลและเทคโนโลยี 2. นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อการศึกษา 3. การศึกษาเชิงพื้นที่ 4. ปวงชนเพื่อการศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุมออนไลน์ได้ฟรีที่ http://afe2020.eef.or.th/thai/ และขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมมากกว่า 2,100 คน










กำลังโหลดความคิดเห็น